อาณาจักรทวารวดี - อาณาจักรทวารวดี นิยาย อาณาจักรทวารวดี : Dek-D.com - Writer

อาณาจักรทวารวดี

โดย Choco*Pim

อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรโบราณที่สำคัญของไทย

ผู้เข้าชมรวม

6,653

ผู้เข้าชมเดือนนี้

8

ผู้เข้าชมรวม


6.65K

ความคิดเห็น


9

คนติดตาม


0
เรื่องสั้น
อัปเดตล่าสุด :  9 ม.ค. 50 / 22:14 น.


ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ

    อาณาจักรทวารวดี
     เป็นอาณาจักรโบราณ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยคาดว่ามีจุดศนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐม

    การค้นพบ

    ทวารวดี เป็นคำภาษาสันสกฤต เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยนายแซมมวล บีล (Samuel Beal ) ได้แปลงมาจากคำว่า "โถ-โล-โป-ติ" (T'o-lo -po-ti) ที่มีอ้างอยู่ในบันทึกของภิกษุจีนเฮี้ยนจัง(Hiuan -tsang) ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ กล่าวว่า "โถโลโปติ" เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่า) และอาณาจักรอีสานปุระ (กัมพูชา) และเขาได้สรุปด้วยว่าอาณาจักรนี้เดิมตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน และยังสันนิษฐานคำอื่นๆที่มีสำเนียงคล้ายกันเช่น จวนโลโปติ (Tchouan-lo-po-ti) หรือ เชอโฮโปติ (Cho-ho-po-ti) ว่าคืออาณาจักรทวารวดีด้วย

    ต่อมาความคิดเห็นนี้ได้มีผู้รู้หลายท่านศึกษาต่อและให้การยอมรับเช่น นายเอดัวร์ ชาวาน(Edourd Chavannes) และ นายตากากุสุ(Takakusu) ผู้แปลจดหมายเหตุการเดินทางของภิกษุอี้จิงในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ และ นายโปล เปลลิโอต์(Paul Pelliot) ผู้ขยายความอาณาจักรทวารวดีเพิ่มอีกว่ามีประชาชนเป็นชาวมอญในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นต้น ดังนั้นบรรดาเมืองโบราณรวมทั้งโบราณวัตถุสถานต่างๆที่พบมากมายโดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถจัดกลุ่มได้ว่าเป็นของขอมหรือของไทย แต่มีลักษณะคล้ายกับศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ - หลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๓ ที่พันตรีลูเนต์ เดอ ลาจองกีเยร์(Lunet de Lajonguiere) เรียกว่า "กลุ่มอิทธิพลอินเดียแต่ไม่ใช่ขอม"จึงถูกนำมาสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (พ.ศ. ๒๔๖๘) และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. ๒๔๖๙) เป็นกลุ่มบุคคลแรกที่กำหนดเรียกชื่อดินแดนที่เมืองโบราณเหล่านี้ตั้งอยู่ รวมทั้งงานศิลปกรรมที่พบนั้นว่าคือดินแดนแห่งอาณาจักรทวารวดี และศิลปะแบบทวารวดี โดยใช้เหตุผลของตำแหน่งที่ตั้งอาณาจักรตามบันทึกจีนกับอายุของบันทึก และอายุของงานศิลปกรรมที่ตรงกัน อาณาจักรทวารวดีจึงกลายเป็นอาณาจักรแรกในดินแดนไทย กำหนดอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖

    อาณาจักรทวารวดี เป็นที่น่าเชื่อถือขึ้นอีกเมื่อพบเหรียญเงิน ๒ เหรียญ มีจารึกภาษาสันสกฤตอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จากเมืองนครปฐมโบราณ มีข้อความว่า ศรีทวารวดีศวรปุณ-ยะ ซึ่งแปลได้ว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี หรือ บุญของผู้เป็นเจ้าแห่ง(ศรี)ทวารวดี หรือ พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ อาณาจักรทวารวดีจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีอยู่จริง และยังเชื่อกันอีกด้วยว่าเมืองนครปฐมโบราณน่าจะเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักร (แต่ปัจจุบันพบเหรียญลักษณะคล้ายกันอีก ๒ เหรียญ ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ความสำคัญของเมืองนครปฐมจึงเปลี่ยนไป) แต่ขณะเดียวกันนักวิชาการบางท่านก็เชื่อว่าอำเภออู่ทอง หรืออาจเป็นจังหวัดลพบุรี ที่น่าจะเป็นเมืองหลวงมากกว่า

    หลักฐานการค้นพบ

    ปัจจุบันร่องรอยเมืองโบราณ รวมทั้งศิลปโบราณวัตถุสถานและจารึกต่างๆในสมัยทวารวดีนี้ พบเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และที่สำคัญได้พบกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทยโดยไม่มีหลักฐานของการแผ่อำนาจทางการเมืองจากจุดศูนย์กลางเฉกเช่นรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรทั่วไป เช่น

