ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #348 : การ์ตูนของฮิโตชิ โทมิซาวะ - การ์ตูนที่คุณไม่มีวันเข้าใจ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.16K
      2
      20 ก.ค. 58

    Serial Experiments Lain (1998) เป็นการ์ตูนอนิเมะที่เนื้อหาซับซ้อนและดูยาก (จนไม่เข้าใจ) เพราะ

    เนื้อหาสอดแทรกเรื่องของพระเจ้า, ไซไฟ, โลกคู่ขนาน พร้อมกับปรัชญาที่เข้าใจยาก แถมยังมีการดำเนินเรื่องกลับไปกลับมา จับต้นชนปลายไม่ถูก ว่ามันคืออะไร ตัวละครทำอะไร ทำไมถึงแบบแบบนี้ ไม่อธิบายหน่อยเหรอ? เกิดอะไรขึ้น? ทำไม? เพราะอะไร?  ความสงสัยเหล่านี้ได้ทับถมเรื่อยๆ แทนที่จะเคลียร์ก็ยิ่งมึนหนักขึ้น

              แม้ว่า Serial Experiments Lain จะเป็นการ์ตูนไม่รู้เรื่อง หลายคนดูไม่จบ แต่อย่างไรก็ตามมีบางคนโรคจิตดูจนจบ พร้อมกับชื่นชมว่าเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาดีเยี่ยม การเล่าเรื่องที่น่าดึงดูด แน่นอนว่าแม้จะไม่เก็ทก็ตาม

              บางครั้งการ์ตูนที่เนื้อหาซับซ้อน งง ก็เป็นที่หลงใหลสำหรับคนอ่านบางคน แม้เนื้อหาจะไม่รู้เรื่อง ไม่มีวันเข้าใจ แต่ก็เป็นแรงผลักให้ติดตามต่อ เพื่อต้องการรู้ว่ามันจะ แต่เป็นยังไงต่อไป

              หาก Serial Experiments Lain คือการ์ตูนอนิเมะที่ดูแล้ว งง ที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว การ์ตูนของฮิโตชิ โทมิซาวะ (Hitoshi Tomizawa) น่าจะเป็นการ์ตูนที่อ่านแล้ว งง ดับเบิ้ล งง ที่สุดในวงการมังงะตามความรู้สึกของผม

     

     

     

              ฮิโตชิ โทมิซาวะ เป็นนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงจากเรื่อง Alien 9  (1998) แม้จะไม่ค่อยข้อมูลของคนเขียนคนนี้มากนัก  แต่ดูจากผลงานก็น่าจะมีคนเขียนที่มีอายุมากพอสมควร ผลงานของฮิโตชิส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงปี 2000-2004 และเป็นการ์ตูนที่ไม่กี่เล่มจบ เนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นแนวเด็กผู้หญิงและแมลง โดยผลงานที่ผ่านมามีดังต่อไปนี้ (เรื่องจากผลงานเก่าถึงผลงานล่าสุด)

              -Uchuu Juubee   Shounen   (1994) แนวโชเน็น

              -Alien 9   (1998) แนวแอ็คชั่น, ดราม่า, สยองขวัญ, ผู้ใหญ่, ชีวิตประจำวันในโรงเรียน, ไซไฟ, ไซเน็น

              -Milk Closet   (2000) แอ็คชั่น, แฟนตาซี, จิตวิทยา, ไซไฟ, ไซเน็น

              -Propeller Heaven   (2000)  แนวตลก, ไซไฟ, ไซเน็น

              -Alien 9 - Emulators   (2002) แนวแอ็คชั่น, ไซไฟ, โชเน็น

              -Battle Royale 2: Blitz Royale   (2003)  แนวแอ็คชั่น, ดราม่า, จิตวิทยา, ไซเน็น

              -How to Colonize Space  (2004) แนวสยองขวัญ, ไซไฟ, โชเน็น

              -Tokumu Houkoukan Yumihari    (2004) แนวผจญภัย, แฟนตาซี, ไซเน็น

              -Akune   (2010) แนวสยองขวัญ, ผู้ใหญ่, ไซเน็น

              -Enchant Land   (2013)  แนวไซไฟ, ไซเน็น

              -Yume Nikki   (2013) แนวผจญภัย, ลึกลับ, จิตวิทยา, ไซเน็น

     

