ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลักการเขียนนิยาย(ฉบับปรับปรุง)

    ลำดับตอนที่ #3 : มุมมองบุรุษต่างๆ ในการเขียนนิยาย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 25.53K
      228
      20 มี.ค. 56




    มุมมองการเขียน

     

    หากจะเริ่มเขียนนิยายแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำเป็นอันดับต่อมาเลยก็คือ การฝึกใช้ภาษาเขียน ซึ่งต้องให้น้องๆ เข้าใจก่อนว่า ภาษาเขียนในการเขียนนิยายก็มีหลายแบบ และแต่ละวิธีก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก หรือความเหมาะสมในการดำเนินเรื่อง

    จุดนี้เป็นจุดสำคัญอีกจุด พี่อัญเลยอยากขอย้ำว่า ความถนัดในการเขียนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วเจ้าภาษาเขียนแต่ละวิธีก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน ซึ่งไม่มีคำว่าตายตัว แต่มีคำว่าเหมาะสมเข้ามาแทน

     

    อันดับแรกพวกเราต้องมารู้จักกับมุมมองในนิยายกันเสียก่อน

     

    มุมมองของการเขียนนิยาย POV (Point of View)  โดยหลักๆ แบ่งได้ดังนี้

     

    1.มุมมองของบุรุษที่หนึ่ง

    2.มุมมองของบุรุษที่สอง

    3.มุมมองของบุรุษที่สาม

     

    ซึ่งไม่ว่าน้องๆ จะถนัดการบรรยายแบบใด ด้วยมุมมองอย่างไหน ทั้งหมดก็สามารถเขียนนิยายตามเรื่องราวของจินตนาการน้องๆ ได้เหมือนกันทุกแบบ

     

    พี่อัญจะไม่ขอพูดพร่ำทำเพลงให้มากความ แต่จะขอลงมือเขียนเป็นตัวอย่างให้ดูเป็นเบื้องต้นก่อนเลย ด้วยเค้าโครงจากเรื่องเดียวกันทั้งหมด(ซึ่งน้องๆ จะได้อ่านในส่วนของหัวข้อตัวอย่าง)

     

     

    มุมมองบุรุษที่หนึ่งนั้น เป็นการบรรยายของตัวละครหลัก ซึ่งจะใช้คำว่าผม ฉัน ข้าพเจ้า หรืออื่นๆ ที่แทนตัวด้วยสรรพนามที่เป็นคำเรียกตัวของตัวเราเอง และเป็นการบรรยายที่มีอิสระน้อยพอตัว เพราะมันมาจากมุมมองของคนๆ เดียวเท่านั้น นั่นก็คือตัวเอง
     

    แต่ข้อดีอย่างที่สุดที่มุมมองนี้ได้มาก็คือ การคิดแน่นอน! การใส่ความคิดของตัวละครทำลงไปได้ง่าย และค่อนข้างมีอิสระเสรีที่จะบรรยายเกี่ยวกับความคิดของตัวละคร ซึ่งข้อจำกัดอันเป็นข้อด้อย ด้วยเรื่องที่ว่า ไม่สามารถล่วงรู้มุมมองของตัวละครอื่นได้ก็แทบจะถูกกลบทับไปทั้งหมด ถ้าหากเข้าใจในการใช้คำอธิบายให้ถูกเวลา ใช่แล้ว! พี่อัญกำลังจะบอกว่ามันเป็นไปได้ ที่จะเขียนบรรยายถึงความคิดของตัวละครอื่น!!! แต่นั่นก็หมายถึงต้องผ่านทางสีหน้า หรือท่าทางของตัวละครอื่นเท่านั้น

     

    ตัวอย่างที่ 1 ในรูปแบบการบรรยายของบุรุษที่หนึ่ง

     

     

     

    ผมกำลังคิดว่าคงไม่มีโอกาสอีกแล้วที่จะได้บอกน้องดา และผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ ว่านี่ใช่ปาฏิหาริย์หรือเปล่า
     

