ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แหล่งสูบงาน+ความรู้ชั้นยอด คลิ๊กเลยค่ะ~

    ลำดับตอนที่ #50 : (พละ)ประวัติของกีฬาเเฮนด์บอล

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 38.16K
      53
      11 ก.พ. 51

    ประวัติของกีฬาเเฮนด์บอล

    กีฬาเเฮนด์บอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นในประเทศทางแถบยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นกีฬาที่เล่นสนุกเเละมีการดัดเเปลงวิธีการเล่นโดยอาศัยทักษะพื้นฐานของการเล่นฟุตบอลเเละบาสเกตบอล

     

     

    กีฬาแฮนด์บอลได้เริ่มต้นมาจากประเทศเยอรมัน (GERMAN) ในราวศตวรรษที่ 19 โดยครูสอนพลศึกษาชื่อ ดอนเเรด คอช (Donrad Koch) ซึ่งได้ดัดเเปลงวิธีการเล่นอาศัยทักษะพื้นฐานจากการเล่นฟุตบอลเเละบาสเกตบอล ระยะเเรกเรียกชื่อกีฬาแฮนด์บอลแตกต่างกันเช่น ฮอกกี้มือ โปโลบก เเละมีจำนวนผู้เล่นทีมละ 11 คนเหมือนฟุตบอล

     

     

    ในอดีตประเทศยุโรปในฤดูหนาวไม่สามารถเล่นกีฬากลางแจ้งได้ จึงใช้ห้องพลศึกษาดัดแปลงเล่นกีฬาด้วยมือ ตอนแรกใช้ผู้เล่น 11 คนเท่ากับฟุตบอล แต่ไม่สะดวก เพราะสถานที่คับแคบ จึงลดจำนวนผู้เล่นเหลือข้างละ 7 คน จึงกลายมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลแบบการเล่นในปัจจุบัน ในช่วงนั้นแฮนด์บอลมิได้ถือว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีหน่วยงานเป็นของตนเอง แต่คณะกรรมการที่ก่อตั้งและดำเนินการก็มาจากสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นระหว่างชาติ (The International Amateur Athletic Federation) มีชื่อย่อๆ ว่า I.A.A.F. คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่จัดดำเนินการต่างๆ ในทวีปยุโรปสมัยนั้น

    หลังจากปี พ.ศ. 2447 กีฬาแฮนด์บอลซึ่งอยู่ในความดูแลของ I.A.A.F. ก็มีความมั่นคงขึ้น และหลายๆ ประเทศให้ความสนใจ และมีการจัดบรรจุในรายการกิจกรรมการกีฬาของประเทศนั้นๆ ด้วย ตลอดจนได้มีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น

    ในปี พ.ศ. 2469 I.A.A.F. ได้ตั้งคณะกรรมการกีฬาแฮนด์บอลขึ้นโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่างๆ ในเครือสมาชิกของกีฬาประเภทนี้มีการประชุมตกลงเรื่องกติกาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่กีฬาแฮนด์บอลได้ตั้งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งโดยเอกเทศ และมีการริเริ่มตั้งสหพันธ์แฮนด์บอลขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ประเทศกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์ The International amateur Handball Federation ก็ได้จัดตั้งขึ้น และบุคคลที่มีความสำคัญของการกีฬาสหพันธ์คือ Every Brundage ประธานของ I.O.C. ได้เป็นสมาชิกขององค์การใหม่นี้ด้วย

    ในปี พ.ศ. 2471 กีฬาแฮนด์บอลก็ได้มีการสาธิตขึ้นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮนด์บอลก็ได้บรรจุเข้าเป็นรายการแข่งขันกีฬาระหว่างชาติ โดยการยอมรับของ I.O.C. หลังจากการประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม สมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ก็ได้เพิ่มเป็น 25 ประเทศในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน หรือที่เรียกว่า Nazi Olympic

    สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างปัญหาต่างๆ ให้กับการกีฬาเป็นอย่างมากแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่งที่โคเปนเฮเกน เพื่อที่จะฟื้นฟูกีฬาแฮนด์บอลขึ้นมาใหม่ แต่ก็ล้มเหลว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2499 จึงได้มีการแก้ไขกติกาแฮนด์บอลขึ้นใหม่ และยอมรับทักษะการเล่นสมัยก่อน ซึ่งทำให้ลักษณะของการเล่นและกติกาเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยกติกาของฟุตบอลและบาสเกตบอลมาผสมกัน