     

              สำหรับลิขสิทธิ์ไทยการ์ตูนของฮิโตชิ โทมิซาวะ มีการนำมาแปลขาย อยู่ไม่กี่เรื่อง และค่อนข้างเก่าหายาก (เพราะมันนานแล้ว) ไล่ตั้งแต่เรื่อง Alien 9 ลิขสิทธิ์โดยวิบูลย์กิจ (2 เล่มจบ) ไม่มีแปลภาค Emulators, Battle Royale 2: Blitz Royale    ลิขสิทธิ์โดยวิบูลย์กิจ (2 เล่มจบ), Milk Closet  ลิขสิทธ์โดยสยาม (4 เล่มจบ) และ Yume Nikki   ลิขสิทธิ์โดย DEX (เล่มเดียวจบ)

              ดูเผินๆ การ์ตูนของฮิโตชิ โทมิซาวะ จะเจาะกลุ่มผู้อ่านที่เป็นเด็ก เพราะลายเส้นดูการออกแบบตัวละครที่หน้าแบ๋ว ตากลมโตเท่าไข่ห่าน ตัวเอกเกือบทุกเรื่องจะเป็นเด็กผู้หญิง  ส่วนเนื้อหาก็ออกไปทางพิมพ์นิยม อย่างเรื่อง Alien 9  ก็เป็นแนวสามสาวปราบเอเลี่ยน ซึ่งตอนที่การ์ตูนเรื่องนี้ออก เป็นช่วงที่ The Powerpuff Girls กำลังดังด้วย ทำให้หลายคนคิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้ตามกระแส แต่พออ่านแล้ว..............

     

              หากแต่อ่านแล้ว คุณจะพบว่า มันไม่เป็นอย่างที่หลายคนคิด!?

     

              ผลงานของฮิโตชิ โทมิซาวะไม่เคยตามกระแส แม้เนื้อหาจะเหมือนการ์ตูนเด็กก็ตาม แต่กลุ่มคนอ่านกลับเป็นผู้ใหญ่ แถมยังอินดี้อีกต่างหาก คือเนื้อเรื่องชวนสับสน ชนปลายไม่ถูก แถมยังมีสัญลักษณ์มากมาสอดแทรก และตัวละครแปลกประหลาดที่ปรากฏตัวในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลื่อยคลาน (ส่วนใหญ่เป็น “กบ”) แมลง ไปจนถึงเอเลี่ยน โลกพิศวงมากมาย ให้ได้ตีความ (หรือใส่เข้ามาให้ งง เล่นก็ไม่รู้)

               เชื่อเถอะครับ ผลงานทุกเรื่องของคนเขียน อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจหรอก

     

     

    Alien 9

     

     

              Alien 9  เป็นการ์ตูนที่สร้างชื่อให้คนเขียนคนนี้ ออกมาเป็นช่วงที่ The Powerpuff Girls กำลังดัง ซึ่งเนื้อหาคล้ายๆ เล็กน้อยตรงที่เป็นแนวสามสาวปราบเอเลี่ยน

             เนื้อเรื่อง Alien 9   โดยเป็นเรื่องราวของยูริ โอตามิ เด็กสาวอายุ 12 ปี ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนชั้นประถม 6 ให้ทำกิจกรรมพิเศษกับเด็กตัวแทนห้องอื่นในการจับเอเลี่ยนที่ปรากฏในโรงเรียน ซึ่งยูริไม่ชอบหน้าที่นี้เลย เพราะตัวเธอจะต้องติดกับ “แอนเดอร์” สิ่งมีชีวิตชีวะเพื่อใช้ต่อสู้และปกป้องแทนเจ้าของ หากแต่รูปร่างเหมือนกบซึ่งยูริเกลียดมัน

