ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แพทยศาสตร์ ม.บูรพา

    ลำดับตอนที่ #2 : แนะนำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ~*!!!!!!

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.96K
      0
      18 ก.พ. 55


    แนะนำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา   
    ประวัติความเป็นมา
             คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2537  จากแนวความคิดในการขยายงานศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย  ที่มีขนาด  500  เตียง  เพื่อเป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษาและฝึกปฏิบัติงานของนิสิตแพทย์  พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข  มหาวิทยาลัยบูรพาจึงแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์  และได้ขอปรึกษากับทบวงมหาวิทยาลัย  (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)  ซึ่งให้ความเห็นว่าให้ดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ในลักษณะของการจัดตั้งคณะใหม่ มิใช่การขยายจากหน่วยงานเดิม  มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการเสนอโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ระยะที่ 8  (พ.ศ. 2540 – 2544)
              ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่  9  (พ.ศ. 2545 - 2549)  มหาวิทยาลัยบูรพาได้มีการเตรียมการต่าง ๆ ลุล่วงด้วยดีตลอดมา ดังนี้

                ก. คณะวิทยาศาสตร์  โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์  ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์  หลักสูตรนี้จัดการเรียนการสอนรายวิชาที่ประกอบด้วยวิชามหกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์  กายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์  สรีรวิทยาของมนุษย์  จุลชีววิทยาทางการแพทย์  พยาธิวิทยา  อิมมูโนวิทยา ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นรายวิชาที่นิสิตแพทย์จะต้องเรียนในชั้นปรีคลินิก
               ข. มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ในการจัดการเรียนการสอนชั้นปรีคลินิก  โดยมีอาคารวิทยาศาสตร์การแพทย์  อาคาร  6  ชั้น  พื้นที่ใช้สอย  9,000  ตารางเมตร  พร้อมห้องประชุม  ห้องเรียน  ห้องทำงาน  ห้องปฏิบัติการพร้อมครุภัณฑ์  และอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนด้านปรีคลินิกได้ทันที
               ค. มีคณะที่เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้านการพยาบาลและการสาธารณสุข  คือ  คณะพยาบาลศาสตร์ และ คณะสาธารณสุขศาสตร์  ที่ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้ว
               ง. มีศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการเรียนการสอน  การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ  และเปิดบริการรักษาพยาบาลทางการแพทย์และการสาธารณสุข  โดยมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาขนาด 150  เตียง  เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัย
               จ. มีคณะวิทยาศาสตร์  วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬา และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ที่สามารถจัดการเรียนการสอนในรายวิชาพื้นฐานของการผลิตแพทย์ได้
               ฉ. การจัดการเรียนการสอนในชั้นคลินิก  มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและความพร้อมในพื้นที่ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา  ประกอบด้วย  โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี   โรงพยาบาลระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง   โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี  โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี   ซึ่งสามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนชั้นคลินิกได้อย่างสมบูรณ์
               ช.  มีโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอที่มีความพร้อมเข้าร่วมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน
            ในปีงบประมาณ  พ.ศ. 2545  มหาวิทยาลัยบูรพา  ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย  (มติสภามหาวิทยาลัยบูรพาครั้งที่พิเศษ/2545  เมื่อวันที่  2  กันยายน  พ.ศ. 2545)  และสภามหาวิทยาลัยบูรพาในคราวประชุมครั้งเดียวกันได้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตด้วย   ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับรองหลักสูตรนี้ เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2546  ขณะนี้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต  มหาวิทยาลัยบูรพา  ได้ผ่านการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการแพทยสภาฯ (มติคณะกรรมการแพทยสภาฯ ครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549) เห็นชอบให้เปิดรับนิสิตรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 จำนวน 32 คน โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ 12 จังหวัด คือ สมุทรปราการ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่มุ่งเน้นการผลิตแพทย์ให้เหมาะสมต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ  โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออก  เป็นแพทย์ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาเทียบเท่ามาตรฐานสากล  มีความรู้ความสามารถและเจตคติที่จะปฏิบัติงานในชนบทได้เป็นอย่างดี  และธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทย
    นโยบาย ปรัชญา และปณิธาน   
       นโยบาย
                    ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า  ในการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน คนหรือประชากรของประเทศเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา  ถ้าสุขภาพของคนดี ไม่เจ็บป่วย  การพัฒนาหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพ  แต่ถ้าสุขภาพของคนไม่ดี เกิดการเจ็บป่วย การพัฒนาหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จะไม่มีประสิทธิภาพหรือล้มเหลว จะเห็นได้ว่าปัญหาทางด้านสุขภาพของประชาชน หรือปัญหาทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม  ดังนั้น  ระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชากรจะต้องอยู่ในระดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในเรื่องของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage) หรือโครงการ  30  บาทรักษาทุกโรค  ทำให้ประชาชนมีหลักประกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพ  โดยมีการเข้าถึงในด้านความสะดวกต่อการเดินทาง และได้รับบริการโดยไม่มีอุปสรรคในด้านการเงิน  ปัจจัยหลักที่จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อสถานบริการในโครงการนี้ คือ การพัฒนาระบบการบริการให้มีคุณภาพ ให้บริการในลักษณะองค์รวม (Holistic Care) อย่างผสมผสานและต่อเนื่อง  ซึ่งจะดูแลประชาชนทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ และสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ

