ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #270 : Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi เสียงกระซิบจากเพื่อนสมัยเด็ก

    • อัปเดตล่าสุด 6 มี.ค. 57


     

    ไม่ได้เขียนแนะนำการ์ตูนมานาน วันนี้ก็จะพูดถึงการ์ตูนแนวสยองขวัญแบบผู้ชายบ้าง แต่ขอแบบสั้นๆ น่ะครับ เพราะไม่มีอะไรให้เขียนยาวๆ สักเท่าไหร่

    ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ถือว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนมังงะสยองขวัญ เพราะยุคนี้มีนักเขียนการ์ตูนแนวสยองขวัญระดับตำนานประดับวงการมากมาย ที่รู้จักกันดีก็เช่น จุนจิ อิโต้ (Junji Ito), ชินอิจิ โคงะ (Shinichi Koga),โอฉะซึเกะ โนริ( Ochazuke), ทสึโนดะ จิโร่( Tsunoda), เมซึ คาซึโอะ(Umezu Kazuo), ฮิเดชิ ฮิโน่(Hideshi Works)

    การ์ตูนสยองขวัญสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูนสยองขวัญที่จบในหนึ่งตอน หรือจบในหนึ่งเล่ม เนื้อหาของการ์ตูนบรรยากาศจะมืดๆ ทึมๆ ตัวละครที่ต้องผจญกับเรื่องราวแปลกประหลาด ไม่ว่าจะเป็นภูตผีวิญญาณณร้าย (ที่ส่วนมากเป็นผีตายโหง), ปีศาจ และสัตว์ประหลาดที่เกินจิตนาการของมนุษย์ ที่ออกแบบโดยตัวคนเขียนเอง

    การดำเนินการ์ตูนสยองขวัญสมัยก่อนจะเน้นเลือดสาด พูดง่ายๆ เน้นโหด มากกว่าหลอน คือเนื้อเรื่องดำเนินเป็นเส้นตรง (พอเดาตอนจบได้ว่าจบยังไง) เช่น ตัวเอกเจอสิ่งเหนือธรรมชาติตามล่า หรือเจอเรื่องแปลกๆ น่ากลัว เป็นต้น แต่จุดขายคือสารพัดมุกของคนเขียนที่ใส่เข้าไปให้เรื่องมันน่าอึ้ง ไม่ว่าจะเป็นฆาตกรโรคจิตนิสัยแปลกๆ อสูรกายประหลาดที่ออกแบบโดยคนเขียนเอง เช่น  แต่จุนจิ อิโต้ที่สร้างสรรค์อสูรกายและปีศาจแปลกๆ ให้ได้สยดสยองและน่าพิศวง ว่ามันคือตัวอะไรกันแน่ ตั้งแต่ต้นจนจบ

    การ์ตูนสยองขวัญญี่ปุ่นสมัยเก่านั้นมีเสน่ห์ แม้ว่ามีเพียงตอนเดียว หรือเนื้อหาไม่ได้แปลกใหม่ แต่อ่านเพลินมาก ไม่ได้น่าเบื่อเลย อ่านแล้วจบโดยไม่รู้ตัว อ่านซ้ำอีก ซ้ำไปมา แม้ว่าจะเต็มไปเลือดสาด หรือฉากมืดๆ ทึมๆ ก็ตาม

    แต่อนิจจาวันเวลาผ่านไป การ์ตูนสยองขวัญสมัยก่อนเริ่มหมดไป  ไม่มีนักเขียนใหม่ๆ มาประดับวงการอีก  (หรือมี แต่ผลงานไม่เข้าตาของผู้ดู ก่อนที่จะจากไปอย่างเงียบๆ) ส่วนการ์ตูนแนวสยองขวัญญี่ปุ่นเริ่มไปในทางที่เน้นเอจจิมากขึ้น เน้นสาวน้อยน่ารักมากขึ้น ไม่ก็เน้นโหดรุนแรงแอ็คชั่นมากขึ้น พวกจบในตอนแบบสมัยก่อนลดน้อยลง ไม่ได้เรียกบรรยากาศเก่าๆ ได้อีก

     

     

    Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi

     

    เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เจอการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งดูจากหน้าบทเล่ม 1 เห็นภาพสาวน้อยที่ลายเส้นค่อนข้างโบราณ พร้อมกับชื่อเหมือนกลิ่นน้ำเน่าชอบกล หากแต่เมื่อเปิดอ่านกลับพบว่ามันเป็นการ์ตูนที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยบรรยากาศสยองขวัญเลือดสาด ซึ่งนานแล้วที่ไม่ได้อ่านการ์ตูนที่ได้บรรยากาศสยองขวัญเก่าๆ

     Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi หากแปลอังกฤษก็คงประมาณ “คุณได้ยินเสียงของคนตาย” (You will hear the voice of the dead) การ์ตูนมังงะแนวสยองขวัญ โชเน็น เมื่อปี 2011 ในไทยได้รับลิขสิทธิ์โดยวิบูลย์กิจในชื่อ “เสียงกระซิบของคนตาย” (ซึ่งตัวเล่มนั้นไม่ได้ใส่เลข “เล่ม 1” เอาไว้ เพราะตอนออกมาเล่มแรกยังไม่รู้ว่ามีเล่มต่อหรือเปล่า ซึ่งตอนที่เขียนถึงการ์ตูนเรื่องนี้ที่ญี่ปุ่นวางจำหน่ายเล่ม 3 ไปแล้ว)

    เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของการ์ตูน เป็นเรื่องราวของพระเอกที่ชื่อ “คิชิดะ จุน” เด็กมัธยมปลาย ที่ภายนอกดูแล้วมืดมน อ่อนแอ และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง แต่ตัวตนจริงๆ ของเขาก็คือคู่แข่งของริว จิตสัมผัส เด็กมัธยมปลายที่มองเห็นวิญญาณคนตายได้ (ไปจนถึงไม่ใช่คน) ซึ่งแน่นอนการที่วิญญาณปรากฏตัวต่อหน้าเขา แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีอะไรบางอย่างให้เขาเพื่อพวกเขา ซึ่งถ้าเป็นไปได้เขาก็ไม่อยากจะเกี่ยวข้องมันสักเท่าไหร่ เพราะหากเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวด้วยจะต้องเรื่องซวยๆ ตามมาแน่นอน

    จุนยังมีเพื่อนสมัยเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อฮายาคาวะ เรียวโกะ ที่เล่นด้วยกันเด็กๆ หากแต่เมื่อทั้งคู่โตขึ้นจนถึงมัธยมปลาย ทั้งสองก็ไม่ได้สนิทสนมกันอีก แม้จะอยู่ห้องเดียวก็ตาม ราวกับว่าทั้งสองอยู่กันคนละโลกไม่ปาน

    จนกระทั่ง วันหนึ่งเรียวโกะได้หายตัวไป ต่อมาไม่นานจุนก็ได้พบว่าเรียวโกะเป็นวิญญาณและปรากฏตัวต่อหน้าเขา และนั่นเองทำให้จุนรู้แล้วว่าเรียวโกะเสียชีวิตเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าวิญญาณเรียวโกะจะมีสีหน้านิ่งเฉย และไม่พูดอะไรเลยสักคำ แต่เธอเหมือนพยายามบอกอะไรสักอย่างกับเขา ตอนแรกจุนคิดว่าไม่อยากเข้าไปยุ่ง แต่เห็นว่าเป็นเพื่อนสมัยเด็ก เขาจึงต้องช่วยเหลือเธอ  หากแต่สิ่งที่เขาพบก็คือซากศพเพื่อนสมัยเด็กถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม โดยฆาตกรโรคจิตต่อเนื่องคนที่เขารู้จัก

    หลังจากเหตุการณ์นั้นจุนน่าจะคิดว่าเรียวโกะน่าจะไปสู่สุขคติเรียบร้อยแล้ว แต่กลายเป็นว่าเรียวโกะยังปรากฏตัวใกล้ตัวเขาอยู่ดี ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ว่าเรียวโกะยังมีเรื่องอะไรที่เป็นห่วงบนโลกใบนี้ (สาเหตุที่เรียวโกะมีห่วง เฉลยเล่มที่ 2)

    ตอนแรกจุนคิดว่าเรียวโกะกำลังรอเขาไปหาเธอในโลกหน้าด้วยกัน เพราะหลังจากเรียวโกะตาย จุนก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติหลายเรื่อง ซึ่งแต่ล่ะอย่างล้วนอันตรายจนเขาแทบเอาชีวิตไม่รอดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โดนสัตว์ประหลาดไล่ฆ่า, โดนฆาตกรต่อเนื่องจ้องทำร้าย, ภูตผีวิญญาณร้ายพยายามหลอกล่อเขาสู่ความตาย แม้เขาพยายามจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่เขาก็ต้องโดนลากเข้าไปยุ่งอยู่ดี โดยเฉพาะยัยแว่นเอาแต่ใจ “ชิคิโนะ” แห่งชมรมโบราณคดีที่มักลากเขาไปเจอเรื่องอะไรร้ายๆ อยู่เสมอ (แถมมันก็เลวร้าย ขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก สงสัยตอนหน้าคงเจอเมืองซอมบี้อาละวาดชัวร์)

