คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #18 : ศิลปวัฒนธรรมสมัยกรุงสุโขทัย
ศิลปวัฒนธรรมสมัยกรุงสุโขทัย
วัฒนธรรมสมัยกรุงสุโขทัย
สุโขทัยเป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ได้นานเกือบ 200 ปี สร้างแบบแผนการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกัน ตลอดจนได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมไว้มากมาย วัฒนธรรมสมัยกรุงสุโขทัยในที่นี้ได้แก่ วัฒนธรรมทางการศึกษา วัฒนธรรมทางด้านตัวอักษร วัฒนธรรมทางด้านวรรณกรรม วัฒนธรรมทางด้านการแต่งกาย วัฒนธรรมทางด้านดนตรีและการฟ้อนรำ วัฒนธรรมทางด้านประติมากรรมและจิตรกรรม และวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. วัฒนธรรมทางด้านการศึกษา ในสมัยโบราณความหมายของการศึกษา ซึ่งเป็นความหมายเดิมแท้นั้น กล่าวว่า “ การศึกษา คือ การสืบทอดและสร้างสรรค์วัฒนธรรม “
ในสมัยกรุงสุโขทัยการจัดรูปแบบทางการศึกษาในช่วงแรกจะได้รับอิทธิพลจากคติพราหมณ์เข้ามาต่อจากนั้นจึงรับคติธรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญของการจัดการศึกษาทั้งสิ้น การศึกษาในสุโขทัยน่าจะมีลักษณะต่าง ๆ หลายลักษณะดังนี้
1.1 การศึกษาทางพุทธศาสนาให้แก่คนฝักใฝ่ธรรม เป็นการศึกษาให้แก่ผู้ที่มีปัญญาและต้องการพัฒนาปัญญาและจิตใจ การที่ฝักใฝ่ธรรมมีความรู้แตกฉานนั้นต้องเรียนหนังสือ เรียนอักขระ ศึกษาอ่านเขียนพระธรรม คัมภีร์ต่าง ๆ โดยมีพระสงฆ์ทำหน้าที่ “ ครูบาอาจารย์ “ ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ปรากฎข้อความที่เกี่ยวกับการศึกษาทางพระพุทธศาสนาความว่า “ พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เยนจนจบปิฎกไตรหลวักกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา “
1.2 การศึกษาในวิชาชีพ เป็นการเรียนตามกฎธรรมชาติ เรียนจากพ่อแม่ เรียนจากชุมชนที่ตัวอยู่ใกล้ เรียนจากการกระทำ การฝึกฝนศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ การทำไร่ไถ่นา การปั้นเครื่องปั้นดินเผา งานทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรมหรือสถาปัตยกรรม เป็นต้น
2. วัฒนธรรมทางด้านตัวอักษรไทย ศิลาจารึกหลักที่ 1 ปรากฎข้อความที่เกี่ยวข้องอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งว่า “
1205ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในแลใส่ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผุ้นั่นใส่ไว้
” จากศิลาจารึกดังกล่าวจึงเป็นที่เชื่อกันว่าอักษรไทยพ่อขุนรามคำแหงซึ่งลงศิลาจารึกปี พ.