ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เทพนิยายกรีก

    ลำดับตอนที่ #12 : ^0^เทพอพอลโล (Apollo) 2^0^

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 553
      0
      24 ก.ค. 48





                         หมายเหตุ  ตรงที่โดนเซ็นเซอร์หวังว่าเพื่อน ๆ คงรู้ว่าอะไรนะคะ  พิ้งค์เปลี่ยนไม่ได้จริง ๆ จะตัดออกเดี๋ยวก็ไม่สมบูรณ์ค่ะ



                                                      

                                                  ^0^เทพอพอลโล (Apollo) 2^0^

                        

                        

                         เรื่องของเฟอิทอน





                         นอกจากเอสคิวเลปิอัสแล้ว อพอลโลยังมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่เกิดกับนางอัปสรไคลมินี (Clymene) ชื่อเฟอิทอน (Phaeton) วันหนึ่งเฟอิทอนถูก เพื่อนเรียนหนังสือด้วยกันหัวเราะเยาะ ในการที่อ้างตนเป็นบุตรสุริยเทพ เฟอิทอนทั้งเคืองทั้งอับอายกลับมารบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดา เพื่อให้ได้หลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็น บุตรเทพอพอลโลจริง นางไคลมินีจึงบอกทางให้บุตรเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของอพอลโล ณ ที่นั้นจะได้พบกับบิดาสมประสงค์





                         เฟอิทอนรีบดั้นเดินทางโดยไม่หยุดพัก จนล่วงเข้าเขตวังของบิดา แม้ภูมิทำเลบริเวณวังจะงดงามตระการเพียงใด และตำหนักที่ประทับของอพอลโลก็เรืองวิจิตรน่า พรึงเพริดสักปานใด เฟอิทอนก็หาแยแสใส่ใจไม่ ฝ่ายอพอลโลเห็นกุมารเข้าไปใกล้ก็จำได้ว่าเป็นบุตร และเมื่อเฟอิทอนขึ้นถึงบัลลังก์ที่เธอประทับอยู่เธอก็ปฏิสันถารกับ เฟอิทอนอย่างบิดากับบุตร สั่งถามถึงธุระในการที่มาเฝ้า เฟอิทอนจึงทูลแถลงถึงเรื่องราวและความที่พึงประสงค์ พอจบเทพอพอลโลก็ออกอุทานวาจาว่า อนุญาตให้เฟอิทอนได้ ข้อพิสูจน์ตามแต่จะพึงประสงค์ พร้อมทั้งสาบานยืนยันมั่นคง โดยอ้างแม่น้ำสติกส์เป็นทิพยพยานอีกด้วย





                         การสาบานโดยการอ้างชื่อแม่น้ำสติกส์นี้ เป็นการสาบานอันเคร่งครัดที่สุด ซึ่งลงว่าเทพองค์ใดลั่นสาบานแล้ว เทพองค์นั้นจะล่วงละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเทพผู้ ล่วงละเมิดไม่ปฏิบัติตามสาบาน จะต้องเสวยน้ำในแม่น้ำนี้ซึ่งจะทำให้ปัญญาเสื่อมเศร้าหมองเป็นเวลา 1 ปี กับจะต้องถูกขับออกจากเขาโอลิมปัสและงดเสวยน้ำอมฤตอีก 9 ปี





                         เฟอิทอนฟังคำสาบานดังนั้น จึงขออนุญาตขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาในวันนั้น เพื่อว่าโลกทั้งมวลจะได้ตระหนักชัดว่า เธอเป็นบุตรสุริยเทพสมจริงตามที่กล่าวอ้าง ก็ แหละรถพระอาทิตย์นั้ไม่ใช่ของสำหรับใครจะขับได้ ด้วยว่าผู้ที่สามารถควบคุมม้าเทียมทั้ง 4 แสนจะพยศที่ลากรถนั้นจะมีก็แต่เทพอพอลโลองค์เดียว เมื่อเฟอิทอนขออนุญาต ขับรถแทนอพอลโลก็ถึงแก่สะดุ้งประหวั่นเกรงจะเกิดเหตุยุ่งยากและเดือดร้อนไปทั่วโลกพิภพและจักรวาล จึงบ่ายเบี่ยงบอกเฟอิทอนให้ขอพรอย่างอื่น ฝ่ายเฟอิทอนมีจิต กำเริบดื้อดึงขึ้นมาเสียแล้ว คงยืนกรานที่จะขอขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาให้จงได้ ในที่สุดสุริยเทพซึ่งลั่นสาบานอันไม่พึงล่วงละเมิดออกไปเสียแล้วสุดที่จะบ่ายเบี่ยงต่อไปอีกได้ ก็จำต้องยอมอนุญาตให้เฟอิทอนขับรถพระอาทิตย์แทนได้ดังประสงค์