    หลายครั้งที่จุนอยู่ในช่วงความเป็นความตาย จะตายมิไม่ตายแหล ตายแน่ๆ แต่เขาก็รอดอย่างหวุดหวิดหลายครั้ง เพราะวิญญาณเพื่อนสมัยเด็กจะปรากฏตัวเพื่อชี้ทางรอดเสมอ (บางครั้งก็มาบอกใบ้) จนจุนนึกสงสัยว่าทำไมเพื่อนสมัยเด็กถึงช่วยเขาเอาไว้ เธอต้องการอะไรกับเขากันแน่?

     


    จุนกับคณะพาซวย

     

    Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi เป็นผลงานของ UGUISU Sachiko นักเขียนการ์ตูนหญิงที่พึ่งมีผลงานไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากผลงาน Yamiyo ni Asobu na Kodomotachi เมื่อปี 2009 และเรื่องสั้น Manga of the Dead เมื่อปี 2012

    แม้ว่าคนเขียนจะเป็นผู้หญิง แต่กระนั้นตัวคนเขียนไม่ได้เขียนการ์ตูนผู้หญิงแต่อย่างไร แต่เลือกที่จะเขียนการ์ตูนแนวสยองขวัญที่เน้นผู้อ่านที่เป็นผู้ชายเป็นหลักมากกว่า ซึ่งดูจากลายเส้นและการดำเนินเรื่องไม่น่าเชื่อเลยว่าคนเขียนเป็นผู้หญิง

    การ์ตูนมังงะสยองขวัญที่เน้นคนอ่านผู้ชาย (ที่เน้นจบในตอน ไม่เน้นตอนยาวหลายเล่ม) จะมีความแตกต่างจากการ์ตูนมังงะที่เน้นคนอ่านผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นหรือเนื้อเรื่อง จุดเด่นของสยองขวัญที่เน้นคนอ่านที่เป็นผู้ชาย เนื้อหามัก เน้นความโหด ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ออกมาเลือดสาด เลือดนอง ตัวละครตายเป็นบื่อ ซากศพที่ดูโหดร้ายกว่า ในขณะที่การ์ตูนสยองขวัญของผู้หญิงจะเน้นหลอน และหน้าตาตัวละครจะออกไปทางการ์ตูนตาหวานทั่วไป ไม่ได้เน้นเลือดสาดอะไรมากมาย

    นอกจากนี้เนื้อเรื่องของการ์ตูนมังงะสยองขวัญของผู้ชายมีหลากหลายกว่า การ์ตูนสยองขวัญผู้หญิงที่จะเน้นเด็กประถมหรือมัธยมต้น เน้นเกี่ยวกับความรัก หรือแฟชั่น  เพื่อนและมิตรภาพ แต่ของการ์ตูนมังงะสยองขวัญของผู้ชาย ส่วนใหญ่ตัวเอกเป็นมัธยมปลาย ไปจนถึงผู้ใหญ่ อีกทั้งไม่เน้นความรักอย่างเดียว ยังมีส่วนผสมจิตใจดำมืดของมนุษย์ อาการทางจิต (โรคจิต)  และส่วนผสมของการผจญภัยเข้าไป อารมณ์ที่ออกมาจะเน้นฉับไว ทำให้ไม่น่าเบื่อ และมีความหักมุมมากกว่า 

    ที่สำคัญคือการ์ตูนมังงะสยองขวัญของผู้ชายมุกสยองขวัญมีความหลากหลายกว่า  กล่าวคืออะไรที่เป็นพล็อตสยองขวัญที่พบเห็นในภาพยนตร์หรือนิยาย ในการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นมีหมด ไม่ว่าจะเป็นพวกตัวเอกเดินทางไปยังสถานที่ร้างคนหรือห่างไกลจากผู้คน (เกาะโดดเดี่ยว, คฤหาสน์, ป่า ฯลฯ)  แล้วเจออะไรไล่ล่า, หรือเพื่อนคุณโดนผีสิง, โลกซอมบี้ หรือจู่ๆ ไปเจอเรื่องแปลกประหลาดพวกอสูรกาย หรือเหตุการณ์แปลกๆ เรียกได้ว่าที่ผ่านมามังงะสยองขวัญญี่ปุ่นมีหมด อีกทั้งบางเรื่องก็ดัดแปลงจนเป็นของตนเองก็มี (ไม่นับสยองขวัญสมัยนี้ที่เน้นตัวละครโมเอะ แถมมีเอจจิให้เห็นกางเกงในให้เมามันอีกต่างหาก) สิ่งเหล่านี้เองทำให้การ์ตูนสยองขวัญของผู้ชายนิยมกว่าการ์ตูนสยองขวัญผู้หญิง

    Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi เป็นการ์ตูนการดำเนินเรื่องคล้ายๆ กับชั่วโมงเรียนพิศวง Gakko no Kaidan ในช่วงเล่ม 1-4 คือเป็นตอนสั้น จบในตอน (แต่จำนวนหน้าของจุน จิตสัมผัสมีเยอะกว่า ตามมาตราฐานจำนวนหน้าต่อหนึ่งตอนของการ์ตูนทั่วไป)  ทั้งสองเรื่องดำเนินเรื่องคล้ายกัน คือแต่ละตอนเป็นเรื่องของตัวเอกที่ต้องพบอะไรบางอย่างที่คนทั่วไปไม่ได้พบ และไม่อยากจะอยากเจอ บางอย่างก็โผล่ออกมาให้ประหลาดใจตรงหน้า (แบบหลอนๆ) ไปจนถึงบางอย่างที่อันตรายไล่ล่าเขา หลอกหลอนเขา แต่สิ่งที่แตกต่างคือส่วนใหญ่จุนจะรอด แต่สำหรับพระเอกใน Gakko no Kaidan รอดบ้างไม่รอดบ้าง

     อย่างไรก็ตาม การดำเนินเรื่อง Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi ไม่ได้แปลกใหม่มากนัก มุกสยองขวัญในเรื่องก็ยังคงเป็นมุกที่พบเห็นในพล็อตสยองขวัญทั่วไป ส่วนการหักมุมก็มีบ้าง แต่ก็กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้อึ้ง (แต่ก็อดไม่ได้ที่แปลกใจเหมือนกัน ประมาณว่า จบแบบนี้ดีแล้วเรอะ เจ้าพระเอก...) ตัวคนแต่งเองก็พยายามสร้างอสูรกายให้แปลกพิศวงเหมือนจุนจิ อิโต้  แต่ยังห่างชั้นแบบจุนจิ อิโต้ค่อนข้างเยอะ  

                    แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ.......ผมไม่สามารถละสายตากับการ์ตูนเรื่องนี้ได้เลย  อาจเป็นเพราะเป็นเรื่องสั้นจบในตอนที่อ่านเพลินใช้ได้  (ทุนเดิมเองผมก็ชอบแนวแบบนี้อยู่แล้ว) คนเขียนเก่งเรื่องใช้พล็อตการดำเนินเรื่องพื้นๆ ทำให้มันน่าสนใจ ด้วยบรรยากาศในเรื่องออกมืดๆ ทึมๆ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันและตอนกลางคืน บรรยากาศที่ดูไม่น่าไว้ใจ (สมัยก่อนการ์ตูนแนวสยองขวัญใช้วิธีแบบนี้เยอะ) ที่สนุกคือฉากโหด สาดเลือดสาดสะใจดี ไม่ว่าจะเป็นฉากซากศพ ฉากตัวละครตาย ผสมกับความโรคจิตของตัวละคร (และพวกวิญญาณ) แถมความหลากหลายสยองขวัญ อย่าง ตอนที่แล้วไปเจออสูรกายไล่ฆ่า มาตอนหน้าเจอสวนสนุกผีสิง ตอนต่อไปเจอมนุษย์ต่างดาว แม้จะเป็นพล็อตพื้นๆ แต่ ก็ช่วยทำให้การ์ตูนเรื่องนี้น่าสนใจขึ้น ไม่ให้น่าเบื่อกับเรื่องผีๆ หลอนๆ อย่างเดียว

