มวยไท้เก๊ก ตระกูลอู่ - มวยไท้เก๊ก ตระกูลอู่ นิยาย มวยไท้เก๊ก ตระกูลอู่ : Dek-D.com - Writer

มวยไท้เก๊ก ตระกูลอู่

สุดยอดวิชาสมัยราชวงศ์ชิง

ผู้เข้าชมรวม

2,158

ผู้เข้าชมเดือนนี้

9

ผู้เข้าชมรวม


2.15K

ความคิดเห็น


2

คนติดตาม


5
เรื่องสั้น
อัปเดตล่าสุด :  30 พ.ค. 49 / 07:16 น.


ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ

    มวยไท้เก๊กตระกูลอู่ กำเนิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงในช่วงรัชสมัยของเสียนเฟิงฮ่องเต้ อู่อวี่เซียงคือปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งมวยไท้เก๊กตระกูลอู่

     

     

     

     


    อู่อวี่เซียง (ค.ศ.1812-1880) แซ่อู่ มีชื่อว่า เหอชิง มีอีกชื่อหนึ่งว่าอวี่เซียง เป็นชาวตำบลกว๋างฝู่ อำเภอหย่งเหนียน มณฑลเหอเป่ย อู่อวี่เซียงเกิดในตระกูลบัณฑิต มีพี่ชาย 2 คน (อู่เฉิงชิง, อู่หยู่ชิง)ไปเป็นขุนนาง  อู่อวี่เซียงเป็นบัณฑิต ในเหล่าพี่น้องมีเพียงเขาคนเดียวที่อยู่บ้านเกิด มีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ, วิเคราะห์วิจัยทางมวยไท้เก๊ก อู่อวี่เซียงกับพี่ชายรวม 3 คน ชอบศึกษาทางด้านศิลปศาสตร์ และวิชาการต่อสู้ตั้งแต่เยาว์วัย  มีชาติตระกูลที่มั่งคั่ง มีกิจการห้างขายใบชาอยู่ในเมือง ทั้งถนนด้านทิศตะวันออกและถนนด้านทิศตะวันตก ถนนละ 1 ห้าง ภายหลังได้รวมร้านทั้งสองแห่งเข้ารวมเป็นร้านเดียว โดยร้านทางถนนทิศตะวันตก ได้ปล่อยเช่าให้กับเฉินเต๋อหูคนของเฉินเจียโกว (หมู่บ้านสกุลเฉิน) ตำบลเวิน มณฑลเหอหนาน เปิดเป็นร้านขายยาชื่อว่า "ไท้เหอถัง"

     

    ในช่วงปีรัชกาลเต้ากวงฮ่องเต้  หยางลู่ฉาน (ค.ศ. 1799-1872) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทในหมู่บ้านเดียวกัน ได้กลับมาที่หมู่บ้าน หลังจากที่ได้ร่ำเรียนยุทธจากเฉินเจียโกว ตำบลเวิน มณฑลเหอหนาน อู่อวี่เซียงมักจะลองวิชากับหยางลู่ฉานเป็นประจำ พบว่ายากที่จะรู้ซึ้งถึงความพิศดารและความลึกซึ้งได้

     

    ในปีที่ 2 ของรัชกาลเสียนเฟิงฮ่องเต้ (ค.ศ. 1852) อู่เฉิงชิง (ค.ศ. 1800-1884) ซึ่งเป็นพี่ชายของอู่อวี่เซียง สอบได้จิ้นซื่อ และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ เป็นนายอำเภอที่อำเภอู่หยาง มณฑลเหอหนาน อู่อวี่เซี่ยงได้รับคำสั่งจากแม่ ให้ไปเยี่ยมเยียนพี่ชายที่อำเภออู่หยางมณฑลเหอหนาน ระหว่างทางซึ่งต้องผ่านหมู่บ้านเฉินเจียโกว อำเภอเวิน จึงคิดที่จะไปเยี่ยมเฉินฉางซิง (ค.ศ. 1771-1853) ซึ่งเป็นอาจารย์ของหยางลู่ฉาน เพื่อขอคำชี้แนะ ตอนที่ผ่านหมู่บ้าน จ้าวเป่าติ้งได้ทราบว่าเฉินฉางซิงกำลังป่วยด้วยโรคชรา (ปีนั้นฉางซิงมีอายุได้ 82 ปี และได้ถึงแก่กรรมในปีนั้นเอง) ภายหลังได้รับคำแนะนำจากร้านขายยา "ไท้เหอถัง" ที่หย่งเหนียนว่าที่หมู่บ้านจ้าวเป่าติ้ง อำเภอเวิน มณฑลเหอหนาน มีครูมวยอยู่ท่านหนึ่ง แซ่เฉินชื่อชิงผิง มีวิชาหมัดมวยลึกล้ำ มีฝีมือเป็นเลิศ ยากที่จะหาใครทัดเทียมได้ ดังนั้น ระหว่างทางที่อู่อวี่เซียงเดินทางไปเยี่ยมอู่เฉิงชิง ผู้พี่ที่อำเภออู่หยาง ได้วกเข้าหมู่บ้านจ้าวเป่า กราบอาจารย์เพื่อเรียนวิชา หลังจากที่ได้ร่ำเรียนวิชาจากเฉินชิงผิง (ค.ศ. 1795-1868) เป็นเวลาเดือนเศษ ได้เรียนรู้หลักเกณฑ์จนครบถ้วน รู้ลึกถึงความพิศดาร

