ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แฟนตาซีบุ๊คคริติก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

    ลำดับตอนที่ #19 : บทวิจารณ์ SARMAL ซาร์มัล คำเรียกขานในมายา โดย Peecee (ได้รับเหรียญทองแดง)

    • อัปเดตล่าสุด 11 มี.ค. 53


    SARMAL ซาร์มัล คำเรียกขานในมายา
    ผู้วิจารณ์ : ผู้สร้าง
    สิ่งที่อยากบอกก่อนวิจารณ์ : จะลงรายละเอียดเยอะนะครับ



    ภาษาที่ใช้ : 17/25 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - เกี่ยวกับบทบรรยาย

        อยู่ในเกณฑ์ดี บทบรรยายอ่านแล้วนึกภาพตามได้ดี

        - คำซ้ำ

        มีการใช้คำซ้ำบ่อยในหลาย ๆ จุด ยังไม่ค่อยมีความหลากหลายในการเลือกใช้คำ คำซ้ำทำให้บทบรรยายมีความสละสลวยน้อยลงไป ผู้อ่านหลายคนอาจเห็นว่าการบรรยายไม่ลื่นไหลเท่าที่ควรเพราะคำซ้ำมักจะทำให้การอ่านสะดุดหยุด

        - สัมผัสเสียง

        มีบ้าง แต่น้อย ข้อแตกต่างของสัมผัสเสียงกับคำซ้ำก็คือ สัมผัสเสียงจะเป็นระหว่างคำต่างความหมาย แต่คำซ้ำคือการใช้คำเดิมซ้ำ ๆ ในส่วนนี้เพื่อความลื่นไหลควรเพิ่มการสัมผัสเสียง และลดการใช้คำซ้ำลง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการใช้คำซ้ำเป็นข้อเสีย แต่ข้อเสียคือการมีมากเกินไป เช่นเดียวกับคำสัมผัสเสียง คือ มีมากเกินไปก็ไม่ดี

        - กรรมวาจก หรือ Passive Voice (ประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ)

        ในส่วนนี้มีให้เห็นค่อนข้างมาก การเขียนประโยคกรรมวาจก หรือ Passive Voice นั้น ถ้ามีบ้างจะทำให้มีอารมณ์ของนิยายแปล แต่ไม่ควรมีมากเกินไป เพราะจริง ๆ แล้วมันผิดหลักไวยกรณ์ภาษาไทย

        - คำสะกดผิด

        มีคำสะกดผิดบ้าง แต่ไม่ใช่ในลักษณะการสะกดผิดแบบไม่รู้ศัพท์ แต่เป็นสะกดผิดเพราะรีบ ไม่รอบคอบ

        - เกี่ยวกับชื่อ

        ชื่อตัวละครและชื่อสถานที่ไม่ใคร่จะไพเราะเท่าไร เดาว่าเป็นชื่อที่คิดขึ้นเอง ไม่มีความหมาย (ถ้าผิดพลาดก็ขออภัย) การคิดชื่อตัวละครเองไม่ใช่ข้อเสีย แต่ตำหนิคือเรื่องของรากฐานทางภาษา ชื่อบางชื่อให้ความรู้สึกว่าไม่เข้ากัน รู้สึกเหมือนตัวละครมาจากต่างถิ่นกัน ซึ่งถ้าตัวละครมาจากต่างถิ่นกันจริง ๆ ตรงนี้จะไม่เป็นปัญหา

        - เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษา

            ตอนที่พระเอกแอบอ่านบันทึกของเจ้าหญิง บันทึกเขียนเป็นภาษาไทย แต่กลับลงลายชื่อเป็นภาษาอังกฤษ
            ในตอนสุดท้ายที่กล่าวถึง คิวบ์ (CUBE) ไม่ได้แปลว่าบิด (หรือหมายถึงลูกบิด) แต่แปลว่าสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ หรือสิ่งที่มีลักษณะเป็นลูกบาศก์ ส่วนลูกบิดที่เป็นสี ๆ ที่เป็นที่นิยมเล่นกันไม่ได้เรียกว่า คิวบ์ แต่เรียกว่า รูบิค (Rubik) ส่วนเรื่องภาษาสเปนอันนี้ผมไม่รู้จริง ๆ ครับเพราะเปิดดิกสเปนกี่เล่มก็หาคำว่า "cube" ไม่เจอ (ผมไม่มีความรู้เรื่องภาษาสเปน) แต่คำว่า "cubo" ในภาษาสเปนแปลว่า "cube" ในภาษาอังกฤษ