    สมัยก่อนนิยมการเล่นแบบ 11 คน เช่นเดียวกับฟุตบอล แต่ในยุโรปตอนเหนือได้มีการเล่นแบบ 7 คน และเล่นกันในร่ม ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ต่อมาการเล่นแฮนด์บอลแบบ 7 คน ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในยุโรป ทำให้การเล่นแบบ 11 คนได้หายไป ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกก็ยอมรับการเล่นแบบ 7 คน และจากผลของการวิจัยต่างๆ ปรากฏว่าแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเร็วเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง เหตุที่แฮนด์บอล 7 คนนิยมเล่นในร่มก็อาจเป็นเพราะเนื้อที่สนามน้อย สามารถเล่นในที่แคบๆ ได้ และอีกอย่างก็คือสภาพของดินฟ้าอากาศในฤดูหนาวของทวีปยุโรปนั้นจะปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง ดังนั้นแฮนด์บอลจึงไม่สามารถเล่นในสนามกลางแจ้งได้ ด้วยเหตุผลนี้แฮนด์บอลจึงเป็นที่นิยมเล่นกันในร่มหรือโรงยิมเนเซียมแทน

    จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาของโลกอย่างหนึ่งเพราะการแข่งขันกีฬาสำคัญระหว่างชาติก็มีการแข่งแฮนด์บอลด้วย เช่น กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2525 ก็ได้มีการแข่งขันแฮนด์บอล หลังจากที่บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ. 2479 แล้ว และในปี พ.ศ. 2516 ได้บรรจุในโปรแกรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตกด้วย

     

     

       ประวัติของกีฬาเเฮนด์บอลในประเทศไทย

    กีฬาแฮนด์บอลได้นำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 โดย อาจารย์ กอง วิสุทธารมย์ อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา ในสมัยนั้นแฮนด์บอลยังนิยมการเล่นแบบ 11 คนอยู่ แต่คนไทยเราไม่ค่อยจะนิยมเล่นกีฬาประเภทนี้กันเลยถูกยกเลิกไป ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยสามารถเล่นฟุตบอลได้ตลอดฤดูกาล กีฬาแฮนด์บอลจึงไม่เป็นที่นิยมเล่นดังกล่าว

    ต่อมาในปี พ.ศ.2500 อาจารย์ ชนิต คงมนต์ ได้ไปดูงานด้านพลศึกษาในประเทศเดนมาร์ก และสวีเดน ได้นำกีฬาแฮนด์บอลนี้มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง เพราะเห็นว่ากีฬานี้มีประโยชน์มากเนื่องจากใช้สถานที่ไม่กว้างมาก จะใช้สนามหญ้า สนามคอนกรีต พื้นดิน หรือพื้นไม้ก็ได้ ดังนั้นเมื่อกลับมาเมืองไทยจึงได้เริ่มบรรจุเข้าสอนในโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย และวิทยาลัยพลศึกษาก่อนที่อื่นเพื่อเป็นการทดลอง และต่อมาก็ได้เผยแพร่ไปตามโรงเรียนต่างๆ บ้าง แต่ก็ยังไม่กว้างขวางนัก

    ปัจจุบันวิทยาลัยพลศึกษาทั่วประเทศได้บรรจุวิชาแฮนด์บอลไว้ในหลักสูตร ตลอดจนหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2518 ได้กำหนดเป็นวิชาบังคับ จึงนับได้ว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักเรียนวิทยาลัยพลศึกษา และประชาชนคนไทยมากยิ่งขึ้น

    แฮนด์บอลได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาของวิทยาลัยพลศึกษาทั่วประเทศที่กรมพลศึกษาเป็นเจ้าภาพ เมื่อ พ.ศ. 2524 โดยการใช้กติกาการแข่งขันสากลฝ่ายละ 7 คน ปัจจุบัน นายปรีดา รอดโพธิ์ทอง อธิบดีกรมพลศึกษา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และสภาพของคนไทย จึงได้ส่งเสริมและให้มีการฟื้นฟูกีฬาประเภทนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยให้กองกีฬากรมพลศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจัดให้มีการอบรมผู้ฝึกสอน อบรมผู้ตัดสิน พร้อมทั้งจัดให้มีการแข่งขันกีฬาแฮนด์บอลในกีฬากรมพลศึกษาเป็นประจำทุกปี

