คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #20 : -STEP 5: ลงจากเครื่อง- (ทักทายเล็กน้อย)
-STEP 5: ลงจากเครื่อง-
เมื่อเครื่องบินใกล้ถึงจุดหมาย สังเกตได้ว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องจะเปิดไฟสว่างปลุกผู้โดยสาร และแจกเอกสารตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าให้กรอกก่อนเครื่องลง (Landing) เป็นสัญญาณว่าเรามาถึงดินแดนในฝันของเราแล้ว เหลืออีกไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น!
ด่านตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า
ด่านแรกที่ต้องผ่านไม่ว่าจะไปถึงประเทศใดก็ตาม เพื่อแสดงเอกสารขออนุญาตเข้าประเทศปลายทาง สำหรับบางประเทศที่ต้องขอวีซ่าอาจจะเบาใจมากกว่าเพราะเราถูกตรวจสอบมาระดับหนึ่งในขั้นตอนวีซ่าแล้ว โอกาสถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศมีน้อยกว่ามาก แต่สำหรับประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่า ขั้นตอนนี้จะชี้ชะตาว่าเราจะได้ผ่านเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศนี้หรือไม่
เมื่อออกจากเครื่งบิน เข้าสู่ตัวอาคารผู้โดยสารแล้ว สถานที่แรกที่ต้องไปก็คือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า โดยมองหาป้าย Immigration หรือป้าย Arrival Hall เพราะด่านตรวจคนเข้าเมืองจะอยู่ที่โซนผู้โดยสารขาเข้านั่นเอง
เมื่อมาถึงด่านแล้ว ก็จะมีเคาน์เตอร์แยกตามประเภทผู้โดยสาร เช่น
Residence หรือ Citizen สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศที่สนามบินตั้งอยู่
Visitor หรือ foreign สำหรับผู้โดยสารต่างชาติ
เอกสารที่ต้องเตรียมพร้อมแล้วยื่นกับเจ้าหน้าที่ ได้แก่
1. หนังสือเดินทาง
2. ใบ ตม.ขาเข้า ที่กรอกครบถ้วนตั้งแต่อยู่บนเครื่อง
3. บอร์ดดิ้งพาส
4. ตั๋วเครื่องบิน
เตรียมเอกสารทั้งหมดยื่นกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง การผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองให้ทำตัวตามสบาย ไม่ต้องเกร็งหรือเครียด ส่วนใหญ่จะไม่ถูกเรียกสอบถามอะไร แต่หากโชคไม่ดี ถูกเรียกสอบถาม ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเกร็ง ให้เตรียมคำตอบภาษาอังกฤษเอาไว้บ้าง ตัวอย่างคำถามที่มักถูกถามที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เช่น
มาทำอะไร
มาอยู่นานกี่วัน
จะพักที่ไหน
พกเงินมาเท่าใด (ตอบให้สัมพันธ์กับ ‘มาอยู่นานกี่วัน’ เงินที่ใช้ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป)
มีญาติอยู่ที่ประเทศนี้หรือไม่
เป็นต้น
ตอบไปตามความเป็นจริง มีแผนที่ที่พักหรือเบอร์คนรู้จักที่นั่นอะไรก็ว่าไปค่ะ ไม่ควรพูดโกหกเพราะถ้าถูกจับได้นอกจากจะโดนส่งกลับประเทศไทยสมายแลนด์แล้ว อาจจะมีบัญชีหมาดำพ่วงติดตัวด้วยนะจ๊ะ
I DON’T KNOW
พึงระลึกไว้ด้วยว่าไม่ควรตอบ “I don’t know” เพราะอาจทำให้การเดินทางสะดุดลงหรือแม้แต่จบลงทันที ขอให้ทำใจสบายๆ ไม่ต้องเครียด ตอบคำถามอย่างมั่นใจ รับรองว่าผ่านฉะลุยแน่!