    รถไฟสายด่วนกำลังเคลื่อนตัวจากไปแล้ว พร้อมๆ กับหัวใจของผมที่เริ่มแตกสลาย ซึ่งในระหว่างที่ผมยืนซึมเศร้าอยู่นั้น ภาพเบื้องหน้าของผมก็ปรากฏขึ้น

    มันเป็นภาพของสาวน้อยร่างเล็กคนหนึ่งที่ผมคุ้นตาเป็นอย่างดีกำลังส่งยิ้มหวานให้ผม เธอยืนถือสัมภาระอยู่อีกฟากหนึ่งของสถานีรถไฟ ผมรู้ดีว่าเธอเป็นใคร

    น้องดาผมเอ่ยขึ้น พร้อมคิดว่าเธอคงไม่สามารถตัดใจจากผมได้เช่นกัน เจ้าหล่อนยิ้มกว้าง นัยน์ตากำลังเจิ่งนองไปด้วยหยาดน้ำเม็ดใสๆ

    ก่อนที่ความสุขจะเข้ามาเยือนผมอีกครั้ง

    ก่อนที่ผมจะทันได้บอกรักเธอออกไป ร่างเล็กของน้องดาก็วิ่งถลาลงบนรางรถไฟเหมือนเธอพยายามจะข้ามฟากมาหาผม

    ผมแน่ใจว่าน้องดาคงคิดจะพูดคำๆ เดียวกับผม คำๆ เดียวที่ผมอยากบอกกับน้องดามาตลอด

    และนั่นก็คือ ประโยคที่ใจของเราสองคนอาจจะตรงกันมาตั้งนานแล้ว

    ฉันรัก….”

    ทว่า….

     

    ปู๊น~ ปู๊น~

    ภาพสุดท้ายที่ผมเห็นมีเพียงกระเป๋าของเธอลอยขึ้นไปบนฟ้า ผมสั่นศีรษะอย่างแทบไม่เชื่อสายตา ขณะที่รถไฟอีกขบวนจอดเทียบชานชลาอย่างช้าๆ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเร็วมาก เร็วเสียจนผมไม่อยากให้มันเป็นความจริงเอาเสียเลย!

     

     

     

     

     

    จากตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่า มุมมองของบุคคลที่หนึ่งนั้นมีข้อดีในการแสดงความคิดของ ตัวละครหลัก ซึ่งการเขียนด้วยมุมมองนี้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะกระโดดไปแสดงความคิดเห็นของตัวละครอื่น หากไม่มีการตัดฉาก หรือมีประสบการณ์มากพอ เพราะจะทำให้การบรรยายของเรื่องสับสนขึ้นในทันที
     

    แต่การอธิบายอาการ หรือความคิดของตัวละครอื่นนั้นก็สามารถทำขึ้นได้ เพียงให้ตัวละครหลักคิดหรือคาดเดาสิ่งที่ตัวละครอื่นคิด(คิดซ้อนคิด) แต่เรื่องมันก็อาจจะสับสนถ้าไม่อธิบายให้ดี โดยพี่อัญขอเตือนว่าให้น้องๆ ลองอ่านทวน เพราะการเขียนนิยายต้องคำนึงถึงผู้อ่าน ไม่ใช่แค่ ตัวเองอ่านเอง แล้วเข้าใจเองแน่นอนค่ะ! คนอ่านต้องเข้าใจด้วย ซึ่งบทความที่พี่อัญเขียนให้น้องๆ อ่านในขณะนี้ ก็ใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่งเช่นกัน

     

    ประโยคที่เป็นการคิดซ้อนคิด ในเบื้องต้นคือ

     

    ผมแน่ใจว่าน้องดาคงคิดจะพูดคำๆ เดียวกับผม คำๆ เดียวที่ผมอยากบอกกับน้องดามาตลอด

    และนั่นก็คือ ประโยคที่ใจของเราสองคนอาจจะตรงกันมาตั้งนานแล้ว

     

