ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เนื้อหารายงาน การผ่าตัด

    ลำดับตอนที่ #9 : สิทธิของผู้ป่วย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 380
      0
      10 ส.ค. 51

    สิทธิของผู้ป่วย




    ในขณะนี้สถานพยาบาลต่างๆ เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วยกันอย่างมาก โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่ต้องการได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น Hospital Accreditation (HA) อีกทั้งได้ปรากฏเป็นกรณีที่แพทย์ไม่ยอมรับการรักษาให้ หรือกระทำการอันไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น การจ่ายยาผิด เป็นต้น นอกจากนั้นเรื่องสิทธิผู้ป่วยยังเข้าไปสัมพันธ์กับกฎหมายบ้านเมือง ที่มีอยู่แล้วหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะกฎหมายอาญา จึงเห็นได้ว่าเรื่องสิทธิผู้ป่วยนี้ มีความสำคัญต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก

    ความหมาย

    สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม
    นักสังคมศาสตร์อาจมองสิทธิออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
    1. สิทธิทางจริยธรรม (moral right)
    หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมที่มนุษย์ทุกคนพึงมีโดยเท่าเทียมกัน โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกัน ในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นมากำหนดวัด มนุษย์จึงมีอำนาจอันชอบธรรม ด้านสิทธิทางจริยธรรมที่จะได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีศักดิ์ศรี เสมอภาค และเป็นอิสระ และทุกคนพึงมีหน้าที่จะปฏิบัติต่อกันในลักษณะดังกล่าว หลักความเสมอภาคเป็นรากฐานสำคัญของความยุติธรรม

    สิทธิทางจริยธรรมนี้เป็นอำนาจอันชอบธรรม เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในการพูด สิทธิในการเลือกนับถือศาสนา สิทธิทางจริยธรรม มีลักษณะแตกต่างกับสิทธิทางกฎหมาย 4 ประการคือ
    ก.เป็นสากล คือ มีให้กับทุกคนทั่วไปไม่จำกัดว่าจะอยู่ที่ใดในโลก
    ข.มีความเสมอภาค คือ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิในชีวิตมากหรือน้อยกว่ากัน
    ค.เปลี่ยนมือไม่ได้ คือ ไม่สามารถให้ยืม หรือแลกเปลี่ยน ขายให้ผู้อื่นได้
    ง. เป็นสิทธิทางธรรมชาติ คือ เป็นสิทธิที่มนุษย์มิได้เป็นผู้กำหนดขึ้นเหมือนกฎหมาย ไม่ต้องมีองค์กรใดกำหนด
    สิทธิทางจริยธรรมมิใช่กฎหมาย แต่การออกมาเป็นกฎหมายนั้นจะทำให้ง่ายและทำให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

    2. สิทธิทางกฎหมาย (legal right)
    ได้แก่ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ หมายถึงประโยชน์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่ และเป็นประโยชน์ที่กฎหมายคุ้มครองมิให้ละเมิดสิทธิรวมทั้งบังคับให้เป็นไปตามสิทธิในกรณีที่มีการละเมิด เช่น สิทธิในการเลือกตั้งเมื่ออายุครบ 18 ปี, สิทธิในการข้ามถนนในทางม้าลาย, สิทธิในการขับรถยนต์ เป็นต้น

    แต่ในความเป็นจริง ในขณะนี้แม้ว่าจะมีสิทธิทางจริยธรรมจริง แต่ก็จะคงแยกจากสิทธิทางกฎหมายได้ยาก โดยทั่วไปอาจแบ่งสิทธิออกได้เป็น 2 ประการ อย่างกว้างๆ คือ
    1. สิทธิไม่ให้ถูกกระทำ (negative right)
    เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่ทุกคนพึงมี เป็นอิสระโดยไม่สามารถไปแทรกแซงได้ สิทธิในประเภทดังกล่าว เช่น สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการพูด การนับถือศาสนา สิทธิส่วนตัว สิทธิไม่ให้ผู้อื่นมาทำร้ายร่างกาย เป็นต้น สิ่งที่มาควบคู่กับสิทธิ คือ หน้าที่ที่ทุกคนไม่เข้าไปแทรกแซงผู้อื่นในการทำสิ่งต่างๆ ตามตัวอย่างที่กล่าวมา

    2. สิทธิในอันที่จะกระทำได้ (positive right)
    เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่มนุษย์เป็นอิสระในการตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง เช่น สิทธิทางการศึกษา การเลือกรูปแบบการรักษาพยาบาล เป็นต้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในด้านหน้าที่ เช่น องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการศึกษา รัฐบาลจะต้องมีส่วนช่วยทำให้บุคคลแต่ละคนสามารถบรรลุถึงการตัดสินใจตามต้องการได้