                    จุดเด่นอย่างหนึ่งของการ์ตูนแนวสยองขวัญที่เน้นคนอ่านชายคือมักแฝงด้วยตลกร้าย ที่ให้เราหัวเราะเสมอ ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องจะเต็มไปด้วยเลือดสาด ซากศพฆ่าโหด ไส้ทะลัก สมองกระจาย สยองขวัญจนดูเหมือนมันไม่น่าจะตลกได้ก็ตาม ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ผมก็แอบขำผสมกับหลอนๆ หลายมุก ไม่ว่าจะเป็นการที่ตัวเอกมีชีวิตที่แสนจะธรรมดาแท้ๆ ดันเจอสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ (เด็กประถมมันเจอเรื่องสยองขวัญทุกรูปแบบ)  ประมาณว่า จู่ๆ เอ็งไปคฤหาสน์บนเกาะร้างได้ไง ไปป่าอยู่ดีๆ เจอศพเพียบ ไปไหนก็มีแต่เรื่องซวยตลอด แถมพวกภูตผี ปีศาจ ฆาตกร ต่างอยากฆ่าพระเอกเหลือเกิน ไม่รู้เพราะอะไร ตัวละครในเรื่องก็ตายโง่ อสูรกายมุกก็บ้าบอ (ยิ่งตอนสุดท้ายของเล่มสาม “วัน หมูๆ” ผมฮ่าเลยแหละทั้งๆ ที่สยองโครตๆ แท้ๆ) แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องตลกเหล่านั้นก็ทำให้ผมแอบกลัวนิดๆ เหมือนกัน เป็นต้นว่าสาวไร้บ้าน ที่แอบอาศัยอยู่บ้านพระเอก (แบบเนียนๆ) ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอันตรายอะไรแท้ๆ แต่ทำไมผมกลัวก็ไม่รู้

                    ส่วนที่เหลือที่ทำให้ผมดูเรื่องนี่คือการจิ้นฮาเร็ม ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ไม่ใช่แนวฮาเร็มแท้ๆ แต่การดำเนินเรื่องชวนจิ้นมาก พระเอกน่ารักอ่อนแอ ปักธง (หรือเปล่า?) สาวๆ หลายคน (ทั้งคน ทั้งผี) เด่นๆ ก็แว่นพาซวย และทวินเทลญาณทิพย์ (ซึ่งทั้งสองคนลากพระเอกซวยบ่อยครั้งอีกต่าง)



    ฉากหนึ่งของเรื่อง
    Yamiyo ni Asobu na Kodomotachi ซึ่งมีความโหด และสยองขวัญกว่าเรื่องเสียงกระซิบจากเพื่อนสมัยเด็กมาก

     

    ดังนั้น Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi  จึงเป็นการ์ตูนสยองขวัญที่แอบตลกนิดๆ ตามสไตล์การ์ตูนสยองขวัญสมัยก่อน ที่เราสามารถหัวเราะแบบ หึ หึ ได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดหรือตัวละครตายแบบเลือดสาดก็ตาม  ตั้งแต่จนจนจบ (ตอนจบบางตอนคุณอาจอุทานว่าจบแบบนี้ดีแล้วเหรอ?” ซึ่งไม่ได้เน้นสยองขวัญแบบดราม่าหรือตึงเครียด หรือเอาโหดกุโระท่าเดียว 

    จะว่าไปเรื่องสยองขวัญ, ตลก, และความแปลกประหลาดไม่เหมือนใครจนดูไม่สมเหตุสมผลนั้น อยู่คู่กับญี่ปุ่นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเอโดะและยุคเมจิที่มีเรื่องภูตผีปีศาจแปลกประหลาด แม้ว่าเรื่องเล่าจะเป็นแนวสยองขวัญก็ตาม แต่ก็อดขำไม่ได้ อย่างเช่น ผีไม่มีหน้า แม้ว่าส่วนใหญ่พล็อตสยองขวัญสมัยก่อนญี่ปุ่นก็เน้นเรื่องกรรมและการแก้แค้น ที่เกี่ยวกับผีพยาบาท (Onryo) ก็ตาม และเมื่อถึงยุคสมัยใหม่ เทคโนโลยี เรื่องภูตผีก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะตายกลายเป็นตำนานเมืองที่ดูทันสมัยไป แต่ก็ยังคงแปลกเหมือนเดิม เช่น ผีสาวปากฉีก, สุนัขหน้าคน, ปลาหน้าคน เป็นต้น

    จนกระทั่งการเข้ามาของตะวันตก การเข้ามาของสื่อภาพยนตร์ ญี่ปุ่นก็ได้นำเรื่องสยองขวัญของตนมาดัดแปลงให้เป็นเอกลักษณ์ในขณะเดียวกันก็รักษาในแง่แบบตะวันตกด้วย โดยสยองขวัญของญี่ปุ่นเน้นไปทางสยองขวัญแบบจิตวิทยาและสร้างความตึงเครียด กดดัน (แต่ก็น่าติดตามแบบใจจดใจจ่อ) และเน้นเรื่องผีและวิญญาณ ยกตัวอย่างเช่น “เดอะริง”