    ความน่าสนใจ หรือความน่าติดตาม : 14/20 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - บทนำ

        มีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง บทนำกล่าวถึงโลกที่เข็มทิศมีบทบาทสำคัญ และกล่าวถึงเข็มทิศพิเศษที่ตัวเอกค้นพบ ในบทแรก สิ่งที่จะดึงดูดผู้อ่านน่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาษา เพราะอยู่ในระดับที่ถือว่าดีเมื่อเปรียบกับนิยายหลายเรื่องในเด็กดี หรืออาจเป็นเรื่องของแนวคิดใหม่ที่ถูกนำเสนอในบทแรก คือแนวคิดของเข็มทิศหลายประเภทที่ชี้ไปยังทิศทางที่แตกต่างกัน ในตอนท้ายของบทนำมีการกล่าวถึงว่า ตัวเอกหญิงของเรา แท้จริงแล้วเป็นเจ้าหญิงที่หลบหนีออกมาจากปราสาท แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เห็นได้แม้จะไม่บ่อยมาก แต่ก็เห็นได้ทั่วไป ทั้งนี้การพิจารณาว่าแนวคิดนั้น ๆ เป็นแนวคิดที่เห็นได้ทั่วไปหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาจากเหตุผลที่นำไปสู่แนวคิด แต่พิจารณาที่แนวคิดอย่างเดียว กล่าวคือ ไม่ว่าเหตุผลที่นำมาสู่สิ่งนี้จะเป็นอะไร ก็ไม่ได้เปลี่ยนขอเท็จจริงที่ว่า "เจ้าหญิงหนีออกมาจากปราสาท" หรือถ้าจะให้ยกตัวอย่างต่อไป เช่น แนวคิดเรื่องโรงเรียนเวทมนตร์ ไม่ว่าหลักสูตรการศึกษาจะหลากหลาย แปลกแตกต่างอย่างไร ก็ไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นแนวคิดเรื่องโรงเรียนเวทมนตร์

        - แนวคิดใหม่ที่ถูกนำเสนอ

        เป็นแนวคิดของเข็มทิศที่จะชี้ไปยังทิศทางที่แตกต่างกัน โดยส่วนตัวคิดว่าแปลกดี แต่การนำเสนอแนวคิดยังไม่ดีเท่าที่ควร กล่าวคือ แนวคิดค่อนข้างน่าสนใจ แต่วิธีการนำเสนอ -- ซึ่งมีส่วนขับเน้นให้แนวคิดดูน่าสนใจ -- หรือรูปแบบการนำเสนอไม่น่าสนใจเท่าแนวคิด อันนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องมาจากเรื่องของการใช้ภาษา ซึ่งจะกล่าวต่อไป

        - เหตุอันเนื่องมาจากรูปแบบการนำเสนอ

        รูปแบบการนำเสนอไม่น่าสนใจเท่าแนวคิดใหม่ที่ถูกนำเสนอ ทั้งนี้เป็นเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากการใช้ภาษา ยกตัวอย่างเช่นว่า เด็กชาย ก กับ เด็กชาย ข ไปเที่ยวสวนสนุกมาด้วยกัน วันต่อมาจึงมาเล่าเรื่องราวให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนฟัง ซึ่งการบอกเล่า (รูปแบบการนำเสนอ) ของเด็กชายทั้งสองย่อมไม่เหมือนกัน อีกคนอาจเล่าไม่สนุกเท่าอีกคน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน

        - ความน่าสนใจ (กล่าวโดยกว้าง ๆ)

        ผู้อ่านที่ชื่นชอบนิยายที่ใช้ภาษาอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็น "นิยาย" จริง ๆ (คือไม่ใช่งานเขียนที่ใช้ภาษาเหมือนหนังสือการ์ตูน) อาจเห็นว่านิยายเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้อ่านที่ต้องการนิยายแฟนตาซีที่มีการนำเสนอแนวคิดใหม่ อาจเห็นว่านิยายเรื่องนี้น่าสนใจเช่นเดียวกัน แต่สำหรับผู้ที่อ่านนิยายแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ หรือชอบอ่านนิยายแฟนตาซีมาก ๆ อาจเห็นว่านิยายเรื่องนี้ธรรมดา ไม่น่าสนใจเท่าไร