    สิทธิผู้ป่วยในทางการแพทย์ที่มักกล่าวถึงกัน

    ได้มีการเรียกร้องสิทธิหรือการกล่าวถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ป่วยไว้อย่างมากมายและกว้างขวาง ก่อนที่จะมีคำประกาศในเรื่องสิทธิผู้ป่วยออกมาโดยองค์กรทางด้านสาธารณสุข สิทธิที่กล่าวถึงเหล่านี้ เช่น
    1. สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับบริการด้านสุขภาพโดยเท่าเทียมกัน
    2. สิทธิที่จะเลือกรับบริการ
    3. สิทธิที่จะรู้ถึงบริการที่ตนจะได้รับหรือได้รับมาแล้ว
    4. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาล การรักษาพยาบาล หรือข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ให้การรักษาพยาบาล
    5. สิทธิที่จะตาย
    6. สิทธิของผู้ป่วยที่บกพร่องทางกายและจิตใจ
    7. สิทธิที่จะได้รับความเป็นส่วนตัว (right of privacy) สิทธิส่วนตัว เช่น การไม่ถูกรบกวน โดยการตรวจตลอดเวลาหรือในยามวิกาลโดยไม่จำเป็น การที่จะไม่ถูกใช้เป็นผู้ถูกทดลอง (subject) ในการเรียนการสอนหรือการวิจัยโดยไม่ได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้า
    8. สิทธิความเป็นคน เช่น การที่จะได้รับเรียกชื่อมากกว่าถูกเรียกเป็น case การได้รับการปฏิบัติเช่นคนที่จะพึงได้รับ เช่น ไม่ถูกจับแก้ผ้าต่อหน้าสาธารณชนในสถานพยาบาล
    9. สิทธิที่จะได้รับความเสมอภาคในการเป็นคู่สัญญา (สัญญาที่ไม่เป็นธรรม)
    10. สิทธิที่จะได้รับบริการทางนิติกรรมที่อาจต้องเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์
    11. สิทธิอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น การขอให้พ้นจากการเป็นผู้ไร้ความสามารถ
    สิทธิเหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเกิดสิทธิผู้ป่วยในเวลาต่อมา ที่เรียกว่า "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย" นั่นเอง
    แนวทางการพิจารณาถึงสิทธิผู้ป่วยอย่างกว้าง

    แม้ว่าจะไม่มีคำประกาศสิทธิผู้ป่วยโดยองค์กรสาธารณสุขออกมาให้ปรากฏก็ตาม แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้ป่วยในฐานะของประชาชนคนไทยคนหนึ่งย่อมต้องมีสิทธิในด้านสิทธิผู้ป่วยโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายต่างๆ ได้อยู่แล้วจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างของกฎหมายเหล่านี้ เช่น
    1. รัฐธรรมนูญ
    เป็นสิทธิผู้ป่วยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปีพ.ศ.2540 ที่สำคัญ เช่น ในมาตรา 52 และมาตรา 82 ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

    2. กฎหมายทั่วไป
    คือสิทธิที่บัญญัติไว้ในกฎหมายทั่วไป เช่น ในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ความลับของผู้ป่วย ฯลฯ
    ตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยชราหรือป่วยเจ็บต้องได้รับการดูแล ตามมาตรา 307
    มาตรา 307
    "ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุความเจ็บป่วย กายพิการ หรือจิตพิการ ทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้นั้นเสีย โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

    3. กฎหมายสาธารณสุข
    เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

    4. กฎหมายวิชาชีพ
    เช่น สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาความลับตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวด 3 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 9.
    "ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วยซึ่งตนทราบมาเนื่องจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของผู้ป่วย หรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่"
    อย่างไรก็ตาม ในที่สุดองค์กรทางด้านสาธารณสุขทั้ง 5 อันประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทย์สภา คณะกรรมการการควบคุมการประกอบโรคศิลปได้ออก "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย" มาเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2541 เท่ากับเป็นการยอมรับ และให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิผู้ป่วยโดยตรง

    สิทธิของผู้ป่วยของสมาคมโรงพยาบาลแห่งสหรัฐอเมริกา

    สิทธิของผู้ป่วยของสมาคมโรงพยาบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (AHA's Patient's bill of right) ซึ่งประกาศโดยสมาคมโรงพยาบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Hospital Association, 1975) ได้มีแนวคิดว่าการเคารพเรื่องสิทธิของผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดผลดีในการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนเสริมสร้างความพึงพอใจกับผู้ป่วย โดยเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เพราะการเคารพสิทธิของผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษานอกจากการรักษาทางยา โดยเน้นเรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และคนไข้

    ก่อนจะมาเป็น "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย"