    ·                     ภาคเหนือ : ที่จังหวัดลำพูน

    ·                     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : พบเกือบทุกจังหวัด

    ·                     ภาคตะวันออก : ที่จังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดสระแก้ว

    ·                     ภาคใต้ : ที่จังหวัดปัตตานี

    ·                     ภาคกลาง : กระจายอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสำคัญต่างๆ เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา

    จากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบเมืองโบราณสมัยนี้ถึง ๖๓ เมืองด้วยกัน นอกจากนี้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดียังพบว่าเมืองโบราณแทบทุกแห่งจะมีลักษณะของการต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการขึ้นมาสู่ช่วงสมัย ทวารวดี เมื่อมีการติดต่อกับอารยธรรมอินเดีย

    ดังนั้นทฤษฎีของนักวิชาการรุ่นก่อนโดยเฉพาะความเชื่อเรื่องรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักร และเมืองศูนย์กลางจึงเปลี่ยนไป ว่าน่าจะอยู่ในขั้นตอนของเมืองก่อนรัฐ(Proto-State)

    ในรูปของเมืองเบ็ดเสร็จหรือเมืองที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ในตัวเองทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อศาสนา หากจะมีอำนาจทางการเมืองก็หมายถึงมีอำนาจเหนือเมืองบริวารหรือชุมชนหมู่บ้านรอบๆในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น เมืองใหญ่เหล่านี้แต่ละเมืองจะมีอิสระต่อกัน และเกิดขึ้นมาพร้อมๆกันเพราะผลจากการติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมจากอินเดียโดยเฉพาะทางด้านศาสนาพุทธแบบหินยาน รวมทั้งภาษา และรูปแบบศิลปกรรมแบบเดียวกัน

    วัฒนธรรมทวารวดีเริ่มเสื่อมลงราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมแบบขอมหรือเขมรโบราณจากประเทศกัมพูชาที่มีคติความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมที่แตกต่างออกไปเข้ามาแทนที่

    แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องทวารวดียังต้องการคำตอบอีกมากไม่ว่าปัญหาเรื่องของอาณาจักรหรือเมืองอิสระ ปัญหาเมืองศูนย์กลาง ปัญหาอาณาเขต ปัญหาชนชาติเจ้าของจะเป็นชาวมอญจริงหรือไม่ หรือแม้แต่ชื่อ ทวารวดี จะเป็นชื่ออาณาจักร หรือชื่อกษัตริย์ หรือชื่อราชวงศ์หนึ่ง หรืออาจเป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มเมืองเจ้าของวัฒนธรรมแบบเดียวกันเฉกเช่นกลุ่มศรีวิชัยทางภาคใต้ ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดและหาหลักฐานมาพิสูจน์กันต่อไป

    สภาพสังคมทวารวดีนั้นลักษณะไม่น่าจะเป็นอาณาจักร คงเป็นเมืองขนาดต่าง ๆ ซึ่งพัฒนาขยายตัวจากสังคมครอบครัว และสังคมหมู่บ้านมาเป็นสังคมเมืองที่มีชุมชนเล็ก ๆ ล้อมรอบ มีหัวหน้าปกครอง มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่อเมืองหรือรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่ความสัมพันธ์โดยการเมือง แต่โดยการค้า ศาสนา และความเหมือนกันทางวัฒนธรรม

    เศรษฐกิจของชุมชนทวารวดีคงจะมีพื้นฐานทางการเกษตรกรรม มีการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างเมือง หรือการค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุนชนภายนอก ชุมชนทวารวดีเริ่มต้นแนวความเชื่อแบบพุทธศาสนา ในลัทธิเถรวาท ควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ทั้งลัทธิไศวนิกาย และลัทธิไวษณพนิกาย โดยศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดูจะแพร่หลายในหมู่ชมชนชั้นปกครอง ในระยะหลังเมื่อเขมรเข้าสู่สมัยเมืองนคร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทวารวดีก็ถูกครอบงำโดยเขมร และในตอนท้ายคติความเชื่อได้เปลี่ยนแปลงไป

    ชาวทวารวดีได้มีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีดันก้าวหน้า จากการจัดระบบชลประทานทั้งภายในและภายนอกเมือง มีการขุดคลอง สระน้ำ การทำคันบังคับน้ำหรือทำนบ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังในสมัยลพบุรี และสมัยอาณาจักรสุโขทัย ในด้านการคมนาคม คนในสมัยทวารวดีมีการสัญจรทางน้ำและทางบก นอกเหนือจากการติดต่อกับชาวเรือที่เดินทางค้าขายแล้วยังปรากฏร่องรอยของคันดินซึ่งสันนิฐานว่าอาจเป็นถนนเชื่อมระหว่างเมือง นอกจากนี้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยหรือประติมากรรมล้วนแล้วแต่แสดงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และศิลปกรรม เช่น เทคนิคตัดศิลาแลง การสกัดหิน การทำประติมากรรม การหล่อสำริด การหลอมแก้ว ฯลฯ.

