ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #197 : Silver Spoon เอ็ดผู้ไร้ความฝัน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 7.92K
      7
      2 ก.ค. 55

                  หลังจากที่การ์ตูน Hero Tales ผลงานของ ฮิโรมุ อาราคาว่า (คนเขียนวาดภาพประกอบครับ ส่วนเรื่องเป็นของคนอื่น) เจ้าของผลงานสุดฮิต Fullmetal Alchemist (แขนกล คนแปรธาตุ) จบลงอย่างอย่างเงียบๆ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะจำนวน 26 ตอนจบ แต่กระแสไม่ได้ดีมากเท่าเรื่องแขนกล ฯ สักเท่าไหร่ จนผมนึกหวั่นๆ ใจ ว่าคนเขียนคนนี้จะกลายเป็นนักเขียน “เขียนแทบตาย ดังแค่เรื่องเดียว” หรือเปล่า

                 ในปี 2011 คนเขียนก็ได้กลับมาอีกครั้งกับการ์ตูนใหม่ชื่อช้อนเงิน หรือ Silver Spoon Manga ที่ฉีกแนวกับการ์ตูนก่อนหน้าของคนเขียนทั้งสิ้น อย่างที่รู้กันอยู่ ปัจจุบันการ์ตูนญี่ปุ่นแนวตลาดส่วนใหญ่มีแต่แนวต่อสู้แฟนตาซีเท่านั้นถึงจะฮิต แถมดังกล่าวก็ไปเครื่องหากินของคนเขียน หากแต่คราวนี้คนเขียนกลับเขียนแนวที่แตกต่างจากเรื่องก่อนหน้าชนิดไม่เชื่อว่าจะกล้าทำ เมื่อ Silver Spoon ได้เป็นการ์ตูนสูงสุดกลับสู่สามัญชน ดำเนินเรื่องในโลกแห่งความจริง โดยมีเวทีโรงเรียนมหาลัยการเกษตรมาเป็นเวทีเรื่องราว เนื้อหาไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการอภิหารอะไรเลย เพราะเน้นชีวิตของมนุษย์เดินดินธรรมดาคนหนึ่งผสมกับเนื้อหาแสนสบายๆ คลายเครียดแทน  ซึ่งผมแทบอ้าปากค้างเมื่อเห็นการ์ตูนเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะฮิตหรือ??  

                อย่างไรก็ตาม เมื่อผมอ่านการ์ตูนเรื่องนี้จนจบถึงตอนที่ 8 (จบเล่มที่ 1) ผมก็รู้สึกจบปวดหน้าอกมาก เพราะลักษณะนิสัยและความคิดของพระเอกการ์ตูนและสายวิชาที่พระเอกเรียนนั้น มันดันตรงกับชีวิตจริงของผมสมัยเรียนเป็นนักศึกษาเข้าพอดี!!

     

      

    Silver Spoon

    ละครชีวิต, การศึกษา, ตลก

     

                    Silver Spoon เป็นการ์ตูนมังงะ ผลงานของฮิโรมุ อาราคาว่า เจ้าของผลงานสุดฮิต Fullmetal Alchemist (แขนกล คนแปรธาตุ)  เริ่มตีพิมพ์เมื่อปี 2011 ในนิตยสารโชเน็นซันเดย์ หลังจากที่ FMA อวสานไปเกือบปี แม้ว่าเนื้อหาของการ์ตูนจะฉีดแนวเนื้อหาจากผลงานที่ผ่านมาของคนเขียน อีกทั้งไม่ใช่การ์ตูนแนวตลาด แต่การ์ตูนกลับได้รับการตอบรับจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม เพราะเมื่อเริ่มแรกที่วางจำนวนกว่า 330,000 เล่มขายหมดเพียง 3 วัน พร้อมเสียงวิจารณ์อย่างดีต่อผู้อ่านและผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นการ์ตูนเนื้อหาดี นอกจากนี้การ์ตูนยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยม Manga Taisho 2012 ทำให้การ์ตูนมีโครงการที่จะสร้างเป็นอนิเมะในเวลาต่อมา

