ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #173 : [นักดนตรีไทย] ครูมนตรี ตราโมท

    • อัปเดตล่าสุด 3 มิ.ย. 50



    ครูมนตรี ตราโมท


             เมื่อกล่าวถึง "ครูมนตรี ตราโมท" ก็จะมีน้อยคนมากในวงการดนตรีไทย ที่จะไม่รู้จักชื่อเสียงของท่าน ในฐานะที่เป็นครูเพลงที่ถือเป็นที่สุดของยุคคนหนึ่ง ท่านได้แต่งเพลงขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแต่ไพเราะเสนาะหู มีชื่อเสียงมาก ด้วยความอัจฉริยะของครู ท่านจึงได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย ชมรมดนตรีไทยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จึง อยากจะเสนอชีวประวัติและผลงานของท่านให้สู่สายตานักดนตรีไทยรุ่นหลังได้ชื่นชมกัน...


    นามเดิมว่า บุญธรรม ตราโมท เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๓ ปีชวด ที่บ้านท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อนายยิ้ม รับราชการตำรวจประจำเรือของของพลโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ และท่านประทานนามสกุลว่า “ตราโมท” มารดาชื่อนางทองอยู่
     
       
      • ครูมนตรีเริ่มเรียนปี่พาทย์กับครูบุญสม นักฆ้อง
      • ต่อมาเรียนระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ แคลริเนต และหลักการแต่งเพลงกับครูสมบุญ สมสุวรรณ
      • เรียนวิธีแต่งเพลงกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
      • เรียนฆ้องวงใหญ่เพิ่มเติมกับหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนวิลัย)
      • เรียนกลองแขกกับพระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์)
      • เรียนระนาดเอกเพิ่มเติมกับพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) และหลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)
      • เรียนระนาดทุ้มกับพระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
      • ได้รับการครอบประสิทธิ์ประสาทการเรียนเพลงองค์พระพิราพซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดกับครูทองดี ชูสัตย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗
      • เรียนวิชาโน้ตสากล ทั้งเทียวรี (ทฤษฎี) และฮาโมนี (การประสานเสียง) จากวิทยาลัยสากลดนตรีสถาน พระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยากร) เป็นครู
      • ได้รับครอบให้เป็นผู้ทำพิธีไหว้ครู จากหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔
      
    ครูมนตรีเข้ารับราชการที่กรมพิณพาทย์หลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นผู้บรรเลงระนาดทุ้มประจำวงข้าหลวงเดิม ต่อมาเมื่อมีการปรับเปลี่ยนระบบราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงย้ายไปสังกัดกรมศิลปากรจนเกษียณอายุ และยังคงปฏิบัติราชการในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยจนถึงแก่อนิจกรรม นอกจากนั้นยังได้สอนดนตรีและเป็นผู้บรรยายพิเศษแก่สถาบันต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และมหาวิทยาลัยศิลปากร
     
      • ท่านเป็นผู้มีฝีมือในการบรรเลงดนตรีได้หลายชนิด ที่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษคือระนาดทุ้ม
    เป็นผู้ตีขิมในวงหลวงเป็นคนแรก (พ.ศ.๒๔๖๗)
      • เป็นผู้บอกเพลงในการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นประธาน และสมัยหลังที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นประธาน
      • เป็นศิลปินคนแรกของกรมศิลปากรที่ได้ชั้นพิเศษ เมื่อ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔
      • พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการของสมาคมสตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่อให้ได้รับรางวัลพระราชทานโล่เกียรติยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะนักดนตรีไทยตัวอย่าง ซึ่งมีนักดนตรีไทยที่ได้รับพระราชทานโล่ครั้งนี้เพียง ๔ คน คือ ครูมนตรี ตราโมท ครูเฉลิม บัวทั่ง ครูบุญยง เกตุคง และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ
      • โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาดุริยางค์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔
      • ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๓
      • ได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔
      • ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๖
      • ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๘

    ครูมนตรี ตราโมท เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถในการแต่งเพลง ได้แต่งเพลงไทยที่มีความไพเราะและเป็นที่นิยมไว้เป็นจำนวนมาก ดังต่อไปนี้
     
