ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สมาคมนัก(หัด)เขียน >W<

    ลำดับตอนที่ #20 : [รู้เพื่อหาความแปลกใหม่] : 15 ฉากเปิดที่พบบ่อยสุดในบทแรกของนิยาย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 42
      0
      26 ม.ค. 56

     

    15 ฉากเปิดที่พบบ่อยสุดในบทแรกของนิยาย

     

        1. เปิดเรื่อง ‘บนที่นอน

    ฉากที่พบบ่อยมาสำหรับใช้เปิดเรื่อง คือ ฉากที่ตัวเอกตื่นขึ้นมาพร้อมเสียงนาฬิกาปลุก 
    เสียงแม่ปลุก เสียงน้องสาวปลุก เสียงพี่ชายปลุก เสียงนกร้อง สารพัดเสียงที่ดังรบกวนประสาทของตัวเอก ซึ่งจะตื่นขึ้นมาพร้อมความหงุดหงิด โมโห งอแง ไม่อยากลุกจากเตียง
    มีการบ่นโวยวายกับตัวเอง หรือกับตัวละครที่มาร่วมแจมเล็กน้อยพอเป็นพิธี ก่อนจะพบว่า “เฮ้ย!! เราสายแล้วนี่หว่า”  แล้วค่อยรีบตะลีตะลานวิ่งลงมาจากห้องคว้าขนมปังสองแผ่นโกยแน่บไปโรงเรียน ระหว่างทางอาจชนกับใครบางคน หรือเจอเหตุการณ์ที่นำไปสู่ตัวละครเอกถัดไป

     

        2. เปิดเรื่อง ‘บนที่นอน (ของคนอื่น)

    ช่วงหลัง ๆ การเปิดเรื่องทำนองนี้เริ่มมีขึ้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นนิยายรักชายหญิง หญิงหญิง โดยเฉพาะชายชาย และสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ตัวละครมานอนอยู่บนเตียงคนอื่น (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระเอกในเวลาต่อม) ก็คือ ‘เมา’ ทั้งเมาจากการอกหัก ถูกมอมเหล้า ตั้งใจเมาเอง ไปเลี้ยงวันเกิดเพื่อน ฯลฯ แต่สุดท้ายร้อยทั้งร้อยเมื่อลืมตาตื่นก็มักจะถามคำถามเดียวกันว่า “ที่นี่ที่ไหน

     

         3. เปิดเรื่อง ‘โดยคุยกับคนอ่าน

    วิธีเปิดเรื่องโดยให้ตัวละครเอกคุยกับคนอ่าน โดยส่วนมากแล้วมักจะเป็นในนิยายที่มีการบรรยายลักษณะบุรุษที่ 1  คือให้ตัวละครดำเนินเรื่องเองและใช้คำแทนตัว เช่น ‘ผม’ หรือ ‘ฉัน’ การเปิดเรื่องแนวทางนี้ มักจะให้ตัวเอกเจอกับสถานการณ์บางอย่าง อาจกำลังลอกการบ้านอยู่กับเพื่อน อ่านใบประกาศจับมังกร  เริ่มเล่นเกมส์ออนไลน์ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ไม่เกิน 5-10 บรรทัด ตัวละครจะเริ่มหันมาคุยกับคนอ่าน
    เช่น  “อ่ะ...ขอโทษครับ ลืมแนะนำตัวไปเลย ผมชื่อ....”
    หรือ  “ทุกคนคงสงสัยแล้วใช่ไหมค่ะว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก่อนอื่นฉันขอแนะนำตัวก่อน...”
          และสรรพคุณทั้งหลายทั้งรูปร่างหน้าตา จมูก ปาก ผิวพรรณ ความสูง จะเลื่อนหลุดออกมาจากปากตัวละครเหมือนเขากำลังพรีเซนต์ตัวเองอย่างเต็มที่ (โดยไม่มีใครถาม)
    ซึ่งถ้าตัวละครมีเพื่อนอยู่รอบ ๆ ด้วย ก็จะลามเลยไปบรรยายสรรพคุณของเพื่อนต่ออีก
    จนคนอ่านแทบจำไม่ได้ว่าตกลงใครเป็นใคร หน้าตายังไง


