ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แฟนตาซีบุ๊คคริติก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

    ลำดับตอนที่ #28 : บทวิจารณ์ Zodiac Fate โดย Rafidel (ได้รับเหรียญทองแดง)

    • อัปเดตล่าสุด 26 มี.ค. 53


    Zodiac Fate โดย Rafidel
    ผู้วิจารณ์ : ผู้สร้าง



    ภาษาที่ใช้ : 14/25 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - บทพูด และบทบรรยาย
        ในที่นี้ บทพูด ยังมีความไม่สมดุลกับบทบรรยาย กล่าวคือ บทบรรยายจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า บทบรรยายของงานเขียนเรื่องนี้ไม่ยืดเยื้อ ผู้อ่านสามารถนึกภาพตามได้ ศัพท์ที่ใช้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ศัพท์ยาก ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจง่าย แต่ลักษณะของบทพูดยังธรรมดาเกินไป มีลักษณะง่าย ๆ ในส่วนนี้มีหลายวิธีที่ผู้เขียนสามารถทำได้ เทคนิคหนึ่งที่อยากขอแนะนำคือ (ขอย้ำว่ามันเป็นเทคนิค มิได้หมายความว่าต้องใช้ หลักการคือคิดบทพูดเป็นภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนเองเข้าใจ และสามารถแปลเป็นภาษาไทยแล้วไม่กำกวม ทว่าเทคนิคนี้ไม่เหมาะสำหรับนิยายที่ต้องการเน้นความเบาสมอง เนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้ จะมีส่วนขับเน้นในเรื่องของ มุกตลก น้อยลง) ลองคิดบทพูดตัวละครเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วจึงแปลเป็นไทยอีกทีหนึ่ง (เนื่องจากตัวละครไม่ใช่คนไทย ลักษณะการพูดหลายอย่างที่ปรากฏในภาษาไทยมักจะไม่ปรากฏในภาษาต่างประเทศ)
        นอกจากนี้อยากให้ผู้เขียนลองอ่านงานเขียนของตนเอง โดยปิดส่วนของบทพูด อ่านแต่เพียงบทบรรยาย จากนั้นจึงปิดบทบรรยาย และอ่านแต่เพียงบทพูด วิธีนี้จะทำให้เห็นความไม่สมดุลของบทพูดและบทบรรยายได้ดี

        - การแทรกการกระทำในบทพูด
        การแทรกการกระทำในบทพูดไม่ใช่ข้อเสีย การมีการแทรกการกระทำในบทพูดบ้างทำให้บทพูดไม่จำเจ แต่ข้อเสียคือมีมากเกินไป ควรดึงการกระทำออกมาจากบทพูด และนำไปไว้ในส่วนของบทบรรยายแทนบ้าง การกระทำที่ถูกแทรกบ่อย ๆ เช่น การหัวเราะ "ฮะฮะ เจ้าช่างเหมือน ฟอลเล่ ย่าของเจ้า..." อาจเปลี่ยนเป็น ชายหนุ่มหัวเราะ "เจ้าช่างเหมือนย่าของเจ้า ฟอลเล่" ฯลฯ

        - คำสะกดผิด
        มีคำสะกดผิดเยอะ มีทั้งสะกดผิดเพราะไม่รอบคอบ และไม่รู้ ขอแนะนำให้ผู้เขียนเปิดพจนานุกรมขณะเขียนนิยาย เพราะนอกจากจะได้คำศัพท์ที่สะกดถูกต้องแล้ว ผู้เขียนจะได้ตัวเลือกเกี่ยวกับการใช้คำด้วย นอกจากนี้ ขอแนะนำให้ผู้เขียนอ่านนิยายของตนเองซ้ำบ่อย ๆ เพื่อหาข้อผิดพลาด ผู้เขียนจะสามารถรู้ได้เอง -- หากอ่านซ้ำบ่อย ๆ -- ว่าจุดไหนที่ตนเองต้องการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม หรือให้ดีขึ้นไปอีก