    โบราณสถานสมัยทวารวดี

    สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้แม้ว่าชื่อทวารวดีจะเป็นชื่อของสิ่งใดก็ตาม นั่นคือหลักฐานโบราณสถานโบราณวัตถุที่พบมากมาย ซึ่งล้วนมีลักษณะฝีมือทางศิลปกรรมที่คล้ายคลึงกันทุกแห่งทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมที่ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป พระพิมพ์ ธรรมจักร ใบเสมา ภาพปูนปั้น และภาพดินเผาประดับที่มีลักษณะเฉพาะ หรือ งานสถาปัตยกรรมอันได้แก่ สถูปเจดีย์และวิหารที่มีแผนผัง รูปแบบ วัสดุ เทคนิคการสร้าง ตลอดจนคติทางศาสนาเเบบเดียวกัน

    ซึ่งหากพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ลักษณะของความสัมพันธ์ร่วมกันเช่นนี้เป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของเมืองแต่ละเมืองสามารถติดต่อถึงกันได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะเมืองในที่ราบภาคกลาง มักตั้งใกล้ชายฝั่งทะเลเดิม มีร่องรอยทางน้ำติดต่อกับเมืองในภูมิภาคภายในและยังมีทางน้ำเข้าออกกับฝั่งทะเลโดยตรงด้วย อันสะดวกต่อการติดต่อภายในกันเองและติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวอินเดียได้เป็นอย่างดี เมืองโบราณสมัยทวารวดีโดยทั่วไป มีความคล้ายคลึงกันตั้งแต่พื้นที่ตั้งและผังเมือง คือมักตั้งอยู่บนดอนในที่ลุ่ม ใกล้ทางน้ำ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมมุมมนหรือค่อนข้างกลม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบหนึ่งหรือสองชั้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หรือป้องกันน้ำท่วม โบราณสถานขนาดใหญ่มักตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองเช่น เมืองโบราณนครปฐม มีวัดพระประโทน และเจดีย์จุลประโทนตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี มีโบราณสถานหมายเลข ๑๘ในวัดโขลงสุวรรณคีรี ตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง เมืองในของเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง เป็นต้น

    โบราณสถานแทบทั้งหมดใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในก่อสร้าง อาจมีการใช้ศิลาแลงบ้างแต่ไม่ใช้หินก่อสร้างเลย อิฐเผาอย่างดีไส้สุกตลอด เนื้ออิฐแข็งพอสมควร ส่วนยาวจะเท่ากับสองเท่าของความกว้าง ส่วนกว้างเป็นสองเท่าของความหนา อิฐมีขนาดใหญ่ ขนาด ๓๒x๑๖x๘ เซนติเมตรขึ้นไป ผสมแกลบมาก เป็นแกลบข้าวเหนียวปลูก

    การก่อใช้อิฐทั้งก้อน ไม่ขัดผิวแต่ก็ประณีต รอยต่ออิฐแนบสนิท สอด้วยดินบางๆ เป็นส่วนผสมของดินเหนียวละเอียด ผสมกับวัสดุยางไม้หรือน้ำอ้อย จนเหนียวคล้ายกาว ทำให้อิฐจับกันแน่นสนิทเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงถากเป็นลวดลาย แล้วปั้นปูนประดับ เนื่องจากสังคมทวารวดียอมรับพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทจากอินเดียเป็นหลัก (พบหลักฐานเนื่องในศาสนาฮินดูด้วยแต่ไม่มากนัก) ทำให้สังคมทวารวดีโดยทั่วไปเป็นสังคมพุทธ ดังนั้นอาคารโบราสถานทั้งหลายจึงเป็นพุทธสถานแทบทั้งสิ้น โบราณสถานเหล่านี้แสดงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ และหลังคุปตะ และปาละเสนะตามลำดับ แต่ได้ดัดแปลงผสมผสานให้เข้ากับลักษณะท้องถิ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน

    ประเภทและลักษณะของโบราณสถานสมัยทวารวดี

    เชื่อกันว่าศิลปกรรมอินเดียได้มีอิทธิพลต่องานศิลปกรรมในดินแดนประเทศไทยมานานตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ (พ.ศ. ๒๖๙-๓๐๗) ที่ทรงส่งสมณฑูต ๙ สายออก เผยแพร่พระพุทธศาสนาทั่วประเทศและนอกประเทศอินเดีย และสมณฑูตสายที่ ๙ คือพระอุตตรเถระและพระโสณเถระผู้เดินทางมายังดินแดนชื่อสุวรรณภูมินั้น สันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึง ดินแดนในประเทศไทยปัจจุบัน อันมีภาคกลางเป็นศูนย์กลางโดยเฉพาะที่เมืองนครปฐมโบราณ และยังเชื่อกันว่าเจดีย์เดิมองค์ในที่องค์พระปฐมเจดีย์สร้างครอบทับไว้ น่าจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขี้นในสมัยนั้นโดยอาศัยการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบกับเจดีย์สาญจีของอินเดีย ส่วนอาคารพุทธสถานอื่นๆที่ไม่เหลือปรากฏในปัจจุบัน อาจจะสร้างด้วยไม้จึงปรักหักพังไปหมด

    ร่องรอยของโบราณสถานมาปรากฏหลักฐานแน่ชัดอายุเก่าที่สุดตั้งแต่สมัยทวารวดีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา ทุกแห่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ-หลังคุปตะและราชวงศ์ปาละราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๓ และ ๑๔-๑๖ ตามลำดับ โบราณสถานส่วนใหญ่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา กำหนดอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ เกือบทุกแห่งปรักหักพังเหลือแต่เฉพาะส่วนฐาน แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภทคือ ฐานสถูปเจดีย์พบมากที่สุดกระจายอยู่ตามเมืองโบราณต่างๆทุกแห่ง นอกนั้นเป็นฐานวิหาร พบน้อย และสีมาหรือหลักกำหนดเขตบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีกรรมในศาสนาซึ่งมักพบตามเมืองโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    สถูปเจดีย์

    สถูป เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า "สตูป" ส่วนภาษาบาลีเรียกว่า "ถูปะ" แปลว่ามูลดิน สถูป หมายถึงสิ่งก่อสร้างเหนือหลุมฝังศพ หรือสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ลูกหลานและผู้เคารพนับถือได้สักการบูชา ถือกันว่ามีบุคคลที่ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็นที่สักการะของมหาชนอยู่เพียง ๔ พวก เรียกว่า ถูปารหบุคคล ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ์ ส่วน เจดีย์ มาจากคำว่า "เจติยะ"หรือ "ไจติยะ" หมายถึงสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งของที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชาระลึกถึง ในตำราพระพุทธศาสนากำหนดว่าเจดีย์ มีด้วยกัน ๔ ประเภท คือ

    1.                               ธาตุเจดีย์ หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ของพระมหากษัตริย์จักรพรรดิ

    2.                               บริโภคเจดีย์ หมายถึง สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้เป็นที่ระลึกถึงพระองค์เมื่อเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้แก่ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือสวนลุมพินีที่ประสูติ อุรุเวลาเสนานิคมที่ตรัสรู้ ป่าอิสิตปตนมฤคทายวันที่แสดงปฐมเทศนา และสาลวโนทยาน เมืองกุสินาราที่ปรินิพพาน ต่อมาได้เพิ่มที่แสดงปาฏิหาริย์อีก ๔ แห่ง คือเมืองสังกัสที่เสด็จลงจากดาวดึงส์ เมืองสาวัตตถีที่ทำยมกปาฏิหาริย์ เมืองราชคฤห์ที่ทรมาณช้างนาฬาคิรี และเมืองเวสาลีที่ทรมาณพญาวานร

    3.                               ธรรมเจดีย์ หมายถึงพระธรรม คัมภีร์ในพุทธศาสนา เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า ต่อมาเขียนลงเป็นตัวอักษรประดิษฐานไว้เพื่อบูชา

    4.                               อุเทสิกเจดีย์ หมายถึง สถานที่หรือสิ่งของที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะต้องทำเป็นอย่างไร เช่น พระพิมพ์ พระพุทธรูป ธรรมจักร บัลลังก์ เจดีย์ เป็นต้น

    สำหรับประเทศไทย คำว่า สถูป และ เจดีย์ เรามักรวมเรียกว่า "สถูปเจดีย์" หรือ "เจดีย์" มีความหมายเฉพาะถึงสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิหรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเพื่อเป็นที่ระลึก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในสมัยหลังลงมาคงมีการสร้างสถานที่เพื่อบรรจุอัฐิธาตุและเพื่อเคารพบูชาระลึกถึงพร้อมกันไปด้วย

    สถูปของอินเดียสมัยโบราณ เดิมเป็นการพูนดินขึ้นเป็นโคกตรงที่ฝังอัฐิธาตุแล้วลงเขื่อนรอบกันดินพัง มีการปักร่มหรือฉัตรไว้บนโคกเพื่อเป็นเกียรติยศ ต่อมามีการเติมแต่งสถูปให้งดงามและถาวรยิ่งขึ้น เช่นสร้างฐาน ลานทักษิณ มีบัลลังค์หรือแท่นฐานเหนือองค์สถูป ตกแต่งยอดสถูปเป็นรูปฉัตร และประดับประดาลวดลายต่างๆ ซึ่งลักษณะสถูปแบบนี้ได้ส่งอิทธิพลมายังดินแดนอาณาจักรโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งดินแดนประเทศไทยเมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาเป็นที่นับถือของประชาชน