ศ. 1826 นี้เป็นอักษรำทยเก่าแก่ที่สุดที่ใช้ในประเทศไทยสำหรับความเป็นมาของอักษรพ่อขุนรามคำแหงนั้นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักอักษรศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะ ยอร์ช เซเดส์ สรุปว่าอักษรพ่อขุนรามคำแหงดัดแปลงมาจากอักษรขอมหวัด เพราะมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จากการศึกษาของ นันทนา ด่านวัฒน์ ทางด้านอักขรวิทยาพบว่าอักษรต้นตระกูลของอักษรพ่อขุนรามคำแหง คืออักษรหราหมี อักษรคฤนห์ อักษรขอมหวัด เพราะปรากฎความคล้ายคลึงทางด้านอักขรวิทยาของอักษรพ่อขุนรามคำแหงและอักษรในตระกูลทั้งสาม อักษรพ่อขุนรามคำแหงนั้นปรากฎใช้เฉพาะในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น ต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยได้ปรากฎรูปอักษรไทยแบบใหม่ขึ้นอักษรพบใหม่นี้เรียกว่าอักษรพระเจ้าลิไทย
3. วัฒนธรรมทางด้านวรรณกรรม วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยคงจะมีจำนวนมากและหลายประเภท หากแต่มิได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมทางวรรณกรรมที่คนไทยทุกคนในสมัยนี้รู้จัก คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดไว้เป็นอันดับแรกของวรรณกรรม ศิลาจารึก วรรณกรรมสมัยสุโขทัยที่รู้จักรองลงมาได้แก่ ไตรภูมิพระร่วง และสุภาษิตพระร่วง ส่วนใหญ่วรรณกรรมสมัยสุโขทัยจะมีลักษณะสุดดีวีรกรรมและเกี่ยวกับศาสนาหรือปรัชญา ขอแยกกล่าวถึงวรรณกรรมสุโขทัย ดังนี้
3.1 ศิลาจารึก ศิลาจารึกมีประโยชน์ทางการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีตลอดจนวิชาอักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอื่น ๆ ศิลาจารึกที่พบในสมัยสุโขทัยมีประมาณ 30 หลัก ที่สำคัญมากได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งรวมคุณค่าทางภาษา ทั้งความรู้ด้านกฎหมาย ความรู้ทางการปกครอง ความรู้ทางด้านวัฒนธรรม ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม นับว่าวรรณกรรมประเภทนี้เป็นหลักฐานยืนยันเรื่องราวทางวัฒนธรรมสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดี
3.2 ไตรภูมิพระร่วง ถือเป็นวรรณกรรมปรัชญาชิ้นแรกของไทย พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 1888 นับเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทางปรัชญา คุณค่าทางวรรณคดีโดยเฉพาะการสอนจริยธรรมคือ สอนให้คนรู้จักความดีความชั่ว รู้จักใช้วิจารณญาณและสอนให้คนมีศีลธรรมรักษาความดีและมีความรับผิดชอบ
3.3 สุภาษิตพระร่วง วรรณกรรมชิ้นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยหรือไม่อย่างไรก็ตามสุภาษิตพระร่วงนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งวรรณกรรมหนึ่ง เพราะมีจุดประสงค์ที่จะสั่งสอนคน สาระการสอนนั่นมีทั้งวิชาความรู้ เรื่องมิตรและการผูกมิตร การปฏิบัติตนต่อบุคคลประเภทต่าง ๆ สอนให้รู้จักรักษาตัวให้พ้นภัย สอนให้รอบคอบ เป็นต้น เช่น “ เมื่อน้อยให้เรียนวิชาให้หาสินเมื่อใหญ่ “ หรือ” ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง “ ดังนั้นสุภาษิตพระร่วงจึงมีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยเป็นอันมาก ทั้งยังมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่เพราะได้นำเอาสุภาษิตมาใช้เป็นคติธรรมในการดำรงชีวิตอีกด้วย
