คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : -STEP 2: เตรียมพร้อมก่อนออกเที่ยว (2)-
สำหรับตอนนี้ เป็นตอนต่อจากของเดิมในตอนที่แล้วนู้น เนื้อหาในตอนนี้ก็สำคัญไม่แพ้กับตอนอื่นๆ ที่ผ่านมาเลย โดยเนื้อหาที่ว่านั่นก็คือ ‘การจองตั๋วเครื่องบิน’ นั่นเอง เจ้าของบทความเชื่อว่าทุกคนคงอยากท่องเที่ยวในราคาที่ย่อมเยาว์ตลอดทริปใช่ไหมคะ รวมทั้งการซื้อตั๋วเครื่องบินก็ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันกับตอนนี้เลยค่ะ
-จองตั๋วเครื่องบิน-
เลือกสายการบินอะไรดี?
จุด Start ของตอนนี้ ถ้าเลือกสายการบินที่ดี ราคาย่อมเยาว์ ตรงกับจุดประสงค์ของเราได้ นั่นเท่ากับว่าผ่านฉลุยเลยนะคะ เพราะเป็นการ Save Money ไปในตัว ปัจจุบันสายการบินพาณิชย์มีหลากหลายเจ้า เรียกได้ว่าเยอะจนตาลายไปหมด แต่ละบริษัทก็มีโปรโมชั่นที่แตกต่างกันออกไป ในตอนนี้เราจะได้ช่วยกันวางแผนเลือกสายการบินกันนะคะ ก่อนอื่นเลยมาทำความเข้าใจกกันก่อน ในปัจจุบันสายการบินพาณิชย์แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1. สายการบินแบบ Full Service
สายบินที่ให้บริการคุณอย่างเต็มรูปแบบ ค่าตั๋วโดยสารจะรวมค่าบริการต่างๆ เอาไว้แล้ว เช่น ค่าโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่อง ค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ให้บริการบนเครื่อง หรือแม้แต่ตกเครื่องก็สามารถโดยสารเที่ยวถัดไปได้ (แต่ต้องตรวจสอบเงื่อไขของตั๋วโดยสารด้วย) เรียกว่าเสียเงินค่าตั๋วใบเดียวได้ทุกอย่างครบครับ สายการบินแบบ Full Service ที่เป็นที่นิยมได้แก่ สายการบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส นอกจากนี้ยังรวมถึงสายการบินของประเทศเกาหลีอย่าง Korean Air ด้วยค่ะ (มาตรฐานสูงพอๆ กับการบินไทย)
2. สายการบินแบบ Low Cost Service
เป็นรูปแบบของสายการบินที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะสายการบินประเภทนี้จะมีราคาที่ถูกกว่าสายการบินแบบ Full Service ที่กล่าวไปข้างต้น และสาเหตุที่ถูกกว่านั้นก็เพราะ สายการบินแบบ Low Cost Service จะแยกค่าบริการ เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าโหลดกระเป๋า ออกจากราคาตั๋วโดยสาร ผู้โดยสารที่ไม่ต้องการบริการดังกล่าวจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ทำให้ราคาตั๋วถูงลงนั่นเองค่ะ
ตัวอย่างรายชื่อสายการบิน Low Cost ในประเทศเกาหลีใต้ ได้แก่ Jeju Air, Business Air, Jin Air, T’ Way Air
3 ข้อที่ต้องรู้ เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าของแต่ละสายการบิน
1. ราคา
เหล่านักเดินทางคอยจับตาช่วงจัดโปรโมชั่นของแต่ละสายการบินให้ดีนะคะ บางครั้งอาจได้ตั๋วโดยสารในราคาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาเต็มด้วยซ้ำ
หมายเหตุ ราคาตั๋วเครื่องบิน บินตรงไปเกาหลี แบบ Low Cost อยู่ที่ระหว่างประมาณ 12,000-16,000 บาท แต่หากเป็นฤดูท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวจำนวนมาก อาจทำให้ราคาตั๋วแพงกว่านี้ แนะนำว่า หากซื้อตั๋วประเภทนี้ได้ในราคาที่แพงกว่า 15,000 บาท ควรเปลี่ยนใจไปซื้อตั๋วเครื่องบิน Full Service ดีกว่า จ่ายเพิ่มอีกนิดนึงแต่ได้บริการแบบครอบคลุมคุ้มกว่าแน่นอน
Source: http://www.dek-d.com/studyabroad/34384/
2. ช่วงเวลาการเดินทาง และเวลาที่ใช้เดินทาง
ใครบอกว่าเงินจะใช้วัดความคุ้มค่าอย่างเดียว ขอบอกเลยว่าคุณพลาดมาก เวลาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำมาจับเข่านั่งพิจารณาด้วย ตัวอย่างเช่น
สายการบิน A ตั๋วโดยสารราคา 18,000 บาท ออกเดินทางเวลา 15.00 น. ถึงเวลา 20.05 น.