    สถูปเจดีย์สมัยทวารวดี คงจะสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นอุเทสิกเจดีย์มากที่สุด จากหลักฐานที่เหลืออยู่เพียงเฉพาะส่วนฐานนั้น สามารถแบ่งตามลักษณะแผนผังได้เป็น ๔ รูปแบบใหญ่ๆ คือ ฐานรูปกลม ฐานรูปสี่เหลี่ยม ฐานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม และฐานแปดเหลี่ยม หรือสามารถแบ่งตามรายละเอียดที่ต่างกันได้เป็น ๑๓ รูปแบบย่อย ซึ่งแต่ละแบบล้วนแสดงวิวัฒนาการที่ สืบทอดจากต้นแบบในอินเดียเป็นระยะๆ และยังเป็นต้นแบบให้สถูปเจดีย์ในยุคต่อๆมาด้วย คือ

    ·         แบบที่ ๑ สถูปเจดีย์ฐานกลม น่าจะเป็นแบบที่เก่าที่สุด รับอิทธิพลต้นแบบมาจากสถูปสาญจีของอินเดียเช่น โบราณสถานหมายเลข ๓ (ภูเขาทอง) ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี สถูปกลมที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และพระปฐมเจดีย์องค์เดิม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น ลักษณะการก่อสร้างใช้ดินแลงอัดหรือก่ออิฐ สถูปเจดีย์ลักษณะนี้น่าจะเหมือนต้นแบบ คือลักษณะเป็นครึ่งวงกลม มีเวทิกาหรือรั้วกั้นโดยรอบ บนองค์สถูปประดับด้วยหรรมิกาหรือบัลลังก์ และมีฉัตรซ้อนกันสามชั้น และอาจมีบันไดทางขึ้นเพื่อกระทำประทักษิณและมีประตูทางเข้าขนาดใหญ่สี่ทิศ (โตรณะ)

    ·         แบบที่ ๒ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีองค์สถูปรูปกลมก่อข้างบน แต่ปัจจุบันสถูปกลมได้พังทลายหมด เช่น โบราณสถานหมายเลข ๘,,๑๑และ๑๕ ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ โบราณสถานหมายเลข ๑๑ ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และโบราณสถานหมายเลข ๖,๒๐และ๒๓/๒ ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรีเป็นต้น สันนิษฐานว่าองค์สถูปเดิมน่าจะมีลักษณะคล้ายหม้อน้ำหรือบาตรคว่ำ ตอนบนประดับด้วยฉัตรเป็นชั้นๆ ปลายสุดมียอดรูปดอกบัวตูมและที่แท่น(หรรมิกา)ที่ตั้งก้านฉัตรมีคาถาเย ธมมา สลักอยู่

    ·         แบบที่ ๓ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีองค์สถูปก่อข้างบน มีแนวบันไดเพียงด้านเดียว แนวบันไดบางครั้งก่ออิฐเป็นรูปอัฒจันทร์ เช่นโบราณสถานหมายเลข ๑๓,๑๖ ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

    ·         แบบที่ ๔ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ฐานชั้นที่สองทำเป็นช่องๆให้สวยงาม เช่นโบราณสถานหมายเลข ๔ ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

    ·         แบบที่ ๕ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ซ้อนทับบนฐานแปดเหลี่ยม เช่นโบราณสถานหมายเลข ๗ และ๑๐ ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

    ·         แบบที่ ๖ สถูปเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม เช่นโบราณสถานหมายเลข ๕ ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

    ·         แบบที่ ๗ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น มีลานประทักษิณรอบ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่เว้นช่องประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันตกอีกชั้นหนึ่ง ที่ลานประทักษิณมีบันไดขึ้นลง ๓ ด้าน(ยกเว้นทิศตะวันตก)เดิมอาจมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป พบที่โบราณสถานหมายเลข ๒ ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

    ·         แบบที่ ๘ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อเก็จทุกด้าน ฐานแบ่งเป็นช่องๆใหญ่เล็กสลับกัน ประดับด้วยภาพปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก และรูปสัตว์เช่น สิงห์ กินรี เช่นโบราณสถานหมายเลข ๓ ที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

    ·         แบบที่ ๙ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานล่างแต่ละด้านมีสถูปจำลองประดับที่มุมทั้งสี่ พบที่โบราณสถานหมายเลข ๒ ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม

    ·         แบบที่ ๑๐ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านมีมุขยื่น เหนือขึ้นไปเป็นสถูปกลม พบที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

    ·         แบบที่ ๑๑ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานมีช่องประดิษฐานพระพุทธรุปปูนปั้น ล้อมรอบด้วยลานประทักษิณ เช่นโบราณสถานหมายเลข ๑ ที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี

    ·         แบบที่ ๑๒ สถูปเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ย่อเก็จ ตั้งซ้อนอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมที่ใช้เป็นลานประทักษิณ ที่ลานมีบันไดยื่นทั้งสี่ทิศและมีอัฒจันทร์อยู่ทุกด้าน ท้องไม้ของลานประทักษิณมีเสาอิงแบ่งเป็นช่องประดับภาพชาดก องค์สถูปประดับด้วยพระพุทธรูปยืนในซุ้มแต่ละด้าน เช่นเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม

    ·         แบบที่ ๑๓ สถูปเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมซ้อนสองชั้น ฐานแต่ละด้านทำเป็นช่องแบบซุ้มพระด้านละสองซุ้ม นับเป็นแบบสวยพิเศษสุด พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑๓ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

    ฐานสถูปเหล่านี้สามารถเปรียบเทียบได้กับสถูปอินเดียสมัยคุปตะเป็นต้นมา และแม้องค์สถูปจะหักพังไปหมดแล้ว แต่อาจสันนิษฐานรูปทรงตามรูปจำลองหรือภาพสลักสถูปเจดีย์ที่พบในประเทศได้ว่ามีด้วยกัน ๓ แบบใหญ่ๆ คือ

    ๑. สถูปที่มีองค์ระฆังเป็นรูปโอคว่ำหรือครึ่งวงกลม มียอดเป็นกรวยแหลมเรียบอยู่ข้างบน ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยปาละ ซึ่งเจริญขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๗

    ๒. สถูปที่มีองค์ระฆังคล้ายหม้อน้ำหรือบาตรคว่ำ ยอดทำเป็นแผ่นกลมเรียงซ้อนกันขึ้นไปตอนบน บนยอดสุดมีลูกแก้วหรือดอกบัวตูมประดับ ที่แท่น (หรรมิกา) ที่ตั้งฉัตรมีจารึกคาถา เย ธมมาอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยรอบ

    ๓. สถูปที่มีองค์ระฆังคล้ายหม้อน้ำ ยอดสถูปคล้ายกรวยแต่มีลักษณะเป็นปล้องๆ ซ้อนติดกัน

    วิหาร

    เป็นอาคารที่คู่มากับการสร้างวัดตั้งแต่สมัยพุทธกาลในอินเดีย เดิมหมายถึงอาคารที่เป็น ที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุเพิ่มขึ้นวิหารจึงเป็นที่ประชุมสังฆกรรม และใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปตัวแทนของพระพุทธองค์อันเป็นประธานของการประชุมนั้น

    ในประเทศไทย วิหารพบตั้งแต่สมัยทวารวดีเป็นต้นมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ แต่พบไม่มากนัก มักตั้งหน้าสถูปเจดีย์เพื่อใช้เป็นที่กราบสักการะบูชาพระธาตุ ดังนั้นวิหารจึงสร้างไว้หน้าเจดีย์เสมอ จากการขุดค้นของกรมศิลปากรเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๗ ที่วัดโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และที่โบราณสถานหมายเลข๑๖ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้พบพื้นอาคารปูอิฐและศิลาแลง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ด้านหน้าเจดีย์ ผนังและหลังคาไม่ปรากฏคงเป็นเครื่องไม้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารที่สร้างสมัยแรกๆ แต่เนื่องจากพบน้อยเข้าใจว่าวิหารส่วนมากอาจจะสร้างด้วยไม้จึงผุพังไปหมด

    อาคารที่คาดว่าน่าจะเป็นวิหารอีก พบที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี มีทั้งวิหารในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ วิหารในศาสนาพุทธมักอยู่นอกเมืองเช่นโบราณสถานหมายเลข ๑, , ๗ และ๑๔ เป็นต้น ส่วนวิหารในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมักสร้างอยู่ในเมืองเช่น โบราณสถานหมายเลข ๑๐ และ ๒๒/๑-๕ เป็นต้น แผนผังของอาคารส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานเตี้ย ภายในมีแท่นประดิษฐานรูปเคารพ มีพื้นที่ว่างพอสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีทั้งวิหารผนังทึบและวิหารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง วิหารยังพบอีกกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นวิหารที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (มหาวิทยาลัยนาลันทา) ตามคติพุทธแบบมหายานลัทธิวัชรยานหรือตันตระที่กำลังแพร่หลายในขณะนั้น รูปแบบวิหารมีอยู่ด้วยกัน ๒ ลักษณะ คือ