3.4 ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บางคนเชื่อว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่งในสมัยสุโขทัยเพราะมีเนื่อเรื่องและท้องเรื่องอ้างถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่เมืองสุโขทัยตอนหนึ่ง อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชจรรยาของสมเด็จพระร่วงเจ้า แต่บางคนก็เชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จุดประสงค์การแต่งเพื่อเป็นการแนะนำตักเตือนข้าราชการสำนักฝ่ายใสห้มีกริยามารยาทที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของตนเองและเพื่อเชิดชูเกียรติยศของพระมหากษัตริย์นอกจากนี้ยังทรงคุณค่าทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสำนักโดยเฉพาะประเพณีพราหมณ์ทั้ง 12 เดือน
วรรณกรรมสมัยสุโขทัยนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยสุโขทัยและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้มาก นับว่าสุโขทัยเป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมทางด้านวรรณกรรมที่สำคัญของประเทศ
4.วัฒนธรรมการแต่งกาย นายชิน อยู่ดี ได้ทำการศึกษาค้นคว้าการแต่งกายของประชาชนชาวสุโขทัยโดยอาศัยหลักฐานประเภทโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย จากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากการเปรียบเทียบกับเครื่องแต่งกายละคร และจากการเปรียบเทียบกับเครื่องแต่งกายของคนไทยเผ่าต่าง ๆ ได้สรุปการแต่งกายสมัยสุโขทัยว่า
4.1 การแต่งกายของผู้หญิง ผู้หญิงในสมัยสุโขทัยจะไว้ผมยาว เกล้ามวย มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวมรอบมวย มวยนั้นมีทั้งเกล้าอยู่กลางกระหม่อมและที่ท้ายทอย มีปิ่นปัก สวมเสื้อแขนยาวตัวคับ นุ่งผ้าถุง ผู้หญิงบางคนห่มผ้าสไบเฉียง ผ้าที่ใช้มีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม สีของผ้ามีสี แดง ดำ ขาว เหลือง เขียว ผัดหน้า วาดคิ้ว สวมแหวน เจ้านายฝ่ายในมีกรองคอ พาหุรัด และทองพระกรทรงมงกุฎยอดแหลมหรือกรอบพักตร์
4.2 การแต่งกายของผู้ชาย ผู้ชายสมัยกรุงสุโขทัยไว้ผมยาว มุ่นมวยไว้ที่กลางกระหม่อมก็มี ไว้ที่ท้ายทอยก็มี สวมเสื้อผ้าผ่าอกแขนยาว และสวมกางเกงขายาวแบบชุดคนเมือง ทหารสวมเสื้อแขนสั้น ถ้าพระยาห้อยผ้าไว้ที่บ่า มีผ้าคาดพุงหรือเข็มขัด ชายบางคนนุ่งกางเกงขาสั้น เจ้านายนุ่งผ้าโจงกระเบนคาดเข็มขัด และมีผ้าประดับทับโจงกระเบนห้อยลงมา 2 ข้าง ผ้านี้จีบตามแนวเส้นนอน เวลาออกศึกนุ่งกางเกงขายาว มีผ้าโจงกระเบนทับอย่างเครื่องแต่งการละคร หมวกที่ผู้ชายใส่มีมงกุฎยอดแหลม หมวกทรงประพาสและหมวกรูปคล้ายฝาชี ซึ่งบางท่านเรียกว่าหมวกชีโบ
5.วัฒนธรรมทางด้านดนตรีและการฟ้อนรำ นายมนตรี ตราโมท ได้ศึกษาเรื่องดนตรีสมัยสุโขทัย โดยอาศัยหลักฐานประเภทศิลาจารึกและภาพประติมากรรม รวมทั้งหนังสือไตรภูมิพระร่วง โดยเฉพาะศิลาจารึกหลักต่าง ๆ ได้ระบุข้อความที่เกี่ยวกับดนตรีและการฟ้อนรำไว้หลายแห่ง เช่น
ศิลาจารึกหลักที่ 1 ปรากฎข้อความว่า “
เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลานดมบงคมกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพินเสียงเลื่อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น ใครจักมักหัว ใครจักมักเลื่อนเลื่อน
”
ศิลาจารึกหลักที่ 8 ปรากฎข้อความว่า “
ดับหนทางแต่เมืองสุโขทัยมาเถิงเขานี้งามหนักหนาแก่กม สองขอก หนทางย่อมกัลปพฤษ์ใส่ร่มยล ดอกไม้ตามใต้เทียนประทีป เผาธูปหอมตลบทุกแห่งปลูกธงปฎาทั้งสองปลาก หนทางย่อมเรียงขันหมากขันพลูบูชาพิลม ระบำเต้นเล่นทุกฉัน
ด้วยเสียงอันสาธุการบูชา หยิบดุริยาพาทย์ พิณฆ้องกลองเสียงดัง สิพอดังดินจักหล่มอันไซร้
”
จากศิลาจาริกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการนำเครื่องดนตรีและการฟ้อนรำ การเล่นสนุกสนานของชาวสุโขทัย นายมนตรี ตราโมท ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมทางด้านดนตรีของสุโขทัย โดยแยกพิจารณา 2 ประการคือ
5.1 เครื่องดนตรี ประกอบด้วยเครื่องดนตรีต่าง ๆ ดังนี้ คือ สังข์ แตร บัณเฑาะว์ มโหระทึก ปี่ฉไนแก้ว ปี่สรไน กลองชนะ ฆ้อง กลอง ตะโพน ฉิ่ง กลับ ระฆัง กังสดาล ซอ
5.2 เพลงร้องและเพลงดนตรี ในสมัยสุโขทัยมีทั้งการร้องและการขับ แต่ทำนองร้องและทำนองขับจะเป็นอย่างไรยากที่จะชี้ให้ชัดเจนได้ มีเพลงที่น่าจะเป็นเพลงสมัยสุโขทัย คือ เพลงเทพทองหรือเพลงสุโขทัย ทำนองเพลงนี้เดิมที่เดียวเป็นเพลงพื้นเมืองใช้ร้องว่าแก้กันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ส่วนอีก 2 เพลงน่าจะเป็นสมัยสุโขทัย คือเพลงพระทองกับเพลงนางนาค
6. วัฒนธรรมทางด้านประติมากรรมและจิตรกรรม วัฒนธรรมทางด้านประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นงานประณีตศิลป์ ซึ่งแสดงถึงความสมารถและความเข้าถึงแก่นของคำสั่งสอนของพุทธศาสนาของช่างศิลป์
6.1 ประติมากรรม ประติมากรรมในสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่ ได้แก่การสร้างพระพุทธรูป ซึ่งนิยมสร้างพระพุทธรูปปั้นและหล่อด้วยสัมฤทธิ์ การสร้างพระพุทธรูปเป็นแบบลอยตัวและภาพนูนสูงติดฝาผนัง นอกจากนั้นพระพุทธรูปแล้วยังมีการหล่อเทวรูปสัมฤทธิ์ เช่นเทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระหริหระ เป็นต้น
งานประติมากรรมที่เด่นที่สุดในสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่ คือ พระพุทธรูปจะเห็นได้ว่าพระพุทธรูปที่สวยงามในศิลปะแบบสุโขทัยเป็นรูปที่ตรัสรู้แล้ว ดังนั้น ระบบกล้ามเนื้อต่าง ๆ จึงมีการผ่อนคลายและพระองค์ก็จะอยู่ในความสงบแท้จริง พระพักตร์สงบมีรอยยิ้มเล็กน้อย