      4. เปิดเรื่อง ‘โดยบรรยายทุกสิ่ง

    สืบเนื่องมาจากการเปิดเรื่องจากข้างบนที่โดยมากมักจะปรากฏในการบรรยายแบบลักษณะบุรุษที่ 1 ซึ่งมองทุกสิ่งผ่านสายตาของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เพื่อน คนรอบข้าง หรือรูปร่างหน้าตาตัวเอง
          เข้าใจว่าการเขียนที่ดีจำเป็นต้องบรรยายให้คนอ่านเห็นภาพ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วนักเขียนมักจะใช้คำบรรยาย เกิน’ หรือเรียกอีกอย่างง่าย ๆ ว่า  ‘ยัด
          เป็นการยัดเหยียดข้อมูลทุกอย่างใส่ลงไปให้คนอ่านตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอทำให้คนอ่านไม่สามารถจดจำข้อมูลทั้งหมดของเนื้อเรื่องได้ครบและอาจเกิดความสับสนภายหลัง
          วิธีแก้คือ ค่อย ๆ ทยอยใส่ข้อมูลเหล่านี้ลงไปแทรกระหว่างเนื้อหานิยาย ถ้าจะแนะนำตัวละครเช่น เพื่อนของตัวเอก ให้แนะนำจุดเด่น ๆ สองสามจุดพอ ไม่จะเป็นต้องบอกให้ครบว่า สูงเท่าไร ผิวพรรณดีไหม สีตาสีผมเป็นอย่างไร พ่อแม่ทำอาชีพอะไรบ้าง

     

     5. เปิดเรื่อง ‘โดยไม่บรรยายสักสิ่ง
                การเปิดเรื่องในลักษณะนี้ตรงข้ามกับการเปิดเรื่องแบบข้างบนอย่างสิ้นเชิง มักพบบ่อยในเนื้อเรื่องเกือบทุกประเภท ซึ่งเป็นนักเขียนฝึกหัดใหม่ ๆ  โดยใช้การอิงภาพที่เห็นตามแบบการ์ตูน จึงทำให้เนื้อเรื่องมีแต่เครื่องหมายคำพูด ไร้การบรรยายลักษณะท่าทางประกอบ หรือสถานการณ์รอบข้าง เช่น  


    กรี๊ดดดดดดด!!! พี่เขาหล่อจังเลยเนอะแก
    ใช่ ๆ อุ๊ย!! เขามองมาทางนี้ด้วยแหละแก อร๊ายยยยยย
    กรี๊ดดดดดด!! พี่ค่ายิ้มหน่อยค่ะ ว๊ายยยย!! อย่าบังสินี่พี่เขามองฉันนะ
    เอ๊ะ!! พี่เขามองฉันย่ะ!!
    กรี๊ดดดดดดดดดด!!!!!!

                การเขียนลักษณะข้างบนพบเห็นได้ทั่วไป ในสถานการณ์ที่เปิดตัวละครที่หล่อสุด ๆ เป็นดาวเด่นของโรงเรียน ซึ่งในชีวิตจริงแล้ว ไม่มีใครมานั่งกรี๊ดกร๊าดทำกันแบบนี้

     

        6. เปิดเรื่อง ‘เพราะฟีลกำลังมา

          การเปิดเรื่องนี้แตกต่างจากทั้งการเปิดเรื่องโดยบรรยายทุกสิ่ง กับเปิดเรื่องโดยไม่บรรยายอะไรเลย เพราะการเปิดเรื่องโดยใช้ ‘ความรู้สึก’ ล้วน ๆ ซึ่งมักพบบ่อยในนิยายแนวดาร์กแฟนตาซี
          อารมณ์ประมาณเปิดเพลงฟัง อ่านการ์ตูนจบ ฟิลลิ่งกำลังได้ที เลยหยิบเอาความรู้สึกของตัวเองพรั่งพรูออกมาเป็นฉากเปิด โดยมักจะเต็มไปด้วยการเอาคำสวย ๆ มาเรียงร้อยต่อกันโดยอาจแอบนัยยะของเรื่องทิ้งไว้ และเป็นนัยยะปริศนาของเรื่องที่คนเขียนเข้าใจคนเดียว 
    ...แต่คนอ่านมากมายไม่เข้าใจเลย

          ทำให้ความอยากติดตามต่อของคนอ่านลดจำนวนลง เพราะอารมณ์ไม่ถึงขั้นตามที่คนเขียนวางไว้ หรืออาจกำลังงงกับเนื้อหาที่กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ปาเข้าไปบทที่สอง

     