                    Silver Spoon เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “ฮะจิเคน ยูโงะ” ที่หน้าตาละม้ายคล้ายพระเอก  Fullmetal Alchemist นิดๆ ตรงที่มีความฉลาด  (แต่การ์ตูนดูเหมือนจะสื่อตัวแทนของยูโงะเป็นเด็กหนุ่มญี่ปุ่นทั่วไปในขณะนี้มากกว่า)  เด็กในชินชัทสึ โบะโรจู (เมืองซัปโปโร) ที่ไม่มีความฝัน ไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรสักอย่าง แม้จะมีความฉลาดสอบได้คะแนนดีในมัธยมต้น แต่ก็ไม่ตัดสินใจว่าจะเรียนที่ไหนต่อ สิ่งที่เขาคิดก็มีเพียงเรียนมัธยมปลายที่ไหนก็ได้ที่ไกลๆ จากครอบครัว ซึ่งดูเหมือนว่ายูโงะจะถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดจากบิดา

    ต่อมาอาจารย์ที่ปรึกษามัธยมต้นของยูโงะ ได้เรียกเขามาพูดคุยเรื่องเรียนต่อ เมื่ออาจารย์เห็นว่ายูโงะไม่มีที่จะไป จึงเสนอโรงเรียนแห่งหนึ่งให้เขาไปสอบเข้าเรียน โดยโรงเรียนแห่งนี้คือโรงเรียนเทคนิคการเกษตรโอเอะโสะ บนเกาะฮ็อกไกโด (โรงเรียนสมมุติ) ซึ่งเป็นโณงเรียนอยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ที่คนธรรมดาไม่อยากไปเรียนนัก เพราะผู้ที่เรียนแห่งนี้มักเป็นพวกลูกชาวไร่ชาวนาหรือผู้สืบทอดกิจกรรมครอบครัวเกษตรกรอยู่แล้ว สำหรับยูโงะที่ชีวิตอยู่แต่เมืองใหญ่แล้วถือว่าเป็นแดนสนธยาอย่างแท้จริง

    เมื่อยูโงะย้ายโรงเรียนมา สิ่งแรกที่เขาพบคือสถานที่แห่งนี้ไม่คุ้นเคยสำหรับเขาเสียเลย เราพหลักสูตรของโรงเรียนเกษตรเน้นหนักในการใช้แรงงานมากกว่าใช้สมอง อีกทั้งคนรอบข้างที่มาเรียนแห่งนี้มีแต่พวกบ้าพลัง พูดแต่ศัพท์ทางการเกษตรที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย (อารมณ์ประมาณโอตากุคุยอนิเมะที่ชอบแหละ)  อีกทั้งกิจกรรมของโรงเรียนก็มีแต่สิ่งที่เขาไม่เข้าใจทั้งนั้น ทำให้ตรรกะการศึกษาที่ใช้มาของพระเอกใช้ไม่ได้เลยในโรงเรียนแห่งนี้

    เนื่องจากการเลี้ยงดูที่เข้มงวดของบิดาทำให้ยูโงะไม่สามารถปฎิเสธคนที่มาขอคนช่วยเหลือเขาได้เลย แม้ว่าเขาจะบ่นเหยียดหยามคนรอบข้าง แต่กระนั้นอารมณ์ของพระเอกก็หายไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่มาแทนที่คือมิตรภาพและความเคารพจากเพื่อนของเขา ที่เพื่อนในชั้นปฏิบัติต่อเขาอย่างเป็นกันเองและไม่เคยดูถูกยูโงะที่มาจากโรงเรียนเตรียมแม้แต่น้อย ต่อมายูโงะได้เข้าชมรมขี่ม้าพร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นของเขาชื่อ “อากิ” และต่อมาเขาก็ได้ตำแหน่งรองประธานเพราะมีลักษณะที่น่าเชื่อถือ แม้ว่าจนถึงบัดนี้ยูโงะยังคงกังวลเรื่องอนาคตของเขา แต่กระนั้นเขาจะตามหาความฝันของเขาในโรงเรียนแห่งนี้ให้ได้