       

    กฎกติกา และ มารยาท

    การแข่งขันแฮนด์บอล ทีมชายและทีมหญิงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 30 นาที พัก 10 นาที ถ้าครึ่งแรกเล่นเกินเวลาที่กำหนดไว้ในครึ่งหลังก็จะต้องหักเวลาที่เกินออกไป แล้วเล่นจนเต็มเวลา 30 นาทีของครึ่งหลัง ถ้าผลเสมอกันในช่วงเวลาปกติ ให้เพิ่มเวลาพิเศษ หลังจากพักแล้ว 5 นาที เพื่อเสี่ยงเลือกส่งหรือเลือกแดนสำหรับเวลาในการต่อเวลาพิเศษ โดยช่วงเวลาที่เพิ่มจะแบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 5 นาที (เปลี่ยนแดนกันในครึ่ง โดยไม่มีเวลาพัก) ถ้าผลยังเสมอกันอีก ก็ให้ต่อเวลาพิเศษในช่วงที่ 2 โดยให้เสี่ยงเลือกส่งหรือเลือกแดน และการแข่งขันจะไม่มีการพัก (ถ้าผลจากการต่อเวลาพิเศษยังเสมอกันอยู่ ให้ประยุกต์กติกานี้เพื่อหาผู้ชนะ)

     

    ทีมที่เข้าแข่งขัน

    ต้องส่งรายชื่อผู้เล่นทีมละ 12 คนลง (ผู้เล่น 6 คน ผู้รักษาประตู 1 คน) ที่เหลือเป็นผู้เล่นตัวสำรอง ขณะเริ่มแข่งขันทีมหนึ่งจะต้องมีผู้เล่นไม่น้อยกว่า 5 คน เมื่อแข่งไปจะมีผู้เล่นน้อยกว่า 5 คนก็ได้ การเปลี่ยนตัวเข้าออกได้ตลอดเวลา เปลี่ยนออกมาแล้วก็เปลี่ยนกลับลงไปเล่นได้อีก โดยไม่ต้องบอกผู้บันทึกและผู้จับเวลา แต่จะต้องรอให้ผู้เล่นในสนามออกจากสนามก่อน แล้วก็จะต้องเข้าออกตรงบริเวณเส้นเปลี่ยนตัวของฝ่ายตนเองเท่านั้น ถ้ามีการเข้ามาเกินผู้เล่นคนนั้นจะถูกสั่งพัก 2 นาที และผู้เล่นในทีมนั้นจะต้องออกจากสนาม 1 คน ให้เหลือ 6 คน อยู่ 2 นาทีแล้วแต่ผู้ตัดสินจะกำหนดให้ใครออก

     

    ผู้รักษาประตู

    สามารถออกไปเล่นในสนามได้ และสามารถที่จะเปลี่ยนเป็นผู้รักษาประตูได้ตลอดเวลาแต่จะต้องเปลี่ยนเสื้อกันด้วย เคลื่อนที่ไปในเขตประตูพร้อมกับลูกบอลได้โดยไม่มีขีดจำกัดแต่จะพาลูกออกไปนอกเขตประตูไม่ได้ ถ้าออกมานอกเขตแล้วจะกลับเข้าเขตประตูพร้อมกับลูกบอลไม่ได้ ให้นับเป็นประตู ถ้าผู้เล่นเจตนาส่งลูกบอลกลับเข้าประตูของตนก็ให้นับประตูนั้นด้วย

     

     

    การเล่นลูกบอล

    1. อนุญาตให้ผู้เล่น ขว้าง จับ หยุด ผลัก หรือตีลูกบอลด้วยมีทั้งสองได้ รวมทั้งแขน ศีรษะ ลำตัว ต้นขาเข่า จับลูกบอลไว้ในมือเดียวหรือ 2 มือ จะทำได้ไม่เกิน 3 วินาที หรือก้าวได้ไม่เกิน 3 ก้าวการพิจารณาก้าว คือ

    *ผู้เล่นยืนด้วยเท้าทั้ง 2 ข้างบนพื้น แล้วยกเท้าหนึ่งวางลงหรือเคลื่อนไปที่อื่น

    *ผู้เล่นสัมผัสพื้นเพียงเท้าเดียว จับลูกบอลแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งสัมผัสพื้น