      ๑. เพลงสามชั้น เช่น 
      • เพลงต้อยตริ่ง พ.ศ.๒๔๖๓ แต่งร่วมกับหมื่นประคมเพลงประสาน(ใจ นิตยผลิน)
      • เพลงเทพไสยาสน์ พ.ศ.๒๔๗๒
      • เพลงจระเข้หางยาว ทางสักวา พ.ศ.๒๔๗๔
      • เพลงเทพพนม พ.ศ.๒๔๗๕
      • เพลงเหาะ
      • เพลงขับนก
      • เพลงเขมรปี่แก้ว ทางสักวา
      เป็นต้น
       
      ๒. เพลงเถา
      • เพลงพม่าเห่ เถา พ.ศ.๒๔๖๖
      • เพลงกาเรียนทอง เถา พ.ศ.๒๔๖๙
      • เพลงขอมเงิน เถา พ.ศ.๒๔๗๐
      • เพลงแขกกุลิต เถา พ.ศ.๒๔๗๒
      • เพลงแขกต่อยหม้อ เถา พ.ศ.๒๔๗๒
      • เพลงโสมส่องแสง เถา พ.ศ.๒๔๗๔
      • เพลงขอมทรงเครื่อง เถา พ.ศ.๒๔๗๔
      • เพลงกล่อมนารี เถา พ.ศ.๒๔๗๔
      • เพลงแขกอะหวัง เถา พ.ศ.๒๔๗๔
      • เพลงอกทะเล เถา พ.ศ.๒๔๗๕
      • เพลงสมโภชพระนคร เถา พ.ศ.๒๕๒๕
      • เพลงเทพสมภพ เถา พ.ศ.๒๕๓๔
      • เพลงพม่าห้าท่อน ทางภาษาต่างๆ
      เป็นต้น
       
      ๓. เพลงสองชั้น และชั้นเดียว (แต่งเพิ่มเติมของเก่าให้เป็นเพลงเถา)
      • เพลงแขกมอญ ชั้นเดียว
      • เพลงใบ้คลั่ง ชั้นเดียว
      • เพลงจีนแส ชั้นเดียว
      • เพลงนางครวญ สองชั้นและชั้นเดียว
      • เพลงสุดสงวน ชั้นเดียว
      • เพลงสารถี ชั้นเดียว
      • เพลงแขกลพบุรี สองชั้นและชั้นเดียว
      • เพลงสาลิกาเขมร ชั้นเดียว
      เป็นต้น
       
      ๔. เพลงโหมโรง
      • โหมโรงขับไม้บัณเฑาะว์
      • โหมโรงเอื้องคำ
      • โหมโรงรัตนโกสินทร์
      • โหมโรงราโค
      • โหมโรงเทิด ส.ธ.
      • โหมโรงมหาฤกษ์
      • โหมโรงมหาราช
      เป็นต้น
       
      ๕. เพลงเดี่ยว
      • เดี่ยวจะเข้ เพลงจีนแส
      • เดี่ยวจะเข้ เพลงเรื่องตวงพระธาตุ
      • เดี่ยวจะเข้ เพลงแขกมอญ
      • เดี่ยวระนาดทุ้ม เพลงอาเฮีย
      • เดี่ยวฆ้องเล็ก เพลงเชิดนอก
      • เดี่ยวฆ้องเล็ก เพลงกราวใน
      • เดี่ยวขิม เพลงลาวแพน
       
      ๖. เพลงเบ็ดเตล็ด
      • เพลงเสมอพม่า
      • เพลงเชิดแขก
      • เพลงเสมอลาว
      • เพลงโลมมอญ
      • เพลงโอดจีน
      • เพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี
      เป็นต้น
       
      ๗. เพลงระบำ
      • ระบำเริงอรุณ
      • ระบำนพรัตน์
      • ระบำไกรลาศสำเริง
      • เพลงกฤดาภินิหาร
      • เพลงม่านมงคล ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ
      • เพลงชุมนุมเผ่าไทย (๕เผ่าไทยกลาง ไทยใหญ่ ไทยลานนา ไทยลานช้าง ไทยสิบสองจุไท ไทยอาหม)
      • เพลงระบำเทพบันเทิง
      • เพลงแม่ศรีทรงเครื่อง (ใหม่)
      • เพลงอัศวลีลา
      • เพลงมยุราภิรมย์
      • เพลงมฤคระเริง
      • เพลงพม่าไทยอธิษฐาน
      • เพลงลาวไทยปณิธาน
      • เพลงชุมนุมฉุยฉาย
      • ระบำดอกบัว
      • ระบำฉิ่ง
      • เพลงระบำชุดโบราณคดี (ประกอบไปด้วยระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำลพบุรี ระบำเชียงแสน ระบำสุโขทัย)
      • เพลงรำวงมาตรฐาน (๖ เพลง ทำเฉพาะทำนอง ได้แก่ งามแสงเดือน รำมาซิมารำ ชาวไทย คืนเดือนหงาย ดวงจันทร์วันเพ็ญ และดอกไม้ของชาติ)
      เป็นต้น
       
