ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #370 : เรื่องหลอนๆ (หรือเปล่า?) ที่ซ่อนอยู่ใน Gakkou Gurashi

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.41K
      1
      16 ธ.ค. 58

    Fan Theory หรือ ทฤษฏีแฟนพันธุ์แท้  (หรือ ทฤษฏีแฟนคลั่งไคล้)  หมายถึงทฤษฏีที่เกิดจากสาวกของสื่อบันเทิงใดๆได้คิดลงลึกหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในสื่อบันเทิงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ วิดิโอเกม หรือแม้แต่เนื้อเพลงก็ยังได้  โดยสิ่งที่ยกว่านั้นส่วนมากเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้สังเกตมากนัก และเนื้อเรื่องก็ไม่อธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมเป็นอย่างนั้น บางคนอาจละเลยไป แต่แฟนพันธุ์แท้เหล่านี้ต่างไม่ พวกเขาสังเกต พวกเขาตั้งคำถาม และตั้งข้อสมมุติฐาน จนบางอย่างคนแต่งก็ไม่ได้นึกหรือไม่ได้คิดเลยแม้แต่น้อย

                    พูดง่ายๆ มันก็เหมือนทฤษฏีสมคบคิดนั้นแหละ เพียงแต่ทฤษฏีแฟนพันธุ์แท้นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการสังเกต ในสิ่งที่หลายคนไม่ได้คิดอะไรสักนิด แต่แฟนพันธุ์แท้ก็สังเกตจนได้ และเล่าเป็นฉากๆ จนดูเหมือนน่าเชื่อถือ แสดงให้เห็นว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้เรื่องนี้จริง และบางทฤษฏีก็สามารถโต้เถียงได้ และพวกเราก็สามารถคิดทฤษฎีของเราเองได้เช่นกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามันถูกหรือผิดได้ 100% ยกเว้นเสียแต่จะได้รับการยอมรับจากเจ้าของผลงาน

                    สำหรับตัวอย่าง ในวงการการ์ตูนตะวันตกก็มีทฤษฏีมากมายในการสังเกตการ์ตูนแต่ละเรื่อง ซึ่งผมได้ยกตัวอย่างในบทความ ไว้แล้วที่ http://my.dek-d.com/kiria/writer/viewlongc.php?id=125456&chapter=130

    สำหรับบทความนี้เราจะพูดถึงทฤษฏีแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนญี่ปุ่นกันบ้าง ซึ่งก็มีเยอะเหมือนกัน ส่วนมากจะเป็นการ์ตูนดังๆ อย่าง  วันพีช (ทำไมมีตัวอักษร D. อยู่ตรงกลาง ในตัวละครสำคัญในเรื่อง), โดเรมอน (ทำไมโดเรมอนเปลี่ยนอนาคต), ดราก้อนบอล (คุริรินเก่งที่สุดในจักรวาลดราก้อนบอล) และฮารุฮิ (ความจริงแล้ว ฮารุฮิไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นเคียวห์ต่างหาก)

    อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้เราจะไม่พูดถึงทฤษฏีแฟนพันธุ์แท้เรื่องเหล่านี้แต่อย่างใด แต่เราจะมาพูดถึงตัวละครหนึ่งในเรื่อง Gakkou Gurashi ซึ่งถือว่าเป็นตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจ และมีอะไรให้พูดถึงมากเหมือนกัน

     

     

     

    Gakkou Gurashi เป็นผลงาน Kaihou Norimitsu (Author) และ Sadoru Chiba (Artist) ซึ่งตอนแรกเป็นมังงะ และได้ประกาศเป็นอนิเมะฉายในปี 2015 ที่ผ่านมา

                 โดยในเรื่องได้กล่าวถึงทาเคยะ ยูกิ เด็กสาวซื่อๆ มองโลกในแง่ดี ที่ชอบโรงเรียนมาก จนกระทั่งวันหนึ่งจู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ซอมบี้ระบาด กัดคนไปทั่ว ไม่เว้นแต่คนในโรงเรียน ต่างโดนซอมบี้กัด แล้วกลายเป็นซอมบี้จนเกือบหมด ทำให้ในโรงเรียนเหลือเพียงไม่กี่คน

