ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #135 : ขุนนางผู้มีอิทธิพลในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 2

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.1K
      0
      11 เม.ย. 53


                จากรายงานของหันตรี แสดงว่า ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ขุนนางผู้มีอิทธิพลนั้น นอกจากเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) ผู้น้องแล้ว ยังมีเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ซึ่ง “พวกกรมหมื่นสุรินทร์ กรมหมื่นรักษ์ พระคลัง และพระยาพิพัฒน์ (ความจริงคือพระยาศรีพิพัฒน์ -จุลลดาฯ) ผู้น้องชาย ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มีความสามารถและอิทธิพลมากเท่ากับเจ้าพระยาจักรี (คือเจ้าพระยาอภัยภูธร อัครมหาเสนาบดี-จุลลดาฯ) เพียงคนเดียว”

                ดังนั้น ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาอภัยภูธร ก็คงจะเป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์กลุ่มใหญ่ร่วมกับขุนนางอื่นๆ เพราะ

                 “ท่านมีเพื่อนที่มีอำนาจและมีอิทธิพลมากยิ่งกว่าเสนาบดีคนอื่นๆ”

                 "ทั้งพวกเสนาบดีทั้งหลายตลอดจนพระราชวงศานุวงศ์ก็เห็นว่าทรงมีคุณสมบัติเหมาะสมยิ่งกว่าเจ้าฟ้าซึ่งเป็นพระราชโอรสประสูติแต่พระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่แล้ว ทรงมีความสามารถและพระพิจารณญาณสูงกว่าเจ้าฟ้าด้วยประการทั้งปวง และแม้แต่เจ้าฟ้ากับพระมารดาเองก็ยอมตกลงในเรื่องนี้โดยดี”

                ทำให้การเสด็จขึ้นครองราชย์ในรัชกาลที่ ๓ เป็นไปโดย “เอนกนิกรสโมสรสมมติ” เนื่องจากยินดีพร้อมกัน ทั้งพระราชวงศ์ ขุนนางทั้งหลาย และพระสงฆ์ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของชาวบ้าน จะว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ครั้งแรกของเมืองไทยก็ว่าได้ มิใช่การเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยเป็นรัชทายาทหรือเป็นพระมหาอุปราช (วังหน้า) อยู่แล้ว ดังยุคสมัยที่ผ่านๆ มา

                จดหมายของหันตรีถึงข้าหลวงใหญ่เมืองสิงคโปร์นี้ ยิ่งอ่านก็ยิ่งสนุก เพราะได้รู้จักเจ้านายขุนนางบางคนในมุมมองของหันตรี และรู้จักบางคนซึ่งมิได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากนัก ทั้งๆ ที่เป็นคนสำคัญของยุคสมัยนั้น

                มีข้าราชการอยู่ท่านหนึ่งซึ่งหันตรีเรียกว่า “พระยาพิพัฒน์” และว่าเป็นผู้ช่วยของเจ้าพระยาพระคลัง หันตรีเอ่ยถึงพระยาพิพัฒน์ตลอดเวลา เพราะท่านผู้นี้เป็นเสมือนตัวกลางระหว่างหันตรีกับเสนาบดี และเป็นผู้นำคำพูดของหันตรีขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว และเชิญพระราชดำรัสมาบอกแก่หันตรี

                เวลานั้นพระยาที่มีคำว่า “พิพัฒน์” ในราชทินนามมีสองท่าน คือ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด) ขณะนั้นเป็น จางวางพระคลังสินค้า (เทียบกับกระทรวงพาณิชย์ปัจจุบัน) คล้ายกับผู้ช่วยเสนาบดี

                และพระยาพิพัฒน์โกษา (บุญศรี) มีตำแหน่งเป็นปลัดทูลฉลองกรมท่า (เทียบกับกระทรวงต่างประเทศปัจจุบัน)

                เทียบปลัดทูลฉลองก็คล้ายๆ กับปลัดกระทรวง แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะหน้าที่สำคัญของปลัดทูลฉลองก็คือเป็นผู้กราบบังคมทูลเรื่องราวของกระทรวงนั้นๆ และเชิญพระราชดำรัส พระราชดำริไปยังเสนาบดี เนื่องจากเสนาบดีบางครั้งก็มิได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินบ่อยนัก

                ดังนั้น ปลัดทูลฉลองจึงต้องเป็นผู้ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นผู้ที่เข้ากันได้กับเสนาบดี

                เมื่อหันตรีเข้ามาเป็นทูต จึงเป็นหน้าที่ของพระยาพิพัฒน์โกษาโดยตรงที่จะต้องรับรองและเป็นผู้ติดต่อระหว่างหันตรีกับเสนาบดี หรือคณะเสนาบดี และเป็นผู้กราบบังคมทูล ตลอดจนเชิญพระราชดำรัสบอกกล่าวแก่หันตรี