             Alien 9 หรือ Alien Nine ถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างชื่อให้คนเขียนคนนี้มากที่สุด และถูกนำไปสร้างเป็น OVA จำนวนสามตอน โดยสตูดิโอ JCStaff ประมาณปี 2001-2002 ความจริงผู้ผลิตอยากทำเป็นซีรีย์แต่ปรากฏว่าไม่มีงบ ปัจจุบัน OVA เรื่องนี้หายากมาก และกลายเป็นของแรร์ของนักสะสมที่ควรเก็บเอาไว้ด้วย

             ในเล่มแรกของ Alien 9 ดำเนินเรื่องคล้ายๆ กับแนวสาวน้อยโมเอะปราบเอเลี่ยน สูตรพิมพ์นิยม ซึ่งเนื้อหาจะเหมือนการโฟกัสไปที่ยูริซึ่งเป็นตัวละครสาวน้อยประเทศที่ไม่ค่อยมั่นใจ และไม่ชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพราะถูกยัดเยียดให้ทำ ในขณะที่คนอื่นๆ ที่ถูกเลือกเช่นเดียวกับยูรินั้นเต็มใจที่จะทำหน้าที่นั้น เนื้อหาความจริงก็ดำเนินเรื่องสนุกใช้ได้เลย เพราะเป็นแนวโมเอะต่อสู้เอเลี่ยน แม้ว่ามีอะไรหลายอย่างไม่เคลียร์ว่าเอเลี่ยนทำไมปรากฏที่โรงเรียน และตกลงแล้วอาวุธชีวภาพรูปร่างเหมือนกับนี้มันคือตัวอะไรกันแน่

     

              สิ่งที่ Alien 9 นำเสนอ และกลายเป็นบรรทัดฐานของคนเขียนคนนี้ในเวลาต่อมา คือการสูญเสียอัตลักษณ์เดิม ที่มนุษย์ถูกรวมร่าง หรือดัดแปลงกับเอเลี่ยน (หรือสัตว์ประหลาด) ซึ่งในเรื่องยูริไม่เต็มใจที่ตนเองถูกปรับเปลี่ยน พยายามปฏิเสธ เพราะมันน่ารังเกียจ ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ยอมรับเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่ามันเป็นหน้าที่ (หรือความสนุก) ยูริพอใจกับความเป็นมนุษย์ดั่งเดิม พอใจกับร่างกายเดิมๆ กับบทบาทเดิมๆ ทางสังคม ทำให้เธอพยายามรักษาความเป็นมนุษย์มากที่สุดแม้จะมีมนุษย์ต่างดาวติดกับร่างกายของเธอก็ตาม แต่นั้นกลับทำให้เธออ่อนแอ และเป็นตัวถ่วงในเวลาต่อสู้


    อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยูริกลัวมากที่สุดกว่าเอเลี่ยน คือความเหงา




           น่าเสียดายที่รวมเล่มทั้ง 3 เล่มมันหายไปไม่รู้ไปไหน ผมเลยรีวิวละเอียดไม่ค่อยได้ แต่ถ้าใครอยากอ่านบทวิเคราะห์ สามารไปอ่านที่คอลัมน์การ์ตูนที่รัก ในมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 1116 [7-13 ม.ค. 2545] ซึ่งเขียนโดยนายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ทีได้วิเคราะห์การ์ตูนเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง เท่าที่จำได้ การ์ตูน Alien 9 สอดแทรกเรื่องการเติบโตของเด็กสาว กับความกลัวเกี่ยวกับเด็กสาว เข้าไปด้วย (แม้คนอ่านธรรมดาอย่างเราๆ จะตีความการ์ตูนเรื่องนี้ไม่แตกก็ตาม)

     

     

