ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความรู้เกี่ยวกับเพศทางเลือก

    ลำดับตอนที่ #64 : เมื่อการสำรวจสถานภาพมานุษยวิทยาไทย ไม่พูดเรื่องเพศ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 79
      0
      4 ก.ค. 56

    วงการมานุษยวิทยาไทย ไม่เคยมีการตั้งคำถามว่าเควียร์จะช่วยเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงานทางมานุษยวิทยาหรือไม่ หรือประเด็นเรื่องเพศวิถีจะได้รับการส่งเสริมให้มีการทำวิจัยมากขึ้นหรือไม่ มานุษยวิทยาไทยยังคงสนใจประเด็นใหญ่ เช่น ปัญหาชาติพันธุ์ วัฒนธรรมข้ามพรมแดน คนพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ แรงงานอพยพ ระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ หากย้อนไปใน พ.ศ. 2530 จะพบว่าวงการมานุษยวิทยาไทยมีการทบทวนสถานภาพและทิศทางของตัวเอง ในช่วงนั้น นักมานุษยวิทยาชั้นแนวหน้าของไทยสองท่านคือ สุเทพ สุนทรเภสัชและอคิน รพีพัฒน์ ได้มาเป็นผู้กล่าวปาฐกถา สิ่งที่สุเทพเป็นห่วงไม่ใช่เรื่องกระบวนทัศน์ในการศึกษา แต่เป็นห่วงว่าวิชามานุษยวิทยากำลังถูกตัดทอนออกจากศาสตร์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้โบราณคดี หรือวิทยาศาสตร์กายภาพ ทำให้มานุษยวิทยากลายเป็นวิชาเฉพาะที่ไม่สามารถทำความเข้าใจมนุษย์ได้อย่างรอบด้าน สุเทพจึงอยากเห็นบูรณาการของศาสตร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการศึกษาสังคมมนุษย์ ความเชื่อในทำนองนี้คือสิ่งตกทอดมายาวนานว่ามานุษยวิทยาคือศาสตร์ที่สามารถอธิบายมนุษย์ได้ดีกว่าศาสตร์อื่น ๆ

    ส่วนอคินได้พูดถึงการทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่นักมานุษยวิทยาต้องไปพบและพูดคุยกับชาวบ้าน ต้องทำให้ชาวบ้านมองเห็นชีวิตของตัวเอง และเกิดการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรา เพื่อทำให้เขาหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้น อคินค่อนข้างเชื่อว่าสิ่งที่ชาวบ้านคิดและทำคือข้อมูลที่นักมานุษยวิทยาจะนำไปศึกษา ในขณะที่นักมานุษยวิทยาเป็นเพียงผู้ที่นำแนวคิดทฤษฎีไปวิเคราะห์ชาวบ้าน ความเชื่อในลักษณะนี้ ทำให้อคินเป็นภาพตัวแทนของนักมานุษยวิทยาที่ศรัทธาต่อคนรากหญ้า โดยมองชาวบ้านเป็นด้านตรงข้ามกับแนวคิดทฤษฎี อาจกล่าวได้ว่าทั้งสุเทพและอคินมีฐานคิดแบบจารีตประเพณีที่มองว่ามานุษยวิทยาสามารถสร้างความรู้ที่สะท้อน “ความจริง” เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ได้อย่างเป็นกลาง แต่ปราศจากการตั้งคำถามว่าอะไรที่ขับเคลื่อนระเบียบวิธีวิจัยที่นักมานุษยวิทยานำไปใช้กับชาวบ้าน การทบทวนสถานภาพมานุษยวิทยาไทยใน พ.ศ. 2530 จึงเป็นเพียงการตอกย้ำว่ามานุษยวิทยาจะต้องนำความจริงเกี่ยวกับชาวบ้านออกมาให้คนอื่นรับรู้ และจะต้องมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านพัฒนาตัวเองและมีชีวิตที่ดีขึ้น