      Gakkou Gurashi ถือว่าเป็นอนิเมะที่หลอกคนดูตั้งแต่ตอนแรกอย่างแท้จริง (แต่ไม่ใช่อนิเมะเรื่องแรกที่หลอกคนดูตอนแรก (ความจริงสมัยก่อนก็มีอนิเมะเรื่อง Ga-Rei Zero  ก็หลอกคนดูตั้งแต่ตอนแรกซะอยู่หมัดเหมือนกัน) กล่าวคือ เปิดเรื่องออกมาเหมือนเป็นการ์ตูนโมเอะแสนสดใส ที่เรื่องราวชีวิตในโรงเรียนทาเคยะ ยูกิ เด็กสาวซื่อๆ มองโลกในแง่ดี ที่ชอบโรงเรียนมาก  

    ตอนทั้งตอนแรกเราเห็นแต่ความโมเอะซื่อๆ ของยูกิ และรุ่นน้องนาโอกิ มิกิ ตามหาน้องหมาทั่วโรงเรียน จนคนดูอาจรู้สึกเบื่อๆ เพราะคิดมาเป็นแนวโมเอะธรรมดา  หากแต่เมื่อถึงตอนใกล้จบตอนแรกก็พบว่าสิ่งที่ดูทั้งหมดนั้นคือความทรงจำที่สวยงามยูกิเท่านั้น ส่วนเบื้องหลังคือโลกแห่งความจริงอันโหดร้าย ที่ในเมือง และโรงเรียนที่เคยคึกคัก ตอนนี้กลายเป็นกลับเพียงอาคารร้าง และเต็มไปด้วยฝูงซอมบี้!!

    และนั้นทำให้ Gakkou Gurashi กลายเป็นการ์ตูนอนิเมะที่น่าสนใจแห่งปี 2015 โดยบริยาย

    แน่นอนว่าเมื่อเปิดตอนแรกแรงๆ แบบนี้ หลายคนก็อยากติดตามต่อแน่นอน ซึ่งหลังจากนั้นอนิเมะก็เริ่มเล่าย้อนไปวันก่อน ที่จู่ๆ ก็เกิดซอมบี้ระบาด กัดคนไปทั่ว ไม่เว้นแต่คนในโรงเรียน ต่างโดนซอมบี้กัด แล้วกลายเป็นซอมบี้จนเกือบหมด ทำให้ในโรงเรียนเหลือเพียงไม่กี่คน

    เหล่าผู้เหลือรอดกลุ่มสุดท้าย ประกอบด้วย ทาเคยะ ยูกิ สาวน้อยร่าเริง, เอบิสุชาวะ คุรุมิ สาวทวินเทล, วากาสะ ยูริ รุ่นพี่ที่เป็นประธานชมรมใช้ชีวิตในโรงเรียน (ทั้งสามคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จนกระทั่งเกิดเหตุซอมบี้ระบาด) และ ซากุระ เมกุมิ อาจาย์สอนญี่ปุ่น ทั้งหมดล้วนเป็นผู้หญิงและไม่มีกำลังพอที่จะสู้ซอมบี้มากมายที่ล้อมโรงเรียน

    พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้สิ้นหวัง เหล่าผู้รอดชีวิตได้พยายามสู้ในสิ่งที่มี ด้วยการก่อตั้งชมรมใช้ชีวิตในโรงเรียน ปลูกผัก, หาอาหาร, สำรวจ และเสริมสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันซอมบี้ จนสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขระดับหนึ่ง บนอาคารเรียนที่เต็มไปด้วยซอมบี้ได้

    แต่ทว่า ในเวลาต่อมา ยูกิได้พบกับเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เธอกลายเป็นคน “น็อตหลุด” ที่ใช้ชีวิตกับความทรงจำที่สวยงาม โดยไม่สนโลกแห่งความจริง เธอมองโรงเรียนเป็นปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุยกับเพื่อนในห้องทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีใครอยู่ตรงนั้นซอมบี้นั้นกลายเป็นวิญญาณร้ายที่ชอบโผล่ตอนกลางคืน รวมไปถึงการสร้างคนที่เธอรักว่ามีชีวิตอยู่ทั้งๆ ที่ตายแล้ว

    Gakkou Gurashi เป็นการ์ตูนที่ดำเนินเรื่องค่อนข้างแปลก แตกต่างจากแนวเอาตัวรอดทั่วไป เพราะมีการใส่ตัวละครแนวโมเอะ ผสมกับแนวซอมบี้ที่มีจุดขายความตาย, ความขัดแย้ง, ความอลหม่านและหวาดกลัวจากภัยของซอมบี้เป็นหลัก

    อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของ  Gakkou Gurashi กลับไม่ได้เน้นเอาตัวรอด แต่เน้นการชีวิตที่ยังคงเต็มไปด้วยกำลังใจ, ร่าเริง, ยังคงคุมสติในการเอาตัวรอดและใช้ชีวิต (เกือบ) ทุกอย่างยังคงเป็นปกติในรั้วโรงเรียน ทั้งๆ ที่ในการ์ตูนญี่ปุ่นแนวซอมบี้ระบาดแล้วโรงเรียนถือว่าเป็นสถานที่อันตรายมากที่สุด

     

     


    นอกจากนี้ตัวอนิเมะนั้นค่อนข้างน่าสนใจ เพราะมีการสอดแทรกความจริงของเรื่องราวทั้งหมดในโรงเรียน เอาไว้ ให้เราได้สังเกตอะไรกันเยอะ (หากตาไว) บางอย่างก็ดูเศร้าๆ บางอย่างก็ดูหลอนๆ  (ที่เด่นสุดคือ ข้อสังเกตว่าอาจารย์มิกุตายแล้ว)  และหนึ่งในข้อสังเกตแปลกๆ ที่หลายคนออกมาตั้งกระทู้คือ สีเสื้อนักเรียนของยูกินั่นเอง  

    ความจริงแล้วมีคนสังเกตสีเสื้อของยูกินั้น เป็นของเมืองนอก (แล้วไทยก็เอามาตั้งกระทู้อีก) เรื่องมันมีอยู่ว่า มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @ mikko367 ได้ตั้งประเด็นคำถามว่า “เหตุใดชุดเครื่องแบบนักเรียนของยูกิถึงมีสีม่วงคนเดียว ในขณะที่คนอื่นเป็นสีเขียวหมด”

    ตอนแรกๆ ประเด็นไม่มีใครสังเกตมากนัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา กล่าวคือ โรงเรียนหนึ่งอาจมีเครื่องแบบแตกต่างกัน อย่างนักเรียนหญิงก็มี 3 แบบ ขึ้นอยู่กับชั้นปี นั้นคือ ปี1, ปี2 และปี3 ซึ่งยูกิอาจเป็นรุ่นน้อง ส่วนคนอื่นๆ เป็นรุ่นพี่ สีเสื้อเลยต่างกัน

    แต่ปรากฏว่า มันไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะจากเนื้อเรื่อง เห็นได้ชัดว่า ยูกิ, คุรุมิ (ทวินเทล) และยูริอยู่ปีเดียวกัน แต่อยู่คนละห้องกัน

    ยิ่งกว่านั้นในช่วงหลังก็มีตัวละครใหม่นาโอกิ มิกิ (มี่คุง) ซึ่งเป็นรุ่นน้องของพวกยูกิมาเข้ากลุ่ม ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าสีชุดเครื่องของมิกิงแบบนั้นเป็นสีเขียว ดังนั้นตัดเรื่องโรงเรียนของยูกิแบ่งสีเครื่องแบบแต่ละชั้นปีได้เลย?

     

    แล้วความจริงมันคืออะไรกันแน่?

     

    หากเราติดตามอนิเมะจะพบว่ามีตัวละครหญิงในโรงเรียนสวมเครื่องแบบนักเรียนสีม่วงเหมือนกับยูกิ หากแต่คนที่ว่าล้วนไม่มีชีวิตอยู่บนโลกแล้วทั้งสิ้น

     

     

     

    -บรรดาเพื่อนๆ ร่วมชั้นของยูกิสวมเสื้อสีม่วง ซึ่งต่อมาก็พบว่าเพื่อนของยูกิความจริงแล้วเป็นเพียงแค่ภาพมโนภาพ (ลวงตา) โลกสวยของยูกิเท่านั้น และเชื่อว่าทั้งหมดคงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ซอมบี้ระบาดหมดแล้ว

    (ที่น่าสังเกตคือเหตุการณ์ซอมบี้ระบาดนั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังเลิกเรียนตอนบ่าย ซึ่งก็น่าจะมีนักเรียนน้อยมากที่อยู่ในโรงเรียนเวลานั้น หากแต่ในเรื่องก็อธิบายแล้วว่าซอมบี้หลายตัวยังมีพฤติกรรมของมนุษย์อยู่ แม้จะตายแล้วก็ยังไม่เลิกพฤติกรรมนั้น และยังทำเหมือนครั้งมีชีวิต เช่น  หากเป็นซอมบี้นักเรียนก็ยังคงไปโรงเรียนตอนเช้า และกลับมายังบ้านตอนเลิกเรียนตอนเย็น เป็นต้น)

     

     

