ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รีวิวนิยายกับอุ้มสม

    ลำดับตอนที่ #1 : ๑ - เพชรกลางไฟ ; ว.วินิจฉัยกุล - รุงรังดั่งหนึ่งอนาถา แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่ -

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.82K
      15
      10 เม.ย. 58

    ~ เ พ ช ร ก ล า ง ไ ฟ ~

    นวนิยายโดย :  ว.วินิจฉัยกุล

    สำนักพิมพ์ :  ทรีบีส์ (เพื่อนดี)

    พิมพ์ครั้งที่ ๑ :  มีนาคม ๒๕๕๘

    ราคา :  ๓๕๐ บาท

    รายละเอียด

                เขายื่นสมุดให้เธอ  เธอก็เอื้อมมือมารับ  ระมัดระวังมิให้สัมผัสปลายนิ้ว

                แต่อนลก็ชื่นใจเมื่อเห็นมือขาวเรียวจับอยู่บนแผ่นหนัง เขาเคยจูบสมุดบันทึกนี้ เพราะรู้ว่านิ้วของเธอจะต้องสัมผัสเมื่อได้รับบันทึกไป ถึงเธอไม่มีวันรู้ เขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ เรื่องนี้ก็เป็นความลับอันสุขใจพอแล้ว

              “ขอบใจคุณมาก”

              กระดาษแผ่นหนึ่งปลิวจากบันทึก อุรวศีก้มลงเก็บ เข้าพระทัยว่าเป็นกระดาษที่เสด็จพ่อทรงบันทึกข้อความไว้  มองเห็นตัวพระอักษรเขียนด้วยหมึกดำเป็นตัวหนังสือเรียบเรียงชัดเจน

     

                                 มิอาจพบประสบพักตร์                ใช่ว่าจักคิดหักใจ

                            คิดถึงทุกวันไป                                       แม้มิได้อยู่ใกล้กัน

                            ไม่ใกล้ก็เหมือนใกล้                                เพราะดวงใจอันผูกพัน

                            เหมือนเห็นกันทุกวัน                              เราพบกันนั้นด้วยใจ

     

    บันทึกหลังอ่าน

                อุ้มสมห่างหายจากการรีวิวไปพักใหญ่  (ตั้งแต่ปีใหม่มาไม่มีโอกาสได้เขียนรีวิวเลยครับ)  คงเป็นเพราะชีวิตนักเรียนม.ปลาย  ที่มีทั้งการเรียนและกิจกรรมมากมาย  กอปรกับมีช่วงหนึ่งที่อุ้มสมรู้สึกว่าตัวเองหมด “ไฟ” ในการเขียนรีวิวนิยาย  จนวันนี้พร้อมที่จะกลับมาเขียนแล้ว  แถมยังเป็นช่วงปิดเทอม  ก็เลยจัดเลยละกัน!

                ประเดิมรีวิวเรื่องแรกของปี  ๒๕๕๘  อุ้มสมก็ขอเริ่มจากนิยายเรื่องใหม่ของนักเขียนชั้นครูอย่าง  ว.วินิจฉัยกุล  ที่พออุ้มสมอ่านจบก็แทบอยากจะลุกมาเขียนรีวิวทันที...  “เพชรกลางไฟ”

              เพชรกลางไฟ  เป็นเรื่องราวความรักต่างชนชั้นของคู่พระนาง  ฝ่ายหญิงคือหม่อมเจ้าหญิงอุรวศี  ธิดาองค์เล็กของเสด็จในกรม  ส่วนฝ่ายชาย  อนล  เป็นเพียงบุตรชายคนเล็กของพระยารัชปาลี  ซึ่งก็เป็นเพียงสามัญชนเท่านั้น  หม่อมเจ้าหญิงอุรวศีต้องเผชิญหน้ากับหม่อมใหญ่และธิดาผู้ประสงค์ร้าย  แต่ก็ได้อนลคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้บ่อยครั้ง  แล้วความรักต่างชนชั้นครั้งนี้จะจบลงเช่นไร

