ผีปู่แสะ ย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีล้านนา - ผีปู่แสะ ย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีล้านนา นิยาย ผีปู่แสะ ย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีล้านนา : Dek-D.com - Writer

    ผีปู่แสะ ย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีล้านนา

    ประเพณีการเลี้ยงผี ล้านนา ปู่แสะ ย่าแสะ แห่งวัดพระธาตุดอยคำ สะท้อนวิถีชีวิตชาวล้านนา

    ผู้เข้าชมรวม

    5,597

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    5.59K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  24 ก.พ. 54 / 17:28 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
                       จังหวัดที่เจริญเป็นอันดับสองของประเทศ มีพิธีคู่บ้านคู่เมืองที่แปลกและสุดแสนพิสดาร   เป็นตำนานที่ปฏิบัติกันมา ด้วยแรงของความเชื่อและศรัทธา นั่นคือ พิธีบวงสรวงปู่แสะ ย่าแสะ หรือ ประเพณีเลี้ยงดง พิธีกรรมที่มีการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากมายถึงความสยดสยองของการกินเลือดและเนื้อควายสดๆ ของร่างทรงปู่แสะย่าแสะ

                              
                         มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงเชิงดอยคำได้พบยักษ์สามตนพ่อแม่ลูก ซึ่งยังชีพด้วยเนื้อสัตว์และเนื้อมนุษย์ เมื่อยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธเจ้าก็จะจับกิน แต่พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาจนยักษ์ทั้งสามเกรงในพระบารมีจึงยอมแสดงความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาและให้ยักษ์ทั้งสามรักษาศีลห้า

      แต่ผีปู่แสะย่าแสะไม่อาจรับศีลห้าได้ตลอดจึงขอกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน เมื่อพระพุทธองค์ไม่อนุญาต ก็ขอต่อรองลงมาเรื่อย ๆ จนขอกินเนื้อสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสบอกให้ไปถามเจ้าเมืองเอาเอง แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จจากไป โดยไว้พระเกศธาตุที่ต่อมากลายเป็นพระธาตุดอยคำ

      ผีปู่แสะย่าแสะได้รับอนุญาติจากเจ้าเมืองให้กินควายได้ปีละครั้ง จึงได้มีประเพณีฆ่าควายเอาเนื้อสดสังเวยผีปู่แสะย่าแสะ ส่วนบุตรของปู่แสะย่าแสะได้บวชเป็นฤาษีชื่อสุเทวฤาษี

                                             
                          ปัจจุบันพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้นหรือแรม
      14 ค่ำ เดือน 9 บริเวณเชิงชายป่าด้านตะวันออกของตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับพิธีเซ่นสรวงนี้ ทำเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  และผลผลิตทางการเกษตรจะได้ผลดี  โดยถือว่าเป็นการปัดเป่าไม่ให้สิ่งเลวร้ายมากินบ้านเมือง 

      ในพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะนั้น ชาวบ้านจะเลี้ยงผีขุนหลวงวิรังคะ ซึ่งหมายปองนางจามเทวีในอดีตไปพร้อมกันด้วย  ก่อนเริ่มพิธีจะมีการขึ้นท้าวทังสี่ คือพิธีบอกกล่าวแก่ท้าวจตุโลกบาต มีการสร้างปราสาท คือหอผีชั่วคราวทำด้วยโครงไม้ไผ่ 12 หอ ซึ่งปราสาทของปู่แสะย่าแสะจะมีขนาดใหญ่กว่าผีอื่น ๆ โดยถือว่าผีปู่แสะย่าแสะนี้เป็นผียักษ์

      สัตว์ที่จัดมาสังเวยผีปู่แสะย่าแสะคือควายเขาดำ และต้องเป็นควายรุ่นหนุ่มที่มีเขาสั้นแค่หู ในช่วงเช้ามืดของวันงาน ควายจะถูกฆ่า (การฆ่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย) เชื่อกันว่า ควายเทียบได้กับชีวิต ควายได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนมา ดังนั้น ควายถือได้ว่าเป็นตัวแทน ของคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อแก้ข้อขัดแย้ง  ส่วนต่างๆ ของควายเทียบได้กับส่วนต่างๆ ของสังคม ที่ต้องประกอบกันจึงจะบรรลุเป้าหมาย สำหรับเนื้อควายที่ใช้บูชาแล้วนั้นจะเอามากินร่วมกัน และยังมีการตั้งชื่อลูกตามชื่อของควายที่ตายไปด้วย เพื่อเป็นการตอบแทน

      หน้าที่ในการเตรียมเครื่องเซ่นต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะต้องจัดเตรียมให้เสร็จก่อนวันงานไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ในพิธีกรรมพบว่ามีความเชื่อในเรื่อง "ขวัญ" ด้วย โดยการที่นำสายสิญจน์ในพิธีมาสู่ขวัญให้แก่ลูกหลานที่มาร่วมพิธี