     

    -ที่น่าสนใจในตอนที่ 2 คุรุมิ (ทวินเทล) ได้ฆ่าซอมบี้หญิงตัวหนึ่ง ขณะที่เดินสำรวจ ซอมบี้ตัวที่ว่านั้นสวมเสื้อสีเขียว หากแต่หลังจากคุรุมิได้ฆ่าซอมบี้หญิงตัวนั้น  ก็มีมือถือตัวหนึ่งหล่นจากตัวซอมบี้ เมื่อเปิดออกมาก็พบว่าเป็นภาพถ่ายแปะของเด็กสาว (ที่เชื่อว่าเป็นซอมบี้หญิงสมัยยังเป็นคน) กับแฟนตอนที่ยังมีชีวิต แต่ที่แปลกคือเธอนั้นสวมเสื้อสีม่วง!!  มันเป็นไปได้ยังไงทั้งๆ ที่เป็นคนเดียวกันแท้ๆ

     

     

     

    เพิ่มความลึกลับ พิศวงขึ้น เมื่อลองเอาภาพของตัวละครหลักในเรื่องทั้ง 4 คน เอามา invert color (เปลี่ยนสีตรงกันข้าม) จะพบว่าหากยูกิเปลี่ยนสีตรงข้าม ก็จะแทบเป็นสีเดียวกับสีเขียวขี้ม้าปกติเลย (ในขณะเดียวกันหากตัวละครอื่นนอกจากยูกิเปลี่ยนสีตรงข้าม ก็จะเป็นสีม่วงเหมือนสีเสื้อของยูกิด้วย)

     

    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดข้อสันนิษฐานน่ากลัวเกิดขึ้น หลายทิศทาง เป็นต้นว่า


    -เป็นไปได้ไหมที่ สีเสื้อเครื่องแบบที่แท้จริงคือ “สีม่วง” และไม่มีสีเครื่องแบบ “สีเขียว” อยู่ในโรงเรียนของยูกิ (อ้างอิงจากภาพถ่ายชุดนักเรียนหญิงที่คุรุมิพบมือถือ ซึ่งน่าจะเป็นสีเสื้อจริง)

    -เป็นไปได้ไหมที่ ยูกิสมองฟั่นเฟือน มองทุกอย่างหนีความจริง และกลับตาลปัตร มองเสื้อม่วงเป็นสีเขียวขี้ม้า

    ต่อไปนี้เป็นข้อสันนิษฐานเล่นๆ ของผม (ไม่จริงจัง และไม่อยากให้มันเกิด)

    -เป็นไปได้ไหมที่ เรื่องทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซอมบี้อาละวาดไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ความฝันของยูกิเท่านั้น เพราะปกติยูกิเองก็เพี้ยนๆ ชอบนอนหลับในห้องเรียน บางทีเธออาจฝันแปลกก็ไม่ได้ สังเกตว่าตลอดทั้งเรื่องมีอะไรหลายอย่างไม่สมเหตุผล ไปจนถึงจินตนาการของยูกิที่สร้างฝันแบบนี้ขึ้นมาเอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงมีหวังตอนจบมีอันต้องปาหมอนแน่นอน

    -เป็นไปได้ไหมที่ เป็นไปได้ไหมที่ ยูกิอาศัยอยู่ในโลกนี้คนเดียว!? ….. หมายถึงยูกิเอาตัวรอดในโลกที่เต็มไปด้วยซอมบี้ตามลำพัง ส่วนเพื่อนๆ ของเธอ ไม่ว่าคุรุมิ, รีซัง, มีคุง นั้นไม่มีตัวอยู่จริง ทั้งหมดตายไปหมดแล้ว และทั้งหมดเป็นเพียงเพื่อนจินตนาการของยูกิเอง เพื่อให้มีกำลังใจอยู่ต่อไป ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ในเมื่อเสื้อสีเขียวเป็นเพียงภาพลวงตา ดังนั้นคนที่ใส่เสื้อสีเขียวย่อมไม่มีอยู่จริงด้วย

    (มุกนี้เอามาเล่นบ่อยๆ อย่าง Call of Duty: Black Ops ภาคแรก )

    -เป็นไปได้ไหมที่ (อันนี้โหดหน่อย) ความจริงยูกิตายไปแล้ว และกลายเป็นซอมบี้ แต่สมองบางส่วนทำงานอยู่ และความทรงจำว่าตนเป็นคนปกติธรรมดา ร่าเริง