     

    นอกจากนี้อู่อวี่เซียงยังได้รับ "บันทึกมวยไท้เก๊ก" ซึ่งแต่งโดยซันอิ้วหวังจงเยว่ (อยู่ในสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้) จากอู่เฉิงชิงผู้พี่ซึ่งได้บันทึกเล่มนี้ จากร้านขายเกลือในอำเภออู่หยาง หลังจากกลับถึงกว๋างฝู่แล้ว อู่อวี่เซียงตั้งอกตั้งใจ วิเคราะห์และฝึกฝนสิ่งที่ได้จากบันทึกเล่มนั้น พินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดลออ ร่างกายก็แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ประลองฝีมือกับเหล่ายอดฝีมือ และไม่เคยแพ้ใครเลย ซึ่งยืนยันได้ถึงพลังฝีมือของมวยไท้เก๊กที่ได้ฝึกฝน มาสองปีให้หลังฝีมือรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ได้ค้นพบหลักเกณฑ์อย่างมากมาย ซึ่งได้รับจาการฝึกฝนด้วยตนเอง เข้าใจถึงแก่นวิชาในบันทึกมวยไท้เก๊ก และได้หล่อหลอมเอาสิ่งที่เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งเข้ารวมกับหลักพิชัยสงคราม, แนวทางของเต็มว่างเท็จจริง, อรรถาธิบายเกี่ยวกับเส้นลมปราณภายในร่างกายของวิชาแพทย์, วิชาเต้าอิ่นถู่น่าของวิธีการบำรุงสุขภาพ, การเก็บปล่อยพลังของวิธีการต่อสู้, ความคล่องแคล่วของการยกปล่อย โดยได้ใช้สติปัญญาวิเคราะห์อย่างเต็มความสามารถเป็นเวลาหลายปี ก็สมปรารถนาอันสุดยอด อู่อวี่เซียงยังได้อาศัยกฎเกณฑ์และหลักเกณฑ์ของวิชามวยบัญญัติมวยขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งท่ามวยได้หลอมรวมเอาวิชาต่อสู้กับการบำรุงสุขภาพร่างกายเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังได้บัญญัติท่ากระบี่ไท้เก๊กตระกูลอู่, 13 ดาบไท้เก๊กตระกูลอู่, 13 ทวนไท้เก๊กตระกูลอู่, การฝึกโต้ตอบทวน, ทวนเกาะติด ชุดฝึกเหล่านี้ เป็นต้น ทั้งยังนำเอาการผลักมือมาเปลี่ยนแปลงเป็นการก้าวหน้าถอยหลัง 3 ก้าวครึ่งซึ่งเป็นการผลักมือแบบก้าวย่าง

     

    เขาอาศัยความรู้ในหลักวิชามวยที่ละเอียดจนลึกล้ำอย่างยิ่ง รวมทั้งสิ่งที่ค้นพบด้วยตนเองจำนวนไม่น้อย สถาปนามวยไท้เก๊กขึ้นสำนักหนึ่ง คือมวยไท้เก๊กตระกูลอู่ ที่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักวิชาของมวยไท้เก๊กอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังได้รวบรวมเอาสิ่งที่ได้ปฏิบัติจริงและเข้าใจมาประพันธ์ออกมาเป็น เพลงเคล็ดการเดินพลัง 13 ท่า", "ไขความกระจ่างในการผลักมือ", "อรรถาธิบายมวยไท้เก๊ก", "อรรถาธิบายวิพากษ์มวยไท้เก๊ก", "วิพากษ์ 13 ท่าโดยย่อ", "เคล็ดลับ 4 คำ", "แปดหลักร่างกายที่สำคัญ", "สิ่งสำคัญในการผลักมือ" เป็นต้น ซึ่งเป็นวิพากษ์มวยอันเลื่องชื่อ กลายเป็นระบบการศึกษา การวิพากษ์หลักเกณฑ์ของมวยไท้เก๊กที่สมบูรณ์ขึ้นมาชุดหนึ่ง บทประพันธ์เหล่านี้ เป็นผลงานซึ่งได้อุทิศเพื่อการพัฒนาทฤษฎีของมวยไท้เก๊ก ซึ่งจวบปัจจุบันกาล ก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถเปรียบเทียบได้

     

    กู้หลิวเซียงนักวิทยายุทธ์ที่มีชื่อเสียง กล่าวถึงบทประพันธ์ของตระกูลอู่ว่า "ข้อความสั้นกระทัดรัดไม่มีข้อความไร้สาระแม้แต่น้อย"

     

    อู่อวี่เซียงรับศิษย์น้อยมาก รับหลานซึ่งเป็นลูกของน้องสาวคือ หลี่อวี้อวี๋เพียงคนเดียวเท่านั้น

     

     

     

     