                         กำหนดเวลาออกรถดลมาถึงพร้อมแล้ว ม้าเทียมรถก็เตรียมเผ่นโผนโจนทะยานออกอยู่แล้ว นางประจำยามเข้าเคียงข้างรถอยู่พร้อมสรรพฝ่ายอุษาเทวีก็คอย อาณัติสัญญาณสั่งจากสุริยเทพ เตรียมไขทวารเบิกม่านฟ้าอยู่ทีเดียว





                         ฝ่ายเทพอพอลโลจัดแจงชโลมเฟอิทอนด้วยของเย็นกันถูกแสงอาทิตย์แผดเผา พลางสั่งเฟอิทอนให้ขับรถรักษาเส้นทางโคจรเดิมไว้ให้ดี อย่าให้รถออกนอกทางเป็น อันขาด เธอสั่งย้ำซ้ำซากให้บุตรกวดขันระมัดระวังม้าเทียมโดยเคร่งครัดอย่างที่สุด และให้ใช้แส้แต่โดยออมชอมเท่านั้นด้วยว่ามันเป็นม้าที่พยศมาก





                         หนุ่มน้อยฟังบิดาสั่งเสียอย่างระอิดระอา แล้วก็โดดขึ้นนั่งรถทองรวบสายบังเหียน ให้สัญญาณอุษาเทวีเปิดทวารและขับรถออกจากวังสุริยเทพด้วยความกระหยิ่ม ลำพองใจ ในชั่วโมงแรก ๆ เฟอิทอนสังวรในคำสั่งเสียของบิดา แต่แล้วความกำเริบเสิบสานเข้าครอบงำ ทำให้ลืมคำสั่งของบิดาเสีย เฟอิทอนขับรถเร็วขึ้นทุกทีจนรถออกนอก ทางโคจรไป ดวงจันทร์และดาราน้อยใหญ่พากันตื่นตระหนกที่ได้เห็นรถสุริยาทิตย์แล่นเตลิดไปกลางหาว แต่ก็ไม่มีปัญญาจะทำประการใดได้ และเฟอิทอนก็ขับรถใกล้โลกพิภพเข้ามาทุกที  จนเป็นเหตุให้พืชพันธุ์ทั้งปวงเหี่ยวแห้งตายหมด น้ำในแม่น้ำลำธารก็เหือดแห้ง แผ่นดินไหม้เกรียมจนเกิดควันโขมง ผู้คนของแผ่นดินนั้นถูกแสงอาทิตย์ แผดเผาจนตัวดำไปหมดสิ้น เป็นสีกายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้ และแผ่นดินที่ถูกรถสุริยาทิตย์เข้าใกล้ในครั้งนั้นก็คือ แอฟริกานั่นเอง





                         เฟอิทอนตื่นตกใจในเหตุอันตนทำให้เป็นไปจึงลงแส้ม้าชักรถให้ถอยห่างจากโลก ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเหออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือ รอดจากความร้อนอยู่บ้าง กลับเหี่ยวเฉาตายลงอีกเพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนใน ที่สุดก็ปลุกซูสเทพบดีให้ตื่นจากบรรทมเล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ ครั้นได้ความว่าเหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับรถสุริยาทิตย์เช่นนั้น ไท้เธอก็พิโรธนัก คว้าอสนีบาต ฟาดไปที่เฟอิทอน บันดาลให้เฟอิทอนสิ้นชีวิตตกจากรถสุริยาทิตย์ลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา





                         เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจนเทพทั้งปวงสงสารเลยแปลงนางเป็นต้นอำพันหลั่งน้ำตาเป็นอำพัน ตั้งแต่บัดนั้น ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงมหาศพ ดำผุดดำว่ายในแม่น้ำจนกลายเป็นต้นตะกูลหงส์เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มา จนตราบเท่าทุกวันนี้





                         ตำนานพฤกษชาติเกี่ยวกับเทพอพอลโล





                         ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับเทพอพอลโลโดยตรงมีตำนานพฤกษชาติที่น่ารู้รวมอยู่ด้วย 2-3 เรื่อง เรื่องหนึ่งได้แก่ ตำนาน ต้นชัยพฤกษ์ ซึ่งชาวกรีกถือว่าเป็นต้นไม้คู่บารมีของสุริยเทพทีเดียว เรื่องหนึ่งคือตำนานของต้นไม้น้ำ ที่เราเรียกว่า ผักตบ กับตำนาน ต้นสนป่า และอีกเรื่องหนึ่งเป็น ตำนานต้นทานตะวัน





                        ตำนานต้นชัยพฤกษ์นั้น อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับนาง แดฟนี,ดาฟเน่ (Daphne) ซึ่งเป็นนางอัปสร รูปงามธิดาของ พีนูส ,พีนีอัส(Peneus) เทพประจำแม่น้ำตามเรื่องเล่าว่า อพอลโลได้พบนางในกลางป่า ให้บังเกิดความพิสมัย จึงเยื้องกราย เข้าหาหมายจะแทะโลม แต่ไม่ทันถึงนางก็วิ่งหนีไปเสียแล้ว ฝ่าย อพอลโลอารามที่ลืมไม่ว่า อะไรอื่นทั้งสิ้นจึงวิ่งตาม วิ่งพลางร้องเรียกให้นางแดฟนีหยุดแม้ชั่วขณะหนึ่ง เท่านั้นก็ตามที เธอสัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายเลย





                        นางอัปสรไม่ยอมฟังคำสัญญาหรือวิงวอน ตั้งหน้าแต่รุดหนีอย่างเดียว ฝ่ายอพอลโลก็วิ่งกวด ตามไปโดยไม่ลดละ จนนางแดฟนีเริ่มอ่อนกำลังและตระหนักว่า ฝ่ายไล่กำลังรุกกระชั้นเข้าไปทุกที นางจึงวิ่งหนีกระหืดกระหอบอกสั่นลงยังริมฝั่งแม่น้ำของบิดา ขอให้แปลงร่างนางเสีย หรือบันดาลให้ นางจมลงไปในปฐพี ยังมิทันที่นางจะถึงริมฝั่งน้ำดี นางก็รู้สึกเหมือนหนึ่งตัวเองถูกตรึงติดกับพื้น ด้วย เท้าหยั่งลงในดินเป็นราก ผมและมือก็งอกออกเป็นใบ ส่วนเครื่องคลุมกายกลายเป็นเปลือกไม้ ปกคลุมร่างอันสั่นเทาของนางไป บิดาของนางตอบสนองการที่นางร้องให้ช่วยแล้ว โดยเปลี่ยนนางเป็น ต้นชัยพฤกษ์ (ต้นลอเรล)อยู่ ณ ที่นั้น





                        ฝ่ายอพอลโลตามมาทันไม่เห็นนาง เห็นแต่ต้นไม้ ครั้งแรกเธอไม่รู้สึกเลยว่า สาวเจ้าลับจาก เธอไปแล้ว โดยไม่มีวันจะได้พบอีก แต่เมื่อความจริงเป็นที่ปรากฏดังนั้น เธอจึงมีเทพบรรหารว่า นับ แต่บัดนี้ต้นชัยพฤกษ์ จงเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของเธอ อันคนหลายคนพึงเด็ดช่อใบร้อยพวงมาลา เป็นรางวัลแก่กวีและนักดนตรีสืบไป