    และสุดท้าย น่าจะเป็นคำตอบที่น่าจะถูกต้องมากที่สุด และอยากให้เป็นแบบนั้น

    -โรงเรียนแห่งนี้มีสีเครื่องแบบสองสี คือสีม่วงและสีเขียวขี้ม้า แล้วแต่นักเรียนอยากจะใส่สีไหน และยูกิเลือกใส่เสื้อสีม่วง และพอดีเหตุซอมบี้ระบาด ฆ่าคนในโรงเรียน จนกลายเป็นว่าเหลือยูกิคนเดียวที่ใส่สีม่วง ส่วนซอมบี้ที่คุรุมิฆ่าก็ไม่ได้มีอะไรมาก บางทีเจ้าตัว (ซอมบี้) อาจมีเสื้อสองสีเอาไว้ใส่ก็ได้ และพอดีตอนเกิดซอมบี้ระบาดเจ้าตัวใส่เสื้อสีเขียวก่อนกลายเป็นซอมบี้ก็ได้ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรพิเศษทั้งสิ้น (พูดง่ายๆ คือเป็นคำตอบไม่ต้องเน้นจิตวิทยา ไม่ต้องซับซ้อน และไม่ปวดตับที่สุด)

     

    ความจริงแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่ตัวละครสีเสื้อไม่เหมือน บางเรื่องตัวละครเอกยังแต่งกายไม่เหมือนคนรอบข้างเลย ทั้งนี้เพราะคนแต่งต้องการให้ตัวละครเอกนั้นโดดเด่นกว่าใคร เหมือนกับยูกิ Gakkou Gurashi ที่ใส่เสื้อสีม่วงแตกต่างจากคนอื่นเพื่อแสดงให้เห็นว่า เธอเป็นคนพิเศษ และเป็นคนนำเรื่องนี้นั้นเอง

     

    แน่นอนว่าข้อสันนิษฐานที่ผมยกมานั้นก็ไม่มีถูกหรือผิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนแต่งเรื่องว่าจะดำเนินเรื่องไปทางทิศทางใด  ปัจจุบันการ์ตูนมังงะเรื่องนี้กำลังช่วงภาค “มหาลัย” ซึ่งพวกยูกิยังต้องผจญภัยอีกมาก ก็หวังว่าเนื้อเรื่องจะไม่ทำอะไรที่โหดร้ายมากเกินไป และถึงบทสรุปที่มีความสุขเสียที

     

    จบเรื่องสีของผ้า มาคราวนี้มาขอพูดถึงตัวยูกิกันบ้าง

     

    ยูกิถือว่าเป็นตัวเอกที่มีพัฒนาการที่ดีอีกคน แม้ว่าตอนแรกๆ หลายคนมองยูกิ เป็นคนที่พยายามหนีความจริง โดยสร้างโลกขึ้นมาใหม่ มองทุกอย่างปกติสุข ไม่มีซอมบี้เกิดขึ้น และทุกคนยังอยู่ดี

    หลายคนบอกว่ายูกิเป็นคนโลกสวย ไม่มองโลกความจริง หนีโลกที่โหดร้าย จนหลายคนมองว่าเป็นหนู “น็อตหลุด” พังไปแล้ว ต้องให้คนอื่นช่วย หรือพึ่งพาคนอื่นเสมอ จนเหมือนเป็นภาระให้กับคนอื่นในเรื่องมากกว่า

    คำว่าโลกสวยนั้น ความจริงมันค่อนข้างกำกวม ออกไปในเชิงด่า คือ มนุษย์ที่มองโลกในแง่บวกแบบไร้สติ เชื่อ ยึดถือ งมงายบางสิ่ง โดยไม่อยู่หลักเหตุผลและไม่ยอมรับความจริง ปิดกั้นความคิดเห็นของคนอื่น

    ส่วนใหญ่แล้วคนที่ถูกด่าว่าโลกสวยนั้น มักเป็นคนที่มีความคิดเห็นต่าง และมักมีความคิดที่ไม่เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เป็นต้นว่า ลุงมอร์แกน ใน The Walking Dead ที่ยึดมั่นว่ามนุษย์เรา (คนชั่ว) สามารถกลับใจเป็นคนดีได้ แม้ว่าโลกใบนี้จะเลวร้ายก็ตาม สำหรับหลายคนแล้วไม่ค่อยชอบหลักการนี้ของลุงมอร์แกนมากนัก เพราะมันไม่เข้ากับยุคสมัยซอมบี้ระบาดที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง การหักหลัง และเชื่อใจใครไม่ได้ นอกจากตัวเรา