        - เกี่ยวกับเครื่องหมายอัศเจรีย์ และปรัศนี
        การใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ควรใช้เฉพาะจุดที่ผู้เขียนต้องการเน้นอารมณ์จริง ๆ และใช้แค่หนึ่งครั้งก็เพียงพอ ไม่ต้องพิมพ์ติดต่อกันหลายครั้ง
        เกี่ยวกับเครื่องหมายคำถาม ถ้าบทพูดมีลักษณะเป็นคำถามอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องหมายคำถาม เช่น "ฝันร้ายเหรอคะ ท่านเอรอส" ไม่ต้องมีเครื่องหมายคำถาม

        - วรรณยุกต์
        ในที่นี้ จุดที่เห็นชัดคือ เรื่องของการใช้คำว่า "คะ" หรือ "ค่ะ" จุดนี้เป็นจุดที่คนไทยหลายคนสับสน คำว่า "คะ" จะใช้ท้ายประโยคที่มีลักษณะเป็นคำถาม ไม่ใช่ "ค่ะ"
       
        - เพิ่มเติม
            555 (หัวเราะ)
        555 ไม่ใช่คำ
            การเขียนภาษาอังกฤษปนไทย
        ไม่ควรเขียนอังกฤษปนไทย ถึงแม้ชื่อตัวละคร หรือชื่อเฉพาะต่าง ๆ จะไม่ใช่ภาษาไทย แต่ก็ควรเขียนเป็นภาษาไทย ในส่วนนี้ผู้อ่านอาจเลือกเขียนตามแบบการเขียนทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน หรือไม่ก็ได้ (แต่ถ้าผู้เขียนต้องการเขียนชื่อต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วยจริง ๆ ก็สามารถเขียนกำกับไว้ท้ายหรือก่อนเรื่องก็ได้)
            คำเอฟเฟคต์
        มีการใช้คำเอฟเฟคต์ในบางจุด คำเอฟเฟคต์ไม่ใช่ข้อเสีย แต่ควรใช้ในกรณีที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นตัวอักษรได้เลยจริง ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าว -- ถ้าจะว่าไปแล้ว -- มีน้อยมาก
            การใช้ จุด ( . )
        การเห็นจุด ( . ) บางครั้งทำให้ผู้อ่านบางท่านมีอารมณ์ติดขัด การเว้นบรรทัดโดยใช้จุด ทำให้ผู้อ่านบางท่าน อ่านแล้วไม่รู้สึกลื่นไหลเท่าที่ควร
            การจัดรูปแบบ
        การจัดรูปแบบหมายถึง การเว้นวรรคตอน ย่อหน้า หรือ การเว้นบรรทัด ในที่นี้ยังมีลักษณะการจัดรูปแบบไม่เหมือนหนังสือนิยาย (แต่อ่านง่ายบนหน้าเว็บ) แนะนำให้พิมพ์จากใน microsoft word ก่อน เนื่องจากการจัดรูปแบบเช่นนี้จะทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกเหมือนอ่านหนังสือนิยาย ในส่วนนี้อาจเป็นเอกลักษณ์ของการจัดรูปแบบของผู้เขียนเอง แต่รูปแบบเช่นนี้อาจมีปัญหากับทางสำนักพิมพ์ เนื่องจากมีการเว้นบรรทัดมากเกินไป (การจัดรูปแบบเช่นนี้ทำให้ผู้อ่าน อ่านผ่านหน้าเว็บได้ง่ายขึ้น แต่เหตุผลที่ยกเรื่องการจัดรูปแบบขึ้นมาเพราะอยากให้ผู้เขียนคำนึงถึงงานเขียนของท่านเมื่อปรากฏออกมาเป็นรูปเล่มแล้วด้วย)



    ความน่าสนใจ หรือความน่าติดตาม : 13/20 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)
       