      อย่างที่บอกตอนต้น Silver Spoon (อีกชื่อหนึ่งคือ Gin no Saji ) ผลงานเรื่องใหม่ของ ฮิโรมุ อาราคาว่า มีความแตกต่างจากผลงานก่อนหน้าคือ Fullmetal Alchemist ตรงกันข้ามทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เปลี่ยนธีมหลักเปลี่ยน มาเป็นโลกแห่งความจริง เนื้อหาไม่จำเป็นต้องช่วยโลกช่วยประเทศอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องราวชีวิตของชายที่เป็นมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง ที่ไม่มีความฝัน แม้มีความฉลาดแต่ร่างกายอ่อนแอหรือมีแรงเท่าคนธรรมดาทั่วๆ ไป (ปกติพระเอกของคนเขียนคนนี้จะเน้นคนเก่ง มีเป้าหมายชัดเจน มีอุดมการณ์แรงกล้า และมีฝีมือเก่งกาจ) และปัญหาที่พระเอกต้องประสบพบเจอนั้นไม่ใช่ศัตรูเหนือมนุษย์หรือหายนะแต่อย่างใด หากแต่เป็นการใช้ชีวิตที่ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย

    และสิ่งที่เหมือนจนเป็นเอกลักษณ์ของคนเขียนคือ คนเขียนไม่เน้นความรักของวัยหนุ่มสาวชายหญิงอะไรมากนัก (ผลงานที่แล้วมา ขนาดนางเอกยังมีบทน้อย แถมเป็น สถานะเป็นเพื่อนสมัยเด็กอีก) ขนาดเปิดเรื่องเล่มที่ 1  ผมยังมองไม่เห็นนางเอกเลย (อย่าบอกน่ะว่า อากิ คือนางเอก)

                   

                แม้ว่าการ์ตูนจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวการศึกษาโรงเรียนวิชาชีพเกษตรกรรม ไม่ได้รบตบมือฆ่าฟันใครทั้งสิ้น แต่กระนั้นมันก็น่าอ่านแบบไม่น่าเชื่อ เพราะการ์ตูนยังคงสอดแทรกอารมณ์และลีลาของคนเขียนเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการสอดแทรกมุกตลก อารมณ์ขันของคนเขียน ที่ให้พระเอกจะเป็นตัวคอยตัดมุก สิ่งที่พบเจอในเรื่อง ซึ่งมุกตลกในเรื่องความจริงแล้วก็ไม่ได้แปลกใหม่ บ้าบอ อะไรเลย เป็นมุกตลกที่เห็นในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ กล่าวคือพระเอกได้ไปอยู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ พบแต่สิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่แปลกสำหรับคนที่นี้ แต่สำหรับพระเอกที่เติบโตในสังคมเมืองและไม่ได้สัมผัสอาชีพเกษตรล้วนแปลกใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นนิสัยของคนรอบข้าง, ตรรกะของครูผู้สอน, เทคโนโลยีการเกษตร และการเรียนที่เน้นฝึกปฏิบัติมากกว่าทฤษฏีที่มีมุกตลกสอดแทรกตลอด ฮ่าแบบมีสาระ (และนอกจากนี้ตัวละครบางตัวในเรื่องยังมีตัวละครแจมจากเรื่อง Fullmetal Alchemist ไม่น้อย )