    ประโยคนี้พี่อัญขอบอกว่าตัวเอกอาจจะแค่เดาก็ได้ค่ะ เราอาจจะนำการคิดซ้อนคิดมาชักจูงคนอ่านให้คิดตามก่อนจะหักมุมก็ได้ เช่นถ้าตัวละครที่ชื่อดาไม่ได้คิดแบบนั้นด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งเธออาจจะคิดบอกลา หรือเธอลืมของ แต่ของของเธอหายจนเธอต้องร้องไห้น้ำตาซึม อันเป็นเหตุให้ตัวเอกคิดไปเองว่าน้องดาที่ตกรถไฟก็รอที่จะบอกรักเขาเหมือนกัน

     

    และเรื่องมันคงทำให้คนอ่านต้องร้อง จ๊ากเพราะพวกเขาคาดไม่ถึง โดยพี่อัญแนะนำสำหรับมือใหม่ว่า มันเป็นเรื่องที่ดีที่จะเรียนรู้การชักจูงคนอ่านให้คิดตาม

     

    ส่วนการบรรยายของบุคคลที่สอง จริงๆ แล้วพี่อัญไม่ค่อยอยากแนะนำให้น้องๆ มือใหม่นำไปใช้สักเท่าไหร่ ต้องขอเกริ่นก่อนว่า วิธีเขียนในมุมมองนี้ไม่ค่อยฮิตเท่าไหร่ในวงการนักเขียน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนนำไปใช้
     

    โดยส่วนมากนักเขียนที่ใช้การเขียนด้วยมุมมองบุรุษที่สอง มักจะให้คนอ่านเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่อง เพราะมันจะดึงคนอ่านให้มาเป็นส่วนหนึ่งของนิยายของเรา แต่มันก็ไม่ได้ทำง่ายๆ เลยนะ

    การเขียนด้วยมุมมองของบุรุษที่สอง มักใช้สรรพนามเรียกตัวละครว่า คุณ เธอ เขา เจ้า แก ท่าน หรือสรรพนามอื่นๆ ที่ใช้แทนตัวผู้อ่าน หรือตัวละครที่สมมุติว่าผู้อ่านมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ด้วย

    แต่อธิบายมาถึงขั้นนี้แล้วพี่อัญจะไม่แสดงตัวอย่างให้ดูเห็นทีจะไม่ได้ เพราะอาจมีน้องๆ ที่สนใจนำไปใช้เขียนนิยายแนวใหม่ๆ อยู่

    พี่อันจะขอเขียนตัวอย่างในโครงเรื่องเดียวกับตัวอย่างแรก โดยจะดึงน้องๆ มาเป็นตัวละครให้ดู

     

    ตัวอย่างที่ 2 มุมมองการเขียนบรรยายแบบบุรุษที่สอง

     

    คุณเป็นคนเดียวที่รู้ว่ารถไฟกำลังจะออกจากชานชลาแล้ว แต่กระนั้นคุณก็ไม่สามารถหยุดยั้งเธอได้ เราต่างรู้กันว่าคุณรักเธอมากแค่ไหน ซึ่งในเวลาที่รถไฟจะออกจากชานชลาไป คุณก็แสดงอาการเจ็บปวดอย่างถึงที่สุดให้คนรอบข้างได้เห็น

    คุณอาจคิดว่าคงไม่ได้มีโอกาสบอกกับเธออีก ซึ่งมันเป็นความเจ็บปวดที่คุณเข้าใจได้ดีที่สุด เพราะแม้ในเวลาสุดท้ายคุณก็ไม่ได้พูดออกไปเลยสักคำ จนกระทั่งเธอได้จากไปแล้ว