              นวนิยายเรื่องนี้  ดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นพระนคร  และเมืองนครสวรรค์  ในยุครัชกาลที่  ๖  ด้วยความงดงามทางวรรณศิลป์ของว.วินิจฉัยกุล  และการดำเนินเรื่อง  ทำให้ไม่ยากเลยครับ  ที่ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงสังคม  วิถีชีวิตในผู้คนในยุคนั้นผ่านตัวละครหลายตัว

              “เพชรกลางไฟ”  ดำเนินเรื่องราวผ่านตัวละครหลักทั้งสอง  คือพระเอกและนางเอก  ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง  มีปัญหาในชีวิตที่ต้องเผชิญ  โดยเฉพาะเรื่องราวของนางเอกที่มีบทบาทมากที่สุด  แม้ว่าในขณะที่อ่านอุ้มสมจะรู้สึกว่า  เรื่องราวมีความเป็น  “ละครไทย”  ค่อนข้างมาก  คือมีตัวละครสีดำ  ที่ร้ายสุดๆ  ทั้งความคิดและกิริยาวาจา  แต่ก็อ่านได้สนุก  เข้มข้นในระดับหนึ่ง  เพราะมีแง่คิดดีๆ  มากมายสอดแทรกไว้นั่นเอง

              ทันทีที่อุ้มสมอ่านคำโปรยปกหลัง  อุ้มสมก็คิดว่านิยายเรื่องนี้จะต้องมีความหวานละมุนละไม  โรแมนติกน่าดู  ความรักต่างชนชั้น  พล็อตเรื่องที่ใครๆ  ก็ชอบ  ยิ่งเป็นฝีมือของนักประพันธ์ชั้นครูยิ่งน่าสนใจ  แต่พอได้อ่านจบแล้ว  ก็รู้สึกว่าความหวาน  ความโรแมนติกน้อยกว่าที่คิดไว้  (ไม่ใช่ไม่มีนะครับ  แต่มันน้อยกว่าที่มโนไว้  ฮ่าๆ)  แถมช่วงกลางเรื่อง  (เป็นช่วงที่ชีวิตของพระเอกเราช่างอาภัพนัก)  พระนางแทบไม่ได้เจอกันเลย  ต่างฝ่ายต่างมีปัญหาของตัวเอง  ถ้าปรับให้นางเอกรู้เรื่องของพระเอกเร็วกว่านี้  ก่อนที่พระเอกจะเป็นคนมาเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง  จะดีงามมาก

              หม่อมเจ้าหญิงอุรวศี  หรือที่ใครๆ  เรียกว่า  ท่านหญิงหลง  เธอคือนางเอกที่มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่องที่สุด  เธอคือเจ้าของความหมาย  “เพชรกลางไฟ”  อุ้มสมชอบคาแรคเตอร์ของท่านหญิงหลงมาก  ด้วยความที่เธอเป็นราชสกุลผู้มีความเข้มแข็ง  สง่า  ยึดมั่นในความดีของตน  และไม่หวั่นเกรงต่อผู้ที่คิดร้าย  เลือกที่จะเอาชนะด้วยความดี  และความเข้มแข็ง  สมดั่ง  “เพชร”  ที่แม้จะอยู่ท่ามกลางเปลวไฟที่แผดเผา  ก็ยังสุกสกาวได้ ยิ่งช่วงท้ายเรื่องได้เห็นการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยวของเธอก็ยิ่งชอบมาก

              ถ้าหากอุรวศีไม่เข้มแข็ง  แล้วจะเป็นเช่นไร  เธอคงถูกแผดเผาจนไม่เหลือกซากเป็นแน่  เพราะ “ไฟ”  ที่พร้อมจะแผดเผาอุรวศีทุกเวลามันช่างร้อนรุ่มเหลือเกิน  โดยเฉพาะ  หม่อมต่วน  หม่อมใหญ่ผู้ชิงชังลูกเลี้ยงอย่างอุรวศียิ่งนัก  ตัวละครตัวนี้เป็นสตรีที่ร้ายกาจมาก  เข้าข่าย  “มือถือสากปากถือศีล”  เพราะเธออ้างว่าถือศีลห้าทุกวัน  ถือศีลแปดทุกวันพระ  แต่อุ้มสมไม่เห็นความดีในหัวใจของหม่อมต่วนเลย  หม่อมต่วนจมปรักอยู่กับเพลิงริษยา  ซึ่งสิ่งที่หม่อมต่วนทำ  (พลิกผันชะตาชีวิตนางเอกมาก)  เป็นสิ่งที่ร้ายกาจมากจนเกินให้อภัย  จุดจบของผู้หญิงคนนี้อนาถ...แต่สงสารไม่ลงจริงๆ