    ส่วนการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น สื่อมังงะจะได้รับความนิยมมากที่สุด สมัยก่อนพอมีอนิเมะบ้าง แต่กระนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นสยองขวัญ แต่เน้นคนดูที่เป็นเด็ก ซึ่งปัจจุบันหาอนิเมะแนวสยองขวัญน้อยเต็มที และมังงะปัจจุบันสยองขวัญก็เน้นไปทางเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น และมีส่วนผสมแนวต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอ็คชั่น, เซอร์ไววัล, แฟนตาซี มากกว่าจะเน้นการเล่าเรื่องสยองแบบสมัยก่อน ทำให้การดำเนินเรื่องแบบจบในตอนแบบสยองขวัญเริ่มลดน้อยถอยลง ในขณะที่นักเขียนบางคนฝีมือเล่าเรื่องไม่ถึง ทำให้นานๆ ครั้งจะได้เห็นการ์ตูนแบบ Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi  สักเรื่อง

    กลับมาเรื่อง Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi  กันต่อ (ผมก็นอกเรื่องไปเรื่อย) ก่อนหน้าคนเขียนจะเขียนเรื่องนี้ คนเขียนเคยเขียนเรื่อง Yamiyo ni Asobu na Kodomotachi  (ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เปิดกูเกิลแปลแล้วมั่วได้ว่า “เด็กที่เล่นกันในค่ำคืนที่มืดมิด”) เมื่อปี 2009 ลงในนิตยสารมังงะสยองขวัญ สองเดือนจะมาหนึ่งตอน (ตอนที่บทความเรื่องนี้ยังไม่จบ) โดยเนื้อเรื่องนั้นมีความโหดและสยองขวัญกว่ามาก  เพราะทวีความโหด เนื้อหาโหดร้าย ความบ้าคลั่ง ลึกลับ และน่าติดตามอีกเรื่องหนึ่ง (แต่ก็ไม่พ้นเรื่อง โหด มัน ฮ่า อยู่ดี) ทั้งๆ ที่ตัวเอกเรื่องนี้เป็นแค่เด็กสองคน (แต่ดีกรีความน่ารักนั้น จุน จิตสัมผัสน่ารักกว่าครับ)

     Yamiyo ni Asobu na Kodomotachi  เป็นเรื่องของเด็กประถม “โทชิโอะ” และน้องสาวของเขา “มาโกะ” ซึ่งกลายเป็นเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์หนึ่ง ทำให้เขาต้องไปอยู่สถานเด็กกำพร้า หากแต่มันจะดีไม่น้อยที่ทั้งคู่จะต้องพบการเรื่องราวสยองขวัญเลือดสาดตามติดพวกเขา แน่นอนว่าทั้งคู่พยายามหลีกหนีเรื่องดังกล่าว หากแต่เรื่องสยองขวัญยังตามทั้งคู่อยู่ดีเพราะมาโกะมีพลังสัมผัสที่หกสามาถเข้าทรงภูตผีวิญญาณได้ (ส่วนมากเป็นวิญญาณร้ายอีกต่างหาก) อีกทั้งสองพี่น้องต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีของสองตำรวจนักสืบที่รู้เรื่องญาณทิพย์ของมาโกะและพยายามขอร้องให้มาโกะเข้าทรงเพื่อช่วยสืบสวนคดีอีกต่างหาก

    เรื่องนี้ยังดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ การดำเนินเรื่องที่ตอนแรกออกไปทางลึกลับ มืดมน และเมื่อถึงช่วงท้ายๆ การดำเนินเรื่องก็ยิ่งน่าติดตามขึ้น เมื่อถึงใกล้ตอนท้ายก็จะเริ่มมีฉากเลือดสาด ความตาย ภาพที่ออกมารุนแรง น่ากลัว เข้ามาแทนที่ทำให้คนอ่านจดจ่อสิ่งต่อไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้จะจบยังไง (แม้จะรู้ว่าตัวเอกรอดก็ตาม) พูดง่ายๆ ว่าเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายโทนการดำเนินเรื่องภาพยนตร์สยองขวัญญี่ปุ่น มากกว่าจะเป็นแบบมังงะสยองขวัญญี่ปุ่นมาก

