ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #276 : ขุนหลวงในพระบรมโกศ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 656
      0
      19 เม.ย. 53

    ชื่อพันท้ายนรสิงห์ และเรื่องราวของท่านใคร ๆ ก็ทราบกันดี

    แต่เมื่อมีโอกาสไปสักการะศาลพันท้ายนรสิงห์ที่ตำบลโคกขาม มีผู้ร่วมทางถามว่า พระเจ้าเสือ เจ้าเหนือหัวของพันท้ายนรสิงห์เป็นพระเจ้าแผ่นดินตอนไหน ก่อนหรือหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    ระทา
    ภาพนี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง แต่มีผู้ถามมาถึง ‘ระทา’ ว่าเป็นอย่างไร จึงนำภาพมาลง คือ ที่เห็นเป็นเรือนสูงประดับดอกไม้ไฟ ๓ เรือน ทางมุมขวาของภาพ
    “พระเมรุตลอดยอดนั้นสูง ๒ เส้น...ฯลฯ... มีระทาดอกไม้สูง ๑๒ วา ๑๖ ระทา” (จากพระราชพงศาวดาร งานพระเมรุพระบรมศพรัชกาลที่ ๓)
    แต่ภาพนี้เป็นภาพกำลังก่อสร้าง พระเมรุมาศ พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พ.ศ.๒๔๕๔

    ถามอย่างนี้จริง ๆ

    ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ถามถึง ‘พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ’ หลายราย คือสงสัยว่า ทำไมท่านถึงได้ชื่อ ‘บรมโกศ’ (หนังสือโบราณว่า ‘บรมโกษฐ์’) ซึ่งหมายถึง โกศบรรจุศพ

    ที่จริงเรื่องพระนามพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยเล่ามาบ้างแล้ว แต่ในที่นี้เล่าพร้อมกันไปกับเรื่อง ‘พระเจ้าเสือ’ ของพันท้ายนรสิงห์อีกครั้งก็ได้ เพราะท่านเป็นพ่อลูกกัน

    พระเจ้าเสือเป็นพ่อ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นลูก

    พระเจ้าเสือนั้น ในจดหมายเหตุบางแห่งออกพระนามว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ’ ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่า ‘พุทธ’ กับ ‘เสือ’ ไม่น่าจะไปกันได้

    จริง ๆ แล้ว เท่าที่ทราบ ๆ กันมา พระเจ้าแผ่นดินในสมัยปลายอยุธยานั้น คำราษฎรมักเรียกพระองค์ท่านกันว่า ‘ขุนหลวง’

    แต่คำเป็นทางการ ใช้ว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งหากเอ่ยถึงพระองค์ท่านในปัจจุบัน (ของขณะนั้น) ก็ว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว’ เฉย ๆ ทุกพระองค์ไม่ต้องออกพระนาม ซึ่งเป็นพระนามจารึกในพระราชสุพรรณบัฏอันยาวยืด และมีศัพท์แสงจำยาก

    ดังนั้น เมื่อขึ้นแผ่นดินใหม่ ราษฎรจึงพากันเรียก ‘ขุนหลวง’ แผ่นดินก่อน ๆ โดยขนานพระนามกันเอาเองตามพระราชอุปนิสัย และประพฤติเหตุ ซึ่งพระนามที่เรียกกันเอาเองนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ว่าเป็น ‘พระนามตามที่ปากตลาดเรียก’

    อย่างเช่น ‘ขุนหลวงเสือ‘ เป็นพระนามตามที่ปากตลาดเรียก (ต่อมาถึงสมัยปลายๆรัตนโกสินทร์ คำว่า ‘ขุนหลวง‘ พ้นสมัยแล้ว จึงเรียกเปลี่ยนเป็นพระเจ้าเสือ แล้วจดหมายเหตุก็เลยพลอยใช้ว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ‘ ไปด้วย)

    ขุนหลวงเสือนั้น เรียกพระนามตามปากตลาดอีกพระนามหนึ่งว่า ‘ขุนหลวงสรศักดิ์’ เพราะเมื่อสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านรับราชการเป็นที่ ‘หลวงสรศักดิ์’ อันที่จริง เป็นที่ยอมรับกันในพระราชพงศาวดารว่า จริง ๆ แล้วท่านเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หากแต่พระราชทานเจ้าจอมมารดาของท่านแก่พระเพทราชา ขณะตั้งครรภ์อยู่หลวงสรศักดิ์ (หรือชื่อเดิมว่า ‘เดื่อ’) จึงเป็นลูกเลี้ยงของพระเพทราชา ซึ่งว่ากันว่า พระเพทราชา เกรงใจมาก ทำนองเดียวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานเจ้าจอมมารดาปราง แก่เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขณะตั้งครรภ์เจ้าพระยานคร (น้อย) นั้น

    เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตแล้ว ดังที่ทราบกันในประวัติศาสตร์ว่า พระเพทราชาได้ราชสมบัติ โดยหลวงสรศักดิ์เป็นคู่คิดสนับสนุน

    สมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้น ท่านอยู่ในราชวงศ์ปราสาททอง

    ครั้นพระเพทราชาได้ครองราชย์ เปลี่ยนเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง เพราะท่านเป็นชาวบ้านตำบลบ้านพลูหลวง