สายการบิน A ตั๋วโดยสารราคา 23,000 บาท ออกเดินทางเวลา 01.00 น. ถึงเวลา 07.05 น.
นักเดินทางที่กำลังอ่านขณะนี้ลองคิดกันเล่นๆ นะคะ ว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกเดินทางกับสายการบิน A หรือสายการบิน B ถ้าคุณเลือกเดินทางกับสายการบิน B ถือว่าคุณเดินมาถูกทางแล้วค่ะ เพราะถึงแม้สายการบิน A จะมีราคาตั๋วที่ถูกกว่า ประหยัดกว่า แต่เมื่อเดินทางไปถึงกับเป็นเวลาในช่วงค่ำ ทำให้เสียเวลาในการท่องเที่ยวไปวันหนึ่ง ถ้าเทียบกับสายการบิน B ที่มีราคาแพงกว่า แต่ออกเดินทางในเวลาที่ทุกคนเข้านอนแล้ว คุณก็สามารถนอนเอาแรงบนเครื่องระหว่างบินข้ามประเทศ และเที่ยวในเช้าถัดไปได้โดยไม่เสียเวลาฟรีไปหนึ่งวัน อีกหนึ่งเคล็ดไม่ลับที่ไม่ควรลืมในการเลือกสายการบิน
3. เงื่อนไขการคืนเงิน
หากจำเป็นต้องยื่น หรือคืนตั๋วเครื่องบิน บางสายการบินโดยเฉพาะสายการบิน Low Cost มักมีเงื่อนไขว่าจะไม่คืนเงินให้ในทุกกรณี แต่สายการบินแบบ Full Service ที่ค่าตั๋วแพงกว่า ใจป๋ากว่า อาจยอมให้เลื่อนวันเดินทางได้ (ซึ่งรายละเอียดก็ต้องแล้วแต่สายการบินจะกำหนดไว้)
ช่องทางจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน
หลักๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย
หรือที่เราเรียกกันว่า เอเยนต์ (Agent) นั่นเองค่ะ เป็นวิธีที่สะดวกมาก เพราะทางเอเยนต์จะมีสายการบินให้เลือกมากมาย แต่ข้อเสียคือราคาอาจจะแพงกว่า และอาจถูกตุ๋น หรือโดนหลอกเอาได้ เช่น ขายตั๋วปลอม หรือยกเลิกตั๋วของลูกค้าภายหลัง ทั้งทีออกตั๋วให้ลูกค้าไปแล้ว ถามว่าจะซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างไรให้ปลอดภัย วิธีการขั้นเบสิกสุดๆ ก็คือ ต้องดูว่ามีสำนักงานเป็นหลักเป็นแหล่งไหม จัดตั้งขึ้นมานานแล้วหรือยัง ดูน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
วิธีการซื้อตั๋วผ่านตัวแทนจำหน่าย อย่างที่บอกไปว่าเป็นวิธีที่สะดวกมาก เพียงติดต่อแจ้งความต้องการ แล้วพนักงานจะจัดการให้ทั้งหมด (หนังสือเขียนมาอย่างนี้ ในความคิดเจ้าของบทความคิดว่าน่าจะรวมไปถึงการทำหนังสือเดินทางและที่พัก บลาๆๆ ด้วยหรือเปล่า ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ)
วิธีตรวจสอบตั๋วปลอม ฉบับ ไม่ได้ตุ๋นหลอกเว้ย!