    ได้มีการรณรงค์ถึงสิทธิผู้ป่วยโดยแพทย์หลายท่านจนถึงระดับกรรมการแพทยสภา ทั้งยังได้มีคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งของแพทยสภา คือ "คณะอนุกรรมการสิทธิผู้ป่วย" ที่ได้ดำเนินการให้ผู้ป่วยได้ทราบถึงสิทธิของตนเอง อีกทั้งยังได้มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วย อีกไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง และการสัมมนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละครั้งก็มีหัวข้อที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ของผู้ป่วยเองที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลและได้รับการปฏิบัติจากแพทย์โดยไม่สมควร โดยที่ตนเองไม่เคยทราบถึงสิทธิของตนเองมาก่อน ทำให้เกิดความเสียหายหลายประการ ซึ่งถ้าเขาได้รู้ถึงสิทธิของเขาก่อน ก็จะทำให้เป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างยิ่ง

    ในที่สุดได้มีการร่าง "(ร่าง) คำประกาศสิทธิผู้ป่วย" ขึ้น ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
    1. ประชาชนทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

    2. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะของความเจ็บป่วย

    3. ผู้ป่วยที่มาขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ และเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพฯ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ปฏิบัติต่อตนเว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วน ของผู้ประกอบวิชาชีพฯ ตามข้อ 4
    ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ไม่สามารถรับทราบและเข้าใจคำอธิบายนั้นได้ บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม มีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว และเป็นผู้เลือกตัดสินใจ ให้ความยินยอมแทนผู้ป่วย

    4. ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วย จะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่

    5. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบชื่อและประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน

    6. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพฯ อื่นที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้

    7. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตัวของเขาเองจากผู้ประกอบวิชาชีพฯ หรือผู้ให้บริการโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการคุ้มครองอันตรายร้ายแรงของบุคคลอื่น

    8. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูล ในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลอง ในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพฯ

    9. ผู้ป่วยมีสิทธิอย่างเสรีในการปฏิเสธการรักษาใดๆ ที่เป็นวิธีการยืดชีวิตของเขาออกไป โดยที่เขาเห็นว่าการยืดชีวิตนั้นจะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไป และให้รวมถึงสิทธิของผู้ป่วยในการปฏิเสธการรักษาดังกล่าวที่ได้แสดงเจตจำนงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ด้วย

    10. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอสำเนาข้อมูลทุกรายการที่ปรากฏในเวชระเบียนประจำตัวของเขา โดยผู้ป่วยยินยอมเสียค่าใช้จ่ายเอง

    หมายเหตุ
    "ผู้ป่วย" หมายถึง ประชาชนผู้ไปขอรับบริการด้านสุขภาพจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ
    "ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ" หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525, ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528, ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537, ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 และรวมถึงผู้ประกอบโรคศิลปะ ตามพระราชบัญญัติ ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2479 ด้วย
    คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย

    ต่อมาได้มีการประกาศ "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย" โดยองค์กรทางด้านสาธารณสุข 5 องค์กร ลงนามโดยนายกของสภาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ 4 องค์กร และประธานคณะกรรมการการควบคุม การประกอบโรคศิลปะ ในวันที่ 16 เมษายน 2541 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

    "เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดี และเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทย์สภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ จึงได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิผู้ป่วยไว้ดังต่อไปนี้
    1. ประชาชนทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

    2. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะของความเจ็บป่วย

    3. ผู้ป่วยที่มาขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ และเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือไม่ยินยอมให้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็น

    4. ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่

    5. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน

    6. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้

    7. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเองจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

    8. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน ในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลอง ในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

    9. ผู้ป่วยมัสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น

    10. บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรมอาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้"

    พิจารณาคำประกาศสิทธิของผู้ป่วยรายข้อ

    เมื่อได้มีการประกาศ "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย" โดยองค์กรทางด้านสาธารณสุข 5 องค์กร ในวันที่ 16 เมษายน 2541 ย่อมจ้องถือว่าเป็นแนวทางหรือหลักเกณฑ์สำหรับสมาชิกในองค์กร ที่สมควรจะต้องปฏิบัติตาม

    สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งนับตั้งแต่ได้มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการทางการแพทย์มาก็คือ คำประกาศฉบับนี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ยอมรับว่าการดำเนินการทางการแพทย์เป็น "การบริการ" ซึ่งในความเห็นของแพทย์หลายคนอาจเห็นว่าไม่มีความหมาย หรือไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญแต่อย่างใด กับการที่จะให้ความหมายของการดำเนินการทางการแพทย์หรือคำว่าการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็น "การบริการ" ไม่ว่าเป็นการตรวจ การรักษา การบำบัด ฯลฯ แต่แท้ที่จริงแล้วมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อองค์กรด้านสาธารณสุขเองยอมรับว่า การดำเนินทางการแพทย์เป็นการ "ให้การบริการ" แล้วก็ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้มีกรอบที่แพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจะต้องระมัดระวังมากขึ้นไปอีกซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้ สำหรับแพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) นอกเหนือจากกรอบข้างต้นแล้วยังมีกฎเกณฑ์ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรม แห่งวิชาชีพเวชกรรมอีกหลายฉบับตามที่ได้ประกาศออกมา อีกทั้งยังต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของกฎหมายทั่วไปพื้นฐานอีกด้วย

    พิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิผู้ป่วยที่ปรากฏในแต่ละข้อได้ดังนี้

    1. ประชาชนทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
    พิจารณา
    ในที่นี้หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่เกี่ยวข้องมีอยู่ด้วยกัน 2 มาตรา คือ

    มาตรา 52
    "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตราฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

    การบริการทางสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมด้วยเท่าที่จะกระทำได้
    การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้"
    มาตรา 82
    "รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง"
    รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดต้องการให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพทั่วถึง แม้ว่าในมาตรา 52 จะยังไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม แต่อย่างไรเสียในภายหน้าก็จะต้องมีกฎหมาย
    ข้อน่าสังเกตในที่นี้ก็คือ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิ่งที่ประชาชนจะได้รับทางสาธารณสุขนั้นเป็น "บริการ" ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นในแนวทางเดียวกับความเห็นของ 5 องค์กรด้านสาธารณสุขดังได้กล่าวมาแล้ว

    เทียบกับฉบับร่าง : ไม่มีการแก้ไข เพราะอิงตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั่นเอง
    2. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะของความเจ็บป่วย

    พิจารณา
    ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพในที่นี้หมายถึง ผู้ซึ่งประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาลและผดุงครรภ์ ทันตแพทย์และเภสัชกรรม และรวมถึงผู้ประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ด้วยโดยการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจะต้องให้กับทุกคนในลักษณะที่เท่าเทียมกัน ซึ่งยึดถือเป็นหลักของความเสมอภาคในสังคมนั่นเอง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
    2.1 รัฐธรรมนูญในมาตรา 30
    "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน….ฯลฯ"

    2.2 ข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 เช่น

    หมวด 1 (หลักทั่วไป) ข้อ 3
    "ข้อ 3. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดีโดยไม่คำนึงถึงฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง"

    หมวด 3 (การประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ข้อ 1
    "ข้อ 1 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุด และพยายามให้ผู้ป่วยพ้นจากอาการทรมานจากโรคและความพิการต่างๆ โดยไม่เรียกร้องสินจ้างรางวัลพิเศษ นอกเหนือจากค่าบริการที่ควรได้รับตามปกติ"
    เทียบกับฉบับร่าง : ไม่มีการแก้ไข
    3. ผู้ป่วยที่มาขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอม ให้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็น

    พิจารณา
    3.1 โดยหลักแล้วการจะดำเนินการอย่างไรกับผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจะต้องทราบสิ่งที่จะกระทำต่อตัวเอง ทั้งนี้เป็นไปตามหลัก
    ก.ในรัฐธรรมนูญ
    มาตรา 13 "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย…..ฯลฯ"

    ข.ในการตัดสินใจ
    ที่จริงอาจมองการดำเนินการทางการแพทย์ว่าเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ในเชิง "สัญญา" ได้ ซึ่งอาจเป็นในเรื่อง จ้างแรงงาน จ้างทำของหรือสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งคู่สัญญาจะต้องเข้าใจ ในเนื้อหาของการทำสัญญาดังกล่าวอย่างชัดเจนเสียก่อน และแสดงเจตนาเพื่อการนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหมวดที่ 2 หลักการแสดงเจตนา ที่สำคัญคือมิได้มีการแสดงเจตนา ลวง ข่มขู่ ฉ้อฉล หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการทำนิติกรรม
    3.2 กรณีรีบด่วนหรือจำเป็นนั้นจะต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีรีบด่วนหรือกรณีจำเป็น เพราะใช้คำว่า "หรือ" ซึ่งทั้ง 2 กรณีต้องดูที่สภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก คือ รีบด่วนสำหรับผู้ป่วยและจำเป็นสำหรับผู้ป่วย (ไม่ใช่รีบด่วนหรือจำเป็นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ)

