ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เทพนิยายกรีก

    ลำดับตอนที่ #18 : ^0^เทพีเฮสเทีย (Hestia)^0^

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 519
      0
      1 ส.ค. 48





                                                      ^0^เทพีเฮสเทีย (Hestia)^0^





                         เฮสเทีย (Hestia) ในภาษาโรมันว่า เวสตา (Vesta) เป็นที่เคารพนับถือในฐานะอัคนีเทวีผู้ครองไฟ โดยเฉพาะไฟเตาผิงตามเคหสถานบ้านช่อง เพราะฉะนั้นจึงถือกันว่าเจ้าแม่ย่อมคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านด้วย   เตาไฟผิงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับครอบครัวกรีกและโรมันจนเกือบจะเรียกว่า   ที่บูชาก็ได้ด้วย    เขาถือว่าไฟที่ลุกบนเตานั้นเป็นไฟของเจ้าแม่   เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในบ้านกรีก  พอเด็กอายุได้ 5 วัน  พ่อของเด็กจะอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิง  ซึ่งในสมัยโน้นอยู่กลางเคหสถานไม่ได้อยู่ติดฝาเหมือนสมัยนี้  การอุ้มลูกไปเวียนรอเตาผิงนั้นก็เพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่า  เจ้าแม่จะได้รับเด็กนั้นไว้ในความอารักขาคุ้มครองของเจ้าแม่  โดยเฉพาะเวลาที่เด็กเริ่มเดิน





                          เฮสเทียเป็นพี่สาวคนโตของซูส  เป็นเทวีที่รักษาความโสดอย่างดียิ่ง ประชาชนจึงเคารพนับถือเฮสเทียด้วยเหตุผลนี้   อีกอย่างหนึ่งด้วย  เฮสเทียไม่ยอมเป็นชายาของซูส  แม้โปเซดอนซึ่งเป็นพี่ชายขอแต่งงานด้วยเฮสเทียก็ไม่ยินยอม  และอพอลโลซึ่งเป็นหลานก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน





                          วิหารของเจ้าแม่เฮสเทีย มีลักษณะเป็นวงกลมและมีเจ้าพิธีเป็นหญิงพรมหมจารี  ผู้สละการวิวาห์อุทิศถวายเจ้าแม่ ทำหน้าที่คอยเติมไฟในเตาไฟสาธารณะ   ซึ่งมีประจำทุกนครมิให้ดับ





                          ชาวโรมันเชื่อว่า ลัทธิบูชาเจ้าแม่เฮสเทียแผ่ไปถึงถื่นประเทศของตน  โดยมีวีรบุรุษอีเนียส (Aeneas) เป็นผู้นำเอาเข้า ไปแล้วนูมาปอมปิเลียส (Numa Pompilius) กษัตริย์กรุงโรมจึงสร้างศาลเจ้าอุทิศถวายเจ้าแม่ขึ้นในกลางยี่สานโรมัน  ซึ่งเรียกว่า Roman Forum เขาเชื่อกันเป็นมั่นเหมาะแน่นแฟ้นว่า  สวัสดิภาพของกรุงโรมทั้งมวลและการแผ่นดินทั้งปวงนั้นขึ้นอยู่ที่การรักษาเปลวไศักดิ์สิทธิ์ ณ วิหารนี้ให้ดำรงอยู่เป็นสำคัญ





                          หญิงพรหมจารีผู้ทำหน้าที่คอยอารักขาเปลวไฟแห่งวิหารนี้เรียกว่า  เวสตัล (Vestal) ในชั้นเดิมมี 4 คน  ต่อมาในชั้นหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน  อยู่ในความควบคุมของจอมอาจารย์บัญชาการศาสนาของโรมเรียกว่า  Pontifex Maximus เมื่อคณะเวสตัลพรหมจารีขาดจำนวนลง  จอมอาจารย์ผู้นี้จะเลือกผู้สืบแทนในตำแหน่งที่ว่างจากเวสตัลสำรองทั้งหมดด้วยวิธีการจับสลาก  ผู้สมัครเป็นเวสตัลสำรองนั้นจะต้องมีอายุในระหว่าง 6-10 ขวบ   มีร่างกายและจิตใจสมประกอบ   และมีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาลี  เวสตัลสำรองจะต้องรับการฝึกฝนอบรมเป็นเวลา 10 ปี  แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเวสตัลปฏิบัติหน้าที่ในวิหารศักดิ์อีก 10 ปี  เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้วต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมเวสตัลสำรองต่อไปอีก10 ปี   จึงครบเกษียณอายุราชการ   ปลดเป็นไทเมื่ออายุ 40   ถ้าพึงประสงค์ก็อาจประกอบอาชีพอย่างอื่นและมีสามีได้ในตอนนั้น