    ๑. วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานสูง เช่นวิหารวัดโขลง ที่คูบัว จังหวัดราชบุรี มีบันไดขึ้นด้านทิศตะวันออกสู่ลานประทักษิณ ฐานประดับเสาอิงและซุ้ม แต่เดิมคงจะมีภาพปูนปั้นประดับอยู่

    ๒. วิหารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน คือวิหารที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม มีฐานรองรับ มีมุขทางเข้าทั้งสี่ทิศตรงกับพระพุทธรูปสี่องค์ที่ประดิษฐานอยู่หน้าผนังทึบตันสี่ด้านภายในวิหาร

    ๓. ใบสีมา หรือ ใบเสมา(Sema or Boundary stone)

    หมายถึง เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตชุมนุมสงฆ์ เป็นเขตที่สงฆ์ทั้งหลายต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้สงฆ์ต้องทำอุโบสถ ปวารณาและโดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกันเดือนละ ๒ ครั้ง จึงทรงกำหนดเขตสีมาที่มีเครื่องหมาย (นิมิต) ที่เป็นที่ทราบกัน นิมิตที่ทรงกำหนดมี ๘ อย่างได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก ถนน แม่น้ำ และน้ำ และเขตสีมาที่สมบูรณ์ต้องมีขนาดใหญ่พอที่พระสงฆ์ ๒๑ รูปเข้าไปนั่งหัตถบาสได้ แต่ไม่กว้างเกิน ๓ โยชน์ แต่เดิมครั้งพุทธกาลเขตสีมาน่าจะกำหนดเพื่อแสดงเขตวัดหรืออารามคล้ายกำแพงวัดในปัจจุบันมิใช่กำหนดเฉพาะเขตอุโบสถเท่านั้น ต่อมาจึงมีการนำสีมามาปักรอบเป็นเขตอุโบสถแทนเพื่อเป็นการแสดงเขตสังฆกรรมชุมนุมสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จะเริ่มเมื่อใดนั้นยังไม่อาจหาหลักฐานได้ การกำหนดนิมิตของสีมามีจุดกำหนดอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ ๓ แห่งเป็นใช้ได้ จึงเกิดวงสีมาเป็นรูปต่างๆคือ รูปสามเหลี่ยม (สีมามีนิมิต ๓ แห่ง) รูปสี่เหลี่ยมต่างๆ (สีมามีนิมิต ๔ แห่ง) รูปตะโพน (สีมามีนิมิต ๖ แห่ง)

    สีมา พบตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่บ้านกุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ ที่เมืองโบราณฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่บ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร ที่วัดพุทธมงคล อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น สีมาทวารวดีพบว่ามีการปักรอบสถูปเจดีย์ด้วย และบ่อยครั้งไม่พบซากอาคารเข้าใจว่าอาคารเดิมอาจสร้างด้วยไม้จึงผุพังไป บางแห่งปัก ๓ ใบและบางแห่งพบถึง ๑๕ ใบ นอกจากนี้บางครั้งยังพบปักรอบเพิงหินธรรมชาติ เช่น ที่หอนางอุสา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริเวณนี้อาจเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อผู้คนหันมานับถือศาสนาพุทธ จึงนำคติการใช้หินปักแบบ

    วัฒนธรรมหินตั้งเข้าผสมกับคติทางศาสนา มีการปักสีมาขึ้นกลายเป็นวัดป่าหรืออรัญญวาสีไป สีมาสมัยทวารวดีพบหลายแบบทั้งเป็นแผ่นคล้ายเสมาปัจจุบัน เป็นเสากลมหรือแปดเหลี่ยมหรือรูปสี่เหลี่ยม โดยทั่วไปสลักจากหินทราย มีขนาดใหญ่สูงตั้งแต่ ๐.๘๐ - ๓ เมตร มีภาพสลักโดยทั่วไปเป็นภาพสถูปยอดแหลม หรือสลักภาพเล่าเรื่องชาดก ภาพพุทธประวัติ และลายผักกูดก้านขด เป็นต้น

    โบราณวัตถุ

    ประติมากรรม

    ๑.๑ พระพุทธรูป มีลักษณะของอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ บางครั้งก็มีอิทธิพลของอมราวดีอยู่ด้วย ลักษณะวงพักตร์แบบอินเดีย ไม่มีรัศมี จีวรเรียบเหมือนจีวรเปียก ถ้าเป็นพระพุทธรูปนั่งจะขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒

    ๑.๒ พระพุทธรูปที่พัฒนาขึ้นจากแบบแรกโดยมีอิทธิพลพื้นเมืองผสมมากขึ้น ขมวดเกศาใหญ่ บางทีมีรัศมีบัวตูมเหนือเกตุมาลา พระพักตร์แบน พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐหนา ยังคงขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๓๑๕