    ทั้งกรณีรีบด่วนและกรณีจำเป็น หมายถึงเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทย์เห็นว่ารีบด่วน หรือจำเป็นจะต้องให้การรักษาหรือดำเนินการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอย่างใด แต่ผู้ป่วยไม่ให้ความยินยอม หรือการที่จะให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลเพียงพอนั้น อาจไม่ทันการ หรือผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะให้ความยินยอมได้ แพทย์ก็จำต้องรีบดำเนินการทางการแพทย์ไปได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยเลือกตัดสินใจ เช่น กรณีที่เห็นว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ขา (femoral vessels) ฉีกขาดอย่างมาก และไม่อาจที่จะหยุดเลือดได้อีกทั้งพบว่าขาอยู่ในสภาพที่ไม่อาจมีเลือดมาเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว จำเป็นต้องตัดขาผู้ป่วย เช่นนี้ก็ต้องรีบดำเนินการเป็นการด่วนเลย เพราะถ้าช้าไปอาจถึงแก่ชีวิตของผู้ป่วยได้

    3.3 อย่างไรก็ตามกรณีที่จะเป็นการ "รีบด่วน" หรือ "จำเป็น" เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยนั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่ามีความรีบด่วนหรือจำเป็น "ถึงขนาด" หรือไม่เพียงใด ซึ่งในเรื่องนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงโดยอาศัยหลักเกณฑ์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ช่วยพิจารณาซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

    เทียบกับฉบับร่าง : เห็นได้ว่ามีเฉพาะในส่วนของ "กรณีจำเป็นต้องให้การรักษา" เท่านั้น จึงดูเหมือนจะแคบกว่าในฉบับที่ประกาศจริงเพราะครอบคลุมในการดำเนินการทางการแพทย์ในทุกรณี
    4. ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณีโดยไม่คำนึงว่า ผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่

    พิจารณา
    กรณีนี้เป็นการสอดรับกับกรณีที่ 3 อย่างมากในเรื่องการให้การช่วยเหลือรีบด่วนต่อผู้ป่วย สำหรับแพทย์เองมีหลักที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว คือ
    4.1 ข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526
    หมวด 3 (การประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ข้อ 10
    "ข้อ 10. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายจากการเจ็บป่วย เมื่อได้รับคำขอร้อง และตนอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้"

    4.2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374
    มาตรา 374
    "ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
    เทียบกับฉบับร่าง : ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
    5. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน
    พิจารณา
    เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยสมควรรู้ถึงบุคคลที่จะมากระทำ (ดำเนินการทางการแพทย์ ต่อตนเองว่าเขาคือใคร เพราะอาจดูความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่จะมีให้บุคคลเหล่านั้นด้วย)
    เทียบกับฉบับร่าง : ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
    6. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้
    พิจารณา
    6.1 สิทธิขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพผู้อื่น
    ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยอาจเกิดความสงสัยใน วิธี กระบวนการ ประเภท ฯลฯ ของการดำเนินการทางการแพทย์ และต้องการที่จะทราบความเห็นจากบุคคลอื่นที่มีความรู้ในด้านนั้นๆ ประกอบด้วย เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจตามข้อ 3 หรือข้อ 8 ต่อไป เพื่อเป็นการยินยันในสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพคนแรกได้ให้ความเห็นไว้ และถ้ายังเกิดกรณีที่สงสัยอยู่อีก เช่น ความเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพคนแรกกับคนที่สองแตกต่างกัน ผู้ป่วยย่อมสามารถที่จะขอความเห็นชอบจากคนที่สามหรือสี่ต่อไปอีกได้ด้วย เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

    6.2 สิทธิขอเปลี่ยนผู้ให้บริการตนเอง
    ย่อมเป็นสิทธิโดยแท้ของผู้ป่วยทั้งนี้เพราะ ผู้ป่วยมีสิทธิในชีวิตและร่างกายตามที่กล่าวแล้วในข้อ 3 เว้นเสียแต่การเปลี่ยนนั้นจะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอาจจำเป็น หรือรีบด่วนต้องดำเนินการต่อไปตามที่กล่าวแล้วในข้อ 3

    6.3 สิทธิขอเปลี่ยนสถานพยาบาล
    เช่นเดียวกับข้อ 6.2
    เทียบกับฉบับร่าง : เนื้อหาใกล้เคียงของเดิม
    7. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเองจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์)
    พิจารณา
    7.1 พิจารณาตามมาตรา 323
    "ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น โดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้ช่วยพยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชี หรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้น แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก เปิดเผยความลับของของผู้อื่นอันตนได้ล่วงรู้ หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน"
    7.2 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
    โดยเฉพาะมาตรา 25 วรรค 3
    "……………..การเปิดเผยรายงานการแพทย์ที่เกี่ยวกับบุคคลใด ถ้ากรณีมีเหตุอันควร เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยต่อเฉพาะแพทย์ที่บุคคลนั้นมอบหมายก็ได้ ……ฯลฯ"

    7.3 ข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวด 3 (การประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ข้อ 9
    "ข้อ 9. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย ซึ่งตนทราบมาเรื่องจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของผู้ป่วยหรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่"

