ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศิลปินแห่งชาติ

    ลำดับตอนที่ #8 : [ พ.ศ. 2528 ] ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 4.56K
      4
      29 พ.ย. 49


    ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติสาขา ศิลปะการแสดง นาฎศิลป์

    ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี มีนามเดิมว่า แผ้ว สุทธิบูรณ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๔๖ เมื่ออายุ ๘ ขวบ ได้ถวายตัวในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และได้รับการฝึกหัดนาฏศิลป์ กับครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในราชสำนักเช่น เจ้าจอมมารดาวาดและเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่  เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ ๕ หม่อมแย้ม ในนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หม่อมอึ่งในสมเด็จพระบัณฑูรฯ จนมีความรู้ความสามารถออกแสดงละครเป็นตัวเอกในโอกาสที่แสดงถวายทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่ง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลายครั้ง ท่านแสดงเป็นอิเหนาและนาดรสาในเรืองอิเหนา เป็นพระพิราพและทศกัณฐ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ทางด้านการศึกษาวิชาสามัญท่านจบหลักสูตรจากโรงเรียนในวังสวนกุหลาบในรัชสมัยพระมหาธีรราชเจ้า

     

    ด้วยความรู้ความสามารถในการแสดงนาฎศิลป์เป็นเลิศประกอบด้วยความงามทั้งกายใจและมีคุณสมบัติของกุลสตรี ครบถ้วนสมเป็นเบญจกัลยาณี จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และต่อมาท่านก็ได้เป็นพระชายาในพระองค์ท่านมีนามว่าหม่อมแผ้ว นครราชสีมา ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จทิวงคตแล้ว เป็นเวลานานพอสมควร ท่านผู้หญิงแผ้วจึงได้สมรสกับพลตรีหม่อมสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์) ท่านผู้หญิงแผ้ว ต้องติดตามสามีซึ่งรับราชการเป็นทูตทหารไปประจำที่ต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และที่ประเทศโปรตุเกส พลตรีหม่อมสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว. ตัน สนิทวงศ์) ได้เป็นเอกอัครราชทูตไทย จากการที่ท่านผู้หญิงแผ้วติดตามสามีไปอยู่ประเทศต่าง ๆ ในสมัยนั้นนับเป็นผลดีกับวงการนาฏศิลป์ไทย เพราะท่านไปอยู่ประเทศไหนก็สนใจศึกษานาฏศิลป์ของชาตินั้นและจดจำเอาไว้ได้เป็นอย่างดี เมื่อรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยในกรมศิลปากร ท่านก็นำเอาวิชาความรู้ทางด้านนาฏศิลป์จากประเทศต่าง ๆ เป็นบางอย่างมาพัฒนาเป็นท่านาฏศิลป์ไทย อาทิเช่น ระบำม้า ท่านเคยเล่าว่าลีลาท่าเต้นโขยกไปเขยกมาของผู้แสดงระบำม้านั้น ท่านจดจำท่าทางมาจากท่าระบำม้าของประเทศโปรตุเกส แล้วนำมาปรับปรุงให้เป็นท่ารำแบบไทย ๆท่านที่เคยชมระบำม้าในละครนอกเรื่อง รถเสน คงชอบในลีลาท่าทางของผู้แสดงที่แต่งกายเป็นม้าออกมาเต้นโขยกกันอย่างถึงใจมาแล้ว

     

    ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นเสมือนศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นผู้รอบรู้ในศิลปวิทยาการด้านนาฏศิลป์ การประพันธ์บทสำหรับแสดงทั้งโขนและละคร

     

    ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี นอกจากจะเชี่ยวชาญในตำราฟ้อนรำ อันมีสืบมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ท่านยังมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการค้นคิดประดิษฐ์ลีลาท่ารำให้เหมาะสมกับยุคสมัย ดำเนินไปโดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนอันมีมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นที่ท่าท้าวพญามหากษัตริย์ ขุนนางบุคคลสำคัญ ตลอดจนถึงท่าทางของสัตว์ทั่วไป ท่านสามารถประดิษฐ์ลีลาท่ารำได้อย่างงดงามและเหมาะสมกับบทบาท

     