    ใน พ.ศ. 2530 อานันท์ กาญจนพันธุ์ เขียนบทความเรื่องสถานภาพและแนวการศึกษาของมานุษยวิทยาไทย (2490-2529) โดยชี้ว่าการศึกษาทางมานุษยวิทยาไทยถูกผูกขาดโดยสกุลอเมริกัน ทำให้กระบวนทัศน์แบบอเมริกันมีอิทธิพลต่อการอธิบายสังคมไทย รวมทั้งขนบการทำวิจัยภาคสนามแบบเข้มข้นกลายเป็นบรรทัดฐานที่นักมานุษยวิทยาไทยนำไปปฏิบัติตาม แนวคิดทฤษฎีแบบตะวันตกก็ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายว่าสังคมไทยมีลักษณะอย่างไร มีการถกเถียงว่าสังคมไทยมีโครงสร้างหลวมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่ ในช่วงเวลานี้ นักมานุษยวิทยาไทยจะสนใจประเด็นเศรษฐกิจสังคมชาวนา การพัฒนา การใช้ทรัพยากร และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นหลัก ส่วนประเด็นเรื่องเพศภาวะเริ่มมีการวิจัยบ้าง เช่นงานของฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ (2523) ที่ศึกษาผู้หญิงมุสลิมในภาคใต้ สิ่งที่อานันท์พยายามรวบรวมเป็นการบอกให้ทราบถึงจำนวนงานวิจัย จำนวนนักมานุษยวิทยา และหัวข้อที่เป็นโจทย์ในการวิจัย ซึ่งอานันท์มองว่าโจทย์วิจัยเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น และมีการนำเอาแนวคิดทฤษฎีจากศาสตร์ต่าง ๆ มาใช้ การทบทวนมานุษยวิทยาในแนวนี้อาจจะช่วยให้เห็นว่ามีใครทำ อะไรที่ไหน อย่างไร แต่ยังมองไม่เห็นว่ากระบวนทัศน์ที่ขับเคลื่อนการสร้างความรู้เหล่านั้นมีข้อจำกัดและมีอำนาจครอบงำนักมานุษยวิทยาไทยอย่างไร

    ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ (2530) เขียนบทความเรื่องมานุษยวิทยาไทย พัฒนาการ ทิศทางและสถานภาพ ซึ่งอธิบายว่าการเรียนการสอนมานุษยวิทยาในมหาวิทยาลัยไทยมีลักษณะอย่างไร โดยมุ่งที่จะตอบปัญหาเรื่องการผลิตบัณฑิตด้านมานุษยวิทยาออกไปทำงาน การพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้สอนวิชามานุษยวิทยา การพัฒนาตำราและหนังสือ การทำวิจัย และการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักมานุษยวิทยา รวมถึงการสร้างความชำนาญเฉพาะของมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรมานุษยวิทยา สิ่งที่ฉวีวรรณอธิบายในบทความนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างหลักสูตรมานุษยวิทยา ทำให้เห็นแต่เพียงว่ามหาวิทยาลัยไทยที่เปิดสอนมานุษยวิทยาเป็นวิชาเอกจะต้องพัฒนาอะไรต่อไป

    ในบทความของชยันต์ วรรธนะภูติ เรื่องการศึกษาสังคมไทยเชิงมานุษยวิทยา แนวการศึกษาและความเป็นจริงในสังคม (2530) อธิบายว่าการศึกษาสังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ไทยมีความสัมพันธ์กับตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา ทำให้นักมานุษยวิทยาตะวันตกเดินทางเข้ามาศึกษาสังคมชาวนาไทยนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ชยันต์มองคล้าย ๆ กับอานันท์ว่ามานุษยวิทยาไทยได้รับอิทธิพลความคิดโดยตรงจากสกุลอเมริกัน ทำให้ความรู้เกี่ยวกับสังคมวนเวียนอยู่กับเรื่องคุณสมบัติพิเศษทางวัฒนธรรม เช่น ศาสนาพุทธ การผสมผสานทางวัฒนธรรม และการใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และความรู้ดังกล่าวนี้ก็ละเลยที่จะมองสังคมไทยในเชิงการเปลี่ยนแปลง ชยันต์เชื่อว่าเพราะมานุษยวิทยาสายอเมริกันมุ่งที่จะศึกษาสังคมแบบชาติพันธุ์วรรณา และสนใจพื้นที่สังคมแบบเล็ก ๆ เมื่อนำมาอธิบายสังคมไทย จึงทำให้มองว่าสังคมไทยมีความกลมเกลียว ไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ต่อการสร้างภาพตัวแทนว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร

    ถึงแม้ว่าชยันต์จะชี้ให้เห็นอิทธิพลของมานุษยวิทยาอเมริกันต่อการสร้างภาพเกี่ยวกับสังคมไทย และชี้ให้เห็นถึงแนวคิดใหม่ ๆ ที่เคลื่อนมาสู่แวดวงมานุษยวิทยาไทย แต่ชยันต์ไม่ตั้งคำถามต่อไปว่ามานุษยวิทยากระแสหลักจากอเมริกาเป็นผลผลิตจากบรรทัดฐานรักต่างเพศอย่างไร และความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับอเมริกาขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เอนเอียงเข้าหาระบบชายเป็นใหญ่อย่างไร การวิพากษ์มานุษยวิทยาอเมริกันของชนัยต์จึงเป็นเพียงการบ่งชี้ว่าทฤษฎีเก่า ๆ เช่น โครงสร้างหน้าที่ และจิตวิทยาวัฒนธรรมไม่สามารถอธิบายสังคมไทยได้ นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องหาเครื่องมือใหม่ ๆ มาวิเคราะห์สังคมไทย เช่นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวคิดทฤษฎีตะวันตกที่นักมานุษยวิทยานำมาใช้นั้นล้วนเป็นผลผลิตจากวิธีคิดและศีลธรรมแบบรักต่างเพศ ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ยังคงอยู่ในกระบวนทัศน์เดิม ที่มองเห็นแต่สถาบันใหญ่ ๆ ทางสังคม เช่น เศรษฐกิจ ศาสนา และการเมือง ประเด็นเรื่องเพศจะถูกลืมหรือเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และเชื่อว่าไม่มีผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใด ๆ เลย

    ดังนั้น คำถามที่ว่าความจริงเกี่ยวกับสังคมไทยเป็นความจริงของใคร ซึ่งชยันต์อธิบายว่าเป็นความจริงตามแนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยาอเมริกัน แต่การตอบแบบนี้เป็นการมองด้วยบรรทัดฐานรักต่างเพศ ในทางกลับกัน ความจริงเกี่ยวกับสังคมไทยเป็นผลผลิตของสังคมศาสตร์ที่มีอคติทางเพศเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก ส่วน ประเด็นเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทยที่ชยันต์เชื่อว่าเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาจะต้องสกัดออกมาให้ได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบอย่างจริงจังว่า “ความขัดแย้ง” ที่อ้างถึงนั้นวางอยู่บนทัศนะแบบไหน สนใจแต่ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการใช้ทรัพยากรใช่หรือไม่ ความขัดแย้งเรื่องบรรทัดฐานทางเพศจะรวมอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ และนักมานุษยวิทยาไทยจะตั้งโจทย์เพื่อที่จะตรวจสอบความขัดแย้งในมิติเรื่องเพศอย่างไร รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อปรัชญาสำนักปฏิฐานนิยมที่มีผลต่อการสร้างความรู้ในสังคมนั้น จะหยุดอยู่ที่การเปลี่ยนสำนักคิด หรือจะถามต่อไปว่าปฏิฐานนิยมเป็นผลผลิตของอุดมการณ์ทางเพศแบบไหน ภาพของสังคมโดยรวมที่มาจากคำอธิบายของรักต่างเพศนั้นจะมีพื้นที่ให้กับคนที่มีเพศวิถีนอกกรอบของสังคมหรือไม่ อย่างไร