    สองปีหลังจากผลงานเอเลี่ยน 9 ก็มีผลงานใหม่ของคนเขียนคนนี้ในชื่อ Milk Closet   (2000) หรือชื่อไทยคือ หน่วยปฏิบัติการมิลค์ ของสำนักพิมพ์สยามมี 4 เล่มจบ ที่น่าสนใจคือเนื้อหาการ์ตูนนั้นคล้ายๆ กับดิจิมอน (ซึ่งเป็นช่วงที่ดิจิมอนกำลังบูมพอดี) กระแสแนวเด็กประถมไปต่างโลกที่เต็มไปด้วยมอนสเตอร์ก็กำลังดังด้วย

                Milk Closet   เป็นเรื่องราวในปี 2005 เกิดเหตุการณ์เด็กหายตัวไปหลายคน ภายหลังมีการเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Reasal Phenomenon” อย่างไรก็ตาม ก็มีเด็กไม่กี่คนที่กลับมา โดยพวกเขากลับมาจากอีกมิติหนึ่ง หากแต่เด็กคนที่กลับมาไม่เหมือนเดิมอีกต่างไป พวกเขามีหูกับหางเหมือนกับของสัตว์ และเด็กเหล่านี้สามารถเดินทางอย่างอิสระระหว่างโลกมนุษย์และโลกต่างมิติ และหน้าที่ของเด็กเหล่านั้นคือช่วยเหลือเด็กที่หายตัวไป

                Milk Closet    เป็นการ์ตูนที่อ่านยากๆ มากๆ  แม้เนื้อหาจะวนอยู่ในเรื่องของเด็กประถม พล็อตเรื่องที่ดูยังไงไม่แปลกใหม่ หากแต่เนื้อหาดูยังไงก็ไม่ใช่เด็กประถมอ่านแน่นอน มันไม่เหมือนดิจิมอน ไม่มีฉากต่อสู้ ระเบิดภูเขา เผากระท่อม 

                เชื่อเถอะ หากคุณอ่านตอนแรกของมังงะเรื่องนี้  เราแทบสับสนการดำเนินเรื่อง เพราะเนื้อหาสลับไปสลับมา  เป็นต้นว่าตอนแรกๆ ภาพปรากฏ เด็กสาวกับนักวิทยาศาสตร์

    ฉากหนึ่งเป็นภาพเด็กสาวที่มีปัญหาอะไรบางอย่าง จะนั้นการดำเนินเรื่องก็สับไปสับมา กับโลกมนุษย์ โลกต่างมิติที่เต็มไปด้วยสัตว์ประหลาดพิลึกพิลั่น ไปจนถึงโลกแห่งจิตสำนึกของเด็กสาวที่แสดงถึงปัญหาของเด็กสาวที่อยู่คนเดียว ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง  ซึ่งมันยากในการทำความเข้าใจ เพราะเนื้อเรื่องแทบไม่อธิบายเลยว่าอะไรเป็นอะไร ตัวละครเขาพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ สับสน จับต้นจนปลายไม่ถูก แถมสอดแทรกเรื่องไซไฟ ไปจนถึงเรื่องของจักรวาล การกำเนิดสิ่งมีชีวิตก็มี

    นอกจากนี้ แม้ในมังงะจะไม่ใช่แนวสยองขวัญเลือดสาด หรือความรุนแรง แต่สิ่งที่สื่อนั้นกลับเป็นเรื่องของ “ความกลัว” โดยเฉพาะโลกอีกต่างมิติ ที่สื่อเหมือนโลกของเอช. พี. เลิฟคราฟท์  ที่สิ่งมีชีวิตที่ปรากฏในเรื่องที่ออกแบบด้วยรูปร่างพิลึกพิลั่น น่ากลัว

                นี่คือโลกของฮิโตชิ โทมิซาวะ

                โลกของฮิโตชิเป็นโลกของเด็กสาวที่ค่อนข้างมีปัญหา (ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ค่อยมีเพื่อน) และอยู่อีกโลกหนึ่ง (ซึ่งไม่รู้เป็นโลกจริงหรือโลกความฝัน) โลกที่ว่าเต็มไปด้วยความโหดร้าย เลวร้าย และความกลัว ซึ่งเธอจะต้องอยู่โลกแห่งนี้  เด็กสาวต้องปรับตัว และต้องเอาชนะมันให้ได้