เมื่อได้ตั๋วเครื่องบินมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น E-Ticket หรือส่งมาทางโทรสาร ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
I. ตรวจสอบหมายเลขต่อไปนี้
Amadeus Ref Number (S) (6 ตัวอักษร)
Airline Ref Number (S) ตัวย่อชื่อสายการบิน 2 ตัว/6 ตัวอักษร
Ticket Number (S) เลขสายการบิน 3 ตัว วรรค หมายเลขตั๋ว 10 ตัว
แล้วเข้าไปเช็กรายละเอียดทางเว็บไซต์ www.checkmytrip.com หากพบรายการจองหรืออกตั๋วที่มีชื่อของเรา จึงค่อยโล่งใจได้ว่าไม่ใช่ตั๋วปลอม หรือ
II. โทร.ตรวจสอบหมายเลขตั๋วกับทางสายการบินโดยตรง
ถ้าเอาตามความเห็นเจ้าของบทความแนะนำให้ใช้วิธีในข้อที่ 2 ดีกว่าค่ะ เพราะมันก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเท่าไรนัก
2. ซื้อกับทางสายการบินโดยตรง
เจ้าของบทความเคยขึ้นเครื่องบินครั้งแรก และเคยขึ้นแค่ครั้งเดียวยันปัจจุบัน จำได้ว่าครั้งแรกที่ขึ้นเครื่องบินตื่นเต้นมาก แต่เหมือนกับที่ทุกคนเคยบอกเลยว่า “ตื่นเต้นแค่ตอนเครื่องขึ้นกับเครื่องลง” เพราะหลังจากที่เครื่องอยู่บนฟ้าแล้วก็ไม่มีอะไรแล้วค่ะ นอกจากมองวิวริมหน้าต่าง มองสักพักก็เริ่มเบื่อ ถ้าเป็นไปได้เวลาจองแนะนำให้จองริมหน้าต่างกันนะคะ จะได้ชมวิวจากเบื้องสูงเหมือนเป็นนกสวยไปอีกแบบ (ว่าแล้วก็อยากไปเที่ยวจัง) สาเหตุที่เกริ่นมาไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องสักเท่าไรนัก แต่ที่เกริ่นมาเสียยาวขณะนี้ก็เพราะเคยเดินทางภายในประเทศมาก่อนค่ะ (กรุงเทพ-ภูเก็ต) จำได้ว่าตอนนั้นไปช่วง ธันวาคม 54 ช่วงหยุดยาววันพ่อ แล้วแม่ของเจ้าของบทความก็เลือกซื้อตั๋วจากทางเว็บไซต์ของสายการบินนี่แหละค่ะ เมื่อสักครู่ถามแม่ แม่บอกว่าตอนนั้นจ่ายตังค์กับเซเว่น ขุ่นพระ! จริงหรือเปล่า อย่าเพิ่งเชื่อเต็ม 100% นะจ๊ะเด็กๆ
การซื้อกับทางสายการบินโดยตรง คือการซื้อผ่านเว็บไซต์หรือ Call Center ของสายการบิน โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตของบางธนาคาร (อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดจากธนาคารด้วยนะคะ) ข้อดีก็คือ ง่าย ปลอดภัย อุ่นใจได้เลยว่าตั๋วไม่ปลอมแน่นอน
ตัวอย่างการซื้อตั๋ว (เจ้าของบทความคิดว่าเว็บไซต์ของสายการบินแต่ละสาย น่าจะใช้งานง่ายๆ และคล้ายๆ กันนะคะ)
1. เปิดเว็บไซต์ของสายการบินที่ต้องการขึ้นมา
2. เลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการจองตั๋วเครื่องบิน
3. เลือกประเภทตั๋วเครื่องบิน ซึ่งจะมีให้เลือกแบบเที่ยวเดียว หรือไปกลับ
4. ป้อนข้อมูลต่างๆ
เมืองต้นทาง/เมืองปลายทาง, วันเดินทางไป/วันเดินทางกลับ, สกุลเงินที่ต้องการชำระผ่าน, จำนวนตั๋ว
5. เปรียบเทียบรายละเอียดของเที่ยวบินทั้งหมดและราคาตั๋วที่มีให้เลือก (หวังว่าคงจะจำทริคการเลือกเที่ยวบินเวลาไหนกันได้อยู่ใช้ไหมคะ)
6. เมื่อเลือกวันและไฟลท์ที่ต้องการได้แล้ว ให้กดเพื่อรับทราบเงื่อนไขต่างๆ ของสายการบินที่กำหนดไว้ และคลิกดำเนินการต่อ
7. มาถึงขั้นรายละเอียดผู้โดยสาร ให้กรอกรายละเอียดไปตามความเป็นจริงเลยค่ะ อ้อ! คนที่กรอกข้อมูลของคนติดต่อกับสายการบิน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้โดยสารก็ได้นะคะ อย่างเช่น กรอกให้ลูก เป็นต้น รายละเอียดที่ต้องกรอกหลักๆ ก็จะมีชื่อ-นามสกุล โทรศัพท์มือถือ อีเมล์ สัญชาติ วันเกิด เป็นต้น รวมทั้งเลือกบริการเสริมอื่นๆ ตามความต้องการ แล้วคลิกดำเนินการต่อ