    ความเหงาหงอยแล่นเข้าสู่ร่างกายคุณจนตัวชา มันคงรู้สึกปวดหัวใจราวกับว่ามันจะแตกออกมา แต่คุณก็พยายามทำใจไว้ส่วนหนึ่ง พร้อมเฝ้ามองขบวนรถไฟค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไป

    แล้วรอยยิ้มหนึ่งของคุณก็ปรากฏขึ้น ท่ามกลางความโกลาหลครั้งใหญ่ คุณกำลังเห็นร่างเรียวบางร่างหนึ่งถือสัมภาระขนาดใหญ่ไว้ในมือ สีหน้าของเธอกำลังส่งยิ้มมาให้คุณ

    จะมีใครบ้างที่จะไม่ดีใจ คุณบอกกับตัวเองพร้อมกระโดดชูแขนเร่าๆ พร้อมคิดว่าโอกาสกำลังกลับมาให้คุณได้บอกรักกับเธออีกครั้งหนึ่งแล้ว

    หลายๆ ความรู้สึกที่คุณรับรู้ได้ กำลังแผ่ซ่านให้คุณรู้ว่าคนรักของคุณกำลังจะกลับมาสู่อ้อมแขน

    เธอกำลังวิ่งถลาลงจากชานชลาที่ฟากหนึ่งของสถานี คุณเห็นเธอได้ชัดเต็มสองตา พร้อมอ้าแขนรอรับเธอเข้าสู่อ้อมอก

    คุณคิดว่าเธอคงมีคำพูดคำเดียวกับที่คุณคิดอยู่ใช่ไหมในตอนนี้

    คุณกำลังคิดว่า ถ้าคุณบอกคำว่ารักออกไป คุณต้องได้คำๆ นั้นจากปากของเธอกลับมาแน่ๆ

    แต่แล้ว

    ภาพบางอย่างก็เกิดขึ้นกะทันหัน คุณเห็นเพียงกระเป๋าเป้ใบหนึ่งของเธอกำลังลอยขึ้นไปบนฟ้า คุณกำลังคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ความฝัน และนี่คงไม่ใช่เรื่องจริง

    คุณรู้ดีอยู่แล้วว่ากองเลือดที่อยู่ใต้รถไฟคืออะไร คุณพยายามไม่มองมัน คุณพยายามไม่คิดถึง ซึ่งมันก็เป็นแค่การหนีปัญหาสำหรับคุณในตอนนี้เท่านั้น

     

     

     

    เอาล่ะ! น้องๆ คงพอเข้าใจแล้วว่าการเขียนบรรยายแบบนี้ ผู้อ่านกำลังสัมผัสถึงอะไร ส่วนตัวพี่อัญคิดว่าคนอ่านจะรู้สึกสมจริงได้ก็ต่อเมื่อคนเขียนจูงความคิดคนอ่านให้ไปในทางเดียวกันจนรู้สึกอินได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะทำสำเร็จได้โดยที่คนอ่านไม่รู้สึกสับสน
     

    ดังนั้นเหตุใดมุมมองบุคคลที่สองจึงไม่เป็นที่นิยม เพราะคนเขียนไม่สามารถคาดเดาว่าคนอ่านคิดอย่างไร จนไม่สามารถสวมรอยเป็นคนอ่านได้(เพราะต้องใช้บทบรรยายในมุมมองคนอ่าน) ถ้าการที่คาดเดาพื้นฐานการคิดของคนอ่านแล้วมาเขียนเป็นบทบรรยายสอดคล้องกับแนวคิดคนอ่านได้ จนคนอ่านรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในนิยายนั้นๆ พี่อัญก็ต้องขอรับรองว่าน้องๆ ดังแน่ๆ ค่ะ

     