    หนังสือเรื่อง “คนใน” บรรณาธิการโดยปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2545) เป็นหนังสือที่นักมานุษยวิทยาไทยหลายคนได้เล่าประสบการณ์การทำงานภาคสนามของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนวิธีคิด วิธีการทำงานและระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาที่สำคัญและนักเรียนด้านมานุษยวิทยาจำเป็นต้องอ่าน แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกคือนักมานุษยวิทยาที่เป็นชายกับหญิงเท่านั้นที่ครองพื้นที่การสร้างความรู้ ไม่ว่านักมานุษยวิทยาไทยจะพูดถึงตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตนเองอย่างไรก็ไม่เคยตั้งคำถามกับเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีของตัวเอง ไม่เคยถามว่าบรรทัดฐานของรักต่างเพศจะมีผลอย่างไรต่อการสะท้อนความจริงของการเป็นนักมานุษยวิทยา สิ่งที่หนังสือเล่มนี้อธิบายจึงเป็นเพียงอารมณ์ของคนที่อยู่ในโลกที่มีเพียงสองเพศ (หญิง-ชาย) นักมานุษยวิทยา 7 คนที่เขียนเล่าประสบการณ์ทำงานของตัวเอง เป็นผู้ชายถึง 6 คนและผู้หญิงเพียง 1 คน ประเด็นหลักที่นักมานุษยวิทยาไทยแต่ละคนต้องการจะอธิบาย วนเวียนอยู่กับเรื่องการผจญภัยในภาคสนาม การกินอยู่หลับนอน การพูดการใช้ภาษาท้องถิ่น การปรับตัวต่าง ๆ เช่น ศรีศักร วัลลิโภดม ทำงานในหมู่บ้านชาวนา อคิน รพีพัฒน์ทำงานกับชาวบ้านในภาคอีสานและภาคกลาง อานันท์ กาญจนพันธุ์ทำงานกับชาวนาในภาคเหนือ ยศ สันตสมบัติทำงานกับผู้หญิงในหมู่บ้านภาคเหนือและคนไตในประเทศจีน พัฒนา กิติอาษาทำงานกับคนทรงเจ้าและนักแสดงลิเก นิติ ภวัครพันธุ์ทำงานกับชาวบ้านในภาคเหนือ และ ปริตตาทำงานกับคณะนายหนังในภาคใต้และคณะนางรำในภาคกลาง

    หนังสือคนในมีลักษณะเป็น Conventional หรือประเพณีนิยมที่ พยายามใช้ประสบการณ์ของรักต่างเพศมามองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น การกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบของรัฐที่มีต่อชาวบ้านในชนบท ปัญหาทางสังคมเหล่านี้ถูกจัดระเบียบภายใต้ความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่ได้แบ่งแยกหมวดหมู่ของประเด็นการศึกษา ว่าอะไรคือประเด็นทางศีลธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา ทรัพยากร และอื่น ๆ สังคมศาสตร์ในแนวนี้ เวสตัน (1998) อธิบายว่าเป็นการทำให้นักวิจัยเป็น “ผู้เก็บข้อมูล” (data-bearer) และนำออกไปให้สังคมรับรู้ (Weston, 1998, p.21.) เหมือนกับว่าข้อมูลคือเศษไม้ที่ตกอยู่ในป่าและมนุษย์เข้าไปเก็บมาทำฟืน กระบวนการทำงานในแนวนี้ทำให้สังคมศาสตร์มองพรมแดนเรื่องเพศเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” ภายใต้โครงสร้างหมวดหมู่ความรู้ทางสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่นักมานุษยวิทยาไทยจะมองไม่เห็น หรือมองข้ามอคติและความไม่เป็นธรรมจากเพศวิถี ซึ่งอาจจะซุกซ่อนอยู่ในหมู่บ้านชาวนาหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่ด้วย นอกจากนั้น การถกเถียงว่านักมานุษยวิทยาไทยเป็นทั้งคนนอกและคนในเมื่อลงไปทำงานภาคสนามก็ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าการใช้วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม ที่ศีลธรรมแบบรักต่างเพศมักจะใช้อธิบายสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่ถูกแยกเป็นขาวกับดำ เช่น ชายต่างจากหญิง ชายแข็งแรง หญิงอ่อนแอ ฯลฯ ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาทั้ง 7 คนจะมีความเข้าใจถึงปัญหาของสังคมไทยและเข้าใจการทำหน้าที่ของนักมานุษยวิทยา ซึ่งอาจจะพบปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างข้อมูลภาคสนามกับแนวคิดทฤษฎีของฝรั่ง และพวกเขาก็อาจเข้าใจกลุ่มคนที่มีเพศวิถีต่างไปจากชายและหญิง เช่นรู้ว่านักมานุษยวิทยาในตะวันตกบางคนใช้งานภาคสนามเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้เพศวิถีของตัวเอง (เกย์ เลสเบี้ยน) แต่ตรรกะและกระบวนทัศน์ที่หล่อเลี้ยง หล่อหลอมวิธีการสร้างความรู้ ความเข้าใจมนุษย์ ความอ่อนไหวต่อการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น และความเป็นห่วงเป็นใยสังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่นั้น เป็นผลพวงที่แยบยลของอุดมการณ์และอำนาจของรักต่างเพศ