    *ก้าวขากระโดดลงพื้นด้วยเท้าเดียว และกระโจนด้วยเท้าเดิมหรือสัมผัสพื้นด้วยเท้าอื่น

    *กระโดดลงสัมผัสพื้นด้วยเท้าทั้ง 2 พร้อมกัน แล้วยกเท้าข้างหนึ่งแล้ววางเท้านั้นลง หรือเคลื่อนเท้าหนึ่งไปยังที่อื่น (ให้ลากเท้าอีกข้างตามได้)

    *ในขณะยืนหรือวิ่ง กระดอนลูกครั้งหนึ่งและจับด้วยมือเดียวหรือ 2 มือ

    *การเลี้ยงลูกบอล กระดอนซ้ำด้วยมือเดียวหรือกลิ้งบอล หลังจากนั้นจึงจับลูกบอลหรือเก็บลูกบอลขึ้นมาด้วยมือเดียวหรือ 2 มือ

    *ขณะที่จับลูกบอลด้วยมือเดียวหรือ 2 มือนั้น ทำได้ภายใน 3 วินาที หรือจากก้าวไม่เกิน 3 ก้าว การกระดอนลูกสามารถใช้ส่วนต่างๆ ได้ เมื่อลูกบอลถูกผู้เล่นคนอื่นหรือถูกประตูผู้เล่นสามารถที่จะปัด และจับลูกบอลได้อีก

    *ส่งบอลจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง

    2. เล่นลูกบอลในขณะที่กำลังคุกเข่า นั่ง หรือนอนอยู่บนพื้นไม่อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้

    *ถูกลูกบอลมากกว่า 1 ครั้ง นอกจากลูกบอลไปถูกผู้เล่นอื่น หรือเสาประตู

    *การพยายามครองลูกบอลพลาด (Fumbling) จะไม่ถูกลงโทษ

    หมายเหตุ ลูกบอลพลาด หมายถึงการที่ผู้เล่นพยายามที่จะจับหรือหยุดลูกบอล แต่พลาดจากการครอบครอง

    *ถูกลูกบอลด้วยเท้าหรือขาซึ่งอยู่ต่ำกว่าเข่าลงไปยกเว้นในกรณีที่คู่ต่อสู้ได้ขว้างลูกบอลมาถูกผู้เล่น แต่อย่างไรก็ตาม

    การทำผิดอย่างนี้จะไม่ถูกลงโทษถ้าไม่เป็นการทำให้เกิดการได้เปรียบกับผู้เล่นหรือทีมของเขา

    *ทิ้งตัวลงเล่นในขณะที่ลูกบอลวางอยู่บนพื้นหรือกำลังกลิ้งอยู่ แต่กติกาข้อนี้จะต้องไม่นำไปใช้กับผู้รักษาประตูในขณะที่อยู่ในเขตประตูของตัวเอง

    *เจตนาทำลูกบอลออกนอกเส้นข้างหรือเส้นประตู กติกาข้อนี้จะต้องไม่นำไปใช้กับผู้รักษาประตูในขณะที่พยายามที่จะครอบครองลูกบอลพลาดภายในเขตประตู และลูกบอลได้ออกไปทางเส้นประตูโดยตรง (ส่งจากประตู)

    *ครอบครองลูกบอลอยู่ภายในทีม โดยไม่พยายามที่จะรุกหรือทำประตู การเล่นในลักษณะนี้จะถูกลงโทษโดยให้ส่งลูกกินเปล่าจากจุดที่ลูกได้หยุดลง

    *การเล่นจะดำเนินต่อไปถ้าลูกบอลถูกผู้ตัดสินในสนาม

    * การนับประตู

    จะนับเป็นประตู เมื่อลูกบอลทั้งลูกได้ผ่านเข้าไปในเส้นประตูโดยผู้ทำประตูและเพื่อนร่วมทีมไม่ทำผิดกติกาก่อน ถ้าลูกบอลจะเข้าประตูแน่นอนแต่บุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่ไม่มีสิทธิ์เข้าไปในสนามมาป้องกันไม่ให้ลูกบอลเข้าประตู ผู้ตัดสินพิจารณาให้เป็นประตู เมื่อผู้ตัดสินเป่านกหวีดให้ส่งเริ่มเล่นต่อไปแล้ว ประตูที่ได้จะเปลี่ยนแปลไม่ได้ ผู้ที่ทำประตูได้มากกว่าถือว่าเป็นผู้ขนะการแข่งขัน