    มาเข้าเรื่องบทบรรยายของบุรุษที่สามกันเลยดีกว่า เดี๋ยวน้องๆ จะเบื่อเสียก่อน
     

    การบรรยายแบบบุคคลที่สามนั้นมักใช้สรรพนาม เขา เธอ หรือชื่อสรรพนามที่ใช้แทนตัวละครนั้นๆ เช่นชื่อตัวละคร(ไมอ้อน ซีเซล แพททริค) และสรรพนามจำพวกระบุรูปประพรรณสันฐาน (ชายหนุ่ม เด็กชาย หญิงสูงวัย ชายชรา จอมโจรหนุ่มฯลฯ) และเป็นวิธีที่น้องๆ มักเห็นในนิยายหลายๆ เรื่อง เพราะในมุมมองนี้ ผู้เขียนจะเหมือนพระเจ้าโดยแท้จริง มีอิสระในการเขียนแทบทุกรูปแบบ และง่ายต่อการเล่าเรื่องที่มีกรอบกว้างๆ อย่างที่สุด

     

    แต่ในมุมมองของบุคคลที่สามก็ยังแบ่งแยกย่อยได้อีกถึงสองรูปแบบเช่นกัน

     

    แบบแรก คือมุมมองแบบกว้าง คือผู้เล่าเหตุการณ์(ผู้เขียน) รู้เรื่องทั้งหมด ราวกับพระเจ้า จะกระโดดไปเกาะหลังใครก็ได้ จะแสดงความคิดถึงใครก็ได้ แถมยังสอดแทรกเนื้อหาเหน็บแนมตัวละครในมุมมองของพระเจ้าได้อีกแน่ะ ซึ่งมันเป็นโลกที่ค่อนข้างกว้างจริงๆ ในการบรรยายแบบนี้

     

    แบบที่สอง คือมุมมองแบบแคบ การเขียนเล่าในเชิงมุมมองนี้ คล้ายกับการเขียนในมุมมองบุรุษที่หนึ่ง(แต่มีอิสระสูงกว่า) แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องแทนตัวผู้เขียนด้วยตัวละครเอกนะ เพียงแต่มันเป็นมุมมองที่เล่าเรื่องคล้ายแบบสารคดีที่มีพระเจ้าเป็นผู้สังเกตพฤติกรรมของตัวละคร (พระเจ้าคือผู้เขียน แต่ก็ไม่ได้รู้ทุกอย่างในโลกนิยาย เพราะตัวพระเจ้าก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมตัวละครถึงดำเนินเรื่องแบบนั้น) แต่ที่ยังคงข้อดีไว้เหลือเชื่อในแบบบุรุษที่สามก็คือ สามารถสลับตัวละครในการบรรยายได้เช่นเดียวกันกับแบบแรก

     

    พี่อัญคิดว่าเดี๋ยวน้องๆ จะไม่เห็นภาพ พี่อัญเลยจะเขียนยกตัวอย่างให้ดูทั้งสองแบบเลยดีกว่า และจะยกโครงเรื่องที่ใช้มาเขียนประกอบ เพื่อให้น้องๆ ได้เกิดข้อเปรียบเทียบในการเขียนของแต่ละมุมมองด้วยตนเอง

     

    ตัวอย่างที่ 3.1 มุมมองบุรุษที่สามแบบกว้าง

     

    เหมันต์มองภาพรถไฟเคลื่อนไปด้วยสายตาที่เศร้าสร้อย เขามาไม่ทันได้บอกคำสุดท้ายกับกานดา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เขาควรบอกกับเธอตั้งนานแล้ว
     

    ชายหนุ่มเจ็บใจนึกโทษตัวเองอย่างสุดซึ้ง มันเป็นคำง่ายๆ เพียงสามคำเท่านั้น แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่ได้พูดคำเหล่านั้นออกไปเลย กระทั่งรถไฟสายด่วนได้พรากเธอไปจากเขา