    ก็น่าเสียดายอีก ตรงที่ชั้นหนังสือการ์ตูนของผมไม่มีเรื่องนี้อยู่เลย เคยซื้อเล่มที่ 1 แต่อ่านไม่รู้เรื่อง เลยไม่ตามอีก ปัจจุบันเล่ม 1 ก็หายไปไหนก็ไม่รู้

                

      

                    สามปีต่อมา (ความจริงก่อนหน้านั้นก็ออกสองเรื่อง แต่ไม่มีลิขสิทธิ์ในไทย) ฮิโตชิ โทมิซาวะ ก็ออกอีกผลงานคือ Battle Royale 2: Blitz Royale   แน่นอนว่าหลายคนรู้จัก Battle Royale เป็นอย่างดี ในฐานะการ์ตูนโหดเลือดสาดที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์การ์ตูนก็ว่าได้

                Battle Royale เป็นนิยายของ Koushun Takami ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กมัธยมบ 42 ชีวิตเด็กนักเรียนมาเล่นเกมที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน ใน " วิธีการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ " ผ่านเกม " Battle Royale " หรือ BR โดยต้องฆ่ากันให้ตาย เพื่อหาผู้รอดชีวิต เพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ ซึ่งถือว่าเป็นนิยายที่โจษจันถึงความรุนแรง เซ็กต์ แต่กระนั้นก็สอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับสังคม วัยรุ่น ซึ่งนิยายถูกดัดแปลงเป็นมังงะที่เนื้อหารุนแรง  เลือดสาด สมองกระจุย จนบ้านเราเคยแบนอยู่ครั้งหนึ่ง

                แม้ว่า Battle Royale 2: Blitz Royale  นั้นจะติดคำว่าภาค 2 แต่ความจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาคแรกเลย แม้จะอยู่โลกเดียวกันก็ตาม ตามวิกิพีเดียบอกว่าเป็นมังงะที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Battle Royale II: Requiem โดยตัวเอกเป็นเด็กสาวอายุ 16 ปีคนหนึ่งชื่อ มาโกโตะ ฮาชิโมโตะ ผู้ซึ่งเป็นเด็กสาวที่ไม่เคยมีความมั่นใจ และโชคร้ายที่เธอกับเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ ได้รับเลือกเข้าโปรแกรมให้เหล่านักเรียนฆ่ากันเองบนเกาะร้าง

                แม้จะเป็นภาค 2 แต่เอาเข้าจริงเนื้อหาไม่ได้ตื่นเต้น หรือโหดเลือดสาดสมองไหลแต่อย่างใด เพราะขึ้นชื่อของผู้เขียน ฮิโตชิ โทมิซาวะ ได้เปลี่ยนตำนานเลือดสาดให้ งง  เล่นจนได้ (ตามสไตล์) เพราะเนื้อเรื่องแทบไม่ได้ปูอะไรเลย ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่อธิบายโลกที่ตัวเอกอยู่ ไม่อธิบายเรื่องของโปรแกรม (ยิ่งคนไม่เคยอ่านภาคแรก งง หนักเข้าไปใหญ่) แต่จับความได้ว่า โลกของตัวเอกมีการจับคนทั้งชั้นมาฆ่ากัน จนเหลือคนสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งเป็นโปรแกรมของโครงการกองทัพบก และนั้นทำให้กองทัพเรืออิจฉาเลยทำแบบอย่าง ด้วยโครงการใหม่ที่ดีกว่า