    หมายเหตุ ถ้าทั้ง 2 ทีมได้คะแนนเสมอกัน ให้ถือว่าเสมอกัน

    * การส่งเริ่มเล่น

    จะทำที่จุดกึ่งกลางสนามในในทิศทางใดก็ได้ต้องทำภายใน 3 วินาที ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องอยู่ห่างจากผู้ส่งเริ่มเล่นอย่างน้อย 3 เมตร (ยกเว้นผู้กระโดด)

    * การส่งลูกเข้าเล่น

    ต้องส่ง ณ บริเวณที่ลูกบอลออกโดยผู้ส่งลูกเข้าเล่นจะต้องมีเท้าข้างหนึ่งอยู่บนเส้นข้างจนกว่าลูกจะหลุดมือแล้วผู้ตัดสินไม่ต้องใช้สัญญาณนกหวีด

    * ผู้รักษาประตูส่งลูก

    จะต้องส่งลูกบอลข้ามเส้นเขตประตูไม่ต้องมีสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน

    * การส่งลูกกินเปล่า

    1. การส่งลูกกินเปล่าจะกระทำในกรณีดังนี้

    -การเปลี่ยนตัวไม่ถูกต้อง หรือเข้าสู้สนามผิดกติกา

    -ผู้รักษาประตูทำผิดกติกา

    -ผู้เล่นในสนามทำผิดกติกาในเขตประตู

    -เล่นลูกบอลโดยไม่ถูกต้อง

    -เจตนาทำให้ลูกบอลออกนอกเส้นประตูหรือเส้นข้าง

    -ถ่วงเวลาในการเล่น

    -การฟาวล์เนื่องจากการเข้าเล่นกับคู่ต่อสู้

    -การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งเริ่มเล่น

    -การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งเข้าเล่น

    -การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งจากประตู

    -การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งลูกกินเปล่า

    -การหยุดเล่นโดยที่ไม่มีการทำผิดกติกา

    -การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการยิงประตูโทษ

    -การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการโยนลูกของผู้ตัดสิน

    -ทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการส่ง

    -การกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา

    -การรุกราน

    2. ส่ง ณ จุดที่ผิดกติกาโดยไม่ต้องมีสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน ถ้าฝ่ายรุกได้ส่งลูกกินเปล่า และจุดที่ผิดกติกาอยู่ระหว่างเส้นเขตประตูกับเส้นส่งลูกกินเปล่าของฝ่ายรับ การส่งนี้ให้ส่ง ณ จุดที่ใกล้ที่สุดกับจุดที่ผิดกติกานอกเส้นส่งลูกกินเปล่า

    3. ในขณะที่ผู้เล่นฝ่ายรุกอยู่ในตำแหน่งพร้อมลูกบอลแล้ว เขาจะเลี้ยงลูกบอลหรือวางลูกบอลลงแล้วเก็บขึ้นมาอีกไม่ได้

    4. ผู้เล่นฝ่ายรุกจะต้องไม่ถูกหรือข้ามเส้นส่งลูกกินเปล่าของฝ่ายตรงข้ามในขณะที่ทำการส่งลูกกินเปล่า ผู้ตัดสินจะต้องจัดตำแหน่งผู้เล่นฝ่ายรุกที่เข้าไปอยู่ในเส้นส่งลูกกินเปล่าให้ถูกต้องจากนั้นผู้ตัดสินจึงให้สัญญาณนกหวีดเพื่อส่งลูกกินเปล่า

    5. ในขณะส่งลูกกินเปล่า ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องอยู่ห่างจากจุดส่งลูกกินเปล่าอย่างน้อย 3 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นฝ่ายรับอาจยืนใกล้จุดนอกเส้นเขตประตูได้ ถ้าการส่งลูกกินเปล่าได้ทำการส่งบนเส้นส่งลูกกินเปล่า

    6. ผู้ตัดสินจะต้องไม่ให้มีการส่งลูกกินเปล่าในขณะที่ฝ่ายป้องกันทำผิดกติกา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายรุกเกิดการเสียเปรียบ ถ้าการทำผิดกติกานั้นเป็นเหตุให้ฝ่ายรุกเสียการครอบครองลูกบอล จะต้องให้ฝ่ายรุกได้ส่งลูกกินเปล่าเป็นอย่างน้อยถ้ามีการทำผิดกติกา แล้วฝ่ายรุกยังคงครอบครองลูกบอลได้อีกครั้ง จะต้องไม่ให้มีการส่งลูกกินเปล่า