                        เรื่องอพอลโลกับนางแดฟนีนี้ นอกจากจะแสดงตำนานของต้นชัยพฤกษ์แล้ว ยังเป็นนิทาน อุปมาถึงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดเป็นประจำวันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (อพอลโล) และน้ำค้าง (แดฟนี) อีกโสดหนึ่งด้วย กล่าวคือยามดวงอาทิตย์ทอแสงลงมาเยี่ยมโลกเมื่อรุ่งอรุณ น้ำค้างที่ยังเหลือ อยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า และตามพื้นดินก็หายไปดุจดังนางแดฟนีหนีลับจากอพอลโล ตามท้องเรื่องที่เล่า มาแล้วฉะนั้น





                        ต่อไปนี้จะเล่าตำนานผักตบและต้นสนป่า ตามท้องเรื่องที่เล่าสืบ ๆ มา ในเทพปกรณัมของกรีกว่า





                        อพอลโล มีมนุษย์เป็นเพื่อนที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่งคนหนึ่งชื่อว่า ไฮยาซินทัส (Hyacinthus) และมานพนี้ก็เป็นเพื่อนกับ เสฟไฟรัส (Zephyrus) เทพประจำลมตะวันตกด้วย เสฟไฟรัสมีความริษยาสุริยเทพ และเคืองแค้นไฮยาซินทัส ในการที่สนิทสุริยเทพยิ่งกว่าตน วันหนึ่งอพอลโลกับไฮยาซินทัสเล่นทอยห่วงเหล็กกัน เสฟไฟรัสผ่านมาพบเข้า จึงคิดแกล้งให้อพอลโลโทมนัสโดยทำให้ไฮยาซินทัสตายเสีย เสฟไฟรัสก็แกล้งเป่าเหล็กของอพอลโลโดยแรงให้ถูกคู่เล่นล้มลง ฝ่ายอพอลโลเห็นเหตุ นั้นจึงกระทำปฐมพยาบาลห้ามเลือดซึ่งไหลออกจากแผลไฮยาซินทัส แต่เลือดก็หาหยุดไหลไม่ ไฮยาซินทัสทนพิษบาดแผลไม่ได้ จึงสิ้นใจลงในขณะนั้นเอง





                        อพอลโลโทมนัสในการตายของปิยมิตรยิ่งนัก และเพื่อให้เป็นเครื่องระลึกถึงปิยมิตรผู้ตายเธอจึงบันดาลให้เลือดของไฮยาซินทัสที่ตกกองอยู่นั้นเป็นกอดอกไม้ เรียกว่า ไฮยาซิน (ผักตบ) ตามชื่อเจ้าของเลือดตั้งแต่นั้นมา





                        ภายหลังมรณะกรรมของไฮยาซินทัส อพอลโลหันไปคบมนุษย์เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อให้หายโศก มานพนี้เป็นพรานหนุ่มที่เฉลียวฉลาด มีชื่อว่า ไซพาริสสัส (Cyparissus) แต่รายนี้ก็อีก เป็นมิตรภาพที่มีอันต้องสิ้นสุดลงด้วยความเศร้าโศก เป็นข้อยืนยันว่า อพอลโลมีความอาภัพในมิตรภาพ กล่าวคือ ไซพาริสสัส บังเอิญฆ่า ลูกกวางที่อพอลโลเลี้ยงไว้ ให้เสียใจนัก ไม่เป็นอันกินอันนอนจนซูบผอมลงไปทุกที และในที่สุดก็ตายด้วยความตรอมใจ อพอลโลจึงประสาทให้ร่างอันปราศจากชีวิตของ ไซพาริสสัสกลายเป็นต้นสนป่า และบรรหารว่าสืบแต่นั้นให้ต้นสนป่าจงเป็นต้นไม้สำหรับความร่มรื่นให้เกิดแก่หลุมศพของคนผู้เป็นที่รักของญาติมิตรต่อไป





                        หน้าที่สำคัญที่อพอลโลปฏิบัติอยู่เป็นประจำวันนั้นได้แก่ การขับรถพระอาทิตย์ ขึ้นจากฟากมหาสมุทรเมื่อรุ่งอรุณโคจรไปตามสุริยวิถี ผ่านฟากฟ้าโดยไม่หยุดพักเลย จนถึงเรือทองที่จะจอดคอยเธอในทิศตะวันตก เมื่อสิ้นวันแล้วอพอลโลจึงลงเรือกลับคืนตำหนักสู่วังที่ประทับในทิศตะวันออก รอวันใหม่วนเวียนอยู่ดังนี้ทุกวันเป็นเนืองนิตย์