        - ความน่าติดตาม

        เหตุอันเนื่องมาจาก ภาษาที่ใช้ไม่ได้มีความโดดเด่นมากมาย (ตามเกณฑ์ของผู้ที่อ่านนิยายภาษาสละสลวยเยอะ ๆ) และแนวคิดใหม่ที่ถูกนำเสนอไม่น่าสนใจเท่าไร (ตามเกณฑ์ของผู้ชื่นชอบนิยายแฟนตาซีมาก ๆ) นิยายเรื่องนี้จึงไม่ค่อยมีความน่าติดตามเท่าไร แต่สำหรับผู้อ่านทั่วไป อาจจะชอบและอยากติดตามนิยายเรื่องนี้ เนื่องจากแนวคิดต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอ -- แม้จะไม่ใหม่เท่าไร -- ดูน่าสนใจ
       


    ความมีมิติของตัวละคร ความมีลักษณะเฉพาะของตัวละครแต่ละตัว : 11/15 คะแนน

        - คาแรคเตอร์

        ในส่วนนี้เห็นได้ชัดว่าตัวละครมีคาแรคเตอร์ คือมีลักษณะเฉพาะของตน และดำเนินไปตามลักษณะเฉพาะนั้น ๆ

        - มิติตัวละคร

        ผู้เขียนสามารถเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกได้ว่า การกระทำบางอย่างไม่ได้เกี่ยวเนื่องมาจากความคิดที่แท้จริงของตัวละคร คือ ตัวละครคิดอีกอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อปรากฏในตัวละครจะทำให้ตัวละครดูมีมิติขึ้นมา แต่ส่วนที่จะทำให้ตัวละครลึกจริง ๆ แล้วมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปูมหลัง ด้านสว่างของชีวิต ส่วนมืดของชีวิต ความลับ จินตนาการ ฯลฯ ในที่นี้ตัวละครดูมีมิติในระดับหนึ่ง



    ความสมจริงของฉาก ความเป็นเหตุเป็นผล ความน่าเชื่อถือ การตัดสินใจของตัวละคร ความเป็นมนุษย์ ฯลฯ  : 7/15 คะแนน (แก้ไขเพิ่มเติม)

        - ความสมจริง

        ส่วนที่เห็นได้ชัดแต่แรกเลยคือ ฉากที่พระเอกของเราปามีดปักท้ายทอยชายแปลกหน้าที่วิ่งตามเจ้าหญิงมา ในส่วนนี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะการที่มนุษย์จะหมดสตินั้น เป็นเรื่องของสมองเมื่อได้รับการกระทบกระเทือน (Concussion) ความเป็นไปได้ที่มีดปักคาอยู่บนศีรษะแล้วตัวละครไปดึงออกมาในภายหลัง แสดงว่ามีดต้องเจาะทะลุผ่านกะโหลก ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะถูกมีดปักศีรษะแต่ไม่ตาย อย่าว่าแต่หมดสติเลย ในส่วนนี้แนะนำให้ผู้เขียนไปศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของ pressure point, ทั้งนี้ผมเห็นว่าการที่ตัวละครนั้นจะมีความรู้เรื่องใดเป็นพิเศษ ผู้เขียนก็ควรจะมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน

        - เกี่ยวกับโลกของนิยาย

        นิยายเรื่องนี้อ่านแล้วมีบรรยากาศของนิยายย้อนยุค แต่บทที่สองกลับมีการกล่าวถึงคอนแทค เลนส์, การประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์คอนแทคเลนส์สายตาที่ใช้ได้ผล มีขึ้นครั้งแรกในปี 1887 โดย อดอล์ฟ ยูเจ็น ฟิ๊ค (ชาวเยอรมัน) เป็นคอนแทคเลนส์ที่มีลักษณะ ใหญ่ และใส่ได้ไม่นาน หรือมิฉะนั้นดวงตาจะมีอาการอาการระคายเคือง สำหรับคอนแทคเลนส์สีนั้น ในช่วงที่มีการคิดค้นแรก ๆ จะทำจากแก้ว ไม่สามารถใส่ติดต่อกันเป็นเวลานานได้

