ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #230 : พระยาทุกขราษฎร์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 979
      2
      17 เม.ย. 53

    ตำแหน่ง “ทุกขราษฎร์” แรกเริ่มเดิมทีว่ามีบรรดาศักดิ์เป็นเพียง “หลวง” เพราะในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๕ ท่านว่าไว้ในเรื่องวิธีปกครองบ้านเมืองแบบโบราณว่า “ในสมัยก่อนโน้นแต่รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ เจ้าเมืองมียศชั้นพระยาพานทอง มีอำนาจเป็นแม่ทัพประจำตัวเสมอ สั่งประหารชีวิตนักโทษที่โทษถึงตายได้ เจ้าเมืองมีกรมการผู้ใหญ่ที่กรุงเทพฯ แต่งตั้ง เป็นผู้ช่วยคือ

                พระปลัด ๑ หลวงยกกระบัตร ๑ หลวงผู้ช่วย ๒ หรือ ๓ คน

                หลวงผู้ช่วยมีราชทินนามต่างๆกัน ตำแหน่งแรกคือหลวงทุกขราษฎร์ ฯลฯ”

                ต่อมาที่โปรดฯให้เป็นพระ พระยา คงอยู่ที่เป็นเมืองใหญ่ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ในรัชกาลที่ ๑ ในพระราชพงศาวดารก็ว่าเคยเป็นพระทุกขราษฎร์เมืองพิษณุโลกมาก่อนในปลายสมัยอยุธยา

                ผู้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ในกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชื่อเสียงนั้น คือพระยาทุกขราษฎร์เมืองพัทลุง ชื่อเดิมชื่อบุญช่วย หรือช่วย

                มีประวัติว่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกมาตีเมืองชุมพร ไชยา นครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  เสด็จยกทัพลงไปตีทัพพม่าแตก

                ในสงครามครั้งนี้พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) แต่งทัพออกไปรบพม่า มีพระมหาบุญช่วยผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์ลงเลขยันต์ แตกตะกรุด ผ้าประเจียดให้พวกไพร่พล เมื่อเสด็จศึกจึงโปรดเกล้าฯให้พระมหาบุญช่วยลาอุปสมบท โปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง

                จวน (หรือสมัยก่อนเรียกกันว่าวัง) เจ้าเมืองพัทลุง จ.พัทลุง สร้างในสมัย
    รัชกาลที่ ๓ แทนวังเก่าที่เป็นเรือนไม้ใต้ถุงสูง
                ส่วนวังใหม่นี้สร้างตามแบบพระราชนิยมสมัยนั้นคือก่ออิฐโบกปูนเสาไม้ เครื่องบนไม้ ฝามักเป็นขัดแตะถือปูน มีเรือนหลายหลังเชื่อมต่อถึงกัน ด้วยพื้น
    ปูกระเบื้องอยู่ภายในกำแพง ล้อมรอบศาลาตรงกลางคงเป็นเหมือนหอนั่งออกพบปะ
    ว่าราชการงานเมืองต่างๆ
                มีประตูทางเข้าภายในทั้ง ๔ ด้าน ประตูด้านที่เห็นในภาพ (๒) เปิดลง
    ท่าน้ำริมคลอง ซึ่งในสมัยก่อนคงจะเป็นด้านหน้าวัง เพราะในสมัยโน้นการคมนาคม
    ใช้เรือไปมาหาสู่เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ
                (จวนหรือวังนี้บูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๑ - ๒๕๓๖ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ
    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย)

                ในที่นี้น่าจะได้เล่าถึงเรื่องเจ้าเมืองพัทลุง และเมืองพัทลุงพอเป็นสังเขป เพราะเมืองพัทลุงนั้น เคยเป็นเมืองใหญ่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ปลายกรุงศรีอยุธยา โปรดฯให้พระยาราชบังสัน (ตะตา) เชื้อสายสุลต่านสุลัยมานไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง ทำนองเมืองประเทศราชดังเช่นในสมัยโบราณ มีเมืองจัตวาขึ้นเมืองพัทลุง ๔ เมือง เมืองหนึ่งคือสงขลา

                ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี เมืองพัทลุงยังคงเป็นหัวเมืองใหญ่ชั้นโท มิได้เป็นอย่างประเทศราชสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯให้พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระสหายแต่ครั้งอยุธยา ซึ่งได้ร่วมรบกันมาเป็นพระยาแก้วโกรพ (หรือแก้วเการพ) เจ้าเมืองพัทลุง

                ผู้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงนั้น อยู่ในระหว่างสายสกุล ณ พัทลุง (สืบสายจากสุลต่านสุลัยมาน กับสกุล ณ นคร (สืบสายจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ราชโอรสในพระเจ้าตากสินมหาราช) และสกุลจันทโรจวงศ์ (สืบสายจากอุปราชจันทร์แห่งนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาสุรินทราชาในกรุงรัตนโกสินทร์)

                ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง ๕ มีพระยาพัทลุง ๙ ท่าน คือ

                ๑. พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เรื่องของท่านผู้นี้เคยเล่าไว้ในเวียงวังหลายครั้ง แต่เรื่องละเอียดโดยพิสดารจากปากคำคนในวงศ์สกุลที่ท่านเป็นบรรพบุรุษนั้น มีอยู่ในเรื่อง “บุญบรรพ์” บรรพ ๑

                ๒. พระศรีไกรลาศ เมื่อพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรม โปรดฯให้พระศรีไกลลาศมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง แต่เมื่อมีศึกแขกสลัดเข้าตีเมืองสงขลา พระศรีไกรลาศพาครอบครัวหนีเข้าป่าก่อนศึกมาติดเมืองจึงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกมาถอดจากเจ้าเมืองแล้วจำลงไปกรุงเทพฯ

                ๓. พระยาพัทลุง (ทองขาว) แล้วโปรดฯให้หลวงนายศักดิ์ (ทองขาว) บุตรชายพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) ลงไปเป็นพระยาพัทลุง พระยาพัทลุงเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอยู่ ๒๖ ปี จึงอนิจกรรม

                พระยาพัทลุง (ทองขาว) ผู้นี้เป็นคุณตาของเจ้าจอมมารดาทรัพย์ในรัชกาลที่ ๓ จึงเป็นบรรพบุรุษทางชนนีของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) พระอัยกาพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

                ๔. พระยาพัทลุง (เผือก) เป็นน้องชายของพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) ว่าราชการอยู่ ๙ ปี ชรามากโปรดฯให้ขึ้นไปอยู่กรุงเทพฯ แถบบ้านสนามควาย คือแถวถนนหลานหลวงปัจจุบันนี้

                ๕. โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสเน่หามนตรี (น้อยใหญ่) ลูกชายใหญ่ของเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นพระยาพัทลุง (น้อยใหญ่) ต่อไป

                ๖. พระยาพัทลุง (จุ้ย) ต่อมาพระยาพัทลุง (น้องใหญ่) พิการโปรดฯให้เป็นพระยาอุทัยธรรมแล้วโปรดฯให้พระปลัด (จุ้ย) เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงต่อไป

                พระปลัด (จุ้ย) ผู้นี้เป็นบุตรชายเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นสกุลจันทโรจวงศ์ ได้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงอยู่ ๑๒ ปี ถึงอนิจกรรม

                ๗. พระยาพัทลุง (ทับ) เจ้าเมืองพัทลุงย้อนกลับไปยังสายพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) อีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้หลวงยกกระบัตรเมืองพัทลุง (ทับ) บุตรชายของพระยาพัทลุง (ทองขาว) หลานปู่ของพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อไป

                ๘. พระยาพัทลุง (น้อย) ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระยาพัทลุง (ทับ) ถึงแก่อนิจกรรม โปรดฯให้พระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย) บุตรเลี้ยงของพระยาพัทลุง (จุ้ย) เป็นเจ้าเมืองพัทลุง พระยาพัทลุงจึงย้อนกลับมาทางสกุลจันทโรจวงศ์อีก

                ๙. เมื่อพระยาพัทลุง (น้อย) ถึงแก่อนิจกรรม โปรดฯให้บุตรชายคนโตของพระยาพัทลุง (น้อย) คือหลวงจักรานุชิต (เนตร) เป็นพระยาพัทลุง (เนตร) ต่อไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×