                พระยาพิพัฒน์โกษาผู้นี้ หันตรีเล่าว่า

                 “ท่านผู้นี้ได้ต้อนรับข้าพเจ้าด้วยไมตรีอันดี ท่านอายุประมาณ ๔๐ ปี และถึงแม้ว่าท่านดูจะไม่ค่อยมีปรีชาสามารถหรือมีอิทธิพลมากนักก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าท่านเป็นข้าราชการไทยที่อารมณ์ดี และมีไมตรีดีมาก...ท่านบอกข้าพเจ้าว่าท่านกับน้องชายของท่านซึ่งเป็นเหรัญญิกของพระเจ้าอยู่หัว เป็นคนเชื้อสายมอญ แต่ได้เดินทางเข้ามาอยู่ในสยามหลายปีมาแล้ว พร้อมๆ กับเจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งข้าราชการคนนี้มียศยาวมากลงท้ายว่า รณรงค์ ซึ่งแปลว่าผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ ท่าน (คือเจ้าพระยามหาโยธา) อายุ ๖๕ ปี และเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยเกือบ ๔๕ ปี บิดาของท่านก็ได้เป็นแม่ทัพไทย และท่านมีญาติพี่น้องลูกหลานมากมายในราชอาณาจักรไทย

    ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๓ ป้อมที่เห็นคือป้อมมหายักษ์

                พระยาพิพัฒน์ได้บอกข้าพเจ้าว่า พระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าอีก”

                เจ้าพระยามหาโยธา ที่หันตรีกล่าวถึงว่าอายุ ๖๕ ปีนี้ คือเจ้าพระยามหาโยธา คนที่ ๒ ชื่อ “ทอเรียะ” บุตรชายเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เจ้าพระยามหาโยธาคนแรก ซึ่งเป็นผู้นำชาวเมืองเมาะตะมะกบฏต่อเจ้าเมืองพม่าที่ครองเมืองเมาะตะมะอยู่ในครั้งโน้น หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยกรุงธนบุรี

                เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒

                ส่วนเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ได้เป็นพระยามหาโยธา ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ได้เป็นแม่ทัพยกไปช่วยอังกฤษตีพม่า ใน พ.ศ.๒๓๖๘ ก่อนหันตรีเข้ามาเป็นทูตเล็กน้อย หันตรีจึงรู้จักชื่อเสียงเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) อยู่ก่อนบ้างแล้ว

                เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ผู้นี้ ว่ากันว่าเป็นคนโปรดในรัชกาลที่ ๓ ไม่น้อย เพราะเมื่อครั้งเป็นพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ในรัชกาลที่ ๒ มีข่าวพม่าจะยกทัพเข้ามาตีไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) ทรงเป็นแม่ทัพไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี พระยามหาโธยา (ทอเรียะ) ได้คุมกองมอญเป็นทัพหน้าตามเสด็จไปด้วย

                เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสประภาษสัพยอก เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ว่า “ที่คำเขาว่ากันว่า ช่างอยู่กับจีน ศีลอยู่กับไทย จังไรอยู่กับมอญนั้น จริงฤาไม่จริงอย่างไร”

                เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ก็กราบบังคมทูลสนองพระราชดำรัสทันทีว่า “ขอเดชะ คำที่เขาว่ากันนั้นไม่ถูกพระพุทธเจ้าข้า คำที่ถูก คือ ช่างอยู่กับจีน ศีลอยู่กับไทย จังไรอยู่กับพม่า ปัญญาอยู่กับมอญ พระพุทธเจ้าข้า”

                ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯมากที่เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) แก้ไขได้ทันที และเข้าเค้า เพราะไทยกับพม่านั้นเป็นศัตรูคู่สงครามกันมาตลอดเวลา

                เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นต้นสกุล “คชเสนี” (เจ่งแปลว่าช้าง)

                กลับมาเล่าถึงประวัติพระยาพิพัฒน์โกษา ต่อ

                พระยาพิพัฒน์โกษา (บุญศรี) ผู้นี้ เดิมเป็นข้าในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒

                เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี สิ้นพระชนม์แล้ว จึงมาเป็นข้าพระบาทในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่ยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงอาจนับได้ว่าเป็นข้าหลวงเดิมผู้หนึ่ง และมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดปรานให้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ โปรดฯให้เป็นจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่น มหาดเล็กใช้ชิด ตั้งเครื่องพระกระยาหารที่ท้องพระโรง เวลาที่มีราชการด่วนไม่ได้เสด็จขึ้น และเข้ามาประจำเวลาทรงพระประชวรอยู่ในที่พระบรรทมเวลาหมอเข้าเฝ้ารักษา ตลอดเวลาจนกระทั่งเสด็จสวรรคต ทั้งๆ ที่เป็นปลัดทูลฉลองกรมท่าอยู่เช่นนั้น

                น่าสังเกตว่า พระยาพิพัฒน์ฯ ผู้นี้เดิมเป็นข้าในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ผู้ทรงสนับสนุนสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) อย่างเปิดเผย ทว่าเมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์ฯ สิ้นพระชนม์ น่าที่พระยาพิพัฒน์ฯ จะเข้าไปเป็นข้าพระบาทในสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ กลับสมัครใจเข้าเป็นข้าพระบาทในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และรักพระองค์ท่านมากเสียด้วย

                ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯตั้งเป็นพระยามหาอำมาตย์ แล้วเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ ท่านผู้นี้ได้เป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เป็นต้นสกุล 'บุรณศิริ'

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×