      นอกจากนี้ยังมีมุกตลกที่สอดแทรกความรู้ที่พระเอกไม่เคยรู้ (ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวอบยู่ใกล้ตัวแท้ๆ) ยกตัวอย่าง ไข่ไก่ออกมากจากช่องทวารรวมของไก่, การผูกมิตรลูกวัว, กีฬาม้าลากเลี่อน, เกล็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหมู ฯลฯ

                    ตามประวัติของมุ อาราคาว่า (คนเขียนเป็นผู้หญิง) คนเขียนการ์ตูนเรื่องนี้แล้วพบว่าคนเขียนนั้นเติบโตในฟาร์มโคนมในฮอกไกโด (จึงเป็นเหตุทำให้ตัวแทนของคนเขียนกลายเป็นวัวใส่แว่น)  มีพี่น้องห้าคน ไม่มีความคิดที่จะวาดการ์ตูนแม้แต่น้อย แต่มาก็มีความสนใจในการวาดภาพสีน้ำมัน และในขณะทำงานฟาร์มในครอบครัว เธอกับเพื่อนๆ ก็ได้เขียนโดจิน จนโดนใจสำนักพิมพ์เข้า และต่อมาก็ทำงานเป็นผู้ช่วยของคนเขียนการ์ตูนกูรุ กูรุ คาถาพาต๊อง (Mahoujin Guru Guru) และเริ่มมีผลงานเขียนเป็นของตนเอง จนมาถึงผลงานสร้างชื่อ Fullmetal Alchemist ในที่สุด

    แน่นอนใครที่อ่านการ์ตูนครั้งแรก และเป็นแฟนผลงานของคนเขียนท่านนี้ จะรู้ทันทีเลยว่าเนื้อหาการ์ตูนเอามาจากประสบการณ์ของคนเขียนแน่นอน

    Silver Spoon ตอนที่ผมที่อ่านการ์ตูนครั้งแรก ไม่ชอบการ์ตูนเรื่องนี้เลย ออกแนวผิดหวัง คือพระเอกแม้จะเหมือนเอ็ดจากแขนกล ฯ (เตี้ยและฉลาด) แต่ไม่น่ารักเลยแม้แต่น้อย เหมือนเจ้าแว่นหน้าตากากๆ ตัวละครก็ธรรมดา แถมมันเป็นแนวนักศึกษาประมาณว่าหนังไทย ที่มีฉากหลังเป็นมหาลัยบ้านนอก  “แถมการ์ตูนก็ไม่ได้อยู่ในโลกแฟนตาซีและไม่ใช่เรื่องราวการต่อสู้ด้วย เพียงแค่นี้ทำให้ผมเกิดอคติได้ไม่ยาก
    อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นแฟนแขนกลฯ มาก่อน ผมกลั้นใจอ่านต่อไป ตอนแรกไม่เท่าไหร่ ตอนหลังๆ ก็เริ่มสนุกขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมาติดเลยครับท่าน สาเหตุก็เพระการ์ตูนเน้นพัฒนาจิตใจของพระเอกได้อย่างสมจริง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนทัศนคติหรือการฝึกฝนร่างกายทั้งกายและจิตใจในโรงเรียนบ้านนอกแห่งนี้ได้เอย่างน่าติดตาม