    หลังจากที่ได้ดู สองผลงานของคนเขียน ผมก็เริ่มสังเกตว่าคนเขียนนั้นให้ความสำคัญกับความรักคนใกล้ชิดค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือครอบครัว อย่างเห็นได้ชัด Yamiyo ni Asobu na Kodomotachi  ได้ให้เห็นความสัมผัสระหว่างพี่น้อง ที่พี่ชายพยายามที่จะปกป้อง-ดูแลน้องสาวของเขาทุกอย่าง เพราะน้องสาวเป็นครอบครัวเดียวที่เขามีอยู่ แม้ว่าพวกเขาต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์สยองขวัญ เลือดสาด การไล่ฆ่าก็ตาม (ผมชอบตอนที่พี่น้องโดนแก๊งปล้นเงินจับตัวไป ซึ่งน้องสาวพระเอกใช้วิธีจัดการพวกแก๊งนี้ชนิดไม่ผุดไม่เถิดเลยแหละ)

    Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi ก็เช่นกัน กับความความสัมผัสระหว่างจุนและเพื่อนสมัยเด็ก ที่ทั้งคู่เมื่อโตขึ้นมาก็ไม่ได้พูดคุยอีกเลย ความห่างเหินทั้งคู่เริ่มสร้างกำแพงจิตใจขึ้นมา เพื่อนสมัยเด็กมองจุนว่าเป็น “คนแปลก” ในขณะที่จุนเองทำตัวออกห่าง กว่าที่ทั้งคู่จะได้พบกันก็เป็นตอนที่เกิดเรื่อง ซึ่งลึกๆ แล้วจุนก็เสียใจเหมือนกันที่เขาไม่สามารถปกป้องเพื่อนสมัยเด็กได้ สังเกตได้จาก หลังจากสูญเสียเพื่อนสมัยเด็กไป จุนให้ความสำคัญกับคนใกล้ตัวมากขึ้น แม้ว่าหน้าตาพระเอกจะมืดมน แม้ปากจะบอกว่าไม่อยากจะยุ่ง แต่หากเขาพบเห็นคนที่เดือดร้อนเขาก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ แม้ว่าตัวเขาจะอ่อนแอ หรือต้องบาดเจ็บสาหัสทุกครั้งที่จะช่วยเหลือคนอื่นก็ตาม (บางจะมีบางตอนที่ เขาช่วยเหลือใครไม่ได้เลยก็เถอะ)

    ถือว่าเป็นส่วนสอดแทรกเล็กๆ ที่ทำให้ผลงานของคนเขียนคนนี้สนุกขึ้น และทำให้ผมติดตามผลงานของคนเขียนคนนี้ว่าจะสามารถไปได้ไกลมากขนาดไหน

     

    สุดท้ายนี้ผมก็ขอฝากการ์ตูนเรื่องหนึ่งของคนเขียน เป็นเรื่องสั้น ในซีรีย์ Manga of the Dead เมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นซีรีย์รวมเรื่องสั้น แปดผลงานของนักเขียนการ์ตูน โดยทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับ “ซอมบี้”   และหลังจากที่ผมดูผลงานของแต่ละคน ผมก็พบว่านักเขียน UGUISU Sachiko ดูเหมือนจะโดดเด่นที่สุด ในแง่การตอบโจทย์ซอมบี้ แม้ว่าพล็อตเรื่องเหมือนจะดูจะธรรมดา แต่ด้วยงานภาพ สายสัมพันธ์ของครอบครัว ทำให้คนดูคล้อยตาม และน่าติดตามอย่างไม่น่าเชื่อ

     

    (การ์ตูนเรื่องนี้แปลนรกนิดหน่อย เพื่อให้เหมาะสม ท่านใดสนใจสามารถเอาไปเผยแพร่ได้ครับ)

     
























     

     
















     






     

     


     

     

    ในขณะที่แนวซอมบี้ ในชุด Manga of the Dead  ส่วนใหญ่เป็นแนวซอมบี้แบบโมเดิร์น ผสมกับแนวเฉพาะของนักเขียนแต่ละคน แต่คนเขียน UGUISU Sachiko ใช้โครงเรื่องพล็อตที่โลกซอมบี้แท้ๆ แบบตะวันตก ผสมกับการ์ตูนญี่ปุ่นสยองขวัญยุคเก่าไม่ว่าจะเป็นลายเส้น และความสยองที่เห็นตับ ไต ไส้พุง และที่น่าสนใจคือตัวเอกดำเนินเรื่องเป็นเด็กประถม (แตกต่างจากการ์ตูนชุดเดียวกันที่เน้นตัวเอกที่เป็นวัยรุ่นและเป็นผู้ใหญ่มากกว่า) ซึ่งการ์ตูนสยองขวัญสมัยก่อนเองก็เน้นตัวเอกที่เป็นเด็กประถม ทำให้เนื้อหาบีบอารมณ์ และเอาใจช่วยมากกว่า