                                             

                                    คนทรงเป็นย่าแสะจะเป็นผู้หญิง ในระหว่างทำพิธีจะหลับตา เพราะเชื่อว่าถ้าลืมตามองใครคนนั้นจะตาย เชื่อว่าย่าแสะสามารถบันดาล ให้ฝนตกได้ ผีปู่แสะย่าแสะเป็นสิ่งที่เป็นที่นับถือของชาวเชียงใหม่มาแต่อดีต  คนโบราณเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ บ้านเมืองจะหาความสงบสุขไม่ได้  และจะเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ

      เมื่อเริ่มพิธี ปู่อาจารย์หรือตั้งเข้า (คือคนประกอบพิธี) จะทำพิธีอัญเชิญผีปู่แสะย่าแสะก่อนอื่น ๆ โดยมีใจความว่าขอเชิญผีปู่แสะย่าแสะเปนเค้า ( เป๋นเก๊า ” ) คือเป็นประธานของผีทั้งหลาย พร้อมทั้งผีลูกหลานเสนาอำมาตย์ทั้งปวงมารับเครื่องสังเวย และขอให้ผีทั้งหลายช่วยกันดูแลรักษาบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุข

      จากนั้นผีปู่แสะย่าแสะจะเข้าทรงม้าขี่หรือคนทรงก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่จัดไว้แล้วอวยชัยให้พรต่าง ๆ

       ต่อจากนั้นผีในร่างทางก็จะไปหยิบอาหารจากกระทงในปราสาททั้ง 12 มากินอย่างละเล็กละน้อยพร้อมทั้งดื่มสุราที่จัดไว้ให้

      จากนั้นก็ไปนั่งบนหนังควายและโยกหัวควายไปมา พร้อมกับนำเอาเนื้อสดที่แขวนไว้ที่หอเคี้ยวกันไปด้วย เมื่อเคี้ยวกินเนื้อและดื่มสุราแล้ว ม้าขี่ก็จะนำเอาท่อนไม้มาทำที่แคะฟันแสดงว่าอิ่มหนำสำราญแล้ว

      และท้ายสุด ม้าขี่จะล้มลงนอนกับพื้นสักครู่หนึ่ง เมื่อผีลาทรงแล้วก็ลุกขึ้นมามีอาการเป็นปกติ

      ภายหลังการนำเอาพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีการทำบุญเลี้ยงพระก่อนการทำพิธีสังเวยและในช่วงที่พระสงฆ์สวดอยู่นั้น ก็เชิญเอาพระบฎหรือแผ่นผ้าที่วาดรูปพระพุทธเจ้ามาแขวนให้แกว่งไกวไปมา เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อม้าขี่ไปถึงก็จะใช้ไม้ตีที่พระบฎนั้น เป็นที่ว่าพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าและตอนท้ายก็ยอมรับพุทธานุภาพ

      พิธีเลี้ยงดงปู่แสะย่าแสะนี้ ปฏิบัติกันมานานร่วมร้อยปีติดต่อกันมาแล้ว เพราะเป็นความเชื่อถือว่าหากผู้ใดได้เข้าร่วมพิธีแล้วจะรอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง ไม่ป่วย ไม่เจ็บ ไม่ไข้

      นอกจากตัวเองจะมีความสุขในชีวิตแล้วชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบจะมีความสงบสุขไปด้วยไม่มีภัยพิบัติหรือโรคระบาดเพราะได้เลี้ยง  หรือให้ทานกับผีปู่แสะย่าแสะซึ่งเป็นผียักษ์ที่ปกปักรักษาพื้นที่แห่งนี้อยู่ ทั้งหมดเป็นความเชื่อของชาวบ้านในชุมชน จึงมีพิธีนี้ทำสืบต่อกันมานานร่วมร้อยกว่าปีแล้ว

      หากมองย้อนภาพของความเป็นจริงทั้งหมดคือความเชื่อของชาวบ้านเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกแล้วสิ่งที่ได้คือความสามัคคีที่เกิดขึ้นในชุมชนที่สำคัญที่สุดคือความสบายใจของชาวบ้านหากใจสบาย กายก็จะสบายตามมาความสงบสุขของชีวิตย่อมเกิดขึ้นสุขกายสบายใจแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในยุคที่วุ่นวายอย่างเช่นปัจจุบัน

      แหล่งที่มา :

      http://lanna.mju.ac.th/lannafestival_detail.php?recordID=27

      http://archaeology.thai-archaeology.info/index.php?

      option=com_content&task=view&id=356&Itemid=0

      http://www.lannaphotoclub.com/smf108/index.php?

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×