    และสิ่งที่ผมติดตามเรื่องนี้ก็คือ มันแทงใจดำผมครับ เพราะว่าเนื้อหาบางส่วนของการ์ตูนดันตรงกับชีวิตผมจริงๆ เสียนี่
    ก่อนอื่นผมก็ขออกตัวว่าผมเคยเป็นนักศึกษาเทคโนโลยีราชมงคบครับ (ตอนนั้นยังไม่ได้เรียกว่ามหาลัยเทคโนโลยีราชมงคลราชนา)  เรียนอยู่คณะพืชศาสตร์ แม้ไม่ได้เรียนคณะสัตวศาสตร์ แต่กระนั้นในช่วงปีที่หนึ่งผมก็ต้องเรียนเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติงานในฟาร์ม ที่ต้องดูระบบการเลี้ยงไก่, หมู, วัวด้วย ทำให้เข้าใจความรู้สึกของพระเอกในการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอย่างดี
    โดยเฉพาะทัศนคติในตอนแรกของพระเอกนี้เหมือนผมแปะๆ เลยน่ะครับ เพียงแต่แตกต่างอะไรนิดๆ หน่อย ผมมาเรียนแห่งนี้เพราะอยู่ใกล้ ขี้เกียจไปเรียนไกล เรียนงั้นๆ แหละ ไม่มีความฝันอะไรสักอย่าง เพื่อนไปเรียนต่างจังหวัดหมด
    ตอนที่ผมเรียนโรงเรียนเกษตรนี้ ผมก็ตกใจมากครับ บรรยากาศเหมือนการ์ตูนเรื่องนี้ทุกอย่าง พระเอกเกิดความรู้สึกมันไม่ใช่ที่ของเรา เพื่อนก็บ้าพลัง (คณะที่ผมเรียนนี้ สายวิทย์แท้ๆ น่ะครับ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้คนเข้าเรียนมีแต่สายศิลป เออ...ผมก็สายศิลปเหมือนกัน)
    ก็เหมือนกับทัศนคติทั่วๆ ไปแหละครับ ที่ว่าคนธรรมดาไม่คิดจะเรียนโรงเรียนเกษตรหรอก เพราะว่ามีอาชีพที่ดีกว่า รายได้ดีกว่า โดยไม่ต้องใช้แรงงานมาก (มองว่าเกษตรกรเป็นงานหนัก ซึ่งก็หนักจริงๆ แหละ) จึงไปเรียนวิชาสายอาชีพที่สบายๆ ที่ใช้สมองมากกว่า ดังนั้นในชั้นที่ผมเรียนมีไม่กี่คนที่เรียนเองครับ ไม่ถึง 20 คนด้วยซ้ำ
     