8. ขั้นตอนการชำระเงิน
กรอกข้อมูลช่องทางการชำระเงิน เช่น บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เมื่อมีการตัดเงินผ่านบัตรเครดิตแล้ว ทางสายการบินจะแจ้งผล และส่งตั๋ว (Itinerary) มาให้ทางอีเมลของผู้ติดต่อ
เคล็ดไม่ลับ จองตั๋วเครื่องบินไร้อุปสรรค
1. การซื้อผ่านเว็บไซต์ ให้อ่านลายละเอียดให้ดีก่อนทุกครั้งก่อนคลิกยอมรับ หรือดำเนินการต่อ เพราะจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก
2. ชื่อและนามสกุลบนหน้าตั๋ว ต้องสะกดให้ตรงกับในหนังสือเดินทางเป๊ะๆ มิฉะนั้นสายการบินอาจปฏิเสธการเดินทางได้
3. ระวังกับดับบริการเสริมของทางสายการบิน Low Cost ที่จะมาชวนคุณละลายทรัพย์ตั้งแต่ยังไม่ออกต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าโหลดกระเป๋า หรือค่าประกันการเดินทาง สารพัดชวนเสียตังค์ บางครั้งราคาตั๋วโดยสารบวกกับบรรดา Options เสริมอาจไม่ต่างกับสายการบินแบบ Full Service เลยก็ได้
4. ตั๋วของสายการบิน Low Cost อาจจะไม่ใช่ของถูกเสมอไป ยิ่งถ้าช่วงใกล้ๆ เดินทาง ราคาอาจจะแพงกว่าสายการบินแบบ Full Service ก็ได้ แล้วยังต้องมาเสียเงินซื้อบริการเสริมอีกต่างหาก แนะนำให้จองล่วงหน้า อย่าจองกระชั้นชิดกับวันเดินทางจนเกินไป
5. จากข้อ 4 หากซื้อตั๋วไว้ล่วงหน้านานๆ ก่อนเดินทางสัก 2-3 วัน ให้ปัดฝุ่นนำมาตรวจสอบว่าทางสายการบินเลื่อนเวลาหรือยกเลิกเที่ยวบินของเราหรือเปล่า เพราะเคยมีกรณีที่สายการบินไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าทั้งทางอีเมลและข้อความเอสเอ็มเอส
6. สำหรับบางสายการบิน การซื้อตั๋วด้วยบัตรเครดิต ผู้โดยสารจะต้องเป็นเจ้าของบัตรด้วย ทำให้เราไม่สามารถซื้อตั๋วให้ผู้อื่นได้หากเจ้าของบัตรไม่ได้เดินทางไปด้วย และหากซื้อตั๋วโดยสารแบบกลุ่ม เจ้าของบัตรจะต้องเป็นหนึ่งในผู้โดยสารด้วย
เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ
สนาบินสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รองรับสายการบินจากต่างประเทศแทบทั้งหมด มีอาคารผู้โดยสาร (Terminal) อาคารเดียว สูง 4 ชั้น เคาน์เตอร์เช็กอินของทุกสายการบินทั้งในและต่างประเทศตั้งอยู่ที่ชั้น 4
เว็บไซต์ www.suvarnabhumiairport.com
Q&A
Q: หากตั๋วเครื่องบินระบุวัน – เวลาเดินทาง เป็นวันที่ 12 เมษายน เวลา 00.25 AM หมายความว่าต้องไปที่สนามบินตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 11 ใช่หรือไม่?
A: ใช่ค่ะ เนื่องจากเส้นเวลาแบ่งวันคือเวลาเที่ยงคืน หรือ 24.00 น. (บางครั้งอาจเขียนเป็น 00.00 น.) ดังนั้นเวลา 00.25 ก็คือ หลังเที่ยงคืนไป 25 นาที หากเวลาเครื่องออกคือวันที่ 12 เมษายน 00.25 AM ก็คือหลังเที่ยงคืนของวันที่ 11 เมษายน ทำให้เราต้องเดินทางไปสนามบินตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 11 เมษายนนั่นเองจ้า
จบไปอีกหนึ่งตอนกับขั้นตอนการจองตั๋วเครื่องบิน และเทคนิคต่างๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักเดินทางมือใหม่ สำหรับตอนถัดไปจะเป็นเนื้อหาอะไรอย่าลืมติดตามกันนะคะ
ความคิดเห็น