6.2 จิตรกรรม จิตรกรรมที่เราพบในสมัยสุโขทัยทั้งภาพลายเส้นและลายเขียนฝุ่น ภาพลายเส้นในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะภาพจำหลักลายเส้นลงเส้นในแผ่นหินชนวนวัดศรีชุม เมืองสุโขทัยเป็นภาพชาดกจะเห็นได้ว่าเส้นลายดังกล่าวเป็นภาพที่อิทธิพลของศิลปะศรีลังกาอยู่มากมาย เช่นภาพเทวดาต่าง ๆ ใบหน้าเทวดาก็ดี คอมีรอยหยัก มงกุฎทรง เครื่องแต่งกายเป็นแบบลังกาทั้งสิ้น แต่คนไทยสมัยสุโขทัยน่าจะมีส่วนร่วมในการสลักภาพเหล่านี้ด้วย ภาพสลักที่วัดศรีชุมเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาเป็นชาดกต่าง ๆ ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นเป็นวิวัฒนาการหนึ่งที่ไกลออกจากภาพลายสลักเส้น สีที่ใช้ในโครงงานระบายสีแบบดำ แดง ที่เรียกว่าสีเอกรงค์ แต่มีน้ำหนักอ่อนแก่เล่นจังหวะอย่างสวยงาม นับเป็นการก้าวหน้าทางหนึ่งในด้านประติมากรรมที่จิตรกรแสดงออก เช่น พระพุทธรูปได้หลุดกออกจากอิทธิพลของลังกา แม้ภาพวาดเทวดายังคงมีอิทธิพลของศิลปะลังกาเหลืออยู่ซึ่งภาพเขียนที่สำคัญ คือภาพเขียนที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวเมืองศรีสัชนาลัย
7.วัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยนับว่าเป็นความคิดที่แปลกไม่เหมือนศิลปะอื่น ๆ สถาปัตยกรรมสุโขทัยได้รับอิทธิพลโดยรอบ และได้นำมาดัดแปลงตามความพอใจจนเกิดเป็นแบบของตัวเองทั้ง ๆ ที่อาณาจักรสุโขทัยก็รับนับถือพุทธศาสนาจากลังกา แต่สถาปัตยกรรมแบบมอญและแบบขอมก็ไม่ได้มีอิทธิพลเหนือสุโขทัยเลยสถาปัตยกรรมสุโขทัยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้
7.1 สถาปัตยกรรมรูปทรงอาคาร สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ คือ
7.1.1 สถาปัตยกรรมรูปทรงอาคาร ได้แก่ อาคารโอ่โถงหรืออาคารที่มีผนัง มีหลังคาซ้อนเป็นชั้น ๆ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางด้านหน้าต่อเป็นมุขที่ยืน มีบันไดขึ้นสองข้างทางมุข ตัวอย่าง เช่น วิหารที่วัดสวนแก้วอุทยานน้อย เมืองศรีสัชนาลัย เป็นต้น
7.1.2 อาคารที่ก่อด้วยแลงหรือรูปทรงอาคาร หลังคาใช้เรียงด้วยแลงซ้อนเหลี่ยมกันขึ้นไปจนถึงชั้นสูงสุดที่ไปบรรจบกันที่ตอนอกไก่ ตัวอย่างเช่น วิหารวัดกุฏิราย เมืองศรีสัชนาลัย เป็นต้น
7.1.3 อาคารที่เป็นอาคารสี่เหลี่ยม มีหลังคาที่เป็นชั้นแหลมลดหลั่นกันไปถึงยอด หลังคาเป็นชั้นประมาณ 3 ชั้น ที่เรียกว่า “ มณฑป “ มณฑปนี้จะเป็นแบบมณฑปที่มีผนังและมณฑปโถง ตัวอย่างเช่น มณฑปวัดศรีชุม เมืองสุโขทัย (มณฑปที่มีผนัง ) และหอเทวลัยมหาเกษตรพิมาน เมืองสุโขทัย ( มณฑปโถง )
7.2 สถาปัตยกรรมรูปแบบสถูปหรือเจดีย์ มีทั้งทรงกลมแบบลังกา เจดีย์ทรงกลมฐานสูง เจดีย์ย่อเหลี่ยมแบบมีซุ้มจระนำ เจดีย์แบบห้ายอด เจดีย์ทรงปรางค์ ยอดเป็นเจดีย์ทรงกลมสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย และเจดีย์ทรงดอกบัวตูม จากลักษณะสถาปัตยกรรมเจดีย์ต่าง ๆ เหล่านี้จะเห็นได้ว่าลักษณะเจดีย์ที่สำคัญที่พบมากมี 2 แบบ คือ
7.2.1 เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา เป็นแบบที่สร้างสมัยแรก เช่นที่วัดตะกวน วัดช้างล้อม วัดสระศรี เมืองสุโขทัย
7.2.2 เจดีย์ทรงดอกบัวตูม สามารถแยกได้เป็น 4 แบบย่อย ๆ คือ
7.2.2.1 เจดีย์ดอกบัวตูมแบบวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นแบบเจดีย์ทรงดอกบัวแบบสุโขทัยแท้ ๆ ตั้งอยู่บนฐานเขียง ฐานบัวลูกแก้ว เหนือฐานบัวลูกแก้วเป็นแท่นแว่นฟ้าย่อเหลี่ยม แท่นแว่นฟ้ารับเรือนธาตุ ต่อจากเรือนธาตุเป็นยอที่เป็นดอกบัวตูม ซึ่งเราจัดเป็นเจดีย์ที่สร้างโดยทั่ว ๆ ไป