                          นอกจากหน้าที่คอยเติมไฟศักดิ์สิทธิ์มิให้ขาดเชื้อแล้ว    พรหมจารีเวสตัลยังมีภาระกิจที่จะต้องกระทำอีก 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ ต้องไปตักน้ำจากบ่อน้ำพุอิจีเรีย (Egeria)  ที่ชานกรุงโรมทุกวัน   ความสำคัญของน้ำพุนี้มีตำนานเล่ากันว่า  เดิมอิจีเรียเป็นนางอัปสรบริวาของเทวีอาร์เตมิส   นางมีความเฉลียวฉลาดและเป็นคู่หูของท้าวนูมาปอมปิเลียส   ซึ่งโปรดหารือการแผ่นดินทั้งปวงกับนางมิได้ขาด กวีโอวิคถึงแก่ระบุว่า นางเป็นชายาของท้าวนูมาด้วยซ้ำ   แต่กวีคนอื่นกล่าวว่านางเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น  อิทธิพลของชื่ออิจีเรียมีเพียงใดจะเห็นได้จากตอนท้าวนูมาบัญญัติกฎหมายและระเบียบตามแบบแผนใหม่ ๆ มักจะประกาศแก่ราษฎรว่ากฎหมายและระเบียบแบบแผนนั้น ๆ ได้รับการเห็นชอบของนางอิจีเรียแล้วด้วยเสมอ   เมื่อท้าวนูมาทิวงคต   นางอิจีเรียเศร้าโศกนักหนา เ อาแต่ร้องไห้คร่ำครวญจนกลายเป็นน้ำพุไป ชาวโรมันจึงถือกันว่าน้ำพุอิจีเรียเป็นน้ำพุบริสุทธิ์ด้วยเหตุนี้





                         หน้าที่พิเศษของพรหมจารีเวสตัลนั้นได้แก่การอารักขาวัตถุลึกลับและศักดิ์สิทธิ์มากอันหนึ่ง  เรียกว่าพัลเลเดียม (Palladium)   เชื่อกันว่าเป็นวัตถุที่อีเนียสนำไปจากกรุงทรอย   แต่ไม่มีใครนอกจากคณะเวสตัลทราบว่าเป็นอะไรกันแน่   บ้างว่าเป็นรูปประติมาของเจ้าแม่เอเธน่า   แต่บ้างก้ว่าเป็นโล่อันหนึ่งตกลงมาจากสวรรค์   เมื่อครั้งศึกกรุงทรอย    พวกกรุงทรอยถือเป็นของคู่เมืองว่าตราบใดของนี้ยังอยู่ในกรุงทรอย   ตราบนั้นบ้านเมืองจะไม่แตกเป็นอันขาด   ต่อเมื่อยูลิซิสกับไดโอมิดิสทหารเอกฝ่ายกรีกลักเอาของนี้ไป   กรุงทรอยจึงแตก  





                         แต่มีตำนานหลายเรื่องแก้ว่าทรอยแตกเพราะเสียขวัญ และเสียกลแก่กรีกมากกว่า   ด้วยว่าของที่กรีกขโมยไปนั้น เป็นของ กำมะลอที่ฝ่ายกรุงทรอยทำเอาไว้กันของแท้    ส่วนพัลเลเดียมของจริงยังอยู่ในกรุงทรอย  เมื่อพวกกรีกเข้าเมืองได้  อีเนียสพาเอาไปด้วยจนถึงอิตาลี แล้วภาย หลังชาวโรมันเอาเก็บรักษาไว้ในที่ซ่อนมิดชิดในวิหารเจ้าแม่เฮสเทีย อยู่ในความอารักขา คุ้มครองของคณะเวสตัลพรหมจารีอย่างเคร่งครัด





                          พรหมจารีเวสตัลไม่แต่จะมีหน้าที่สำคัญดังกล่าวแล้วเท่านั้น หากยังมีเอกสิทธิ์เหนือสามัญชนหลายประการอีกด้วย  อาทิเช่น เมื่อมีงานเฉลิมฉลองสมโภช  การเล่นรื่นเริงและการแข่งขันสาธารณะเขาจัดที่พิเศษสำหรับคณะเวสตัลพรหมจารีโดยเฉพาะเป็น เกียรติยศ เมื่อเวสตัลพรหมจารีไปต่างแดนมีเจ้าพนักงานถือมัดขวานเรียกว่า fasces นำหน้าเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจเทียบเท่าด้วยอำนาจ ตุลาการ มัดขวานนั้นคือขวานที่หุ้มด้วยไม้กลมเล็ก ๆ กระหนาบรอบขวานมัดไว้ด้วยกันส่วนขวานโผล่บนยอดหันคมออก  เป็นของสำหรับเจ้าพนักงานถือนำหน้าตุลาการ   แสดงถึงอำนาจในการตัดสินอรรถคดี   เมื่อพรหมจารีเวสตัลให้การเป็นพยานในศาล  สถิตยุติธรรมก็ไม่ต้องสาบานว่าจะพูดความจริง เพียงให้การลุ่นๆ เท่านั้นศาลก็รับฟัง  ถ้าบังเอิญเวสตัลคนหนึ่งคนใดพบนักโทษเข้า  ในระหว่างทางที่เขาพาเอาไปจะประหารชีวิต ถ้าพึงประสงค์ก็อาจจะให้อภัยโทษปล่อยนักโทษนั้นให้เป็นไทได้ ณ ที่นั้นโดยพลการ





                          ชาวโรมันนับถือเจ้าแม่เฮสเทียมั่นคงตลอดมาจนลุถึงคริสตศักราชปีที่ 380 จึงยุติด้วยอธิราชธีโอโดเซียสให้ระงับการเติมไฟศักดิ์สิทธิ์ และยุบเลิกคณะพรหมจารีเวสตัลเสีย





                          ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ















    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×