    จากผลงานและความรู้ความสามารถของท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ทำให้ท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ท่านได้รับเมื่อวันฉัตรมงคลที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๘ คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ นอกจากท่านผู้หญิงแผ้วจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงแล้วท่านยังได้รับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งท่านผู้หญิงแผ้ว รู้สึกเป็นเกียรติยศและเกิดความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

     

    ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นครูบาอาจารย์ที่มีความเมตตาต่อศิษย์ ปรารถนาที่จะให้ศิษย์ได้ดีมีวิชาความรู้โดยถ้วนหน้ากัน บางครั้งท่านจะดุว่าบ้างแต่ก็ทำไปเพื่อให้ศิษย์ได้ดี มิได้มีจิตคิดอาฆาตมาดร้ายศิษย์แต่อย่างใดบรรดาศิษย์จะพากันเรียกท่านว่า "หม่อมอาจารย์" ตามฐานันดรศักดิ์เดิมของท่าน แต่ก็ยังมีศิษย์บางคนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหลานของท่าน ซึ่งความจริงไม่น่าจะเรียกว่าลูกศิษย์ ควรเรียกว่าหลานศิษย์จะเหมาะว่า ถือวิสาสะที่ท่านให้ความเมตตาสนิทสนมรักใคร่เหมือนลูกหลาน เรียกท่านว่า "หม่อมย่า" ซึ่งท่านมิได้ว่ากระไรกลับชอบใจและเอ็นดูหลานศิษย์เหล่านั้นเป็นอันมาก

     

    ทุกวันที่เปิดทำราชการ ท่านผู้หญิงแผ้วจะมาทำงานและเมื่อถึงที่ทำงานซึ่งเป็นห้องเล็กๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศอยู่ที่บนชั้น ๔ อาคารปีกซ้ายของโรงละครแห่งชาติ ซึ่งด้านในเป็นที่ทำการของงานนาฏศิลป์และงานเครื่องแต่งกาย ท่านผู้หญิงแผ้ว จะเริ่มทำงานโดยไม่มีเวลาว่างเลย ถ้าไม่ออกมาซ้อมการแสดงนอกห้องหรือที่โรงละครแห่งชาติ ท่านก็จะเรียกผู้แสดงเข้าไปซ้อมในห้องทำงานของท่านจนกระทั่งถึงเวลากลางวันจึงจะหยุดพักรับประทานอาหาร ตอนบ่ายก็จะฝึกซ้อมการแสดงต่อไปจนถึงเวลาเย็นจึงจะกลับบ้าน เรื่องการซ้อมการแสดงนี้ถึงแม้ว่าท่านผู้หญิงแผ้วจะเจ็บไข้ได้ป่วย หมอห้ามมิให้ไปทำงานแต่เนื่องจากที่ท่านเอาใจใส่ในการแสดง ต้องการให้การแสดงของกรมศิลปากรเป็นที่ชื่นชมของผู้ชมทั่วไป ท่านจึงขอให้กองการสังคีต จัดส่งผู้แสดงไปรับการฝึกซ้อมจากท่านที่บ้านและมักเป็นอย่างนี้แทบทุกครั้งที่ท่านป่วยในเวลาที่ท่านผู้หญิงแผ้วมาทำงานยังที่ทำงาน ถ้าในตอนบ่ายไม่มีการฝึกซ้อมการแสดง ท่านก็จะจัดทำบทโขน บทละคร โดยมีผู้ช่วยเขียนบทให้และท่านบอกให้เขียนตามคำบอก

     

    เมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม ๒๕๑๙ รัฐบาลไทยอนุมัติให้กรมศิลปากรจัดนาฏศิลป์ไปแสดง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกท่านผู้หญิงแผ้วเป็นผู้อำนวยการจัดทำบท คัดเลือกผู้แสดง ผู้ร่วมงานอำนวยการฝึกซ้อมและท่านก็ร่วมเดินทางไปกำกับการแสดงในครั้นนั้นทำให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเมืองจีนตีพิมพ์ข้อความยกย่องชมเชยท่านผู้หญิงแผ้ว  ไม่เว้นแต่ละวัน

     

    เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เห็นแล้วว่าท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านนาฏศิลป์ไทยและบทประพันธ์ประกอบการแสดงยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ สมควรที่จะได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์อย่างแท้จริง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×