    หลี่ อวี้ อวี๋ (ค.ศ. 18321892) ชื่อ จิง หลวน ชื่อเล่น อวี้ อวี๋ เป็นคนถนนตะวันตก เมืองกว่างฟู่ อำเภอหยงเหนียน มณฑลเหอเป่ย เป็น จวี เหยิน (เป็นยศอย่างหนึ่ง) สมัยราชวงศ์ชิง เกิดในครอบครัวที่มีการศึกษาสูง บิดาชื่อ ชิน มารดา แซ่ อู่ มีพี่น้อง 4 คน อวี้ อวี๋ เป็นพี่ชายคนโต รักการร่ำเรียน และการฝึกฝนวิทยายุทธตั้งแต่เด็ก น้าชาย อู่ อวี้ เซียง เชี่ยวชาญ มวยไท้เก็ก แต่ไม่เคยสอนใคร นอกจากสอนให้ อวี้ อวี๋ ซึ่งเป็นหลานชาย อย่างเต็มที่ ไม่ปิดบัง เป็นเวลา 20 กว่าปี อวี้ อวี๋ ได้เรียนวิชามวยไท้เก็กจากน้าชายโดยครบถ้วน และได้ใช้เวลาทั้งชีวิตในการศึกษาและฝึกฝนอย่างตั้งใจ ทุกท่วงท่า ทุกเวลา ล้วนนึกถึงแต่ท่ามวย เมื่อคิดท่ามวย หรือ เคล็ดลับได้ ก็จะจดบันทึกบน เศษกระดาษ แปะบนหลักหิน แล้ววิเคราะห์ต่ออย่างจริงจัง เมื่อพบข้อผิดพลาด ก็จะดึงเศษกระดาษกลับลงมาแก้ไข แล้วแปะกลับบนหลักหินใหม่ จนกว่าจะรู้ว่าถูกต้องจริงๆ ฉะนั้น วิทยายุทธ์ที่ล้ำเลิศของเขาไม่ใช่ได้มาโดยบังเอิญ แต่เกิดจากการมุ่งมั่นฝึกฝนมวยไท้เก็กทั้งชีวิต

     

    ข้อเขียนของ หลี่ อวี้ อวี๋ ได้แก่ คาถา 5 คำ”, “เคล็ดลับการคลายออก”, “เคล็ดลับการฝึกพลังและการประมือ”, “คำนำมวยไท้เก็ก”, และ ทฤษฎีแห่งเท็จจริงแยกรวม

     

    ในช่วงวัยชรา หลี่ อวี้ อวี๋ ได้เรียบเรียง ทฤษฎีมวยของ นาย หวัง จง เย่ (เจ้าของคัมภีร์มวยภายใน) และ อู่ อวี่ เซียง ขึ้นใหม่ โดยคัดลอกขึ้น 3 ฉบับ ตัวเองเก็บไว้หนึ่งฉบับ ให้น้องชาย หลี่ ฉี่ ซวน หนึ่งฉบับ และฉบับสุดท้ายมอบให้ลูกศิษย์ชื่อ เฮ่อ เว่ย เจิง คัมภีร์สามเล่มนี้ นิยมเรียกว่า สามเล่มเก่าแก่นักฝึกมวยไท้เก็กยุคหลังนับถือเป็นสุดยอดคัมภีร์อัมตะแห่งไท้เก็ก ชื่อของนาย หลี่ อวี้ อวี๋ ก็ได้โด่งดังไปทั่วโลก

     

    ค.ศ. 1892 ฤดูใบไม้ร่วง มารดาของนาย หลี่ อวี้ อวี๋ ได้ล่วงลับ นายหลี่ อวี้ อวี๋ เสียใจมากจนล้มป่วยเสียชีวิตในวันที่ 8 เดือน 11 ในปีเดียวกัน

     

    นายหลี่ อวี้ อวี๋ รับศิษย์น้อยมาก สอนเฉพาะ นายเฮ่อ เว่ย เจิง (ค.ศ. 18491920) และ เก๋อ ฟู่ ไหล 2 คน บุตร เป่า เหนียน และ เป่า หยาง ก็ได้ฝึกด้วย แต่มีเพียง เฮ่อ เว่ย เจิง ได้รับการถ่ายทอดอย่างครบถ้วน และโด่งดังไปทั่วโลก

     

     

     

    เฮ่อเว่ยเจิน (ค.ศ.1849-1920) ชื่อเหอ มีอีกชื่อว่าเว่ยเจิน เป็นชาวมณฑลเหอเป่ย อำเภอหย่งเหนียนตำบลกว๋างฝู่ บ้านอยู่ที่ถนนตะวันตกในเมือง เฮ่อเว่ยเจินมีรูปร่างที่องอาจสง่างาม มีนิสัยอ่อนโยน สัตย์ซื่อ และมีความจริงใจ ในวัยเยาว์มีความเฉลียวฉลาดเกินเด็กอื่นๆ รักชอบทั้งบุ๋นและบู๊ ในตอนแรกได้ฝึกฝนมวยภายนอก ต่อมาภายหลังเห็นว่าไม่มีความปราดเปรียว ไม่ใช่วิชาต่อสู้ในระดับสูง จึงเปลี่ยนไปร่ำเรียนมวยไท้เก๊กจากท่านหลี่อวี้อวี๋ ตั้งปณิธานมุ่งมั่นฝึกฝนอยู่ 20 กว่าปี มีความลึกล้ำละเอียดลึกซึ้งในวิชา จนได้รับความชื่นชมจากท่านหลี่อวี้อวี๋ ได้รับมอบ "บันทึกมวยไท้เก๊กที่เขียนด้วยลายมือของหลี่อวี้อวี๋เอง วิพากษ์มวยที่แต่งโดยอู่อวี้เซียง และหลี่อวี้อวี๋ มีข้อความที่สั้นและกระชับ แต่มีความหมายที่สมบูรณ์และครอบคลุมครบหมด ท่ามวยที่บัญญัติขึ้นมานั้นภายนอกดูธรรมดาพื้นเพ แต่ภายในนั้นซ่อนเร้นไว้อย่างมากมาย ในจุดที่สำคัญๆ หากไม่ได้รับการถ่ายทอดด้วยวาจาและแสดงให้ดูประกอบแล้ว จะไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ถึงความพิศดารได้ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีเพียงเฮ่อเว่ยเจินเท่านั้นที่สามารถรับสืบทอดเคล็ดลับเหล่านั้น ท่านหลี่อวี้อวี๋ได้มองเห็นว่าเฮ่อเว่ยเจินมีความเคารพครูบาอาจารย์ และเชื่อฟังในคำสั่งสอน เป็นคนมีนิสัยดีและซื่อตรง จึงเห็นเป็นผู้สืบทอดวิชาเป็นศิษย์ก้นกุฎิในวิชามวยของตน