รับกระเป๋า
หลังออกจากด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็ถึงเวลาไปหยิบสัมภาระที่โหลดไว้ใต้เครื่อง ให้มองหาป้าย Baggage Claim หรือสายพานลำเลียงกระเป๋า ระหว่างทางจะเห็นหน้าจอที่ระบุหมายเลขสายพานของเที่ยวบิน ว่าต้องไปรอรับกระเป๋าที่สายพานลำเลียงกระเป๋าหมายเลขใด
ในกรณีที่เกิดความเสียหาย หรือกระเป๋าสูญหาย ให้ไปติดต่อที่เคาน์เตอร์ Lost Baggage หรือ Lost Luggage แต่ถ้าอยากไปหา EXO ให้ไปที่ Lost Planet ตึ่งโป๊ะ! ฮากริบ (ข้ามไปเถอะ) โดยเจ้า Lost Baggage หรือ Lost Luggage ที่ว่านี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ สายพานรับกระเป๋าไม่ไกลนัก อ้อ! แล้วก็อย่าลืมนำ Tag ติดกระเป๋าส่วนที่ได้รับมาตอนเช็กอินนู้น ไปแสดงเป็นหลักฐานด้วยนะคะ
ด่านศุลกากร
ด่านศุลกากร (Custom) คือจุดตรวจสอบสิ่งของที่นำเข้าไปในประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้าประเทศ เช่น ยาเสพติด วินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าปลอมแปลง ธนบัตรปลอม และสื่อลามก
โดยทั่วไปการนำสิ่งของเข้าไปในประเทศในปริมาณมากเกินกว่าการใช้ในชีวิจประจำวัน หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า จะต้องเสียภาษีอากรตามระเบียบศุลกากรของประเทศนั้นๆ รวมถึงสิ่งของบางชนิดที่มีระเบียบให้จำกัดการนำเข้าประเทศ เช่น บุหรี่ สุรา พืชและสัตว์ ผู้ทีมีสิ่งของเหล่านี้ติดตัวมาด้วยจะต้อง ทำการสำแดง หรือตรวจสอบเพื่อชำระภาษีอากรต่อไป
Nothing to Declare Goods to Declare
หากไม่มีสิ่งของต้องสำแดง ให้เดินเข้าช่องที่มีป้ายสีเขียวระบุว่า Nothing to Declare โดยทั่วไปจะไม่มีการสแกนกระเป๋า แต่บางครั้งก็อาจต้องสแกน แล้วแต่เข้าหน้าที่ศุลกากรจะกำหนด หากเจ้าหน้าที่พบวัตถุที่ต้องสงสัย ก็อาจขอให้เปิดกระเปป๋าให้ดูได้เช่นกัน
แต่หากรู้ตัวว่ามีของที่ต้องสำแดง เช่น บุหรี่มากกว่า 200 มาน มีเครื่องสำอางจำนวนมาก หรือมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชิ้น ให้เดินเข้าช่องที่มีป้ายสีแดงระบุว่า Goods to declare เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจสอบและชำระภาษีอากรตามระเบียบต่อไป
เข้าสู่อาคารผู้โดยสารขาเข้า (Arrival Hall)
เมื่อผ่านด่านศุลกากรได้แล้ว ก็นับว่า สิ้นสุดขั้นตอนในการเดินทาง เข้าสู่ประเทศปลายทางอย่างสมบูรณ์แบบแล้วค่ะ เย้! เข้ามาสู่บริเวณที่ผู้โดยสารจะเดินทางต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีรถบัส หรือที่จอดรถแท็กซี่เพื่อเดินทางจากสนามบินไปยังที่พักต่อไป
หลังจากเข้ามาสู่ประเทศปลายทางแล้ว ให้ ปรับนาฬิกาเป็นเวลาเวลาท้องถิ่น (Local Time) ซึ่งสำหรับประเทศเกาหลีใต้นั้น เวลาจะเร็วกว่าที่ประเทศไทย 2 ชั่วโมงค่ะ
กรณีที่ต้องต่อเครื่อง (Transit)
ในกรณีนี้เมื่อลงจากเครื่องแล้ว ไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินนั้นๆ แต่ให้มองหาป้าย Transit หรือ Transfer จะต้องยื่นเอกสารที่เคาน์เตอร์ ได้แก่
1. หนังสือเดินทาง
2. บอร์ดดิ้งพาส
ก่อนขึ้นเครื่องจะต้องสแกนกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องอีกครั้ง ส่วนกระเป๋าที่โหลดใต้เครื่อง จะไปรออยู่ที่สนามบินปลายทาง การต่อเครื่องไม่จำเป็นต้องกรอกใบตรวจคนเข้าเมืองของประเทศที่ตั้งสนามบิน เพราะไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองออกไป
หลังจากตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเข้าไปนั่งรอขึ้นเครื่องที่หน้า Gate ได้เลย
TIPS
ในกรณีที่ต้องรอเปลี่ยนเครื่องนานหลายชั่วโมง เช่น 5-6 ชั่วโมงขึ้นไป หากเป็นประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่า เราอาจออกไปเที่ยวนอกสนามบินได้โดยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองออกไป แต่ต้องแน่ใจว่าสามารถกลับมาขึ้นเครื่องทัน บางประเทศที่ต้องขอวีซ่า อาจมีจุดขอวีซ่าชั่วคราวที่สนามบินได้เลย เรียกว่า Visa on Arrival ถ้าอยากจะแวะเที่ยวระหว่างเปลี่ยนเครื่องจริงๆ ควรหาข้อมูลไว้ล่วงหน้า แต่ถ้าเหลือเวลาน้อยกว่านั้น แนะนำให้อยู่เดินเล่นในสนามบินดีกว่า เพื่อความปลอดภัย ไม่เหนื่อย
เย้! ในที่สุดก็เขียนจนจบได้ ความรู้สึกตอนนี้คือโล่งแล้ว เพราะได้ทำสิ่งที่ตัวเองตั้งใจไว้จนสำเร็จ หวังว่าทุกคนคงไม่ลืม STEP 1-5 ที่เราอุตสาห์นั่งพิมพ์กันใช่ไหมคะ สำหรับตอนต่อๆ ไป เราคงจะได้ไปท่องเกาหลีกันแล้วค่า... (ปรบมือ)
อ้อ! อัพเดทกันหน่อย ตอนนี้มีแฟนคลับเพิ่มขึ้นมาสามคนแล้ว ขอบคุณทุกคนที่ติดตามเรานะ (แลดูเป็นทางการ) ขอบคุณจริงๆ สำหรับกำลังใจในครั้งนี้ เราไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่หวังว่าอยากให้บทความนี้มีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการไปเที่ยวเกาหลีด้วยตัวเอง หรือหาความรู้ หรืออะไรก็ตาม เท่านั้นเองจริงๆ ขอบคุณอีกครั้งนะคะ
PLOYaa
(28/07/2557)
ความคิดเห็น