    ความรู้สึกที่ผมเรียนก็คือ ฉันเรียนไปทำไมว่ะ? หรือนี่คือที่สำหรับเราหรือเปล่า? เรียนไม่ตรงสายที่เราตั้งใจไว้ เรียนแล้วไม่รู้สึกชอบ เราเรียนเพื่อนอะไรกันแน่ อารมณ์แบบเดียวกับพระเอกในการ์ตูนเลยครับ แทงใจดำเต็มๆ ผมเชื่อน่ะครับไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือไทย หรือสังคมไหนๆบนโลก  ก็คงมีคนคิดเหมือนผมและพระเอกไม่มากก็ไม่น้อย หรืออาจมีจำนวนมากด้วยซ้ำที่มีความคิดว่าเรียนไปงั้นๆ  เรียนไปเถอะเดี๋ยวก็จบเอง พอจบแล้วก็ทำงานด้านอื่นที่ไม่ได้ใช้ทักษะสายที่เรียนสักนิด หรือบางคนก็จบก็อยู่กับบ้านเฉยๆ (เป็นนีท เก็บตัวก็ว่ากันไป)  
    ในขณะที่พระเอกในเรื่องพยายามทำตัวเป็นประโยชน์แต่สังคม และตามหาความฝัน แต่ในชีวิตจริงเชื่อเถอะว่าหลายคนยังหาความฝันไม่เจอ ต่อให้เรียนจบชีวิตยังมืดมนอยู่เลย มองหาทางไม่ออกว่าจะไปไหน จบแล้วตรูจะทำอะไรดีว่ะ แถมบุคคลไม่มีความฝันและเรียนไปงั้นๆ ค่อนข้างเปลี่ยนทัศนคติยากเสียด้วย บางคนชีวิตเกิดมาเพราะถูกพ่อแม่ขีดทางเดินตัดสินใจอะไรไม่ค่อยเป็น จบมาอยู่กับบ้านเกาะพ่อแม่กิน  ไม่ได้ใช้ความฉลาดเพื่อเพื่อสังคมและตัวเองแม้แต่น้อย  
    พูดตามตรงว่าการ์ตูนเรื่องนี้แทงใจดำคนหลายคนเลยครับ ไม่แปลกเลยที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับผลตอบรับจากผู้อ่านสูง  เพราะพระเอกนั้นเข้าถึงตัวผู้อ่าน พระเอกในเรื่องไม่ได้เก่งกล้าสามารถ ตามหาหินนักปราชญ์เพื่อแลกเปลี่ยนเอาแขนและร่างกายน้องกลับคืนมาแต่อย่างใด หากแต่พระเอกจากเรื่องเป็นตัวแทนของคนญี่ปุ่นในเวลานี้ที่เส้นทางเลือกไม่มากนัก อาชีพคนญี่ปุ่นฮิตคือพนักงานบริษัท ไม่ใช่เกษตกรที่เหม็นขี้เหม็นเหงื่อ เชื่อเลยครับว่าใครที่อ่านการ์ตูนเรื่องนี้เกือบทั้งหมดไม่อยากเรียนเกษตรหรอกครับ ขี้เกียจใช้แรง ร้อนก็ร้อน เหม็นเหงื่อ แม้ว่าช่วงหลังๆ พระเอกจากชินกับวิถีชีวิตการเกษตร แต่ผมก็ขอพูดเต็มบาง บางคนไม่ชิน ปรับตัวไม่ค่อยไหวหรอกครับ หลายคนลาออกกันเยอะ แสดงว่าการ์ตูนเรื่องนี้พระเอกทรหดและมีความตั้งใจจริงๆ
    นอกเหนือจากตัวพระเอกไม่มีความฝันแล้ว เราก็เห็นนักเรียนบางคนที่จำเป็นต้องอยู่ในเส้นทางที่ตนไม่ได้เลือกเอาไว้ ด้วยกิจการของครอบครัวที่ต้องรับช่วงต่อโดยไม่มีอิสระในการเลือกทางเดินของตนเอง แต่ประเด็นเหล่านี้จะแทงใจดำใครต่อใครหลายคน แต่กระนั้นการ์ตูนก็ไม่ได้นำเสนอให้ดราม่า ปวดตำมากนัก เพราะมีการผ่อนคลายเป็นระยะ เน้นการทำกิจกรรมในโรงเรียนเสียมากกว่าจะเน้นดราม่าชีวิตในโรงเรียนที่อับเฉา