      ๘. เพลงดนตรีประวัติศาสตร์ (แต่งเป็นเพลงประเภทร้องสอดดนตรี)
      • เพลงไทยมุง
      • เพลงน่านเจ้า
      • เพลงสุวรรณภูมิ
      • เพลงละว้า
      • เพลงขอมสุวรรณ
      • เพลงไทยครอง
      • เพลงปันไทย
      • เพลงสิบสองจุไท
      • เพลงขุนบรม
      • เพลงพยายาม
      • เพลงพระทองใหม่
      • เพลงลานนา ๑
      • เพลงลานนา ๒
      • เพลงยามาดา
      • เพลงเสื้อญี่ปุ่น
      • เพลงฝั่งโขง
      เป็นต้น
       
      ๙. เพลงไทยสากล
      • เพลงวันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๙ ได้รับรางวัลที่ ๑ ของสโมสรคณะราษฎร
      • เพลงวันชาติ
      • เพลงตื่นเถิด
      • เพลงวันปีใหม่
      • เพลงดอกไม้
      • เพลงในน้ำมีปลาในนามีข้าว
      เป็นต้น
      
     และนอกจากผลงานการประพันธ์เพลงไทยแล้ว ท่านยังมีผลงานด้านวิชาการและผลงานด้านวรรณกรรมที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น
      
      • แต่งหนังสือดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาการ
      • ดุริยสาส์น
      • หนังสือโหมโรงดนตรีไทย
      • คำอธิบายเพลงในหนังสือโน้ตเพลงไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้กรมศิลปกรพิมพ์จำหน่าย
      • คำอธิบายศัพท์ต่างๆ ในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
      • แต่งเพลงพร้อมบทร้องหลักสูตรวิชาขับร้องเพลงไทย สำหรับนักเรียน เช่นเพลงหนีเสือ เพลงลาวสมเด็จ เพลงเต่ากินผักบุ้ง ฯลฯ
      • เรื่องดนตรีไทยในหนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย เล่ม ๑ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลอง ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์
      • บทละครเรื่องเศวตปักษี (The Phoenix ของสหประชาชาติ)
      • ลิลิตอิหร่านราชธรรม
      • เลือดสุพรรณ ทางสักวา
      • กาพย์ขับไม้ กล่อม พระเศวตรีสุรคชาธาร
      • บทร้องแก้วสดุดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งจารึกไว้ที่ฐานพระเจดีย์ยุทธหัตถี อนุสรณ์สถานดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
      • บทร้องเพลงไทยอีกหลายเพลง
      เป็นต้น
       
     ทางด้านชีวิตครอบครัว ครูมนตรี ตราโมทแต่งงานครั้งแรก (พ.ศ.๒๔๗๕) กับนางลิ้นจี่ (บุรานนท์) มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ ๒ คน คือ นายฤทธี ตราโมท และนายศิลปี ตราโมท ต่อมาเมื่อนางลิ้นจี่ถึงแก่กรรม (พ.ศ.๒๔๗๘) ท่านจึงได้แต่งงานครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๗๙) กับนางพูนทรัพย์ (นาฏประเสริฐ) มีบุตร ๒ คน คือ นางดนตรี ตราโมท และนายญาณี ตราโมท
      
    ครูมนตรี ตราโมท ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๘ ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลนนทเวช สิริรวมอายุ ๙๕ ปี ๑ เดือน ๑๙ วัน
     
    บรรณานุกรม
    ๑. ดุริยางศาสตร์ไทย ภาควิชาการ, มนตรี ตราโมท สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๐
    ๒. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน , ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒

    http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×