                         ยังมีนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับนางเทวีทีธิสชื่อว่า ไคลที (Clytie) นางหลงใหลใฝ่ฝันในเทพอพอลโลอยู่ คอยเฝ้าดูการโคจรประจำวันของสุริย เทพทุกวัน แต่อพอลโลจะไยดีกับนางก็หาไม่ ถึงกระนั้นนางก็เฝ้าดูเธอทุกวัน นับตั้งแต่วาระเมื่อเธอทรงรถออกจากวังยามเช้าไปจนกระทั่งเธอโคจรถึงทะเลฟากตะวันตก โดย ผินหน้าตามไปมิให้อพอลโลคลาดจากสายตา หวังว่าสักวันหนึ่งอพอลโลคงจะบังเกิดความปฏิพัทธ์เสน่หานางบ้าง นางไคลทีสู้ทนเฝ้าคอยอยู่ดังนั้นเป็นเวลานานไม่ยอมละสาย ตาจากอพอลโลไปมองดูอื่น ในที่สุดเทพทั้งปวงมีความสงสาร จึงเปลี่ยนนางเป็นต้นทานตะวันชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้





                         บริวารของอพอลโล





                         อพอลโลมีบริวารที่ควรกล่าวถึงอยู่เหล่าหนึ่ง ได้แก่ คณะศิลปวิทยาเทวี ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Muses เป็นเทวีประจำศิลปวิทยาการต่าง ๆ เกิดแต่ซูสเทพบดีกับนางนีโมซินี





                         (Mnemosyne เทวีครองความจำ) มี 9 องค์ มีชื่อและวิชาการเกี่ยวข้องดังนี้





                         - ไคลโอ (Clio) ประจำประวัติศาสตร์



                         - ยูเรเนีย (Urania) ดาราศาสตร์



                         - เมลโพมีนี (Melpomene) เรื่องโศก(tragedy)



                         - ธะไลอะ (Thalia) เรื่องสรวล (comedy)



                         - เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) การฟ้อนรำ



                         - คัลลิโอพี (Colliope) บทกวีเรื่อง



                         - เออระโต (Erato) บทกวีรัก



                         - ยูเทอร์พี (Euterpe) บทกวีร้อง



                         - โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) บทกวีร่ายอาศิรพจน์





                         ...แต่บริวารที่ใกล้ชิดเธอที่สุด คือ อีออส (Eos) หรือ ออโรรา (Aurora) เป็นเทวีครองแสงเงินแสงทอง หรืออุษาเทวี ทำหน้าที่เปิดทวารมุกดา ยามอรุณรุ่งให้รถอพอลโลออกโคจร และพร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทอง เป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลขึ้นด้วย





                         จบเเล้วค่ะ  พิ้งค์ลงให้สามตอนเลย  หวังว่าคงจะถูกใจกันนะคะ  ส่วนตอนต่อไปคาดว่าอัพประมาณปลายเดือนค่ะ  ต้องขอไปรวบรวมข้อมูลหน่อย  เเละอีกอย่างช่วงนี้พิ้งค์ไม่ค่อยว่างเลย  ใกล้สอบเเล้วด้วย  ท่องประมวลหนักมากค่ะ  ไหนยังจะต้องเเต่งเรื่องตัวเองอีก  เรียนอีก  โอย   24 ชั่วโมงได้นอนเเค่  3-4 ชั่วโมงเองค่ะ  ยังไงตอนต่อไปก็อาจจะนานหน่อยนะคะ   กะว่าจะลงเรื่องเกี่ยวกับ เทพีอาเทน่า Athena  ซึ่งเป็นลูกสาวคนนึงของมหาเทพค่ะ  





                         ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ



                         โพสกันเข้ามาเยอะ ๆ นะคะ  จะติจะชมยังไงก็ได้ค่ะ  รักษาสุขภาพด้วยนะคะ  บ๊ายบายค่ะ



                        





    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×