              แต่อุรวศีจะต่อสู้กับไฟร้อนทั้งหลายได้เพียงคนเดียวหรือ...ไม่หรอก  มันต้องมีกำลังใจดีๆ  คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ  สิ

              อนล  คือพระเอกที่มีคาแรคเตอร์แตกต่างจากพระเอกเรื่องอื่นๆ  ของอาจารย์ว.วินิจฉัยกุล  แต่อุ้มสมชอบการสร้างตัวละครตัวนี้มากเช่นกัน  (ขึ้นแท่นพระเอกของว.วินิจฉัยกุล/แก้วเก้า  ที่ชื่นชอบเป็นอันดับต้นๆ  ไปเรียบร้อยแล้ว)  ภายนอก  อนลดูเหมือนจะเป็นผู้ชายที่อ่อนแอ  ไม่กล้าหาญ  ไม่เข้มแข็ง  ไม่เหมาะที่จะเป็นทหารเหมือนพี่ชาย  ในสายตาของคนเป็นพ่อ  อนลเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน  ชอบเล่นดนตรีไทย  ชอบเขียนกลอน  และอ่านกลอนได้ไพเราะยิ่งนัก  เรียกได้ว่าเป็นผู้ชายที่มีศิลปะมากเลยทีเดียว  แต่เมื่อเขาต้องรับเคราะห์กรรมในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อ  อนลกลับไม่โทษพี่ชายผู้เป็นต้นเหตุเลยสักนิด  เหตุการณ์นี้ทำให้อุ้มสมรู้สึกว่า  แม้ว่าภายนอกผู้ชายคนนี้จะดูไม่เข้มแข็ง  แต่ความเข้มแข็งของอนลมันออกมาจากใจของเขา!  ซึ่งเป็นสิ่งที่  อนึก  พี่ชายของอนลไม่มี

               อนลกับอุรวศีพบกันและรักกันได้อย่างไร?  การพบกันครั้งแรกของทั้งคู่  อุ้มสมคงต้องขอหยิบยกบทกลอนจาก  ท้าวแสนปม  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หกมา  ด้วยถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องราวความรักของทั้งคู่เลยทีเดียว

    รุงรังดั่งหนึ่งอนาถา         แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่

    จ้องดูไม่หลบตาไป         นี่มิใช่คนทรามต่ำช้า

              จะต่างก็เพียงแค่อนลนั้นไม่ใช่  ท้าวแสนปม  แต่เป็น  ท้าวแสนเปื้อน  ต่างหาก  สิ่งที่ทำให้อนลประทับใจในตัวหม่อมเจ้าหญิงอุรวศี  จนก่อเป็นความรัก  และไม่เคยกลัวว่าความรักของเขาจะไม่สมหวัง  เพียงเพราะความเป็นเจ้า-สามัญชน  คงเป็นเพราะความสวยสง่า  ความฉลาด  และความเข้มแข็งของเธอ  อนล  “กล้า”  ที่จะแสดงออกอย่างชัดเจน (แต่ไม่น่าเกลียด)  ให้อุรวศีได้รู้ถึงความรู้สึกดีที่เขามีให้  ผ่านบทกลอน  ผ่านสีหน้าและแววตา  ซึ่งไม่กรุ้มกริ่มหรือเจ้าชู้  แต่ดูแล้วรู้ว่า  “รัก” 

              เสน่ห์ที่สำคัญของเพชรกลางไฟในความคิดของอุ้มสม  คือบทกวีครับ  ด้วยความที่อุ้มสมชอบอ่าหนังสือที่มีบทกวีเป็นส่วนประกอบ  เรื่องนี้จึงถูกใจมาก  ยกตัวอย่างสักนิด...เช่นบทกวีที่อยู่ปกหลังเลยละครับ 