    เทียบกับฉบับร่าง
    ได้มีการเปลี่ยนข้อความที่ว่า "เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือการคุ้มครองอันตรายร้ายแรงของบุคคลอื่น" โดยใช้เป็น "การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย" แทน ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง 2 กรณีนี้ ยังอาจครอบคลุมไม่หมด ในกรณีที่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย เช่น การที่จะต้องให้รายละเอียดกับพนักงานสอบสวนในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น การใช้คำว่า "ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย" จึงน่าจะเป็นการเหมาะสมกว่า
    8. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน ในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลอง ในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ
    พิจารณา
    8.1 เป็นไปเช่นเดียวกับข้อ 3.1 นั่นเอง
    8.2 ตามข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวด 6 (การทดลองในมนุษย์) ข้อ 1
    "ข้อ 1. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ทำการทดลองในมนุษย์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกทดลอง และต้องพร้อมที่จะป้องกันผู้ถูกทดลองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทดลองนั้นๆ"
    เทียบกับฉบับร่าง : ไม่เปลี่ยนแปลง
    9. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตน ที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น

    พิจารณา
    อาจเกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 โดยเฉพาะในมาตรา 25
    เทียบกับฉบับร่าง
    ตรงกับข้อ 10 ของฉบับร่าง ซึ่งในข้อที่ 9 นี้มีปัญหาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนได้เขียนไว้เป็นบทความหนึ่งแยกต่างหากเพราะมีเนื้อหาค่อนข้างมาก

    10. บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิตซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้
    พิจารณา
    10.1 ที่ใช้คำว่า บิดา มารดา หมายถึง ต้องทั้งบิดาและมารดา (ทั้ง 2 คนร่วมกัน) หรือหมายถึง บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดก็เพียงพอแล้วกันแน่ ทั้งนี้เพราะในคำประกาศสิทธิผู้ป่วยมิได้มี "_" หรือ "," ระหว่าง บิดา มารดา จึงไม่อาจทราบได้ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 28 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว น่าจะหมายถึงคนหนึ่งคนใดก็ได้

    10.2 เนื่องจากในข้อ 10 นี้มิได้มีการกำหนดแยกประเภทของผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการแสดงเจตนาประเภทต่างๆ ไว้ดังเช่นในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร
    มาตรา 15
    "……….ให้บุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมีสิทธิดำเนินการตามมาตรา 23, มาตรา 24 และมาตรานี้แทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรมแล้วได้"

    แต่ในข้อ10 นี้ใช้เพียง "ผู้แทนโดยชอบธรรม" เท่านั้น ดังนั้นผู้แทนโดยชอบธรรมในที่นี้จึงน่าจะหมายถึง ผู้แทนโดยชอบธรรมตามความหมายอย่างกว้างกล่าวคือ หมายถึง
    10.2.1 ผู้แทนโดยชอบธรรม ตามมาตรา 21 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือผู้แทนโดยชอบธรรมสำหรับผู้เยาว์เท่านั้น

    10.2.2 ผู้แทนโดยชอบธรรม

    ก. ตามความเป็นจริง สำหรับ "ผู้ไร้ความสามารถ" หรือ "ผู้เสมือนไร้ความสามารถ"
    ข. ตามกฎหมาย สำหรับ "คนไร้ความสามารถ" หรือ "คนเสมือนไร้ความสามารถ" ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลได้สั่งแล้ว จึงมี "ผู้อนุบาล" และ "ผู้พิทักษ์" ในการเป็นผู้ดูแลตามลำดับ ตามมาตรา 34 และ มาตรา 32 ตามลำดับ
    รายละเอียดในการให้ความยินยอมในส่วนนี้ ดูได้จากบทความที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้ว แต่ถ้าไม่ตีความเป็นเรื่องผู้แทนโดยชอบธรรมอย่างกว้างแล้ว ผู้แทนโดยชอบธรรม จะเป็นเพียงผู้แทนโดยชอบธรรมตามมาตรา 21 เท่านั้น ก็จะเกิดปัญหาของบุคคลไร้ความสามารถ และบุคคลเสมือนไร้ความสามารถทั้งที่ศาลได้สั่งแล้วและยังมิได้สั่งว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะเกิดปัญหากับทางสถานพยาบาลอย่างมากในการปฏิบัติตามข้อ 10 แห่งคำประกาศสิทธิผู้ป่วย
    10.3 ผู้เยาว์ในข้อกำหนดของแพทยสภาตามประกาศฉบับนี้ ถือเอาที่อายุ 18 ปีลงมา ซึ่งอาจไม่ตรงกับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติไว้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี (เพราะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 20 ปี) นั่นหมายความว่าองค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงแพทยสภายอมรับการใช้สิทธิของบุคคลในทางการแพทย์คือ การให้ความยินยอมในทางการแพทย์ในบุคคลที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ซึ่งโดยความจริงแล้วบุคคลอายุที่ยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี ยังไม่ถือว่าบรรลุนิติภาวะ จึงยังคงถือว่าเป็นผู้เยาว์ ความยินยอมให้กระทำการอันหนึ่งอันใดของผู้เยาว์ อาจทำให้การนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เว้นเสียแต่การที่ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติยกเว้นไว้ให้ผู้เยาว์สามารถทำได้ตามมาตรา 22 ถึง 27