     

    ภายหลังจากที่ท่านหลี่อวี้อวี๋ได้ถึงแก่กรรม ได้มีผู้มาเชื้อเชิญเฮ่อเว่ยเจินให้ทำการสอนมวยแก่บุคคลทั่วไป วิชามวยของเฮ่อเว่ยเจินบรรลุถึงขั้นสูงล้ำดั่งฝีมือของเทพยดา ยามที่ยกมือวาดเท้าล้วนบังเกิดผล ความพิศดารสุดที่จะพรรณา เป็นที่เลื่องลือไปทั้งใกล้และไกล

     

    มีผู้ที่มาเรียนมวยกับเฮ่อเว่ยเจินได้หลั่งไหลกันมาจากทุกที่ทั่วทุกสารทิศ ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ในช่วงนี้มวยไท้เก๊กสกุลอู่ก็ได้เผยแพร่ออกไปอย่าง กว้างขวาง สำนักที่ก่อสร้างโดยอู่อวี้เซียงเมื่อมาถึงเวลานี้ เพิ่งจะเจริญรุ่งเรืองกว้างไกลออกไป มวยไท้เก๊กได้เผยแพร่กว้างไกลในช่วงเวลา 30 ปี ได้วางรากฐานสำนักให้มั่นคงแข็งแรงเจริญรุ่งเรือง เฮ่อเว่ยเจินยังได้เขียน "วิพากษ์การฝึกฝนมวยไท้เก๊ก"

     

    ในชีวิตของเฮ่อเว่ยเจินได้รับศิษย์ไว้มากมาย ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชา นอกจากบุตรชายคนรองคือเหวินกุ้ยแล้ว ศิษย์ที่สำคัญก็มีซุนลู่ถัง (ค.ศ. 1861-1932), หลี่เซียงเอวี่ยน (ค.ศ.1889-1961), บุตรชายคนรองของหลี่อวี้อวี๋คือหลี่ซุ่นจือ (ค.ศ.1883-1944) เมื่อท่านหลี่อวี้อวี๋ถึงแก่กรรมนั้นหลี่ซุ่นจือเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 8-9 ปีเท่านั้นเอง วิชามวยที่ได้รับส่วนใหญ่ ได้รับการถ่ายทอดจากเฮ่อเว่ยเจินผู้เป็นศิษย์พี่ เนื่องจากมีผู้ได้รับการถ่ายทอดมวยไท้เก๊กสกุลอู่ จากท่านเฮ่อเว่ยเจินอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ในการเผยแพร่มวยไท้เก๊กสกุลอู่ให้กว้างไกลออกไป

     

    เฮ่อเว่ยเจินมีบุตร 4 คน คนโตชื่อเหวินฉิน มีอีกชื่อว่าจิ้งเอวี่ยน, บุตรคนรองชื่อ เหวินกุ้ย มีอีกชื่อว่าเยี่ยหยู ซึ่งเป็นบุตรที่กำเนิดจากภรรยาคนแรกที่แซ่ซู, บุตรคนที่3ชื่อ เหวินเถียน มีอีกชื่อว่าเอี้ยนเกิง, บุตรคนที่4ชื่อเหวินหลิน มีอีกชื่อว่าจู๋เสียน ซึ่งกำเนิดจากภรรยาคนที่สองที่แซ่หวัง มีเพียงบุตรคนรองเหวินกุ้ย และบุตรคนที่ 3 เหวินเถียน ที่สามารถสืบสานวิชาของตระกูล ไว้วิเคราะห์กลั่นกรองศิลปะวิชามวยไท้เก๊กสกุลอู่ วิชามวยของเหวินกุ้ยนั้นเยี่ยมยอดที่สุด

     

     

     