    นัยน์ตาที่เอ่อล้นด้วยน้ำใสๆ กำลังจ้องมองยานพาหนะบนรางเหล็กอย่างอาลัย ถ้าไม่มีใครบอกว่าเขาโง่ ก็ต้องมีใครสักคนบอกว่าเขาบ้า ทั้งๆ ที่โอกาสในการสารภาพรักของเขามีมากเสียจนแทบไม่น่าเชื่อ แต่เขากลับทำมันหลุดลอยไปอย่างไร้สาเหตุ อาจเป็นเพราะเขาเป็นคนขี้อายกระมัง

     

    แต่แล้วชายหนุ่มก็ต้องเบิกตากว้าง พลางถอนหายใจอย่างโล่งอก ใช่! เขาเห็นเธอ เธอยังคงยืนอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของสถานีรถไฟ
     

    กานดายังไม่ได้โดยสารรถไฟขบวนนั้น เหมือนเธอกำลังรอเขาอยู่เช่นกัน

    รอยยิ้มปลื้มใจผุดขึ้นบนใบหน้าของหญิงสาว เธอกำลังมองตรงมายังจุดที่เหมันต์ยืนอยู่ ก่อนจะก้าวขาลงจากชานชลา

    ร่างขาวเล็กกำลังวิ่งลัดรางเหล็กไปหาชายอันเป็นที่รักด้วยความรู้สึกเปี่ยมสุข

    มันอาจจะเป็นคำเดียวกันที่ทั้งสองตั้งใจจะสารภาพ เพราะดูเหมือนแววตาทั้งสองได้สื่อถึงกันอย่างเข้าใจจนแทบไม่ต้องพูดอะไร

    แต่แล้ว เสียงหนึ่งก็ฉุดกระชากร่างบางๆ ของกานดาหายไป

    ปู๊น~ ปู๊น~

    เหมันต์แลเห็นเพียงกระเป๋าเป้ของเธอลอยคว้างอยู่บนอากาศ พร้อมเสียงผู้คนร้องตะโกนลั่น

    ชายหนุ่มสะบัดศีรษะเพื่อบังคับให้ตนเองตื่นจากห้วงฝัน แต่ดูท่าว่าจะไม่ได้ผลเสียแล้ว

    นี่ไม่ใช่ความฝัน มันคือความจริงอย่างที่สุด

    ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ราวกับสายฟ้าที่ผ่าลงมาจากสวรรค์

    เหมันต์ค้างนิ่งราวกับคนประสาทเสีย แน่นอน! เขากำลังช็อก คงไม่ต้องบอกว่าเพราะเรื่องอะไร?

     

    ตัวอย่างที่ 3.2 มุมมองบุรุษที่สามแบบแคบ

     

     

    เหมันต์ยืนมองขบวนรถไฟจากไปจนสุดสายตา ชายหนุ่มยืนมองอยู่อย่างนั้นด้วยท่าทางอาลัยอาวรณ์ ซึ่งไม่มีใครบอกเขาเลยว่าเขายืนอยู่ตรงนั้นเป็นเวลาเกือบชั่วโมงแล้ว

    ภาพผู้คนจอแจบนชานชลาผ่านไปมาทำให้ชายหนุ่มเบือนหน้าหนี เขาไม่ต้องการพบปะกับใคร หรืออยู่ในพื้นที่แออัดอย่างนี้อีก

    แต่แล้วดวงตาของเขาก็เบิกกว้าง เมื่อเขาพบเห็นหญิงสาวคนหนึ่งยืนยิ้มน้ำตาคลออยู่อีกฟากหนึ่งของชานชลารถไฟ

    ดวงหน้าขาวซีดของเธอ ทำให้เหมันต์รู้ดีว่า เธอคือคนที่เขาตามหา

    และแล้วหัวใจของเหมันต์ก็เต้นรัวขึ้น เขามีคำหลายคำที่อยากจะพูดกับเธออีกครั้ง

    ในขณะที่หญิงสาวผู้ซึ่งยืนอยู่ฟากตรงข้ามก็ก้าวเท้าลงมาบนรางรถไฟ เหมือนเธอต้องการข้ามฟากมาหาเหมันต์ให้เร็วที่สุด ปากของเธอสั่นระริกเหมือนอยากพูดคำบางคำออกมา ในขณะที่เหมันต์ก็มีอาการเดียวกัน