    10.4 เรื่องการใช้สิทธิแทนนี้เป็นการใช้สิทธิแทน 2 ประการ
    10.4.1 การใช้สิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาลหรือดำเนินการทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ผ่าตัด การรักษา การบำบัด การตรวจโดยวิธีพิเศษ ฯลฯ ตามข้อ 3 ของคำประกาศสิทธิผู้ป่วย

    10.4.2 การใช้สิทธิในเรื่องเอกสารแทนผู้ป่วย โดยเฉพาะตามข้อ 9 ของคำประกาศสิทธิผู้ป่วย
    เทียบกับฉบับร่าง : ข้อ 10 นี้อยู่ในข้อ 3 วรรค 2 ของฉบับร่าง
    ข้อสังเกต : ได้มีการตัดข้อ 9 ของฉบับร่างสิทธิผู้ป่วยออก ซึ่งมีข้อความที่น่าสนใจอย่างมากดังนี้
    "9. ผู้ป่วยมีสิทธิอย่างเสรีในการปฏิเสธการรักษาใดๆ ที่เป็นวิธีการยืดชีวิตของเขาออกไป โดยที่เขาเห็นว่าการยืดชีวิตนั้นจะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไป และให้รวมถึงสิทธิของผู้ป่วยในการปฏิเสธการรักษาดังกล่าวที่ได้แสดงเจตจำนงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ด้วย"
    ซึ่งในร่างของข้อนี้เป็นเรื่อง 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
    1. สิทธิที่จะตาย (The right to die)
    2. สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษา (The patient's right to refuse treatment) ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องการทำให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังได้ตายอย่างสงบ (Euthanasia)
    3. พินัยกรรมแห่งชีวิต (Will of life)
    ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ได้มีการเขียนในบทความและให้ความเห็น โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายครั้งหลายท่าน และยังมีปัญหาในการยอมรับของฝ่ายต่างๆ อีกมาก ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่ในต่างประเทศก็ยังเกิดปัญหา การที่จะออกเป็นหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ในระดับองค์กรทางด้านสาธารณสุขอย่างเดียว ย่อมไม่เป็นการเพียงพอ จะต้องออกเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งในขณะนี้เรื่อง Euthanasia เพิ่งจะยอมรับในระดับกฎหมายที่ผ่านสภาทั้งสอง (สภาล่างและสภาสูง) เพียงประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2544 นี้เอง สำหรับในประเทศออสเตรเลียใน Northern Territory เคยผ่านกฎหมายเช่นนี้เมื่อปี พ.ศ.2539 แต่มีผลอยู่เพียง 8 เดือน ก็ถูกรัฐสภาของรัฐบาลกลางสั่งยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

    อย่างไรก็ตามคาดว่าเรื่องทั้ง 3 นี้จะเป็นหัวข้อที่ทางองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพให้ความสนใจ และน่าจะมีแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพออกมาในเวลาอีกไม่นานนัก

    ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย
    ปัญหาเกี่ยวกับคำประกาศสิทธิผู้ป่วยอยู่หลายประเด็น เช่น ใครควรมีกรรมสิทธิในเวชระเบียน คำประกาศสิทธิผู้ป่วยออกมาโดยหลักเกณฑ์ทางกฎหมายโดยชอบหรือไม่ สถานพยาบาลจะต้องประกาศคำประกาศสิทธิผู้ป่วยนี้ ให้ผู้ป่วยได้รับทราบหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในบทความต่อไป

    สรุป

    เรื่องสิทธิผู้ป่วยมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับสำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพและผู้เกี่ยวข้องก็ไม่อาจปฏิเสธที่จะไม่สนใจหรือไม่รู้ต่อไปอีกแล้ว ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจึงต้องศึกษาเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้อง
    เอกสารอ้างอิง