        - ความไม่สมเหตุสมผล

            มีความไม่สมเหตุสมผลหลายจุดมาก ๆ แต่ขอกล่าวถึงเพียงบางจุด ฉากที่ระบุไปในตอนแรกที่พระเอกปามีดใส่คนแปลกหน้าก็ไม่สมเหตุสมผล โดยปรกติคนเราไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงของคนแปลกหน้าเขาไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันหรอกครับ (ก็อาจมีแต่เป็นเรื่องของความคิดตื้น ๆ ในที่นี้ไม่ขอกล่าวถึง) แต่นี่ใครก็ไม่รู้วิ่งมาไปปามีดใส่เขาเฉย
            ฉากที่อัศวินสองคนเจอพระเอกครั้งแรกและถามทาง โดยปรกติเวลาคนเราถามทาง ไม่มีใครถามชื่อกันหรอก เช่นว่า จะไปเซ็นทรัลลาดพร้าว แต่ไม่รู้ต้องลงจากรถไฟใต้ดินที่สถานีไหน รูปแบบที่เห็นได้ทั่วไปของคำถามคือ "ขอโทษนะครับคุณ ไปเซ็นทรัลลาดพร้าวต้องลงสถานีไหนเหรอครับ" แต่ถ้าถามว่า "ขอโทษนะครับคุณ ชื่ออะไรเหรอครับ ผมจะไปเซ็นทรัลลาดพร้าวต้องลงสถานีไหน" เป็นใครก็รู้สึกแปลก ๆ
            อีกฉากคือฉากที่พระเอกเดาได้ว่า อัศวินมาตามหาเจ้าหญิงแล้วไม่ยอมให้ผ่านทาง ไปสู้กับเขาเฉยเลย ถ้าเป็นความคิดของคนปรกติทั่วไปอาจเห็นว่าปลอดภัยกว่าที่จะให้อัศวินพาเจ้าหญิงกลับปราสาท เนื่องจากพระเอกไม่ได้รู้แต่แรกว่าจริง ๆ แล้วอัศวินเป็นปีศาจ

        - ความสามารถของตัวละคร

        พระเอกเก่งเกินไป ไม่มีปูมหลังที่สนับสนุนความเก่งกาจของพระเอกเท่าที่ควร



    ความสามารถในการสื่ออารมณ์ถึงผู้อ่านผ่านตัวอักษร ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครได้แค่ไหน : 9/15 คะแนน

        - การสื่ออารมณ์ผ่านตัวอักษร

        ในส่วนนี้มีการสื่ออารมณ์ผ่านตัวอักษรได้ดีในระดับหนึ่ง (แม้บางครั้งอารมณ์ของตัวละครไม่ค่อยสมเหตุสมผล) ในบางจุดผู้อ่านก็สามารถอนุมานเอาได้ แต่เรื่องของอารมณ์ยังไม่มีความลึกซึ้งเท่าไร



    การค้นคว้าของผู้เขียน / ผู้อ่านได้ความรู้บางอย่างเพิ่มเติมในการอ่านนิยายเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ เพียงใด : 1/5 คะแนน

        - การค้นคว้า

        ในส่วนของการค้นคว้านั้น ถ้าผู้เขียนทำการบ้านมาดี ความไม่สมเหตุสมผลที่ปรากฏจะมีน้อย แต่นิยายเรื่องนี้มีความไม่สมเหตุสมผลค่อนข้างเยอะ



    และ
    คะแนนพิเศษ (ขึ้นอยู่กับผู้วิจารณ์) : 3/5 คะแนน

        - รูป

        วาดรูปการ์ตูนสวยดี



    รวม : 61/100 คะแนน
    เหรียญที่ได้รับ : เหรียญทองแดง


    หมายเหตุเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม : ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคะแนน แต่เพิ่มรายละเอียดในบางจุด

    กรุณาไปกรอกเอกสารเพื่อขอรับเหรียญรางวัลต่อไป


    โพล78958

    หากว่าท่านผู้ใดมีความเห็นที่แตกต่างไปจากนี้ -- ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ ภาษา ความน่าสนใจ ความสมจริง และส่วนอื่น ๆ ที่ประกฏในบทวิจารณ์ -- โปรดอย่าลังเลที่จะแสดงความคิดเห็น ความเห็นของท่านจะมีส่วนช่วยในการพัฒนางานวิจารณ์ต่อไป และที่สำคัญไปกว่านั้น ความเห็นของท่านจะมีส่วนช่วยในการพัฒนางานเขียนนี้ด้วย

    (แสดงความเห็นไว้ในหน้านี้เลยนะครับ อย่าไปโพสต์ที่หน้าหลักของบทความ)
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×