    ฉันรัก…”

    ทั้งสองเอ่ยเบาๆ ก่อนที่เสียงตะโกนลั่นของผู้คนในชานชลาจะร้องขึ้น

    ณ เบื้องหน้าของหญิงสาว เธอเหลือบเห็นรถไฟอีกขบวนกำลังตรงมาที่เธอ ในขณะที่เหมันต์ออกตัววิ่งไปได้แค่เพียงสองก้าวเท่านั้น

    เป้สะพายสีขาวลอยขึ้นสูง เหมันต์จำมันได้ดีว่าเจ้าของของมันคือกานดา หญิงสาวที่เขารักที่สุด ซึ่งชายหนุ่มพยายามสะบัดหน้าปลุกตัวเอง และเขาก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองตื่นจากการหลับไหลอีกแล้ว เพราะนี่ไม่ใช่ความฝันเลยสักนิด

     

     

     

    จะเห็นได้ว่าทั้งสองแบบมีแนวทางการบรรยายที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งในแบบแรกนั้นพระเจ้าเหมือนจะเขียนอธิบายความรู้สึกนึกคิดอย่างเปิดเผย ส่วนแบบที่สองนั้นจะเป็นการพยายามเน้นท่าทางให้สอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละคร ซึ่งในการบรรยายเชิงมุมมองของบุคคลที่สาม สามารถนำทั้งแบบกว้าง และแบบแคบผสมผสานกันได้ แล้วแต่สถานการณ์จะพาไป ซึ่งพี่อัญคิดว่าน้องๆ คงไม่มีปัญหาอันใดในวิธีเขียนแบบนี้ (และก็ขอโทษที่ต้องเขียนตัวอย่างแบบรวบรัด พอดีพี่อัญไม่อยากเขียนบทบรรยายพรรณนาให้มากความ เดี๋ยวน้องๆ จะสังเกตไม่เห็นรูปแบบมุมมองที่พี่ตั้งใจจะสื่อ)

     

    ซึ่งบทแนะนำในเรื่องของบทบรรยาย การพรรณนา และการเล่นคำต่างๆ ในงานเขียน พี่อัญจะมาแนะนำให้ได้อ่านกันในบทหน้านะคะ ยังไงวันนี้ แนะนำเฉพาะเรื่องบทความเกี่ยวกับเรื่องมุมมองไปก่อนค่ะ (เพราะพี่อัญก็ไม่ค่อยมีเวลา)

     

     

     

    -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    บทต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาเขียน ด้วยหัวเรื่องที่ว่า..เขียนอย่างไรให้รูปประโยคสละสลวย เล่นคำอย่างไรให้ได้ใจความ  แล้วพบกันอีกนะคะ สวัสดี (บทความบทนี้ยังมิได้ตรวจทานอย่างละเอียด หวังว่าน้องๆ จะช่วยตรวจทานและแนะนำให้พี่แก้ไขนะคะ ขอบคุณมากๆ)

    -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    คอมเม้นต์หรือติดต่อพี่อัญยาได้ที่ด้านล่างเลยค่ะ สำหรับน้องๆ ที่ต้องการรู้ให้ลึกกว่านั้น ก็สามารถถามไถ่กันได้แบบเป็นกันเอง แล้วพบกันในบทหน้านะคะ สวัสดีค่ะ (บทความนี้มีลิขสิทธิ์ โปรดให้เครดิตชื่อดิฉันในการเผยแพร่ข้อความด้วย ไม่ได้ต้องการประโยชน์อย่างอื่นมากมายไปกว่านั้น) นามแฝงปากกาบทความ อัญยา

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×