    เฮ่อ เย่อ หยู (ค.ศ. 18771935) มีชื่อว่าเหวินกุ้ย มีอีกชื่อว่าเยี่ยหยู เป็นคนมณฑลเหอเป่ย อำเภอหย่งเหนียน ตำบลกว๋างฝู่ บ้านอยู่ถนนตะวันตกภายในเมือง เป็นบุตรชายคนที่สองของท่านเฮ่อเว่ยเจิน ฝึกฝนมวยกับบิดาตั้งแต่เยาว์วัย ต่อมาได้เรียนหนังสือกับหลี่อวี้อวี๋ซึ่งเป็นอาจารย์ปู่ ได้เห็นอาจารย์ปู่หลี่อวี้อวี๋ฝึกฝนมวยอยู่บ่อยๆ และยังได้ฟังท่านอาจารย์ปู่อธิบายให้ฟังในหลักวิชาของมวยไท้เก็ก ได้เห็นได้รับฟังจนชินหูชินตา ได้รับประโยชน์เป็นอันมาก อีกทั้งยังได้รับการถ่ายทอดจากบิดาอย่างเอาใจใส่เป็นเวลาหลายปี ได้มุมานะฝึกฝนด้วยความเหนื่อยยาก วิชามวยก้าวขึ้นในระดับสูง จนในที่สุดก็สำเร็จในระดับปรมาจารย์คนหนึ่ง

     

    ในวัยหนุ่มท่านเฮ่อเยี่ยหยูทำการค้าขาย ภายหลังจากที่ท่านเฮ่อเว่ยเจินได้ถึงแก่กรรมแล้ว โรงเรียนประถม, มัธยมหย่งเหนียนได้เชิญท่านเฮ่อเยี่ยหยู ทำการสอนมวยไท้เก็กตระกูลอู่

     

    ปีค.ศ.1928 ได้รับตำแหน่งเจ้าสำนักของสำนักกั๋วซู่ก่วน (สำนักวิทยายุทธจีน) ในอำเภอหย่งเหนียน, ปีค.ศ.1930 ได้รับเชิญให้ไปสอนมวยไท้เก็กตระกูลอู่ ในที่ราชการต่างๆ เช่นศาลสูงสุดแห่งนครนานกิง, กระทรวงงบประมาณ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงการคลัง), มหาวิทยาลัยจงเอียน เป็นต้น ในปีค.ศ.1935 เดือนสิงหาคมท่านเฮ่อเยี่ยหยูได้ป่วยและถึงแก่กรรมที่นครนานกิง

     

    ท่านเฮ่อเยี่ยหยูมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านพลังฝีมือ และหลักวิชามวยไท้เก็ก รวมกับประสบการณ์จริง และความรู้ทางด้านหนังสืออย่างดี ได้นิพนธ์ออกมาเป็นวิพากษ์มวยเช่น จุดสำคัญของมวยไท้เก็กตระกูลอู่”, “การรำมวยการผลักมือของมวยไท้เก็กตระกูลอู่”, “การผลักมือ 15 วิธี”, “วิพากษ์ประสบการณ์ของเฮ่อเยี่ยหยูเป็นต้น ซึ่งเป็นความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ ของขุมทรัพย์แห่งทฤษฎีมวยไท้เก็ก และได้รับความนิยมอย่างสูง ในเหล่าผู้ฝึกฝนมวยไท้เก็ก

     

     

     

    เฮ่อ เส้า หยู (ค.ศ. 19081983) ชื่อแรก เมิ่ง ซิว เป็นคนถนนตะวันตก เมือง กว่างฟู่ อำเภอหยงเหนียน มณฑล เหอเป่ย บิดาคือ เฮ่อ เย่อ หยู ปู่คือ เฮ่อ เว่ย เจิง ล้วนเป็นผู้ลือชื่อทางมวยไท้เก็ก

     

    เฮ่อ เส้า หยู มีรูปร่างสูงใหญ่ ล่ำสัน กำลังแขนเหนือคนธรรมดา คล้ายกับคุณปู่ เฮ่อ เว่ย เจิง มาก เนื่องจากเติบโตในตระกูลมวยไท้เก็ก เฮ่อ เส้า หยู ติดตามบิดา และคุณปู่ ฝึกมวยไท้เก็กตั้งแต่เด็ก ได้รับการชี้แนะจากบิดา และคุณปู่ ทำให้สามารถเข้าใจ หลักปฏิบัติและทฤษฎีของมวยไท้เก็กตั้งแต่เยาว์วัย เพียงอายุ 21 ปี ก็สามารถเข้าถึงแก่นของมวยไท้เก็กสกุลอู่ และได้เป็นผู้ช่วยสอนในกองมวยจีน อำเภอ หยงเหนียน ต่อมาปี ค.ศ. 1932 ด้วยวัยเพียง 24 ปี ก็ได้เป็นผู้ฝึกสอนมวยไท้เก็กสกุลอู่ที่มหาวิทยาลัย จง ยัง และศาลฎีกา เมืองนานกิง พร้อมกับบิดา ภายหลังจากการแนะนำของ จาง ซื่อ ยี ได้เป็นตัวแทนบิดาไปเป็นผู้ฝึกสอนมวยที่โรงงานผลิตยา ซิน ยา เมือง เซี่ยงไฮ้ ถือได้เป็นการเผยแพร่มวยไท้เก็กสกุลอู่ เข้าสู่เมือง เซี่ยงไฮ้ เป็นครั้งแรก ปีค.ศ. 1933 ด้วยการแนะนำของ หวู ซ่าง เซียน ได้เข้าสอนมวยที่โรงเรียนมัธยม เซี่ยงไฮ้ และโรงงาน หยู่ จิ้น เจิ้ง เต๋อ ปี 1937 ได้เปิดค่ายฝึกมวยไท้เก็กสกุล เฮ่อ ขึ้นที่เมือง เซี่ยงไฮ้ ตอนหลังเนื่องจากปัญหาทางการเมือง ก็ได้เข้าเป็นพนักงานประจำของ โรงงานผลิตยา ซิน ยา และล้มเลิกชีวิตนักมวยชั่วขณะ ปี ค.ศ. 1961 จากการเสนอตัวโดย นาย กู้ หลิง ซิน ซึ่งเป็นหัวหน้า กองกีฬาเมืองเซี่ยงไฮ้ในขณะนั้น ได้เข้าสอนวิชามวยไท้เก็กสกุลอู่ที่สนามกีฬาเมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง นายหลี่ เว่ยหมิง ก็ได้เข้าเรียนวิชามวยกับ เฮ่อ เส้า หยู ในช่วงเวลานั้น