                อย่างไรก็ตาม ก็ยังคง งง อยู่ดี เพราะมีหลายอย่างเล่าไม่เคลียร์ โดยเฉพาะยาเม็ดที่เหล่าผู้ใหญ่กินนั้นไม่อธิบายแน่ชัดว่ามันคืออะไร (เชื่อว่าน่าจะเป็นยาควบคุม คล้ายๆ กับปลอกคอในภาคแรก) ในฉากฆ่ากันก็แสน งง ว่าทำเพื่ออะไร ในเมื่อภาคแรกอุตส่าห์เอาพวกเด็กไปฝึกเป็นทหาร พอมาตอนจบก็จับปืนฆ่ากันไปข้าง ยิ่งเล่ม 2 เหมือนตัดจบ อารมณ์ขาดหาย ทำให้กลายเป็นอีกผลงานที่ไม่ค่อยประทับใจนักของคน

    แม้ว่าตัวละครจะเป็นเด็กมัธยมปลาย แต่สไตล์ของคนเขียน ปรับตัวละครให้เหมือนประถมมากกว่า และให้เด็กจับอาวุธปืน แม้ไม่ได้มีภาพของความความโหดร้าย แต่ก็ยังคงสื่อ “ความสิ้นหวัง” เหมือนเดิม

                Battle Royale 2: Blitz Royale ไม่ใช่ผลงานที่เอาสนุกเอามัน ขายความโหดอย่างที่หลายคนคิด หากแต่มันสอดแทรกปรัชญาตัวตนมนุษย์แบบเพียวๆ  ซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างจากผลงานก่อนหน้าตรงที่ไม่มีสัตว์ประหลาด รวมไปถึงการเปลี่ยนมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ ใน Alien 9  เด็กสาวได้รวมร่างกับสิ่งมีชีวิตแบบไม่เต็มใจ และใน Milk Closet ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม  Battle Royale 2 ยังคงสไตล์การเล่าเรื่องยังคงเหมือนเดิม เช่น ความไม่เต็มใจของเด็กสาวที่ถูกปรับเปลี่ยน ซึ่งไม่ใช่ทางร่างกาย แต่เป็นจิตใจ (ทำให้ความหวาดกลัว, หมดอำนาจ) การสูญเสียอัตลักษณ์เดิม (ไม่เหมือนสองผลงานที่ตัวตนของเด็กสาวยังอยู่) โดยใช้ระบบทหาร การสวมปลอกคอ การใช้สารเสพติด การฆ่ากัน สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนมนุษย์ธรรมดา ให้กลายเป็นมนุษย์เลือดเย็น ไร้จิตใจ และนั้นนำไปสู่โศกนาฏกรรมตอนท้ายเรื่อง

    ในตอนท้ายมาโกโตะได้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ จากเด็กสาวที่คิดแต่ด้านลบ ได้กลายเป็นเด็กสาวนักรบเต็มขั้น แม้ว่าเธอจะมีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็งพร้อมปฏิญาณว่าจะไม่ให้คนอื่นตาย แต่มันก็แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าเธอกลายเป็นผลงานที่สำเร็จของโครงการของรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย

    บางครั้งมนุษย์จำเป็นต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ชนิดต้องสูญเสียตัวตนเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับพวกเขาโดยตรง หรือสิ่งแวดล้อมรอบ มันขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะใช้เวลาเท่าไหร่ที่จะยอมรับมัน เผชิญหน้า และอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนั้น

    น่าเสียดายที่ผลงานของคนเขียนนั้นมันฮาร์ต จนเรียกว่าศิลปะมากกว่าบันเทิงที่จะดูเอาสนุก ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก น้อยคนแทบไม่รู้จักคนเขียนคนนี้ แม้แต่ในต่างประเทศผลงานของฮิโตชิ โทมิซาวะได้รับการแปลเพียงไม่กี่ผลงานเท่านั้น (ความจริงเรื่องยาวของคนเขียนเรื่องนี้น้อยด้วย)

    หลังจากจบ Battle Royale 2: Blitz Royale แบบมึนๆ ฮิโตชิ โทมิซาวะก็แทบไม่มีผลงานใหม่ๆ เลย ส่วนมากก็เป็นแนวตอนเดียวจบ อย่างเรื่อง  “How to Colonize Space” ซึ่งมีจำนวน 24 หน้าก็ยังคงเป็นแนวไซไฟที่มึนๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการ มนุษย์เปลี่ยนเป็นสิ่งมีชีวิต