    7. ในกรณีที่การเล่นได้หยุดลงโดยไม่มีฝ่ายใดทำผิดกติกา และมีทีมหนึ่งครอบครองลูกบอลอยู่ การเล่นจะเริ่มใหม่โดยทีมที่ครอบครองลูกบอล ณ จุดที่การเล่นได้หยุดลง โดยการส่งลูกกินเปล่าหรือการส่งตามข้อกำหนด และผู้ตัดสินต้องให้สัญญาณนกหวีด

    8. ในขณะที่มีการตัดสิน ฝ่ายที่กำลังครอบครองลูกบอลอยู่จะต้องวางลูกบอลลงใกล้ๆ กับผู้เล่นนั้นทันที

    * การยิงลูกโทษ

    -ฝ่ายรับจะต้องอยู่ห่างจากจุดยิง ไม่น้อยกว่า 3 เมตร -ถ้าในขณะที่มีการยิงลูกโทษ ผู้รักษาประตูแตะหรือข้ามเส้นเขตผู้รักษาประตู (เส้น 4 เมตร) ก่อนที่ลูกจะหลุดจากมือผู้ยิงลูกโทษ ให้ทำการยิงประตูลูกโทษใหม่ (ถ้าลูกนั้นไม่ได้ประตู)

    * การโยนลูกโดยผู้ตัดสิน

    เมื่อมีการทำผิดกติกาพร้อมกัน โดยผู้เล่นทั้ง 2 ทีม หรือหยุดการเล่นโดยไม่มีฝ่ายใดทำ กระทำที่จุดกึ่งกลางสนาม

    * การสั่งพัก 2 นาที

    จะส่งเมื่อมีการเปลี่ยนตัวไม่ถูกต้องหรือกระทำผิดซ้ำ ฯลฯ ถ้าคนเดิมถูกสั่งพักครั้งที่ 3 คนนั้นจะถูกตัดสินออกจากการแข่งขัน ในการเตือนจะให้ใบเหลืองเพื่อแสดงให้ผู้บันทึกทราบ และให้ใบแดงในกรณีที่ทำผิดรุนแรงเกินกว่าเหตุอื่นๆ อาจจะให้แก่ผู้เล่น

    * ผู้ตัดสิน 2 คน

    สวมชุดสีดำ ถ้าความเห็นขัดกัน ยึดผู้ตัดสินที่อยู่ในสนามเป็นหลัก (ผู้ตัดสินที่มีชื่อแรก) และมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมใบบันทึกที่สมบูรณ์ถูกต้อง ผู้ตัดสินสามารถยุติการแข่งขันได้ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการแข่งขันต่อไปก่อนที่จะมีการตัดสินให้ยุติการแข่งขัน

    * การเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม

    อนุญาตให้กระทำดังต่อไปนี้

    *ใช้มือหรือแขนเพื่อประโยชน์ในการครอบครองลูกบอล

    *แบมือเล่นลูกบอลจากคู่ต่อสู้ได้ทุกทิศทาง

    *ใช้ลำตัวบังคับคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้เป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล

     

    ไม่อนุญาตให้กระทำดังต่อไปนี้

    *กีดกันคู่ต่อสู้ด้วยมือ แขน หรือขา

    *ผลักคู่ต่อสู้ให้เข้าไปอยู่ในเขตประตู

    *ดึงหรือตีลูกบอลด้วยมือเดียวหรือ 2 มือให้ออกจากมือคู่ต่อสู้ที่ครอบครองลูกบอลอยู่

    *ใช้กำปั้นทุบลูกบอลจากคู่ต่อสู้

    *ใช้ลูกบอลทำให้คู่ต่อสู้เกิดอันตราย

    *ทำให้ผู้รักษาประตูเกิดอันตราย

    *ดึงคู่ต่อสู้ด้วยมือเดียวหรือ 2 มือ หรือผลักคู่ต่อสู้

    *ทำฟาวล์เกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม จะถูกลงโทษโดยการส่งลูกกินเปล่า หรือให้ยิงลูกโทษ

    *การทำฟาวล์เกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม การกระทำฟาวล์ในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่การเข้าหาคู่ต่อสู้โดยที่มิได้ครอบครองลูกบอลจะถูกลงโทษซ้ำให้พิจารณาถึงการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาด้วย