     

    ความรู้มวยไท้เก็กของนาย เฮ่อ เส้า หยู กว้างขวางและลุ่มลึกมาก สุดยอดทั้งปฏิบัติและทฤษฎี เขาไม่เพียงสามารถอธิบายคำพูดทุกคำในหลักทฤษฎีไท้เก็ก ของปรมาจารย์แห่งไท้เก็กทั้ง 3 ท่านคือ นายหวัง จง เย่ นาย อู่ หยู เซียง และนาย หลี่ อี้ หยี เท่านั้น ซ้ำยังสามารถร่ายรำมวยไท้เก็กได้อย่างหมดจด ไร้ที่ติ อีกทั้งสามารถอธิบายข้อกำหนดต่างๆ ที่ลึกซึ่งได้อย่างละเอียดและถูกต้องแม่นยำ จึงสมเป็นปรมาจารย์ไท้เก็กสกุลอู่ที่ลือชื่อคนหนึ่ง

     

    เฮ่อ เส้า หยู เวลาใช้วิชาผลักมือ สามารถบังคับและควบคุมผู้อื่นได้ สมใจนึกโดยไม่ทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บแม้แต่น้อย เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนจำนวนมาก เช่น เมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1964 เฮ่อเส้าหยูได้แสดงร่ายรำวิชาผลักมือ ในสนามกีฬาเมืองเซี่ยงไฮ้ เขาได้ใช้วิชายกและปล่อยที่ชื่อ นกกระเรียงขาวกางปีกยกคู่ต่อสู้ (นาย ซุน โหย่ง เต๋อ) จากตำแหน่งหน้าซ้าย ขึ้นสู่ ท้องฟ้า หมุนเป็นเกลียว 180 องศา ไปตกลงที่ตำแหน่งหลังขวา ห่างจากอาจารย์เฮ่อ หลายเมตร ทำให้ผู้ชมทั้งสนามฮือฮามาก อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1979 อาจารย์ เฮ่อ แสดงวิชาผลักมือที่โรงยิมแห่งตำบลหลูวาน เมืองเซี่ยงไฮ้ อาจารย์ ได้โยนคู่ต่อสู้เดี๋ยวก็จากซ้ายไปขวา เดี๋ยวก็จากขวาไปสู่ซ้าย ขึ้นไปบนอากาศหมุนไปมารอบๆ ตัวอาจารย์ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก จึงได้รับเสียงปรบมือที่กึกก้องและยาวนาน อาจารย์ได้ใช้กำลังจากภายในล้วนๆ ไม่มีการฝืนแรงแม้แต่น้อย เขาใช้การตั้งใจจดจ่อในการเค้นลมปราณ ใช้ลมปราณในการส่งพลัง ใช้ภายในควบคุมกำลังภายนอก สองมือไม่ต้องจับคู่ต่อสู้ เพียงประกบบนร่างฝ่ายตรงข้ามก็สามารถทำให้เขาขยับตัวไม่ได้ เช่นภายในเปลี่ยนแปลง แต่ภายนอกยังคงหยุดนิ่ง ทำให้คู่ต่อสู้เหมือนตกลงสู่เหวลึก ยืนไม่ติดหรือล้มตัวออกไป เพียงอาจารย์เริ่มออกแรง ฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกโยนออกไปโดยไม่รู้ตัว จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

     

    ทุกคนที่เคยดูการแสดงของ เฮ่อ เส้า หยู ล้วนสามารถสัมผัสถึงท่วงท่าที่ยิ่งใหญ่ และอิ่มเอิบของอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู ซึ่งมีพลังเต็มตัว แต่ละท่าแต่ละกระบวน ล้วนถูกควบคุมโดยภายใน จากในถึงนอก จิง (พลัง) ชี่ (ลมปราณ) เสิน (การตั้งใจจดจ่อ) ทั้ง 3 สิ่งถูกผสมผสานในทุกท่วงท่า จึงทำให้ทุกกระบวนท่าดูตื่นตาตื่นใจมาก นายเฮ่อ เส้า หยู ถือว่า มวยไท้เก็ก ไม่เพียงเป็นวิชาต่อสู้ชนิดหนึ่ง แต่ยังถือว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งด้วย เวลาอาจารย์ เฮ่อ เดิน ยืน นั่ง นอน ร่างกาย ล้วนเข้าสู่สภาพเดินพลังฝึกมวยอย่างเคยชิน เวลา อาจารย์ ยืนอยู่ถ้ามีใครล้มชนตัวท่านจะถูกเด้งกลับออกไปทันที