                                        มิอาจพบประสบพักตร์                ใช่ว่าจักคิดหักใจ

                            คิดถึงทุกวันไป                                       แม้มิได้อยู่ใกล้กัน

                            ไม่ใกล้ก็เหมือนใกล้                                เพราะดวงใจอันผูกพัน

                            เหมือนเห็นกันทุกวัน                              เราพบกันนั้นด้วยใจ

              อนลดูเป็นผู้ชายที่มีศิลปะเต็มตัวและหัวใจ  เขาเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน  แต่ไม่อ่อนไหว  นั่นทำให้คนอ่านสัมผัสได้ถึงความเข้มแข็งของเขา  คือมั่นใจว่าเขาจะสามารถดูแลอุรวศีได้อย่างแน่นอน  และไม่รู้สึกว่าเขาต่ำต้อยจนไม่เหมาะกับเธอเลย  หลายเหตุการณ์ของอุรวศีที่ผ่านพ้นไปด้วยดีก็ด้วยความช่วยเหลือของอนล

              ทำไมอุรวศีถึงรักผู้ชายธรรมดาอย่างอนล  ก็อย่างที่กล่าวไว้ด้านบนเลยละครับ  ฮ่าๆ  อุรวศีฉลาดพอที่จะ  “รับรู้”  ถึงความรู้สึกของอนลที่มีต่อเธอ  ทุกการกระทำบ่งบอกให้เธอรับรู้ถึงใจปฏิพัทธ์ของเขา  และอุ้มสมมั่นใจว่าอุรวศีก็เกิดรู้สึกดีกับอนลเหมือนกันนี่แหละ  เพียงแต่เพราะความเป็นหม่อมเจ้า  เพราะคำสอนของเสด็จพระองค์หญิงผู้เป็นป้า  ทำให้อุรวศีไม่อาจเผยให้เขารู้ได้สักนิดเลยว่าเธอเองก็มีใจ  ชอบการวางตัวของเธอ

              และที่ชอบที่สุด...ก็คือบทสรุปของความรักระหว่าง  หม่อมเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ดั่งเจ้าหญิงอุษา  กับ  ชายหนุ่มสามัญชนที่ริอาจรักองค์หญิงดั่งท้าวแสนปม ไม่คาดคิดว่าจะจบแบบนี้  ชอบครับ  แต่รู้สึกว่าช่วงท้ายเรื่องดูรีบมาก  เหมือนเร่งรัดให้จบ  อยากให้ยาวกว่านี้อีกนิด  อยากเห็นบทสรุปของพี่ๆ  นางเอกที่ชัดเจนมากกว่าการให้ตัวละครมาพูดคุยกัน

              นอกจากนั้น  “เพชรกลางไฟ”  ใช่ว่าจะเป็นเพียงนิยายรักธรรมดา  ด้วยเดินเรื่องในยุครัชกาลที่หก  เหตุการณ์สำคัญที่มีบทบาทในเรื่องนี้มากก็คือเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.๑๓๐   ซึ่งเป็นปมดราม่า  ความขัดแย้ง  ระหว่างครอบครัวพระเอก  ดราม่าเข้มข้นในระดับหนึ่งเลยทีเดียวครับ

              โดยรวมแล้ว  “เพชรกลางไฟ”  เป็นนิยายพีเรียดที่อ่านสนุก  สำนวนไหลลื่นและงดงาม  ความเข้มข้นมีแต่ดราม่าไม่มากถึงขั้นปวดใจ  ถ้าเทียบกับผลงานเรื่องอื่นๆ  ของอาจารย์  ถือว่าเรื่องนี้สนุกในระดับหนึ่ง  เนื้อเรื่องเหมาะที่จะทำละครมาก  (เห็นว่าช่องสาม  ทีวีซีน  ได้ลิขสิทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว)   
     
              รุงรังดั่งหนึ่งอนาถา       แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่

    อุ้มสม

    ๑๐  เมษายน  ๒๕๕๘


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×