    สิ่งที่ชอบในการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือการสอดแทรกแนวคิดของคนเป็นเกษตร สาขาคนที่จิตใจดีงามและเคร่งศาสนาอยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะสักวันคุณจะต้องสวมบทใจยักษ์ใจมารตัดสินชะตาชีวิตสัตว์อย่างโหดร้ายแบบหลีกเลี้ยงไม่ได้ ซึ่งก็คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับผู้คน สำหรับมุมมองคนทั่วไปชอบมองเรื่องฆ่าสัตว์เป็นบาปผิดคำสอนศาสนา ปัญหาโลกแตก แต่สำหรับมุมมองของเกษตรแล้วเหล่าสัตว์เกษตรคือของเลี้ยงโลก เป็นอาหารไม่ใช่สัตว์เลี้ยง เหมือนดังตอนหนึ่งที่พระเอกเข้าโรงเลี้ยงหมู ที่พระเอกเห็นใจลูกหมูตัวหนึ่ง และเมื่ออากิมาเห็นพระเอกได้ตั้งชื่อหมู ก็ได้เตือนพระเอกว่า
    “จะตั้งชื่อให้เด็กคนนั้นไม่ได้นะ??”
    พระเอกตกใจ เหตุใดถึงตั้งชื่อลูกหมูไม่ได้ ในขณะที่คนอื่นๆ ก็ตกใจเหมือนกันทำไมพระเอกถึงตั้งชื่อหมู เพราะหมูนั้นเป็นอีกไม่นานก็ถูกฆ่าเป็นอาหาร หากผูกพันและตั้งชื่อจะทำให้ฆ่าไม่ลง นี่คือมุมมองของพระเอกที่เป็นแบบคนธรรมดาทั่วไป หากแต่พระเอกอยู่ท่ามกลางมุมมองของลูกเกษตร ทำให้ความคิดของพระเอกกลายเป็นของแปลกสำหรับที่นี้ไป
     เพราะมุมมองสองมุมมอง ไม่เข้าใจกันนั้นเอง ทำให้สังคมเราชอบดราม่าครับ คนกลุ่มหนึ่งฆ่าสัตว์เพื่อความอยู่รอดและจำเป็น เช่นสังหารหมู่ไก่ด้วยกันฝังทั้งเป็นเพื่อป้องกันการระบาดของไข้หวัดนก แต่สำหรับมุมมองของคนรักสัตว์ สิทธิสัตว์แล้วกลับมองว่าเป็นเรื่องโหดร้าย บาปกรรม กลายเป็นดราม่าถกเถียงไม่รู้จักจบสิ้น ที่จริงแล้วดราม่านี้คงไม่เกิดหากคนรักสัตว์มองมุมมองของเกษตรที่พวกเขาต้องอยู่กับการพรากชีวิตของสัตว์ในฟาร์มเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น การฆ่าสัตว์เพื่อนำเนื้อไปขาย (อาจฆ่าด้วยวิธีโหดร้ายทารุณ หรือฆ่าแบบไม่ทรมาน) การเลี้ยงสัตว์ในที่คับแคบ (แต่ได้ประสิทธิภาพ) การฆ่าสัตว์จำนวนมากเพื่อป้องกันโรคระบาด ความเมตตาสงสารใช้ไม่ได้กับการเลี้ยงสัตว์เกษตรหรอกครับ พวกเขาจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตให้ได้จำนวนมากที่สุด และทางเลือกที่ดีกว่า มากจะเสียเวลาในการเมตตาสัตว์เหมือนมุมมองของคนทั่วไปหรอกครับ ขื่นเอาแบบนี้ไม่ต้องทำมาหากินพอดี อีกทั้งอาชีพเกษตรมีความเสี่ยงสูงด้วย หากพลาดขึ้นมาเจ๊งหายนะในพริบตา  
     (ปล.. ขอแทรกสักนิด มีมุกหนึ่งตอนท้ายตอนที่ 7 คือ การทำหมั่นหมู จะเห็นหลายคนทำหน้าสยดสยองเป็นอย่างมาก เชื่อว่าคนธรรมดาจะไม่เข้าใจมุกว่าสยองตรงไหน แต่ใครที่เคยทำหมั่นหมูนี้เข้าใจความรู้สึกเลยครับ   ขอบอกว่าการผ่าตัดทำหมั่นหมูนี้สยดสยองจริงๆ น่ะครับ ผมเคยทำแล้ว ทั้งๆ ที่ทั้งชีวิตไม่เคยทำหมั่นหมูมาก่อน แต่ต้องเรียน สยองมาก เพราะจะต้องผ่าถุงอัณฑะหมูแบบเป็นๆ เราต้องเอาหมูใส่เครื่องหนีบให้หงายและไม่ให้ดิ้น เอามีดผ่า ตอนนั้นหมูจะร้องเสียงโหยหวนมาก สยองจริงๆ ครับ ใครทำครั้งแรกนี้ติดไปฝันแบบไม่ลืมเลยก็มี การเรียนเกษตรนี้ไม่ง่ายเลย ต้องพกความเลือดเย็นไปเรียนด้วย ถึงจะรอด)
         