    ใน พ.ศ. 2546 อานันท์ กาญจนพันธุ์เขียนบทความเรื่องการทะลุกรอบคิดของทฤษฎีและวิธีวิทยาของการทะลุกรอบคิด มิติใหม่ในมานุษยวิทยาไทย คำสำคัญในที่นี่คือ “มิติใหม่” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตรวจสอบว่ามันหมายถึงอะไร อานันท์พยายามชี้แจงว่าการทะลุกรอบหรือหลุดจากกรอบ จะต้องเริ่มจากการปรับวิธีวิทยา มองสิ่งต่าง ๆ ในเชิงกระบวนการที่สิ่งต่าง ๆ เชื่อมโยงเข้าหากัน ต้องรับมุมมองเชิงวิพากษ์มาใช้เพื่อที่จะไม่ติดกับทฤษฎีเดิม ๆ ไม่ยึดติดอยู่กับความคิดแบบคู่ตรงข้ามและความคิดแบบสารัตถนิยม (การยึดมั่นแบบความจริงแท้ตายตัว) รู้จักคิดในเชิงบริบทและมองเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนถูกสร้างขึ้นภายใต้ความหมาย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอย่างลอย ๆ อานันท์ยังได้เสนอแนะวิธีการที่จะทำให้ความคิดเหล่านี้มาเชื่อมโยงกันจะต้องมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มองพลวัต และความรู้สึกนึกคิด ข้อสังเกตดังกล่าวนี้ อาจฟังดูเข้าตาหรือไปด้วยกันได้กับแนวคิดเควียร์ เพราะสนใจในประเด็นคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะการวิพากษ์วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามและสารัตถนิยม แต่การอธิบายของอานันท์มีลักษณะเป็นการบอก “สูตร” ของการทะลุกรอบคิดทฤษฎี ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำตามขั้นตอนและองค์ประกอบต่างๆครบถ้วนก็จะสามารถทะลุกรอบได้ เช่น เริ่มต้นด้วยการแยกแยะกลุ่มคนที่ศึกษา ระบุหน่วยการวิเคราะห์ ระดับการวิเคราะห์ การแสดงความคิดเชิงวิพากษ์ การตีความอย่างมีส่วนร่วม และการสร้างวาทกรรม ขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการสร้างความรู้เชิงวิพากษ์เป็นสิ่งที่สอนและถ่ายทอดกันได้ เหมือนตำราที่สอนว่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาจะต้องทำอะไร