     

    หลังจากหายไปพักใหญ่ จนผมคิดว่าคนเขียนไม่มีผลงานแล้ว ในปี 2013 ฮิโตชิ โทมิซาวะก็มีผลงานใหม่เรื่อง Yume Nikki  ซึ่งน่าจะเป็นผลงานที่หลายคนสามารถหาซื้อได้ เพราะมีลิขสิทธิ์ในไทยในชื่อ “บันทึกฝันหวาน” ซึ่ง DEX ได้ลิขสิทธิ์

    แน่นอนว่าการ์ตูนเรื่องนี้มีที่มาจากเกม RPG Maker โดยเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งชื่อมาโดซึกิ (ไม่รู้ในมังงะจะมีชื่อเธอปรากฏหรือเปล่า) เธออาศัยในอยู่ห้องหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ที่สูงตะหง่าโดยมีระเบียงให้เธออกไปสัมผัสโลกภายนอกบ้าง หากแต่เธอไม่มีความคิดจะออกสู่โลกภายนอก ดังนั้นวันๆ หนึ่งเธอหมดไปกับการนอนหลับ   เสียส่วนใหญ่

    จนกระทั่งวันหนึ่งในขณะที่มาโดซึกินอนหลับ เธอได้เข้าไปในความฝันของเธอ โลกความฝันแห่งนี้มีแต่ความมืดมน น่ากลัว และมีประตู 12 บานอยู่ตรงนั้น หากแต่เธอไม่กล้าที่จะเปิดประตูเพราะความกลัว

    อย่างไรก็ตาม หลังจากจากนั้นมาโดซึก็ฝันแบบเดิมๆ โลกเดิมๆ จนในที่สุดมาโดซึก็ตัดสินใจที่จะเปิดประตูสักบาน หากแต่เมื่อเธอเปิดประตูบานแรกก็พบว่า ประตูเหล่านี้ได้เชื่อมไปยังโลกมิติแปลกประหลาดที่แตกต่างกัน เป็นต้นว่า ประตูบานหนึ่งเปิดมามีแต่ความมืดมิด บานหนึ่งเปิดมาอยู่ในป่า อีกบานเปิดมาเจอแต่ความหวานเย็น

    นอกจากโลกที่แสนแปลกประหลาดแล้ว มาโดซึต้องพบกับสิ่งมีชีวิตรูปร่างพิลึกพิลั่น อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้รูปร่างของเธอเปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตามแทนที่เธอจะกลัว กลับรู้สึกสนุกด้วยซ้ำ

    ในโลกแห่งความฝัน มาโดซึสามารถกลับมายังโลกของเธอได้ เพียงแค่หยิบแก้ม หลังจากที่เธอตื่นจากโลกแห่งความฝัน เธอก็พบว่าไดอารี่ของเธอมีตัวหนังสือที่เธอจำไม่ได้ว่าเขียนลงไป เขียนว่า “รวบรวมเอฟเฟค” หรือก็คือ “ไข่” (ผล?) ทั้ง 12 ลูกที่ซ่อนในโลกหลังประตู โดยเธอไม่รู้ว่าจะรวบรวมไปเพื่ออะไร แต่เธอก็รวบรวมมันอยู่ดี

      

                 ปกติตัวเกม Yume Nikki  งง อยู่แล้ว พอมาอยู่ในมือของคนเขียนคนนี้ยิ่ง งง หนักเข้าไปใหญ่ ตอนแรกๆ ก็พอเข้าใจ แต่ตอนหลังก็เริ่ม งง หนัก และจบพร้อมกับคำถามมากมายที่อธิบายไม่กระจ่าง เป็นต้นว่า ทำไมเด็กสาวถึงเปลี่ยนร่าง พวกตัวละครเขาคุยเรื่องอะไรกัน ทำไมต้องรวมรวมไข่ และทำไมตัวเอกถึงต้องโดดตึก