    *การทำฟาวล์ที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม หรือลักษณะการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาจะต้องถูกลงโทษโดยการตัดสิทธิ์ผู้เล่นคนนั้น

    *ผู้เล่นที่ทำร้ายผู้อื่นในสนามจะถูกไล่ออก

     

     

    *การลงโทษ

    1. การเตือนโดยไม่มีการบันทึก

    2. การเตือนที่ผู้ตัดสินแจ้งให้กับผู้จับเวลาและผู้บันทึกทราบ โดยการใช้บัตรสีเหลือง หมายเหตุ การเตือนทั้งทีมไม่ควรเกิน 3 ครั้ง ผู้เล่นคนอื่นๆ ทำผิดอีกจะไม่มีการเตือน แต่จะให้เป็นการสั่งพักเท่านั้น

    3. การสั่งพัก จะต้องแสดงสัญญาณมือให้ผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บันทึก ผู้จับเวลา ได้เห็นอย่างชัดเจน (ชูมือข้างหนึ่งขึ้นและเหยียดนิ้วขึ้น 2 นิ้ว) การสั่งพักโดยปกติหยุดพัก 2 นาที แต่ถ้าเป็นผู้เล่นคนเดิมถูกสั่งพักเป็นครั้งที่ 3 ผู้เล่นคนนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน

    4. การตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน

    -ผู้เล่นที่ไม่มีสิทธิ์เกี่ยวข้องเข้าไปในสนาม

    -การทำผิดอย่างร้ายแรงที่เกี่ยวกับการเข้าเล่นกับคู่ต่อสู้

    -กระทำโดยไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา

    -เถียงผู้ตัดสิน

      

      

     

    มารยาทการเป็นผู้เล่นที่ดี

    จุดมุ่งหมายของการเล่นกีฬาที่สำคัญนั้นมิใช่มุ่งเน้นเเต่เพียงเฉพาะผลแพ้ ชนะ เเต่มุ่งไปในมิตรภาพความมีน้ำใจนักกีฬา อันเป็นคุณลักษณะทางจิตใจ นักกีฬาที่ดีควรมีมารยาทในการเล่นจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาที่สมบูรณ์ ดังนั้นผู้ที่เล่นควรมีเเนวปฏิบัติดังนี้

    1. แต่งกายให้สุภาพสะอาดเรียบร้อย ถูกต้องเหมาะสมตามกติกาการเเข่งขัน

    2. เเสดงออกซึ่งมิตรภาพโดยการจับมือผู้ร่วมเเข่งขันทั้งก่อนเเละหลังการเเข่งขัน

    3. เล่นด้วยความสนุกสนาน ยิ้มเเย้มแจ่มใส เล่นด้วยความสุภาพ อ่อนโยนไม่ก้าวร้าวทั้งต่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม

    และผู้ตัดสิน เเละเล่นตามกติกา

    4. เมื่อชนะไม่ควรเเสดงความดีใจจนเกินไปในลักษณะข่มฝ่ายตรงข้าม

    5. เชื่อฟังผู้ตัดสิน โดยถือเอาคำตัดสินเป็นเด็ดขาด

    6. ไม่เเสดงหรือตำหนิผู้เล่นฝ่ายเดียวกันเมื่อเล่นผิดพลาด

    7. ไม่ส่อเจตนากลั่นเเกล้ง หรือยั่วยุคู่ต่อสู้

    8. ไม่นำเอาผลเเพ้ ชนะมาเป็นข้อพิพาทในการทะเลาะวิวาทซึ่งกันเเละกัน

    9. แสดงความสามารถให้เต็มที่ในการเเข่งขัน และไม่ซ้ำเติมคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือด้อยกว่า

    10. เชื่อฟังเเละปฏิบัติตามผู้ฝึกสอน และแสดงมารยาทที่ดีต่อผู้ดูทั่วไป มีความสุภาพเรียบร้อยทั้งในเเละนอก

    สนามการเเข่งขัน

     

     

    มารยาทของการเป็นผู้ชมที่ดี

    เนื่องจากผู้ดูเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่จะทำให้เกมการเเข่งขันสนุกสนานเร้าใจเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่เเต่เพียงเฉพาะ กรรมการตัดสิน เจ้าหน้าที่จัดการ หรือตัวนักกีฬาเอง ฉะนั้นเเนวทางการเป็นผู้ชมที่ดีควรปฏิบัติดังนี้