    ความเชื่อที่ว่าการทำความเข้าใจมนุษย์จะต้องทำความเข้าใจแบบองค์รวม ก็อาจเป็นมายาคติอีกแบบหนึ่ง เพราะเราไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ได้ ยกเว้นรู้แต่เพียงว่ามี “วิธีการ” หรือ “อุดมการณ์” อะไรบ้างที่ใช้เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ สิ่งที่อานันท์เสนอในบทความนี้ค่อนข้างมองวิธีการสร้างความจริงในแบบอุดมคติ ซึ่งเป็นจารีตนิยมของนักมานุษยวิทยารักต่างเพศที่เชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมีพรมแดนที่ชัดเจน และแต่ละพรมแดนก็เชื่อมสัมพันธ์กันภายใต้บริบท อำนาจและอารมณ์ความรู้สึก ปริมณฑลของสิ่งที่เกิดขึ้นทางสังคมเป็นสิ่งที่สามารถคลี่และแผ่ออกเพื่อทำให้เห็นว่ามีอะไรซ่อนอยู่ข้างใน การมองสังคมและวิธีการทำความเข้าใจสังคมในลักษณะนี้ ค่อนข้างเชื่อในกฎระเบียบ แมรี แอล. เกรย์ (2009) เคยตั้งข้อสังเกตกับการทำวิจัยทางมานุษยวิทยาว่าถูกจำกัดด้วยระเบียบวิธีวิจัย วิธีคิด สมมุติฐาน ความเชื่อ และอุดมการณ์บางอย่าง และเมื่อตกอยู่ใต้สิ่งเหล่านี้แล้ว ความจริงที่นักมานุษยวิทยาถ่ายทอดออกมาก็เป็นความจริงภายใต้ข้อจำกัดเหล่านั้น คำถามคือ เราเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังนิยามและอธิบายอยู่อย่างไร เราพยายามที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังขีดเส้นแบ่งได้อย่างไร เราจะทำความเข้าใจการทะลุกรอบคิดทฤษฎีอย่างที่อานันท์ยกมาได้อย่างไร ในขณะที่เรากำลังสร้างกรอบหรือกรงอันใหม่ขึ้นมาแทน สิ่งที่ต้องทบทวนก็คืองานเขียนของนักมานุษยวิทยามีความลักลั่นระหว่างสิ่งที่เป็น “ข้อมูลที่ถูกทำให้เป็นความจริง” กับ กรอบความคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาที่ใช้วิเคราะห์ว่าอะไรคือความจริง ในส่วนแรกคือการทำงานภาคสนามและชีวิตของชาวบ้านที่ถูกศึกษา ในส่วนหลังคืออุดมการณ์และบรรทัดฐานที่ฝังอยู่ในหัวของนักมานุษยวิทยา (ติดตัวไปตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน) ความลักลั่นนี้คือโจทย์ใหญ่ที่อาจทำลายความเชื่อที่ว่าเราสามารถเข้าใจมนุษย์ได้