    1. พลเมืองดียัน "รวมแพทย์" เมินรักษา.หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. วันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2541 หน้า 20.
    2. พาณิชย์เต้น รพ.ไม่รับคนไข้จากรัตนโกสินทร์. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. วันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2541 หน้า 9.
    3. มานิต มานิตเจริญ. พจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 8, นิยมวิทยา: กรุงเทพมหานคร: 979.
    4. วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์. ดุลพาห 2539; 4(43): 90-125.
    5. อรรถจินดา ดีผดุง. สิทธิผู้ป่วย: ใน: สุวงศ์ ศาสตรวาหา. รวมบทความวิชาการในโอกาสเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน 2536: 109-118.
    6. อรรถจินดา ดีผดุง. สิทธิของผู้ป่วย: การสัมมนาเพื่อระดับความคิด สิทธิผู้ป่วย. วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2539 ณ ห้องไพจิตร ปวบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. นนทบุรี: แพทยสภา. 2539
    7. หยุด แสงอุทัย. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2523: 187-8.
    8. สัมมนาเรื่อง สิทธิผู้ป่วย. วันพุธที่ 9 มิถุนายน 2536. ณ โรงแรมรอยัลลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร. นครปฐม: โรงพิมพ์สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, 2536.
    9. การสัมมนาเพื่อระดมความคิด สิทธิผู้ป่วย. วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2539 ณ ห้องไพจิตร ปวบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. นนทบุรี: แพทยสภา. 2539.
    10. คัมพีร์ มัลลิกะมาส. สิทธิของคนไข้. ใน: สัมมนาเรื่อง สิทธิผู้ป่วย. วันพุธที่ 9 มิถุนายน 2536. ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร. นครปฐม: โรงพิมพ์สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, 2536: 71-8.
    11. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และคำประกาศสิทธิผู้ป่วย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2542.
    12. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. ราชกิจจานุเบกษา 2540; 114(55ก), 11 ตุลาคม 2540: 1-99.
    13. (ร่าง) คำประกาศสิทธิของผู้ป่วยซึ่งจัดทำโดยแพทยสภาและจัดส่งมาโดยเลขาธิการแพทยสภา ตามหนังสือที่ พส.011/ว.105 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2540.
    14. (ร่าง) คำประกาศสิทธิผู้ป่วย. ใน: การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "การให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตายอย่างสงบ" (Euthanasia) จัดโดย กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ดิงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับแพทยสภา วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2540 ณ ห้อง แอล.ที.1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.
    15. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สูตรไพศาล, 2537.
    16. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. แพทย์กับกฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง. กรุงเทพมหานคร: ศุภวนิชการพิมพ์, 2544.
    17. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรม แห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2542.
    18. วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์. นิติเวชสาธก ฉบับกฎหมายกับเวชปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์, 2530: 112, 122.
    19. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. การฟ้องร้องแพทย์. สารศิริราช 2541; 50: 345-57.
    20. นคร พจนวรพงษ์, พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-6. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นครหลวง, 2538.
    21. นคร พจนวรพงษ์, พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา. ประมวลกฎหมายอาญา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นครหลวง, 2538.
    22. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สูตรไพศาล, 2542.
    23. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์, จันทรพิมพ์ เจียมพงศ์พันธุ์. ความยินยอมในทางการแพทย์. วารสารอุบัติเหตุ 2541: 34-46.
    24. แสวง บุญเฉลิมวิภาส. สิทธิผู้ป่วย. ใน: สุรวงศ์ ศาตราเวหา. กฎหมายทางการแพทย์และสาธารณสุข คุณภาพชีวิตกับกฎหมาย ชุดที่ 4 พ.ศ.2540. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลาคม, 2540: 24-35.
    25. วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์. สิทธิที่จะตาย. ใน: การประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบนักษัตร เรื่อง การแพทย์ วัฒนธรรม และจริยธรรม. วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2538. นครปฐม: สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล, 2538: 166-91.
    26. ปาริชาติ ปุณฑริกวิวัฒน์. บทวิจารณ์เรื่องสิทธิจะตาย. ใน: การประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่องในวโรกาส ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบนักษัตร เรื่องการแพทย์ วัฒนธรรม และจริยธรรม. วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2538. นครปฐม: สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเชี่ยน มหาวิทยาลัยมหิดล, 2538: 192-3.
    27. Blacksher EA. Euthanasia in Australia. Hastings Cent Rep 1995; 25(5): 47.
    28. Angell M. Euthanasia. N Engl J Med 1988; 319: 1348-1350.
    29. Cassel CK, Meier DE. Morals and moralism in the debate over euthanasia and assisted suicide. N Engl J Med 1990; 323: 750-752.
    30. Benrubi GI. Euthanasia -- the need for procedural safeguards. N Engl J Med 1992; 326: 197-199.
    31. Singer PA, Siegler M. Euthanasia -- a critque. N Engl J Med 1990; 322: 881-883.
    32. ดัตช์ผ่านกฎหมายให้หมอช่วยปลิดชีพผู้ป่วยหนัก. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. วันที่ 12 เมษายน 2544 หน้า 2.
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×