7.2.2.2 เจดีย์ทรงดอกบัวตูมแบบวัดซ่อนข้าว เมืองสุโขทัย เป็นแบบฐานแว่นฟ้าบัวลูกแก้วสองชั้นตั้งรับเรือนธาตุ
7.2.2.3 เจดีย์ทรงดอกบัวตูมวัดอ้อมรอบ นอกเมืองสุโขทัยด้านทิศเหนือปรกอบด้วยฐานเขียงบัว ฐานเขียง ฐานย่อเหลี่ยมรับเรือนธาตุ ตอนชั้นเรือนธาตุรับยอดบัวมีซุ้ม
7.2.2.4 เจดีย์ทรงดอกบัวตูมแบบวัดสะพานหิน เมืองสุโขทัย และเจดีย์วัดยอดทองเมืองพิษณุโลก ประกอบด้วยฐานเขียงห้าชั้นตั้งรับฐานลูกบัวแก้ว ไม่ย่อมุมรับเรือนธาตุ ที่เรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่ด้าน
กล่าวได้ว่าสมัยสุโขทัยเป็นสมัยเริ่มแรกของวัฒนธรรมไทยแทบทุกด้าน วัฒนธรรมสมัยสุโขทัยได้เป็นแบบอย่างของวัฒนธรรมไทยสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นสทั้ยสุโขทัยจึงจัดว่าเป็นสมัยทองแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่สำคัญสมัยหนี่งของไทย
ศิลปสมัยกรุงสุโขทัย
ศิลปสมัยสุโขทัย จัดเป็นศิลปที่มีรูปแบบงดงามที่สุด และมีลักษณะเป็นรูปแบบของตนเองที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีศิลปอื่น ๆ เช่น อิทธิพลจากศิลปลังกา อิทธิพลจากศิลปสมัยศรีวิชัยเข้ามาปะปนบ้างในรูปแบบของสถาปัตยกรรม แต่ก็มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้น จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่หลงเหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็นเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย หรือบริเวณใกล้เคียง นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัยได้เป็นอย่างดี
ศิลปวัตถุโบราณสมัยสุโขทัย นอกจากจะมีแหล่งอยู่ที่สุโขทัย และศรีสัชนาลัยและมีเมืองอื่น ๆ ที่มีศิลปสุโขทัยแพร่หลายอยู่ด้วยอีกหลายเมือง เช่น เมืองกำแพงเพชร เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร ตลอดจนถึงเมืองตาก เป็นต้น
ศิลปกรรมสมัยสุโขทัย มีประเภทของศิลปกรรม คือ
1. จิตรกรรม
ภาพสลักลายเส้นบนหินชนวนในอุโมงค์วัดศรีชุมประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ลักษณะภาพเป็นภาพสลักลายเส้นบนหินชนวน ประดับอยู่ที่เพดานบริเวณวัดศรีชุมเรื่องราวของภาพเป็นเรื่องชาดกต่าง ๆ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปลังกา สมัยโปลนารุวะ (พระพุทธศตวรรษที่ 17-18) ซึ่งจัดเป็นยุคทองของศิลปลังกา
จิตรกรรมฝาผนังในพระเจดีย์ วัดเจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ลักษณะภาพเขียนสีเอกรงค์ เขียนเป้นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปางสมาธิ มีเทวดาประกอบ (ลักษณะเทวดาเป็นแบบอิทธิพลของศิลปลังกา) ส่วนลักษณะพระพุทธรูปแบบประติมากรรมของสุโขทัย โดยมีเส้นรอบนอกอ่อนช้อย งดงาม สีที่ใช้มีขาว สีแดง และสีดำ