     

    อาจารย์เฮ่อ เส้า หยู ได้ตั้งใจฝึกฝน และศึกษามวยไท้เก็ก ในชั่วชีวิตของท่าน ทฤษฎี ของมวยไท้เก็กที่ท่านเขียนขึ้นนั้น เมื่อเทียบกับปรมาจารย์คนก่อนๆ จะยิ่งครอบคลุมระบุชัดเจน ละเอียดลออ และถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้องค์ความรู้แห่งไท้เก็กถูกเพิ่มพูนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1963 สำนักพิมพ์กีฬาประชาชนแห่งเมืองปักกิ่ง ได้พิมพ์จำหน่ายหนังสือของอาจารย์ เฮ่อ ชื่อ มวยไท้เก็กสกุลอู่นับเป็นผลงานที่สำคัญที่การเผยแพร่ และพัฒนามวยไท้เก็กสกุลอู่ ในหนังสือของอาจารย์เฮ่อ เส้า หยู ได้เขียนถึงเกล็ดมากมายที่มีคุณค่า และไม่มีคนทราบ ทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจมวยลึกซึ้งขึ้น และแก้ไขความเข้าใจผิดที่มีต่อทฤษฎีมวยไท้เก็กที่มีมาอย่างช้านาน จึงเป็นผลดีอย่างมากต่อการศึกษาและพัฒนา มวยไท้เก็กในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น

     

    อาจารย์เฮ่อ เส้า หยู เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1983 ที่เซี่ยงไฮ้ขณะอายุได้ 75 ปี อาจารย์เฮ่อ เส้า หยู ก่อนเสียชีวิต เป็นกรรมการสภา วู ซู เมืองเซี่ยงไฮ้ และที่ปรึกษา สภา วูซู ตำบล ฮีฟง

     

     

     

     

    (ปรมาจารย์ รุ่นที่ 6 ผู้สืบทอด มวยไท้เก็กสกุลอู่”)

     

    อาจารย์หลี่ เว่ย หมิง เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1944 ณ เมือง ซัวเถา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้ย้ายมาศึกษาต่อที่เมืองเซี่ยงไฮ้ จนกระทั่งอายุได้ 15 ปี ขณะที่กำลังศึกษาระดับมัธยมปลาย ได้มีครูพละคนหนึ่ง เล็งเห็นว่าอาจารย์ หลี่เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี ประกอบกับมีหน่วยก้านดี ครูพละท่านนี้จึงได้เล่าให้อาจารย์หลี่ฟังว่าตนได้เคยศึกษามวยไท้เก็กสกุลหยางมาก่อน ถ้าหากอาจารย์หลี่ต้องการศึกษามวยไท้เก็กแล้ว ท่านก็แนะนำว่าควรจะศึกษามวยไท้เก็กสกุลอู่ ซึ่งต่อมา ครูพละท่านนี้ได้แนะนำอาจารย์หลี่ให้ไปพบกับท่านอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู ซึ่งเป็นผู้ที่สืบทอดมวยไท้เก็กสกุลอู่โดยตรงรุ่นที่ 5 โดยได้ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์เพื่อศึกษามวยไท้เก็กสกุลอู่ ที่สถาบันกีฬาของมหานครเซี่ยงไฮ้นั่นเอง

    เนื่องจากอาจารย์หลี่ได้ฝึกฝนมวยไท้เก็กสกุลอู่ในขณะที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ ด้วยความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นในการฝึกฝน ทำให้อาจารย์หลี่ต้องตื่นตั้งแต่ ตี 2 ตี 3 เพื่อฝึกฝนมวย และหากมีเวลาว่างตอนกลางวันเมื่อไรก็จะฝึกฝนมวยเช่นกัน โดยเฉลี่ยแล้ว ในขณะนั้นอาจารย์หลี่จะฝึกถึงประมาณวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ทำให้มีการพัฒนาฝีมืออย่างรวดเร็วภายใต้การสอนของอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู ซึ่งทำให้อาจารย์หลี่ เว่ย หมิง ได้เรียนรู้ฝึกฝน มวย ดาบ กระบี่ ทวน และการต่อสู้ด้วยมือเปล่า อย่างถูกต้องครบถ้วน ตามแบบฉบับอันสมบูรณ์ของมวยไท้เก็กสกุลอู่ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนท่านอาจารย์เฮ่อเส้าหยู ได้คัดเลือกท่านให้เป็นผู้ช่วยสอนมวยไท้เก็กสกุลอู่ตั้งแต่ท่านอาจารย์หลี่อายุได้เพียง 19 ปีเท่านั้น

     

    หลังจากที่อาจารย์หลี่ศึกษาจนจบระดับมัธยมศึกษาแลัว อาจารย์หลี่ได้ไปศึกษาต่อในระดังมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยแพทย์แผนโบราณของจีน ที่เมืองเซี่ยงไฮ้นั่นเอง จนสำเร็จเป็นแพทย์แผนโบราณ เชี่ยวชาญในทุกด้าน เช่นทุยหน่า หรือการนวดรักษาโรคแบบจีน การฝังเข็ม การใช้สมุนไพรจีน ฯลฯ อีกมากมาย