              ดังนั้นผมไม่สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้เลยว่ามันต้องการสื่ออะไร        

              สิ่งที่ทำได้คือการเดาเนื้อหา ซึ่งผมคาดเดาว่า การ์ตูนเรื่องนี้ต้องการสื่อถึง “การอยู่กับความจริง” ครับ

              ในการ์ตูนเราจะเห็นตัวเอกอยู่ในโลกแสนพิลึก มากกว่าที่จะอยู่ในโลกแห่งความจริงอีกเสีย แม้ว่าโลกแห่งความฝันจะดูแล้ว น่าพิศวง น่ากลัว และตัวเธอก็เปลี่ยนร่างจนไม่ใช่มนุษย์ แต่เด็กสาวก็ยังรู้สึกสนุกกับมัน ซ้ำยังจมอยู่กับความฝันมากขึ้นเรื่อยๆ

              ในช่วงท้ายเรื่อง ความฝันของเด็กสาวเริ่มมีดมนขึ้นเรื่อยๆ การรวบรวม “ไข่” หรือ “เอฟเฟค” นั้นแท้จริงแล้วก็คือการตื่นขึ้นจากความฝันนั้นเอง แต่เด็กสาวไม่ต้องการที่จะตื่น และเมื่อเธอตื่นกลับพบว่า เธอไม่สามารถแยกต่างว่าอันไหนเป็นเรื่องจริง  อันไหนเป็นโลกแห่งความฝัน เธออยากหนีจากโลกใบนี้ และผลสรุปคือเธอเลือกที่จะฆ่าตัวตาย

              ที่น่าสนใจคือ สังเกตว่าตัวเอกนั้นหลับตาอยู่ตลอดเวลา ไม่ลืมตาเลยตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งหากไม่ใช่ตาตี๋ ก็คงตีความได้ว่า เธอหลับอยู่ตลอดนั้นเอง เธอหลับเพื่อหนีจากโลก หนีจากสังคม ปิดกั้นตนเอง และสร้างโลกของตัวเอกโดยที่ไม่รู้ตัว

              ดังนั้น ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งหมดเป็นโลกแห่งความฝัน ไม่มีโลกแห่งความจริงแล้ว  แม้ตัวเอกบอกว่าหยิกแก้มแล้วจะตื่นจากความฝัน แต่ความจริงแล้วเธอไม่ได้ตื่นเลย เธอยังอยู่ในโลกแห่งความฝันตลอดกาล

              ความจริงแล้ว ตัวเกม และมังงะ ก็ไม่ได้อธิบายเรื่องของตัวเอกหรอกว่าแท้จริงแล้ว ทำไมตัวเธอถึงอยู่ในห้องเล็กๆ อยู่คนเดียว ใช้เวลาทั้งวันในการเขียนบันทึก, เล่นเกม, อ่านหนังสือ บางทฤษฏีก็ตีความว่าเธอเป็นฮิคิโคโมริ, บางคนบอกว่าเธออาจป่วยทางจิตและเกิดภาพหลอนในการใช้ยา , บางคนบอกว่าเธอเป็นเด็กถูกลักพาตัวและถูกนำไปขังทำให้เกิดโลกแห่งความฝันเพื่อหนีจากความจริง หรือบางทฤษฏีเลวร้ายกว่านั้นคือเธอถูกข่มขืนและสร้างโลกปิดกั้นตนเอง ซึ่งไม่ว่าทฤษฏีไหนก็ล้วนหดหู่และน่ากลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กสาวคนหนึ่ง

     

              การตีความการ์ตูนของฮิโตชิ โทมิซาวะค่อนข้างจะหลากหลายครับ มันก็ไม่ได้เน้นแป๊ะๆ สักเท่าไหร่  มันไม่ถูก หรือไม่ผิด มันขึ้นอยู่กับเรา ว่าเราจะตีความมันว่าอย่างไร ทำความเข้าใจเนื้อเรื่อง และเราได้อะไรจากมัน คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ซึ่งนี้ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่เราได้จากการ์ตูนครับ

             

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×