ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #151 : สายสัมพันธ์ราชวงศ์ไทย-จีน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 634
      1
      12 เม.ย. 53

     ในฉบับก่อน ลงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องฉลองพระองค์อย่างจักรพรรดิจีน (ฮ่องเต้) เพื่อแสดงพระราชฐานะว่าพระมหากษัตริย์ไทยนั้นเป็นฮ่องเต้ เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์จีน หาใช่เป็นเพียง ‘อ๋อง’ ดังที่จีนเคยเหมาเอาเองไม่

                เนื่องจากแต่โบราณมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว วิสัยพระเจ้าแผ่นดินจีนชอบยกย่องเกียรติยศของตนเองว่าเป็นใหญ่ บรรดาเมืองต่างประเทศที่ไปมาค้าขาย หรือแต่งราชทูตไปเมืองจีน จีนจดหมายเหตุ ตีขลุมเอาว่า ล้วนแต่ไปอ่อนน้อมยอมขึ้นต่อพระเจ้ากรุงจีนทั้งสิ้น จดหมายเหตุจีนจึงไม่ยอมยกใครเป็น ‘ฮ่องเต้’ ให้เป็นเพียง ‘อ๋อง’ ทุกประเทศ ไม่ว่าในเอเชียหรือยุโรป ต่างประเทศที่ไปมาค้าขายกับจีน หรือเกี่ยวข้องกับจีน ไม่รู้จักภาษาจีนก็ไม่รู้เท่าทันจีน ว่าบรรดาเครื่องราชบรรณาการและของถวายพระเจ้ากรุงจีนทำนองของขวัญนั้น กลายเป็นจิ้มก้อง คืออ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น เรื่องเป็นดังนี้มาหลายร้อยปี

                เรื่องการชอบยกย่องเกียรติยศตนเองว่าเป็นใหญ่นั้น ในบันทึกของฝรั่งเล่าว่า แม้เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสทำสงครามชนะจีน เมื่อจะเดินทัพเข้าจีน จีนทำธงเขียนตัวหนังสือจีนนำหน้า ฝรั่งเข้าใจว่าเป็นหนังสือที่จีนยอมจำนน หรือบอกกล่าวแก่ประชาชน แต่จริงๆ แล้ว กลับเป็นหนังสือว่าฝรั่งจะเข้าไปคำนับอ่อนน้อมพระเจ้ากรุงจีน ฝรั่งมารู้ว่าถูกจีนหลอกในภายหลัง จนต้องมีในหนังสือสัญญาข้อหนึ่งว่า จีนต้องยอมรับว่าพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ นั้น ต่างเป็น ‘ฮ่องเต้’ เหมือนกับจีนเช่นกัน

    ภาพวาดของฝรั่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าพระราชวัง เรือสำเภาและเรือกำปั่นที่เข้ามาค้าขายกับไทย จะจอดทอดสมอทางฟากธนบุรี ท่าที่เห็นคนยืนอยู่คงจะเป็นท่านำสินค้าขึ้นของห้างหันแตรในสมัยต้นรัชกาลที่ ๓

                สำหรับเมืองไทย หรือที่จีนเรียกว่า “เสี้ยมหลอก๊ก” นั้น ไปมาค้าขายกับจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตามประเพณีจีนนั้น ถ้าเมืองต่างประเทศไปมาค้าขาย ต้องมีเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน จึงจะปล่อยให้ค้าขายสะดวกจึงมีประเพณีการถวายเครื่องราชบรรณาการ (คือที่จีนว่า ‘จิ้มก้อง’ นั้น) ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีจน ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่งมายกเลิกในรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๖ เป็นต้นมา

                ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น เป็นเวลาที่พวกยุโรปกำลังแผ่อำนาจเข้ามาทางตะวันออก และเริ่มแผ่อำนาจเข้ามาในประเทศจีนมากขึ้นแล้ว

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระราชดำริว่า การที่ไทยติดต่อกับจีนมาเป็นเวลานาน ทั้งจดหมายเหตุจีนและพงศาวดารจีน ต่างจดไว้โดยเหมาเอาว่าไทยจิ้มก้องอ่อนน้อม เป็นเมืองขึ้นดังกล่าว จึงทรงเกรงว่าอาจเป็นการทำให้พวกจักรวรรดินิยมชาติยุโรปเข้าใจผิดว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของจีน เมื่อมีอำนาจในจีนแล้วก็จะเอื้อมมาดึงเอาไทยไปด้วย

                จึงได้โปรดให้สร้างเครื่องทรงฮ่องเต้ขึ้น ทรงแล้วโปรดให้แต่งพระบรมฉายาลักษณ์ เผยแพร่เพื่อแสดงพระบรมเดชานุภาพว่าพระมหากษัตริย์ไทยนั้น ทรงอยู่ในพระราชฐานะเป็น ‘ฮ่องเต้’ เท่ากันกับ ‘ฮ่องเต้’ ของจีน มิใช่ ‘อ๋อง’ เจ้าเมืองขึ้นของจีน

                และหลังจากส่งราชทูตไปเมืองจีน เป็นครั้งที่ ๒ ในรัชกาลของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ก็โปรดให้ยกเลิกราชประเพณีจิ้มก้อง

                จดหมายเหตุเก่าของเมืองจีน ว่าด้วยเมืองต่างประเทศที่เคยมีไมตรีกับกรุงจีนนั้น

                เฉพาะที่จดถึงเมืองไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ถึงสมัยกรุงธนบุรี

