ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #148 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.15K
      0
      11 เม.ย. 53

    -พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ กันแน่

                โทรศัพท์ถามจากผู้อ่าน

                พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เพราะท่านเป็นพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ ๔) ส่วนพระเจ้าวรวงศ์เธอ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเป็นชั้น พระราชนัดดา (หลานปู่)

                ทั้งนี้หมายถึงพระองค์เจ้า ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑-๗ ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน คำนำพระนามพระองค์เจ้าเป็นไปตามพระราชสัมพันธ์

                อัน ‘พระองค์เจ้า’ นั้น ท่านต้องมีคำนำพระนามแสดงชั้นพระเกียรติยศทุกพระองค์

                เมื่อสมัยสงครามเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ เสด็จอพยพไปประทับ ณ วัดเขาบางทราย ชลบุรี เพราะเวลานั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ สุขบท) ท่านอยู่ที่วัดเขาบางทราย ท่านองค์นี้เป็นที่เคารพนับถือของเจ้านายมาก ทั้งวัดเขาบางทรายก็เป็นสถานที่เหมาะสำหรับสร้างตำหนัก สร้างเรือน ด้วยมีบริเวณเชิงเขากว้างขวาง เจ้านายและเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ จึงชักชวนกันไปสร้างที่พักอาศัยในที่ดินของวัด โดยหากเมื่อสิ้นพระชนม์หรือสิ้นชีพแล้ว ตำหนักและเรือนก็ยกให้ทางวัดไปเป็นกรรมสิทธิ์

                เจ้านายฝ่ายในที่ประทับอยู่ตามตำหนักวัดเขาบางทรายนั้น ได้ยินออกพระนามกันโดยลำลอง ก็เรียกกันเพียง ‘พระองค์’ ดัง ‘พระองค์วาปี’ ‘พระองค์หญิงมาลิศ’ และแม้พระองค์เจ้าชายก็เรียกกันว่า ‘พระองค์อาทิตย์’ ‘พระองค์ชายใหญ่’ ‘พระองค์จุล’

                เมื่อแรกก็เข้าใจว่า พระองค์เจ้านั้น ทรงศักดิ์เท่ากันเสมอกันทุกพระองค์

                วันหนึ่งเรียกว่า ‘พระองค์วาปี’ กับย่า ย่าว่า ไม่ถูก หากออกพระนามให้ถูกต้องต้องว่า ‘เสด็จพระองค์วาปี’ เพราะท่านเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนพระองค์เจ้าชั้นพระราชนัดดาลงมา ดังเช่นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมาลิศเสาวรส (ประทับอยู่ที่วัดเขาบางทรายด้วยในขณะนั้น) ต้องเรียกว่า ‘ท่านพระองค์ชาย’ ‘ท่านพระองค์หญิง’ ดังเช่น ‘ท่านพระองค์ชายใหญ่’ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล) ‘ท่านพระองค์หญิงมาลิศ’ ‘ท่านพระองค์จุล’ (พระองค์นี้บางทีก็เรียกกันว่า ‘ท่านพระองค์หนู’) เรียกว่า ‘ท่านพระองค์’ ทุกองค์ ไม่ว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ หรือพระวรวงศ์เธอ

                เว้นแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

                บรรดาชาววัง (ที่ออกมาอยู่นอกวังกันหมดแล้ว) ออกพระนามว่า ‘พระองค์อาทิตย์’

                ทว่ารัฐบาลและทางการตลอดจนสังคมขณะนั้น ยกย่องเรียกท่านว่า ‘เสด็จพระองค์อาทิตย์’ หรือ ‘เสด็จฯผู้สำเร็จราชการ’ คงเป็นเพราะท่านทรงมีตำแหน่งเป็นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    พระราชธิดารัชกาลที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง
    ๑. พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสดิ
    ๒.พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา
    ๓. พระองค์เจ้าแขไขดวง
    ๔. พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์
    ๕. พระองค์เจ้าโสมาวดี กรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชษฐ์

                ทำให้ในเวลาต่อมา จึงพากันยกย่อง ‘พระเจ้าวรวงศ์ เธอพระองค์เจ้า’ เรียกกันว่า ‘เสด็จ’ ทุกพระองค์ เช่น ‘เสด็จพระองค์จุล’ ‘เสด็จพระองค์ชายใหญ่’ ฯลฯ

                สรุปแล้ว พระยศพระองค์เจ้า มีพระเกียรติยศ ๓ ชั้น ตามลำดับคือ

                ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เป็นชั้นพระราชโอรสพระราชธิดา ของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ล่วงมาแล้ว

                ๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เป็นชั้นพระราชนัดดา (หลานปู่) ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีพระบิดาเป็นเจ้าฟ้า และพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้า พระเจ้าวรวงศ์นี้ หากมีทายาท พระโอรสธิดามีพระยศเป็นหม่อมเจ้า

                ทว่าชั้นนี้มีพิเศษอยู่ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

                ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอทั้ง ๒ พระองค์นี้ มิได้อยู่ในกฎเกณฑ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

                พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์นั้น เมื่อประสูติมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า แม้ว่าพระบิดาจะทรงศักดิ์เป็นเจ้าฟ้า แต่ชนนีเป็นสามัญชนต่างชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดฯให้พระโอรสเป็นหม่อมเจ้า

                ทว่าถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนจากหม่อมเจ้า เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ด้วยทรงพระเมตตาโปรดปรานว่าเป็นพระราชภาติยะ (หลานลุง) เพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระครรโภทร แต่พระเกียรติยศนี้เฉพาะพระองค์ หาได้สืบไปถึงพระทายาทไม่ โอรสธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์) หากมีสืบไปในภายหน้าจึงเป็นหม่อมราชวงศ์อย่างโอรสธิดาของหม่อมเจ้า

                ส่วนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภานั้น เป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์เป็นพระธิดาใน สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระครรโภทร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

                หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ สิ้นชีพตักษัยเสียแต่เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ มีพระชันษาเพียง ๕ ขวบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระเมตตาพระราชนัดดากำพร้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนจากหม่อมเจ้า เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

                ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ได้ทรงเป็นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเกียรติยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

    พระราชโอรส-ธิดารัชกาลที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาแพ
    ๑. พระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา
    ๒. พระองค์เจ้ามนุษยนาคมนพ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
    ๓. พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
    ๔. พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ
    ๕. พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์

                ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ คือหากมีโอรสธิดา โอรสธิดาก็ยังคงเป็นหม่อมราชวงศ์ อย่างโอรสธิดาของหม่อมเจ้าเช่นเดิม

                ๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เป็นชั้นพระราชนัดดา (หลานปู่) ของพระเจ้าแผ่นดินเช่นกัน หากแต่มีพระบิดาเป็นเจ้าฟ้า ทว่าพระมารดาเป็นสามัญชน ประการหนึ่ง ดังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

                อีกประการหนึ่ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ทรงมีพระบิดาเป็นพระองค์เจ้า และพระมารดาก็เป็นพระองค์เจ้าเช่นกัน ดังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล (พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระอนุชาร่วมพระครรโภทร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง)

                ผู้ถาม ถามมาถึง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ จึงน่าจะได้เล่าถึงพระประวัติของท่านบ้าง

                พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๑๐ สุดท้ายในเจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔

                เจ้าจอมมารดาเที่ยงท่านเป็นธิดาของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาเที่ยงนั้นเป็นเจ้าจอมพระสนมท่านแรก ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังคงเสด็จประทับอยู่ ณ พลับพลาที่โรงแสงใน

                ดังนั้น ในรัชกาลของพระองค์ เจ้าจอมมารดาเที่ยงจึงเป็นพระสนมเอกที่โปรดปราน และไว้วางพระราชหฤทัย มีอำนาจวาสนายิ่งกว่านางในผู้ใด จนแหม่มแอนนา ผู้เขียนเรื่องเดอะคิงแอนด์ไอ อันลือชื่อ ยังเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นควีน

                เจ้าจอมมารดาเที่ยง มีพระราชโอรส พระราชธิดาถึง ๑๐ พระองค์ พระองค์ใหญ่เป็นพระราชธิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชษฐ์

                ทว่าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระองค์ใหญ่ มิใช่พระองค์เจ้าโสมาวดี หากแต่เป็นพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา ซึ่งชาววังสมัยนั้นออกพระนามกันว่า ‘เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง’ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ อีก ๖ เดือนต่อมา พระราชธิดาพระองค์ที่สองประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ โปรดฯพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี แล้วจึงถึง พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา ประสูติหลังพระองค์เจ้าทักษิณชาฯ เพียง ๒ เดือน

                พระราชธิดา ๓ พระองค์ใหญ่นี้เท่านั้น ที่โปรดฯพระราชทานพระนามมีสร้อยพระนาม คล้องจองกันคือ ยิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชกุมารี ทักษิณชานราธิราชบุตรี โสมาวดีศรีรัตนราชธิดา หลังจากนี้แล้วไม่ปรากฏว่า พระราชทานสร้อยพระนามพระราชธิดาพระองค์ใด

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×