        - ข้อมูลเบื้องต้น อารมณ์ของนิยาย
        งานเขียนนำเสนอแนวคิดของเทพจักรราศีทั้ง 12 ที่วางแผนสังหารพระเจ้า แต่ไม่สำเร็จ ข้อมูลเบื้องต้นของงานเขียนนี้มีความน่าสนใจ ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ แต่ความรู้สึก (อารมณ์) เหล่านั้นกลับหายไปหลังจากผู้อ่านอ่านไปได้เพียงสองถึงสามบท กลายเป็นอารมณ์รัก ๆ ใคร่ ๆ เสียมากกว่า
       
        - บทนำ
        บทนำกล่าวถึงบุตรีแห่งพระเจ้า ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตามหาเทพจักรราศีทั้ง 12 องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในบทนำ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี บทนำมีน้ำหนักชักจูงให้ผู้อ่านต้องการอ่านต่อไป ในระดับหนึ่ง
       
        - ความน่าติดตาม
        กล่าวโดยกว้าง ผู้อ่านที่ชื่นชอบงานเขียนนี้ อาจชอบเพราะแนวคิดที่ถูกนำเสนอ บทบาทของตัวละครแต่ละตัว หรือภาษาที่ใช้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ใคร่ธรรมดา แต่สำหรับนักอ่านที่อ่านนิยายแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ อาจไม่เห็นความน่าติดตามในงานเขียนเรื่องนี้สักเท่าไร แนวคิดที่ถูกนำเสนอค่อนข้างน่าสนใจ แต่นอกจากนั้นแล้ว ไม่มีจุดเด่นใด ๆ ที่ปรากฏเห็นได้ชัด (สำหรับนักอ่านนิยายแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ)



    ความมีมิติของตัวละคร ความมีลักษณะเฉพาะของตัวละครแต่ละตัว : 9/15 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - คาแรคเตอร์
        ตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะของตน และดำเนินบทบาทไปตามลักษณะเฉพาะนั้น ๆ โดยลำพังผู้อ่านสามารถแยกแยะตัวละครได้จากบทพูดของตัวละครแต่ละตัว

        - มิติ
        ตัวละครมีลักษณะเฉพาะ แต่ดำเนินบทบาทไปอย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนเท่าไร อยู่ในกรอบของลักษณะเฉพาะนั้น ส่วนนี้ทำให้ตัวละครแบนเหมือนตัวการ์ตูนทั่วไป (คือไม่มีความซับซ้อนลึกซึ้งมากมาย) ทว่าส่วนนี้ไม่ใช่จุดที่งานเขียนเบาสมองหลายเรื่องเน้นย้ำ เพราะการเน้นย้ำในจุดนี้จะทำให้นิยายมีเนื้อหาค่อนข้างจริงจัง



    ความสมจริงของฉาก ความเป็นเหตุเป็นผล ความน่าเชื่อถือ การตัดสินใจของตัวละคร ความเป็นมนุษย์ ฯลฯ  : 10/15 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - ฉาก
        ความสมจริงของฉาก จะเป็นเรื่องของ ความเป็นไปได้ทางภูมิประเทศ เมื่อพิจารณาถึงสภาพอากาศ ฯลฯ งานเขียนเรื่องนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับฉากมากพอที่จะกล่าวถึงความสมจริงของฉาก (คือมีฉากปรากฏที่ผู้อ่านสามารถนึกภาพตามได้ แต่ไม่ปรากฏองค์ประกอบที่จะนำมาพิจารณาเรื่องความสมจริงของฉาก)

        - การตัดสินใจของตัวละคร
        เหตุผลในการกระทำต่าง ๆ ของตัวละครค่อนข้างมีน้ำหนัก ผู้อ่านรู้ว่าตัวละครตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ไปเพราะอะไร มีเหตุผลรองรับในการกระทำของตัวละคร
       