    อานันท์ได้ยกกรณี “คนชายขอบ” มาอธิบายโดยบอกว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของอำนาจ เป็นคนที่ถูกกีดกัน ถูกเบียดขับออกจากสังคม แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่ากระบวนทัศน์ในการสร้างความรู้ได้สร้างสิ่งที่เป็น “ชายขอบ” ขึ้นมาได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น กระบวนทัศน์ชายเป็นใหญ่และรักต่างเพศได้เบียดขับกระบวนทัศน์แบบเควียร์ให้อยู่ชายขอบอย่างไร อานันท์มองเห็น “ความเป็นชายขอบ” เพราะวิธีคิดแบบรักต่างเพศสอนให้เห็นว่าคนที่มีอำนาจและช่วงชั้นไม่เท่ากัน คนจะต้องถูกจัดจำแนกเพื่อที่สามารถแยกแยะใครมาจากไหน ผลของการมองแบบนี้ก็คือ ความเป็นชายขอบในแง่ของญาณวิทยาและการแสดงหาความรู้จะไม่ถูกพูดถึง อานันท์กล่าวว่ากระบวนการกลายเป็นชายขอบจะต้องถูกรื้อและแยกย่อยเพื่อจะทำให้เห็นการกีดกันและผูกขาดความรู้ที่มีผลกระทบต่ออัตลักษณ์ บทบาททางเพศและสิทธิต่าง ๆ คำว่า “บทบาททางเพศ” ในที่นี้หมายถึงอะไร อานันท์เข้าใจบทบาททางเพศในฐานะเป็นหมวดหมู่ในการวิเคราะห์ในทางสังคม หรือเข้าใจว่าแนวคิดเรื่องบทบาททางเพศ (gender role) เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้วิธีคิดตะวันตกที่ใช้บรรทัดฐานของรักต่างเพศเป็นมาตรฐาน แต่บทความของอานันท์ไม่ได้ทำความเข้าใจเรื่อง “บทบาททางเพศ” ในแบบหลัง ทำให้วิธีการทะลุกรอบทฤษฎีของอานันท์คือการทะลุแค่ตัวทฤษฎี ในขณะเดียวกัน สิ่งที่อานันท์กำลังอธิบายก็เป็นการขยายผล สืบทอด และจรรโลงอุดมการณ์บางอย่างที่ยังทำให้ประเด็นเรื่องเพศเป็นหัวข้อเล็ก ๆ ที่มีไว้เพื่อทำให้การศึกษามนุษย์มีมิติที่ครบถ้วน เพศยังคงถูกมองเป็นผู้ที่ “ถูกกระทำ” หรือถูกทำให้มัวหมอง แต่ไม่ได้มองว่า เพศเป็นต้นเหตุของการถูกกระทำและการผลิตอุดมการณ์ทางสังคมที่ครอบงำมนุษย์ หากตั้งต้นด้วยการนำเรื่องเพศมาเป็นโจทย์ ก็อาจจะทำให้มองการทะลุกรอบไปอีกแบบหนึ่ง คือ ไม่ใช่การทะลุข้อจำกัดของทฤษฎีเก่า ๆ แต่เป็นการทะลุญาณวิทยาของการแสดงหาความรู้ทางสังคม 

    ด้วยเหตุนี้ทำให้สูตรสำเร็จของการทะลุกรอบที่อานันท์ยกขึ้นมานั้น คือการต่อยอดกระบวนทัศน์รักต่างเพศที่พยายามทำให้เรื่องเพศและกามารมณ์เป็นดินแดนในอาณานิคมของการควบคุมเรื่องเพศ การแยกเรื่องเพศออกจากพรมแดนอื่น ๆ ของชีวิต คือการมองในแบบตะวันตกที่มองว่าเพศวิถีเป็นแหล่งอ้างความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ ยิ่งเราสร้างเพศวิถีให้มีเขตแดนของตัวเองชัดเจนเท่าไรเราก็ยิ่งสร้างการแบ่งแยกมากขึ้นเท่านั้น เวสตัน (1998) เคยถามว่าทำไมวงการมานุษยวิทยาไม่เคยนำเอาเรื่องเพศมาเป็นศูนย์กลางในการทำความเข้าใจเรื่องญาณวิทยาและวิธีการทำงานของนักมานุษยวิทยา เพราะนักมานุษยวิทยาที่ใช้บรรทัดฐานรักต่างเพศยังคงมีอำนาจในการชี้นำและสร้างอาณาจักรของตน จึงไม่น่าแปลกใจหากมีใครสักคนอยากจะทำวิจัยเรื่องเพศวิถีของเกย์ กะเทย เลสเบี้ยนและถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม หรือถูกมองว่าคน ๆ นั้นทำวิจัยเพื่อตอบสนองอารมณ์ทางเพศของตัวเอง หรือมองว่าเป็นประเด็นล่อแหลมทางศีลธรรมและทำให้เสื่อมเสีย เพราะมานุษยวิทยาแบบรักต่างเพศมอง “เพศ” แบบแยกส่วนและเลือกที่จะมองแค่มิติของกายภาพและความใคร่ มองเพศในฐานะเป็นของต่ำหรือสิ่งสกปรก แต่ไม่เคยมองว่าเพศเป็นเรื่องทางปรัชญาและเชื่อมโยงกับวิธีการสร้างความจริงทางสังคม หรือมีผลต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างไร
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×