    นอกเหนือจากการสอดแทรกสองมุมมองระหว่างคนธรรมดาที่มองเกษตรกรเลี้ยงสัตว์แล้ว การ์ตูนยังสอดแทรกวิถีชีวิตการเกษตรในเรานำมาปรับไปใช้ในชีวิตประจำวันไปด้วย  ยกตัวอย่างเล่มที่ 1 ที่พระเอกเห็นลูกหมูอ่อนแอที่พยายามดูดนมจากเต้าแม่หมูแต่ไม่สามารถสู้ลูกหมูพี่น้องที่แข็งแกร่งกว่าได้ ซ้ำยัง ที่ครูผู้สอนได้สอนว่าจงอย่าเป็นเหมือนหมูอ่อนแอพ่ายแพ้ดังกล่าว อ่านดูแล้วชีวิตของเราก็เหมือนลูกหมูที่อ่อนแอ พ่ายแพ้ ตกเป็นเหยื่อของผู้แข็งแกร่ง(มีอำนาจ) เหมือนกัน หากแต่เรายังมีโอกาสแก้ตัวอีกมาก ไม่เหมือนลูกหมูที่อ่อนแอแล้วไม่มีโอกาสแก้ตัวเลย (ถูกนำไปทำเป็นอาหารทั้งๆ ที่อายุ 13 เดือนเพราะอ่อนแอ)
    เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่ผมเขียนทั้งหมดมันเพียงแค่เล่ม 1 เท่านั้น!!
    ส่วนชื่อ Silver Spoon ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ ผมยังไม่ทราบความหมายว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ แม้จะรู้ว่า “ช้อนเงิน” เป็นช้อนที่ตั้งอยู่ในหน้าโรงอาหารที่พระเอกมักไปกินประจำ  แต่ความหมายที่ต้องมาตั้งหน้าโรงอาหารเล่มที่ 1 ยังไม่อธิบาย หากแต่ตามสำนวนของฝรั่งแล้ว “ช้อนเงิน”  ก็คือเด็กที่เกิดมาร่ำรวย จากสมบัติของพ่อแม่ หรือเด็กที่เกิดมาโชคดี ดังที่สำนวนไทยสมัยใหม่ว่า คาบช้อนเงินช้อนทองออกมา หากแต่เมื่อเรามาดูตัวละครทั้งหลายในเรื่องก็พบว่าไม่มีใครเกิดมาโชคดีเลย พระเอกที่พ่ายแพ้ในโลกแห่งการศึกษาต้องมาเรียนในสถานที่ไม่ใช่ที่ของตนเอง เด็กเกษตรคนอื่นๆ ที่ต้องเรียนเพื่อจบออกมาเพื่อสืบทอดงานของครอบครัว คนเราไม่ได้เกิดมาแบบคาบช้อนเงินตั้งแต่เกิด ดังนั้นเราต้องออกตามหาช้อนเงินในโลกเอาเอง ไม่ว่า การศึกษา การวางแผนอนาคต การคบเพื่อน การเลือกโรงเรียน เลือกความฝันที่ต้องการ ก็แล้วแต่ละคนว่าช้อนเงินของคุณเป็นแบบไหน?
    Silver Spoon ได้รับลิขสิทธิ์โดยสำนักพิมพ์สยาม รูปเล่มและกระดาษสวยงามระดับหนึ่ง ราคาอาจแพงกว่าหนังสือการ์ตูนเล่มอื่นๆ หน่อย ราคา 55 บาท คนที่ไม่รักจริงคงไม่ซื้อแน่แท้  เอาเป็นว่าใครเป็นแฟนแขนกล ชอบการ์ตูนดำเนินเรื่องแบบไม่ดราม่า และชอบแนวการศึกษาเล่าเรียน การ์ตูนเรื่องนี้ก็น่าจะลองและไม่ผิดหวัง ผมอยากให้พวกโลกสวยหรือพวกที่ชอบดูถูกเกษตรกรมาอ่านการ์ตูนเรื่องนี้เป็นไป จะได้รู้ว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีอะไรมากกว่าที่คิดเอาไว้
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×