    คำถามต่อมา ยูกิควรถูกว่าเป็นคนโลกสวยหรือเปล่า..... หากเราดูการ์ตูนเรื่องนี้ดำเนินเรื่องไปสักพัก เราจะรู้ว่ายูกินั้นไม่ใช่ “คนโลกสวย” และคนอย่างยูกินั้นมีสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เราคิดไว้

    ความจริงแล้วยูกิไม่ได้เป็นคนโลกสวยแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “กลไกการป้องกันตัวเอง” ต่างหาก

    อาการของยูกินั้นไม่ได้เกิดขึ้นตอนเกิดช่วงซอมบี้ระบาดในครั้งแรก หากแต่เป็นตอน (ต่อไปนี้คือสปอย) อาจารย์มิกุเสียสละตนเองเพื่อช่วยลูกศิษย์ของเธอจากซอมบี้ จนทำให้อาจารย์มิกุกลายเป็นซอมบี้ไป ทางด้านมิกุนั้นเสียใจมาก เพราะอาจารย์มิกุนั้นเป็นทั้งครูและคนที่ยูกิรักที่สุด และนั้นเองทำให้กลไกการป้องกันตนเองของยูกิเกิดขึ้น ด้วยการทำให้ยูกิปิดกั้นความจริงว่าอาจาร์ยมิกุไม่ตาย และสร้าง “ภาพลวงตา” ว่าอาจารย์มิกุยังมีชีวิตอยู่ และคอยอยู่ข้างๆ ยูกิตลอด

    กลไกการป้องกันตนเองทางจิตของมนุษย์ (Defence mechanism) หมายถึง การหาทางออกให้กับจิตใจ เมื่อมนุษย์เผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย แน่นอนว่าหลายคนนั้นยอมรับไม่ได้ที่จะเจอความจริงที่โหดร้ายแบบไมตั้งตัว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรับไม่ได้ในสิ่งที่เกิดขึ้น (เป็นต้น ชาวยิวในค่ายกักกันของนาซี, นักโทษถูกจำคุกนรก, มนุษย์ที่อาศัยอยู่กลางสงคราม  ที่มักเจอแต่เรื่องเลวร้านตลอด เป็นต้น) และนั้นเองทำให้สมองและจิตใจของเราพยายามที่จะแก้ไขความสับสนในจิตใจ และต่อต้านความเจ็บปวดทางจิต ซึ่งมีหลายลักษณะ เป็นต้นว่า ทดแทนสิ่งที่สูญเสีย, การเลียนแบบ, โทษคนอื่น, หาที่ศรัทธาใหม่, การใช้สิ่งหนึ่งเป็นต้นแทนของสิ่งหนึ่ง ฯลฯ

    กลไกการป้องกันตนเองทางจิตของยูกินั้นสามารถเดาได้ว่าเป็นลักษณะของ Fantasy เป็นการสร้างเรื่องราวที่ไม่เป็นจริงขึ้นมาในใจเพื่อให้สมปรารถนา เป็นการหลบหนีจากโลกความเป็นจริงที่ไม่น่าอยู่ และ Denial คือการปฏิเสธความเป็นจริงที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยง่าย

    กลไกการป้องกันตนเองทางจิตนั้นไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นการปรับตัว เพื่อให้จิตใจกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล ไม่ได้เป็นบ้า หรืออาการหนักจนเยียวยาจนน่าเป็นห่วง ซึ่งสามารถหายได้เองได้ หรือมีคนดูแลจนหาย ขึ้นอยู่กับเวลาว่าจะนานเพียงใดถึงจะทำใจได้


    หากเราติดตาม Gakkou Gurashi  เรื่อยๆ จะพบว่ายูกินั้นไม่ได้อาการหนักอย่างที่หลายคนคิดเอาไว้ ยูกิรู้ตัวดีด้วยซ้ำ และเธอทำตัวเช่นนี้ก็เพราะต้องการไม่ให้คนรอบข้างเครียด และเมื่อถึงเวลายูกิก็กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งและพร้อมเผชิญโลกกว้างทุกคน


     


    Gakkou Gurashi  จึงเป็นการ์ตูนที่แฝงไปด้วยสาระที่น่าสนใจ มันเป็นมากกว่าแนวโมเอะ หรือแนวเอาตัวรอดที่เอาแต่วิ่งหนี และเป็นหนึ่งในการ์ตูนอีกเรื่องที่เราหวังว่ามันจะจบอย่างมีความสุข










    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×