        7. เปิดเรื่อง ‘เริ่มต้นใหม่

          คือ การที่ตัวละครดำเนินเนื้อเรื่องในลักษณะที่เป็นการเริ่มต้นใหม่ในแบบต่าง ๆ 
    เช่น การเข้าโรงเรียนใหม่ การเปิดเทอมใหม่ การสมัครสอบ (นิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียน)
    การเข้าบริษัทใหม่  การย้ายบ้านใหม่ ฯลฯ
          นับเป็นการเปิดเรื่องที่นิยมอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้ตัวเอกนำไปสู่เรื่องราวที่พบจากสถานที่ที่แตกต่างจากเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเปิดฉากด้วยวิธีนี้มักจะเล่นกันจนช้ำกระทั่งไม่เหลือความน่าหลงใหล และหากช่วงกลางไปจนจบบทแรกยังไม่สามารถได้น้ำได้เนื้อที่น่าสนใจ จะทำให้คนอ่านเบื่อ และอาจปิดหน้านิยายไปก่อนจะพบว่ามันดี

     

         8. เปิดเรื่อง ‘มหากาพย์

          ชื่อบ่งบอกชัดเจนว่าเป็น ‘มหากาพย์’  ดังนั้นมักพบการเปิดเรื่องในลักษณะนี้ได้บ่อยในนิยายประเภทแฟนตาซี โดยเริ่มเรื่องมักจะเป็นฉากที่ย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองยังไม่เกิด 
    อาจมีพ่อมด แม่มดแก่ ๆ สักคนหนึ่งที่ทำนายถึงผู้กล้าซึ่งจะมาเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต
    หรือเป็นคัมภีร์บันทึกเก่าแก่ในตำนาน โดยมากจะเป็นกลอนมีสัมผัสใช้คำสละสลวย
    กลอนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของเรื่องหรืออาจเป็นบทสรุปทั้งหมดของเนื้อหา
          ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นฉากของการพูดคุยถึงของสำคัญบางอย่าง เช่น แหวนศักดิ์สิทธิ์ มงกุฎทองคำ ดาบราชา สร้อยเพชรพระอุมา หรือสิ่งของที่มีชื่อฟังดูล้ำค่ามาก ๆ
    และส่วนใหญ่มักจะถูกขโมยไปตั้งแต่เริ่มเปิดฉากแรก อันจะเป็นฉนวนไปสู่สงครามการแย่งชิงบางอย่างที่ตัวเอกผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถูกลากเข้ามาเอี่ยว จนเกิดการรวมพวกพ้องเพื่อตามหาของที่หายไปให้เจอเป็นมหากาพย์ยาวสามเล่มจบ
          นับว่าเป็นพล็อตที่แสนโหล่อันดับต้น ๆ ของแฟนตาซี แต่ก็มักจะมีคนเปิดเรื่องโดยอาศัยคีย์เวิร์ด  ‘ของศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน’ ‘เด็กผู้ถูกเลือก’ ‘กลอนปริศนาที่เกี่ยวพันกับชะตากรรมของโลกทำนองนี้ซ้ำอยู่เรื่อย ๆ จนเกิดความเอี่ยนแก่นักอ่านในมุกพล็อตมหากาพย์เดิม ๆ

     

       9. เปิดเรื่อง ‘ทะเลาะ

          นี่ก็เป็นอีกมุกหนึ่งที่นิยายประเภทหวานแววชอบใช้ในพล็อตเรื่องที่มักจะเป็น ‘แนวรักคู่กัด’ ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณของลักษณะนี้มาก เพราะเปิดฉากตัวละครสองตัวก็ต้องแสดงความไม่ถูกกันตั้งแต่ชาติปางก่อน ทะเลาะ แกล้งแหย่ ล้อกันไปมา  จบท้ายด้วยความโมโหปั่นปึ่งของตัวละครเอก (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นการทะเลาะที่หาสาระไม่ค่อยได้ เรียกว่าตั้งแต่ต้นจนจบบทก็ยังไม่เข้าใจว่าปมของเรื่องคืออะไรนอกจากตัวละครไม่ถูกกัน

     

    10. เปิดเรื่อง ‘ด้วยคำหยาบและ Sound Sex’

     