                กล่าวถึงชาวเมืองเสี้ยมหลอก๊ก-คนไทยในสมัยกรุงสุโขทัย

                เมื่อเล่าถึงเรื่องเงินตรานั้น ตอนหนึ่งบอกว่า “การใช้จ่ายเงินทองสุดแล้วแต่ผู้หญิง ด้วยผู้หญิงมีสติปัญญา ผู้ชายที่เป็นสามีก็ต้องเชื่อฟัง”

                จดหมายเหตุเมืองจีนนี้ ผู้หญิงอ่านแล้วคงยิ้มไปตามๆ กัน ทว่าผู้ชายเห็นจะไม่สู้ชอบใจนัก เพราะยกย่องผู้หญิงเสี้ยมหลอก๊กนัก อีกตอนหนึ่งเล่าว่า ชาวเสี้ยมหลอก๊ก เป็นเชื้อสายชาวหูหลำ (ไหหลำ?) นับมาได้พันปีเศษแล้ว หนังสือเล่มหนึ่ง ยกย่องผู้หญิงเสี้ยมหลอก๊กว่ามีสติปัญญายิ่งกว่าผู้ชาย

                จดหมายเหตุจีนจดไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๖ พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้มีรับสั่งให้ราชทูตไปทำพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสียมก๊ก (พระเจ้ารามคำแหงมหาราช)

                แต่พอปีรุ่งขึ้น พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ก็สวรรคต พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ ขึ้นเป็นฮ่องเต้ ราชวงศ์หงวน รัชกาลที่ ๒ (ราชวงศ์หงวนคือราชวงศ์ชาวมองโกลที่เข้ามาครองจีน นักดูละครโทรทัศน์ฮ่องกงคงทราบเรื่องราวดี)

                จดหมายเหตุจีนจดไว้ดังนี้ แสดงว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชของเรานั้น เสี้ยมหลอก๊ก หรือ เมืองไทย คงจะมีชื่อเสียงดังว่ามีพระเจ้าแผ่นดินเก่งกล้าสามารถมาก พระเจ้าหงวนสีโจ๊ว ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หงวนจึงได้มีรับสั่งให้ทำพระราชไมตรีด้วย

                เมื่อพระเจ้าหงวนเสงจง โอรสพระเจ้าหงวนสีโจ๊วขึ้นครองราชย์ พระเจ้ารามคำแหงมหาราชจึงเสด็จมาเมืองจีน (พ.ศ.๑๘๓๗)

                และเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๑๘๔๓

                เมืองจีนมีสัมพันธไมตรีกับกรุงสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์เหม็ง (พ.ศ.๑๙๑๑) ราชวงศ์เช็ง (แมนจู) (พ.ศ.๒๑๗๐) กับกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุง

                ถึงกรุงธนบุรี ในบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนเขียนไว้ว่า ‘แต้เจียว’ ได้เป็นกษัตริย์

                จดหมายเหตุที่จดไว้ เรียกว่า “เสี้ยมหลอก๊กเจี๋ยง แต้เจียว” จีนเรียกว่า ‘เจี๋ยง’ ยังไม่เรียกว่า ‘อ๋อง’

                จนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๒๔ ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ พระยามหานุภาพ เป็นราชทูต หลวงนายฤทธิ์มหาดเล็ก (พระภาคิไนย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เป็นอุปทูต คณะทูตยังไม่ทันกลับเมืองไทย ก็ผลัดแผ่นดิน จึงเมื่อส่งคณะทูตไปเมืองจีนในรัชกาลที่ ๑ จีนบันทึกไว้ว่า

                 “พ.ศ.๒๓๒๕ แต้ฮั้ว อนุชา แต้เจียว ได้ครองราชย์ เป็นกษัตริย์ ประเทศสยาม ต่อจากแต้เจียว ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีครั้งแรก”

                บันทึกของจีนแสดงว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพี่น้องกัน แซ่เดียวกัน

                จึงเลยทำให้มีผู้สงสัยสันนิษฐานกันไปว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อาจจะทรงเป็นหนี้เมืองจีนอยู่ โดยทรงกู้เงินมาสร้างบ้านเมืองเลี้ยงดูราษฎรที่อดอยาก เมื่อสร้างกรุงใหม่ๆ แล้วไม่ทรงมีเงินใช้หนี้ เกรงว่าเมืองไทยจะโดนยึด จึงทรงรู้กันกับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พูดง่ายๆ ว่าทรงร่วมกันทำอุบายหนีหนี้จำหน่ายเป็นหนี้ศูนย์ไป เพราะเมื่อไม่มีพระองค์ผู้รับผิดชอบ (แต่เพียงผู้เดียว) แล้ว ก็ไม่รู้จะเอาจากใคร

                มีผู้สันนิษฐานเดากันอย่างนี้

                อย่างไรก็ตาม บันทึกในพระราชพงศาวดารจีนให้พระบรมราชวงศ์จักรี ‘แซ่’ เดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และออกพระนามในบันทึกตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๕ ว่า
                รัชกาลที่ ๑ แต้ฮั้ว
                รัชกาลที่ ๒ แต้หก
                รัชกาลที่ ๓ แต้ฮุด
                รัชกาลที่ ๔ แต้เม้ง
                รัชกาลที่ ๕ แต้เจี่ย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×