        - ความไม่สมเหตุสมผล
        ไม่ปรากฏ ความไม่สมเหตุสมผล ที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากเรื่องของอุปนิสัยของตัวละครเมื่อพิจารณาจากปูมหลัง และปัจจัยอื่น ๆ ดังจะกล่าวต่อไป
       
        - ตัวละคร
        ตัวละครหลักแต่ละตัว มีชีวิตอยู่มานานมาก แต่กลับปรากฏลักษณะของความเป็นเด็กเสียส่วนใหญ่ และตัวละครไม่ค่อยมีความซับซ้อน ในส่วนนี้ทำให้ขาดความสมจริงไป เพราะถึงแม้ร่างกายจะแลดูเยาว์ หรือยืนยงคงกระพันอย่างไร ความคิดของคนเราก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถึงแม้ว่าตัวเราตั้งแต่อายุ 17 จนถึง อายุ 21 จะมีลักษณะทางกายภาพที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย แต่ความคิด หรือวุฒิภาวะ -- หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 4 ปี -- จะเปลี่ยนไป
       

    ความสามารถในการสื่ออารมณ์ถึงผู้อ่านผ่านตัวอักษร ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครได้แค่ไหน : 9/15 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - ความรู้สึกผ่านตัวอักษร
        ผู้อ่านสามารถรับรู้อารมณ์พื้นฐานของตัวละครได้ ทว่างานเขียนมิได้เน้นย้ำในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (การเน้นย้ำในจุดนี้จะทำให้งานเขียนมีลักษณะค่อนข้างจริงจัง เพราะฉะนั้นจุดนี้มักจะไม่ปรากฏในงานเขียนที่ต้องการเน้นย้ำความเบาสมอง หรือต้องการให้ผู้อ่านสนุกสนานไปกับเรื่องราวมากกว่า) ผู้อ่านไม่สามารถเข้าถึงตัวละครได้อย่างถ่องแท้ นอกจากนี้มีผลมาจากสถานะของตัวละครด้วย เนื่องจากตัวละครหลัก ๆ มิใช่คนธรรมดาสามัญ



    การค้นคว้าของผู้เขียน / ผู้อ่านได้ความรู้บางอย่างเพิ่มเติมในการอ่านนิยายเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ เพียงใด : 4/5 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - การค้นคว้า
        งานเขียนเรื่องนี้ปรากฏการค้นคว้าของผู้เขียนค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้ยังปรากฏความรู้เพิ่มเติมที่ผู้อ่านอาจได้รับอีกด้วย ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของแง่คิด หรือคุณค่าทางใจที่อาจได้รับ เพราะจุดนี้ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้อ่านแต่ละท่านเอง



    และ
    คะแนนพิเศษ (ขึ้นอยู่กับผู้วิจารณ์) : 3/5 คะแนน

        - แปลก
        เป็นงานเขียนที่แปลก ถ้าคนชอบก็จะชอบไปเลย



    รวม : 62/100 คะแนน
    เหรียญที่ได้รับ : เหรียญทองแดง

    กรุณาไปกรอกเอกสารเพื่อขอรับเหรียญรางวัลต่อไป

    หมายเหตุเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม : ลงรายละเอียดในจุดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคะแนน


    โพล81230

    หากว่าท่านผู้ใดมี ความเห็นที่แตกต่างไปจากนี้ -- ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ ภาษา ความน่าสนใจ ความสมจริง และส่วนอื่น ๆ ที่ประกฏในบทวิจารณ์ -- โปรดอย่าลังเลที่จะแสดงความคิดเห็น ความเห็นของท่านจะมีส่วนช่วยในการพัฒนางานวิจารณ์ต่อไป และที่สำคัญไปกว่านั้น ความเห็นของท่านจะมีส่วนช่วยในการพัฒนางานเขียนนี้ด้วย

    (แสดงความเห็นไว้ในหน้านี้เลยนะครับ อย่าไปโพสต์ที่หน้าหลักของบทความ)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×