    มีพระนามเป็นทางราชการว่า ‘สมเด็จพระมหาบุรุษ’ แต่ราษฎรก็เรียกกันว่า ‘ขุนหลวงเพทราชา’ ตามตำแหน่งก่อนขึ้นครองราชย์

    ครองราชย์อยู่ ๑๖ ปี เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวในราชวงศ์บ้านพลูหลวง

    ขณะครองราชย์ ตั้งหลวงสรศักดิ์ เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า ครั้นสวรรคต พระมหาอุปราชได้ราชสมบัติ ท่านถือว่าท่านเป็นสายพระโลหิตสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเปลี่ยนกลับมาอยู่ในราชวงศ์ปราสาททองอีก

    ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือ ขุนหลวงเสือมีพระนามตามที่จารึกในพระราชสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘’

    ขุนหลวงเสือท่านมีพระราชโอรสประสูติแต่พระมเหสีใหญ่ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร และเจ้าฟ้าพร โปรดฯให้เจ้าฟ้าเพชรเป็นพระมหาอุปราชวังหน้า และโปรดฯให้เจ้าฟ้าพรรับพระราชบัณฑูรด้วย ครั้งนั้นเรียกกันว่าพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยตามธรรมเนียม

    ขุนหลวงเสือครองราชย์อยู่ ๑๐ ปี สวรรคต

    เรื่องเจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร เคยเล่าไว้แล้วใน ‘เวียงวัง’ เรื่องขุนนาง ๘ แผ่นดิน

    เอาเป็นว่า เมื่อขุนหลวงเสือสวรรคต พระมหาอุปราช ก็ได้ขึ้นครองราชย์ ต่อจากพระราชบิดา มีพระนามจารึกในพระราชสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙’

    พระนามตามที่ปากตลาดเรียกว่า ‘ขุนหลวงท้ายสระ’ บ้าง เพราะโปรดประทับพระที่นั่งท้ายสระสำหรับทรงตกปลา บ้างก็เรียกว่า ‘ขุนหลวงทรงปลา’ เพราะนอกจากโปรดทรงตกปลาแล้ว ยังโปรดเสวยปลาตะเพียนและเพดานปลากะโห้ด้วย อันพระนามตามปากตลาดนี้ ชะรอยบางรัชกาลคงเป็นพระฉายา ‘แอบเรียก’ ตั้งแต่ยังครองราชย์อยู่ เห็นจะไม่เป็นแต่เฉพาะเมื่อล่วงแผ่นดินไปแล้ว

    ขุนหลวงท้ายสระ ครองราชย์อยู่นานถึง ๒๗ ปี จึงสวรรคต

    ตอนนี้เกิดความวุ่นวายเคยเล่าไว้แล้วในเรื่องขุนนาง ๘ แผ่นดินเช่นกัน

    เล่าอย่างสามัญชนก็ว่า ขุนหลวงท้ายสระท่านทรงครองราชย์นาน ลูกๆท่านก็โตเป็นผู้ใหญ่ ท่านก็เกิดพระราชประสงค์จะให้ลูกท่านครองราชย์ แทนที่จะให้น้อง (เจ้าฟ้าพร) ซึ่งร่วมทุกข์ด้วยกันมาและเป็นพระมหาอุปราชวังหน้าอยู่ จึงเกิดศึกกลางเมืองขึ้น ในที่สุดพระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร) ได้ราชสมบัติ

    เสด็จขึ้นครองราชย์ มีพระนามจารึกพระราชสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓’ ไม่ใช้ ‘สมเด็จพระสรรเพชญ์’ ตามพี่ ย้อนกลับไปใช้พระนามตามพระราชสุพรรณบัฏ ของ ขุนหลวงพงัว (หรือพะงั่ว) และเจ้าสามพระยา แห่งพระราชวงศ์เชียงราย

    ขุนหลวงพงัว-สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑

    เจ้าสามพระยา-สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒

    พระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร)-สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓

    ก็พระองค์นี้แหละคือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่สงสัยกันนัก

    เมื่อครองแผ่นดินอยู่ ราษฎรทั่ว ๆ ไปก็ออกพระนามกันว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว’ บ้าง ‘ขุนหลวง’ เฉย ๆ บ้าง ดังเมื่อเอ่ยถึงพระเจ้าแผ่นดินขณะนั้น

    เมื่อสวรรคตแล้ว จึงเรียกกันว่า ‘ขุนหลวงในพระบรมโกศ’ บ้าง ‘ในพระบรมโกศ’ เฉย ๆ บ้าง แล้วเลยเป็น ‘พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ’ ในเวลาต่อมา พลอยให้เข้าใจกันไปว่า ท่านมีพระนามว่า ‘บรมโกศ’ ทั้งนี้เพราะท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายที่เป็นขุนหลวงในพระบรมโกศ เมื่อจะเอ่ยถึงท่านจึงเรียกตามธรรมเนียมติดปากเรื่อยมา ด้วยหลังจากสวรรคตแล้ว อีกเพียง ๙-๑๐ ปี ก็เสียกรุง ยังไม่ทันมี ‘ขุนหลวงในพระบรมโกศ’ ต่อจากท่าน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×