                    ตามแนวนโยบายการศึกษาของรัฐที่มุ่งเน้นการกระจายโอกาสการศึกษาไปสู่ภูมิภาค  ได้เน้นการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศและแข่งขันกับนานาประเทศได้  ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาเห็นว่าการขยายวิทยาเขตสารสนเทศเป็นทางเลือกที่มีทางเหมาะสมมากที่สุดเพื่อผลิตบัณฑิตให้ทันต่อความต้องการของประเทศ  ทั้งในเชิงปริมาณและมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ  และได้ดำเนินการพัฒนาระบบการเรียนการสอนทางไกลโดยใช้ระบบเครือข่ายสารสนเทศ  ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาจารย์  ปัญหาการกระจุกตัวของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพฯ  และปริมณฑล

                    รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ระดับชาติ   คือ  ประชาชนจะต้องมีระดับคุณภาพชีวิต  ความมั่นคง  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ดีขึ้น รวมทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน  โดยมีดัชนีความอยู่ดีมีสุข (Well-Being Index) วัดสุขภาพอนามัยที่ดี มีความรู้ มีงานทำที่ทั่วถึง มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ มีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีระบบบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ  ในปี 2548  คาดว่าจะมีค่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75

                    ในปัจจุบันคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชากรยังได้รับการตอบสนองไม่ดีเท่าที่ควร  โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแพทย์  จึงจำเป็นที่จะต้องผลิตแพทย์และบุคลากรทางด้านการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ ในปี พ.ศ. 2545 ประเทศไทยมีประชากร  62,779,879  คน มีแพทย์ที่ทำงานจริง  จำนวน  22,879  คน  คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร คือ แพทย์ : ประชากร เท่ากับ  1 : 2,745 คน  โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรมากที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร 1 : 586 คน  และน้อยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  1 : 7,239 คน  ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ผู้บริหารประมาณ  2,280 คน  จะเหลือแพทย์ที่ทำหน้าที่ด้านบริการเพียง  20,599  คน  คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร  1 : 3,047  คน  ซึ่งในภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีความขาดแคลนแพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก

                    จากรายงานการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ  ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่  7  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544  กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแนะว่าสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรควรเป็น  1 : 1,500  คน  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประเมินการผลิตแพทย์ในโครงการเร่งรัดการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.  2541 – 2551 สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่  1 : 2,370  คน  ซึ่งยังต่ำกว่าข้อเสนอแนะของที่ประชุมแพทยศาสตร์ศึกษา  จากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมา ประกอบกับเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ  ทำให้ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการผลิตแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ 

                    จากการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก  ซึ่งมีท่าเรือน้ำลึก  และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งเกิดขึ้นมากมาย  ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในบริเวณนี้  ในปี พ.ศ. 2545  มีประชากรประมาณ  5,288,646  คน  แต่สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรยังอยู่ในระดับที่ต่ำ  คือ  1 : 3,247  คน  โดยที่จังหวัดที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรสูง คือ  จังหวัดชลบุรี  1 : 1,831  และจังหวัดที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำคือ จังหวัดสระแก้ว 1 : 9,257  (ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข  2545)

                    มหาวิทยาลัยบูรพา  เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐประจำภูมิภาคตะวันออกของประเทศ  ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ดังกล่าวข้างต้น  จึงได้มีการเตรียมแผนการจัดการเรียนการสอน และเตรียมความพร้อมในการผลิตแพทย์มาตั้งแต่แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 6 จนถึงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 10  ซึ่งเป็นแผนปัจจุบัน      

    ปรัชญาของหลักสูตร
                    หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา  มุ่งเน้นการผลิตแพทย์ให้เหมาะสมต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ  โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออก  มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา  เทียบเท่ามาตรฐานสากล  มีความรู้ความสามารถ  และเจตคติที่จะปฏิบัติงานในชนบทได้เป็นอย่างดี  และธำรงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรมไทย

    ปณิธาน
    1.    ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาและเทียบเท่ามาตรฐานสากล  และ
          สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วยคุณธรรม  มีความรู้   ความรับผิดชอบ  ความเสียสละ  และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
    2.   ผลิตบัณฑิตให้เหมาะสมต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ  โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออก  มีความรู้
          ความสามารถ  และเจตคติที่จะปฏิบัติงานในชนบทได้เป็นอย่างดี
    3.   ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถที่จะดูแลตนเองในด้านสุขภาพและการใช้ชีวิต  สามารถศึกษาต่อเนื่องได้ตลอดชีวิต
          และมีความภูมิใจในเกียรติ  ศักดิ์ศรี  และคุณค่าแห่งวิชาชีพ
    4.   ผลิตบัณฑิตให้เป็นที่พึ่งทางวิชาการ  ธำรงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรมไทย  ชี้นำแนวทางการพัฒนาแก่สังคมโดยเฉพาะ
          ภาคตะวันออก
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×