    มีหลายคนสังเกตว่าทำไมการ์ตูนแนวสยองขวัญทั้งๆ ที่มีฉากเลือดสาด คนตายเป็นเบื่อ แต่ทำไมแต่ละเรื่องแตกต่างกัน บางเรื่องปวดตับ บีบหัวใจ ในขณะที่บางเรื่องสะใจพระเดชพระคุณคนดูและแอบขำๆ แม้จะมีฉากคนตายก็ตาม เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะการวางบทของตัวละคร หากเป็นเรื่อง “ชิบหาย” ตัวละครที่ตายจะออกมาไม่กี่หน้า ทำให้คนดูไม่รู้สึกผูกพันกับตัวละคร และยิ่งใส่สารพัดการตายในลักษณะแปลกๆ หรือนิสัยตัวละคร (แบบโง่ๆ หรือเห็นแก่ตัว)  เข้าไปก็ทำให้รู้สึกฮ่าได้แม้ภาพจะดูโหดร้ายก็ตาม

    ในขณะที่ “ปวดตับ” นั้นตรงกันข้าม เมื่อตัวละครหลักของเรื่องตาย คนดูต่างใตจหาย เพราะตัวละครคนดูรู้สึกผูกพันแล้ว เพราะอยู่กับกลุ่มตัวเอกเป็นเวลานาน ตัวร้ายไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นตัวละครนิสัยดีถ้าตายขึ้นมา ก็ทำให้คนดูรู้สึกอดไม่ได้ที่จะเศร้าใจ

    Manga of the Dead  คนเขียน UGUISU Sachiko แม้จะเป็นตอนสั้นๆ แต่ดูแล้วรู้สึกหลากหลายอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเศร้าและลุ้น เราได้เห็นสายใยของครอบครัว ที่ยังคงหลงเหลือในโลกอันบ้าคลั่งแห่งนี้ แม้ว่าพ่อแม่อันเปรียบเสมือนหนึ่งเสาหลักของครอบหรัวและคนปกป้องครอบครัวจะกลายเป็นซอมบี้  ทิ้งลูกเอาไว้เบื้องหลัง หากเป็นเราเป็นเด็กในเรื่องคงฆ่าตัวตายไปแล้ว เพราะขาดผู้นำ ขาดคนที่ปกป้อง แต่เด็กในเรื่องก็ไม่ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย กลับใช้วิธีการตั้งความหวัง (ที่เป็นไปไม่ได้) เพื่อเป็นแรงขับให้อยู่ต่อ มันเป็นอะไรที่จี้ใจดำของคนดูมาก สำหรับพวกเขาแล้วให้ความสำคัญกับคนใกล้ตัวเสมอ แม้ว่าในตอนท้ายพวกเขาจะเจอคนดีที่มาปกป้องพวกเขาแทนพ่อแม่ แต่พวกเขาก็ไม่ลืมครอบครัวแต่อย่างใด และนี้สไตล์การเล่นจิตใจของตัวละครให้หันมามองความสำคัญคนใกล้ตัวของคนเขียนที่นำมาใช้กับหลายเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่ Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi ที่พระเอกเริ่มเห็นความสำคัญกับเพื่อนสมัยเด็ก ตอนที่มีชีวิตอยู่เขาไม่ค่อยสนใจ หากแต่เมื่อเพื่อนสมัยเด้กกลายเป้นวิญญาณ เขาก็เริ่มสนใจเธอมากขึ้น ให้ใส่ใจเธอมากขึ้น

                    น่าสนใจมากว่าคนเขียนจะไปไกลได้เพียงใด ผมก็เอาใจช่วยน่ะ เพราะสยองขวัญแบบอารมณ์สมัยก่อนนี้แบบจบในตอนหายากแล้ว ในขณะที่การ์ตูนมังงะสยองขวัญสมัยใหม่ (ที่เน้นเชอร์วิส, โมเอะ, ) ไปก็ไม่น่าสนใจมากนัก แถมบางเรื่องเน้นหนีเอาตัวรอดท่าเดียวทั้งเรื่องอีกต่างหาก ไม่ได้สอดแทรกอะไรให้เป็นข้อคิดสะกิดใจอะไรเลยพับผ่า

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×