ภาพสลักลายเส้นบนพระพุทธบาทโลหะ (สำริด) ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (จากวัดเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร) ลักษณะภาพสลักลายเส้นบนพระพุทธบาทโลหะ มีรูปอดีตพระพุทธเจ้ากำลังลีลาอยู่บนของรอยพระพุทธบาท ที่เบื้องล่างด้ายซ้ายของรอยพระพุทธบาท มีภาพโลกบาลยืนถือพระขรรค์อยู่ 3 รูป
2. ประติมากรรม
ประติมากรรมในสมัยสุโขทัย นิยมสร้างพระพุทธรูปมาก ลักษณะของประติมากรรมส่วนใหญ่จะเป็นช่างฝีมือทางปั้นมากกว่าการแกะสลัก และจัดเป็นช่างฝีมือระดับสูง จะเห็นได้จากการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งสร้างตามพุทธลักษณะ มีความงามแบบอุดมคติ โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางลีลา นอกจากนั้นยังสามารถสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น นั่ง เดิน นอน (เรียกว่าพระสี่อิริยาบถ) ได้อย่างงดงามอีกด้วย พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้คือ
ก. หมวดใหญ่ซึ่งมีอยู่ทั่วไปเป็นศิลปสุโขทัยโดยเฉพาะ คือพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง เป็นต้น
ข. หมวดกำแพงเพชร พบแต่ในท้องที่เมืองกำแพงเพชร คือพระพุทธรูปมีพระนลาฎกว้าง พระหนุเสี้ยม
ค. พระพุทธชินราช ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระวรกายค่อนข้างอ้วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน เช่น พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
ง. หมวดวัดตะกวน หรือหมวดเบ็ดเตล็ด เป็นหมวดที่มีลักษณะแบบเชียงแสนเข้ามาผสมอยู่มาก เช่นวัดพระพราย เป็นต้น
3 .สถาปัตยกรรม
ก. พระปรางค์ได้รับอิทธิพลจากลพบุรี แต่มีลักษณะพิเศษเป็นของตัวเอง โดยแก้รูปทรงให้ชลูดพระปรางค์ที่สำคัญ เช่น พระปรางค์วัดศรีสวาย พระปรางค์วัดพระพรายหลวง พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น
ข. พระเจดีย์ พระเจดีย์สมัยสุโขทัย มีแบบใหญ่ 3 แบบ คือ
1. พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือเจดีย์ดอกบัวตูม ลักษณะมียอดตั้งอยู่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ สูงสง่างาม เช่นเจดีย์วัดมหาธาตุ เป็นต้น
2. เจดีย์ทรงลังกา เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากลังกา เช่นเจดีย์ช้างล้อม ที่ศรีสัชนาลัย เจดีย์ยอดเข้าสุวรรณคิรี เป็นต้น ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมหรือระฆัง
3. เจดีย์แบบศรีวิชัย เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากศรีวิชัย ลักษณะเป็นเจดีย์หลายยอดประกอบด้วยฐานสูงสี่เหลี่ยม มีเรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านข้างทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ
4. เครื่องสังคโลก เครื่องเคลือบดินเผา ในสมัยสุโขทัยทำเป็นถ้วย ชาม ไห และภาชนะต่าง ๆ มีรูปทรงหลาย ๆ แบบ เคลือบด้วยน้ำยาเคลือบสีขาว สีน้ำตาล สีเขียวไข่กา และทำเป็นเครื่องประเภทประติมากรรมรูปแบบต่าง ๆ ใช้ประดับตกแต่ง เช่น ทำเป็นสิงค์ นาค เป็นต้น
ความคิดเห็น