          พบบ่อยมากในนิยายชายรักชายที่มีชื่อเรื่องขึ้นต้นด้วยคำหยาบเช่นเดียวกัน รวมถึงเสียงSound Sex ที่บางที่อ่านไปนึกว่ากำลังดูหนัง AV ประกอบ
          การเปิดเรื่องลักษณะนี้อาจเรียกเรตติ้งเพราะเริ่มต้นฉากอย่างรุนแรงก็จริง แต่อย่าลืมว่าแท้จริงแล้วนิยายจะสนุกก็เพราะแก่นของเรื่อง ไม่ใช่เพราะการเขียนฉากเรียกคนจะฉะกันตั้งแต่แรก
          โดยเฉพาะคำหยาบคาย เข้าใจว่าเพื่อแสดงความสนิทสนมของตัวละคร แต่มีเยอะไปก็รู้สึกเอียน รู้สึกเหมือนคนอ่านเองจะถูกด่าไปด้วย เพราะฉะนั้นใช้ให้พอเหมาะ ไม่ต้องใส่ไปเหมือนชีวิตจริงขนาดนั้น บางทีผู้ชายจริง ๆ อาจจะพูดเพราะกว่าในนิยายก็ได้ใครจะรู้

     

    11. เปิดเรื่อง ‘จะสื่ออะไร

     

          หลายต่อหลายครั้งที่นิยายดี ๆ มักจะสูญหายไประหว่างทาง เพราะตกม้าตายกันตอนเปิดเรื่อง ทำให้คนอ่านไม่รู้ว่านิยายของคุณมีดีจริง ๆ  การเปิดเรื่องนับเป็นจุดสำคัญที่คนเขียนจะต้องดึงคนอ่านให้อยู่ตั้งแต่แรก เพื่อให้คนอ่านอยากติดตามนิยายของคุณต่อไป
          เคยได้ยินนักเขียนหลายคนพูดว่า “เริ่มเรื่องจะเอื่อย ๆ หน่อย แต่ตอนกลาง ๆ จะสนุกแน่
    ขอบอกว่าการเขียนลักษณะดังกล่าวไม่สมบูรณ์เพียงพอ เพราะคนอ่านบางคนอาจไม่มีความอดทนรอไปจนถึงกลางเรื่อง ซึ่งไม่รู้กำหนดขอบเขตไว้ที่บทเท่าไร ยาวแค่ไหน
          ดังนั้นคนอ่านจึงมักตัดสินใจปิดหน้านิยายไป เมื่อเขาเห็นว่าบทแรกของนิยายไม่ดึงดูดใจมากพอที่จะอ่านต่อ

     

    12. เกริ่นประวัติศาสตร์ยาวววววววววววยืด  อย่างกับอ่านพงศาวดาร

     

    13. เกริ่นที่มาและความสำคัญยาวยืดดดดดดดดด  หากนึกไม่ออกให้นึกถึง  โลกนี้แบ่งออกเป็นกี่ประเทศ บลา ๆ ๆ ๆ  ทำสงครามกัน บลา ๆ ๆ ๆ  อย่างกับนั่งอ่านวิจัย - -

     

    14. เกริ่นเรื่องโดยตัวเอกตกอยู่ในอันตรายและค้นพบพลังระเบิดตู้มมมม สลบไป  โดนลากไปอยู่อีกโลก

     

    15. เกริ่นเรื่องโดยตัวเอกตัวอยู่ในอันตรายและค้นพบพลังระเบิดตู้มมมม สลบไป  โดนใครไม่รู้ช่วยไว้


                การเปิดเรื่องนิยายจึงไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม แต่ต้องเค้นหาไอเดียคิดอย่างสร้างสรรค์ พูดง่าย ๆ คือการเปิดเรื่องควรมีลักษณะเหมือน ‘รถชน’ แน่นอนว่าหากมีรถชนกันบนถนน คุณต้องอย่างรู้ว่าใคร เป็นอย่างไร บาดเจ็บมากแค่ไหน เป็นการดึงดูดผู้อ่านให้เข้ามาสู่โลกนิยายของคุณ
              เมื่อจบบทแรกไปแล้วคนอ่านควรจะได้รู้ถึงปมปัญหาสำคัญ หรือนิสัยของตัวละครอย่างเด่นชัด ผู้อ่านต้องสามารถรับรู้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะอะไร
    ส่วนวิธีการนำเสนอจะให้ออกมาในรูปแบบใดต้องขึ้นอยู่กับฝีมือคนเขียน

     



     

             credit : http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2670931

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×