     

    จากการที่อาจารย์หลี่ เว่ย หมิง ได้ฝึกฝนมวยไท้เก็กสกุลอู่กับอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องโดยตลอด และได้รับเชิญไปแสดงมวยไท้เก็กสกุลอู่ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้และสถานที่ต่างๆ กับอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู หลายครั้ง (ตามปรากฎในหนังสือเชิญให้ไปแสดงในงานต่างๆ) ทำให้อาจารย์หลี่มีความสนิทสนมกับอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู เป็นอย่างมากเสมือนหนึ่งเป็นคนในครอบครัว ประกอบกับอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู เองไม่มีบุตรชาย จึงรับอาจารย์หลี่ เว่ย หมิง เป็นบุตรบุญธรรมเมื่อ ปี ค.ศ.1980 ก่อนที่อาจารย์ เฮ่อ เส้า หยูจะถึงแก่มรณกรรมได้ 3 ปี รวมระยะเวลาที่อาจารย์หลี่ได้ติดตามฝึกฝนกับอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู อย่างใกล้ชิดทั้งหมด 24 ปี อาจารย์ หลี่ เว่ย หมิง จึงเป็นผู้สืบทอดวิชามวยไท้เก็กสกุลอู่สายตรงรุ่นที่ 6 ต่อจากอาจารย์ เฮ่อ เส้า หยู (ใบรับรองจากสมาคม วูซู เมืองเซี่ยงไฮ้)

     

    อาจารย์หลี่ เว่ย หมิง ได้เผยแพร่วิชามวยไท้เก็กสกุลอู่ อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มฝึกสอนอิสระตั้งแต่ปี ค.ศ.1966 จนกระทั่งปัจจุบัน มีลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จมากมาย บางท่านก็ยังได้ไปสอนเผยแพร่มวยไท้เก็กสกุลอู่ที่ต่างประเทศ

    ปี ค.ศ.1993 อาจารย์ หลี่ เว่ย หมิง ได้รับเชิญจากกคุณ หม่า เจี้ยน เฉิน ประธานสมาคมไท้เก็กแห่งประเทศไทย ให้มาเผยแพร่วิชา มวยไท้เก็กสกุลอู่ และการบำบัดรักษาโรคในแบบแผนจีนโบราณในประเทศไทย โดยเฉพาะ ทุยหน่า โดยใช้กำลังภายใน เพื่อรักษาโรคกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และโรคอื่นๆ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากบุคคลทั่วไป

     

    ปัจจุบันอาจารย์หลี่ เว่ย หมิง พำนักอยู่ในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดและฝึกสอนมวยไท้เก็กสกุลอู่ แก่บุคคลทั่วไป และยังรับบำบัดรักษาโรคให้แก่ผู้ที่ต้องการรับการรักษาแบบจีนโบราณ มีผลงานในด้านการรักษาผู้ป่วยเป็นผลสำเร็จจำนวนมากจนเป็นที่รู้จัก และปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแล้วจำนวนหลายฉบับ นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (ไท่จิฉวน) แห่งประเทศไทย อีกด้วย

     

     

    อาจารย์ หลี่ เว่ย หมิง ดำรงตำแหน่งที่สำคัญดังต่อไปนี้

    1. ผู้สืบทอดมวยไท้เก็กสกุลอู่โดยตรงรุ่นที่ 6 ต่อจากท่านอาจารย์เฮ่อเส้าหยู

    2. หัวหน้าสถาบันวิจัยและค้นคว้ากายภาพบำบัดไท้เก็กสกุลอู่เมืองเซี่ยงไฮ้

    3. ที่ปรึกษาสมาคมไท้เก็กมหาวิทยาลัยครูเซี่ยงไฮ้

    4. ประธานกิตติมศักดิ์สถาบันกายภาพบำบัดชี่กงเมืองเซี่ยงไฮ้

    5. ประธานสถาบันค้นคว้าและรักษาโรคด้วยชี่กงไท้เก็กสกุลอู่

    6. ผู้จัดการแผนกคนไข้นอกโรงพยาบาลกายภาพบำบัด หยางจื่อเจียง เมืองเซี่ยงไฮ้

     

    ตลอดระยะเวลาที่อาจารย์ หลี่ เว่ย หมิง ได้เผยแพร่วิชามวยไท้เก็กสกุลอู่ ในประเทศไทย ได้สอนลูกศิษย์มากมาย ทั้งด้านสุขภาพและด้านศิลปะป้องกันตัว รวมถึงพลังบำบัดรักษาด้วยลมปราณ หรือ  "ชี่" โดยได้ก่อตั้ง "ชมรมมวยไท้เก็กสกุลอู่แห่งประเทศไทย" เมื่อปี ค.ศ.2000 โดยมีอาจารย์ หลี่ เว่ย หมิง เป็นประธานกิตติมศักดิ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วิชามวยไท้เก็กสกุลอู่ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปในประเทศไทย และใช้เป็นฐานในการเผยแพร่วิชามวยไท้เก็กสกุลอู่ในอนาคต



    ข้อมูลจาก


    http://www.wuhaotaichi.org/

     

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    คำนิยม Top

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    คำนิยมล่าสุด

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    ความคิดเห็น

    ×