    ๑.๓ พระพุทธรูปในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลศิลปเขมรเนื่องจากเขมรเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในสมัยเมืองพระนคร ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ศิลปกรรมแบบทวารวดี ในระยะนี้จึงมีอิทธิพลเขมรแบบบาปวน หรืออิทธิพลศิลปเขมรในประเทศไทยที่เรียกว่าศิลปลพบุรีปะปน เช่น พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลักยิ้ม นั่งขัดสมาธิราบ เป็นต้น นอกจากพระพุทธรูปแล้วยังพบสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงการสืบทอดแนวคิดทางศิลปอินเดียโบราณก่อนหน้าที่จะทำรูปเคารพเป็นรูปมนุษย์ภายใต้อิทธิพลศิลปกรีก

    ประติมากรรมกลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า

    เป็นประติมากรรมศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อยู่ร่วมสมัยกับทวารวดีตอนต้น และตอนปลาย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑๑๓ ที่เมืองศรีมโหสถ และเมืองศรีเทพ และพบอยู่ร่วมกับศรีวิชัยและทวารวดีที่ภาคใต้ของประเทศไทย มักจะทำเป็นรูปพระนารายณ์

    ลักษณะพระพักตร์จะไม่เหมือนพระพุทธรูปแบบทวารวดีเลย จะมีลักษณะคล้ายกับอินเดีย ตัวอย่างเช่น พระนารายณ์ที่ไชยาแสดงลักษณะอิทธิพลศิลปอินเดียแบบมทุรา และอมราวดี(พุทธศตวรรษที่ ๖-๙) รวมทั้งที่พบที่นครศรีธรรมราช ซึ่งถือสังข์ด้วยพระหัตถ์ซ้ายด้านล่าง ผ้านุ่งและผ้าคาดที่พบที่ภาคใต้และที่เมือง ศรีมโหสถ จะมีผ้าคาดเฉียงเหมือนศิลปอินเดียหลังคุปตะ (ปัลลวะ) ในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๒ ส่วนเทวรูปรุ่นเก่าที่ศรีเทพจะมีอายุใกล้เคียงกันและที่ศรีเทพ นอกเหนือจากที่จะพบรูปพระนารายณ์แล้วยังพบรูปพระกฤษณะและพระนารายณ์ด้วย

    ลักษณะของเทวรูปกลุ่มนี้ไม่เหมือนกับที่พบในเขมรเนื่องจากกล้าที่จะทำลอยตัวอย่างแท้จริง ไม่ทำแผ่นหินมารับกับพระหัตถ์คู่บน แต่ยังไม่มีการนำเอากลุ่มเทวรูปนี้เข้าไปไว้ในศิลปทวารวดี จึงเพียงมีแต่สมมุติฐานว่าเทวรูปกลุ่มนี้น่าจะเป็นทวารวดีที่เป็นพรหมณ์ การเข้ามาของเทวรูปนี่มีข้อคิดเห็นแตกไปเป็น ๒ ทางคือ เป็นศิลปอินเดียที่นำเข้าที่พร้อมกับการติดต่อค้าขาย หรือเป็นศิลปะแบบอินเดียที่ทำขึ้นในท้องถิ่น และมีการพัฒนาการภายใต้อิทธิพลศิลปะพื้นเมืองแบบทวารวดี และศรีวิชัย

    เครื่องมือเครื่องใช้

    เครื่องมือเครื่องใช้ที่พบในแหล่งทวารวดีทั่วไปมักจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เศษภาชนะดินเผา เนื้อดินมักทำเป็นภาชนะปากบาน ภาชนะทรงหม้อตาล เศษภาชนะเคลือบ มีทั้งที่เป็นเครื่องเคลือบจีนในสมัยราชวงศ์ถังถึงสมัยราชวงศ์หยวน เครื่องเคลือบจากเตาในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เครื่องเคลือบเปอร์เซีย เครื่องใช้อื่น ๆ ก็มีพบ เช่น กุณฑีดินเผา กาดินเผา ตะคันดินเผา กระสุนดินเผา ที่ประทับตราดินเผา ตุ๊กตาดินเผา ฯลฯ นอกจากเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังพบเครื่องใช้สำริด ทั้งเป็นเครื่องใช้ทั่วไปกับที่เป็นของของสูง หรือของที่ใช้ในพีธีกรรม เช่นคันฉ่อง เครื่องประกอบราชยานคานหาม และเครื่องใช้ทำจากเหล็ก นอกจากเครื่องใช้แล้วยังพบเครื่องประดับทำจากหิน แก้ว ดินเผา สำริด ทองคำ ได้แก่ ลูกปัด แหวนตุ้มหู กำไล ฯลฯ
    - -- -

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    คำนิยม Top

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    คำนิยมล่าสุด

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    ความคิดเห็น

    ×