    1. ปรบมือต้อนรับผู้เเข่งขันทั้งสองฝ่าย รวมทั้งกรรมการตัดสินเข้าสู่สนาม ตลอดจนอาจมีการปรบมือให้

    เกียรติเเก่ผู้เล่นที่เล่นดีทั้งสองฝ่ายด้วย

    2. เคารพเเละยอมรับในคำตัดสินของกรรมการ

    3. มีความเห็นอกเห็นใจผู้เล่นทั้งสองฝ่ายเเละกรรมการผู้ตัดสิน โดยไม่เเสดงอาการไม่สุภาพเมื่อมีการตัด

    สินผิดพลาด เเละไม่กระทำการใดๆที่ทำให้กรรมการตัดสินปฏิบัติหน้าที่ไม่สะดวก

    4. ช่วยกันรักษาความสะอาดของสถานที่ ไม่ทำลายสิ่งของใดๆ

    5. ไม่เชียร์ในสิ่งที่เป็นการเเสดงอาการส่อเสียดไปในทางไม่ดีต่อทีมใดทีมหนึ่ง

    6. ควรใช้วิจารณญาณในการเชียร์

     

      

      เเบบฝึกของการเล่นกีฬาเเฮนด์บอล

    ขั้นเเรกของการฝึกจะต้องมีการเตรียมร่างกายของผู้ที่จะทำการฝึกโดยการออกกำลังกายหรือการฝึกอวัยวะในส่วนต่างๆเสียก่อน (เรียกว่าการอบอุ่นร่างกายหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการวอร์มอัพนั้นเอง)

    ทักษะในการเล่นที่สำคัญได้เเก่

     

     

    การทรงตัว : ท่าการทรงเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในการปฏิบัติของเท้าเเละส่วนอื่นๆ เเนวทางในการฝึกหัดมีดังนี้

    ท่าของการทรงตัว

    1. ยืนเเล้วก้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย งอเข่า ศีรษะตั้งตรง ตามองไปข้างหน้า

    2. เหยียดเเขนไปข้างหน้า งอศอกตามธรรมชาติ เเบมือเเละกางนิ้วออก โดยไม่ต้องเกร็ง

    3. เท้าทั้งสองยืนห่างกันประมาณช่วงไหล่ พร้อมที่จะเคลื่อนไหวตลอดเวลา

    การทรงตัวขณะเคลื่อนที่

    1. เลื่อนเท้าไปข้างหน้า เเล้วลากเท้าอีกข้างหนึ่งตามมาชิดในท่าของการยืนทรงตัวเมื่อต้องการเคลื่อนที่

    2. ถ้าต้องการเคลื่อนที่ไปข้างๆให้ใช้เท้าที่ถนัดสืบเท้านำไปข้างๆแลวลากเท้าที่เหลือมาชิด

    การทรงตัวเมื่อต้องการหยุด

    1. การหยุดเเบบเท้าอยู่ข้างหน้าโดยการใช้เท้าใดเท้าหนึ่งก้าวนำ งอเข่า ลำตัวเอนมาด้านหลังเล็กน้อย

    2. ย่อตัวต่ำลง ศีรษะตั้งตรง ตามองไปที่เป้าหมาย กางแขนเท้าหลังยึดเเน่นกับพื้น

    3. การหยุดเเบบเท้าคู่ (นิยมใช้ในทีมรับ) กระโดดเเล้วลงสองเท้าพร้อมกัน ให้เท้าห่างกันพอสมควร

     

     

    การครอบครองลูก : การถือบอลสามารถจับหรือถือได้ทั้งมือเดียวหรือสองมือ สามารถเปลี่ยนมือไปมาได้ เเต่ต้องไม่เกิน 3 วินาที เเละสามารถถือลูกบอลพร้อมทั้งก้าวได้ 3 ก้าว

    การรับส่งลูก : เเบมือทั้งสองออกทุกนิ้วกางนิ้วเเยกออกจากกันให้หงายฝ่ามือขึ้นเมื่อต้องการรับลูกที่มาต่ำ อีกกรณีทำได้โดยการคว่ำฝ่ามือหันหลังมือเข้าหาลำตัว นิ้วมือทั้งสองเกือบจรดกัน นิ้วห่างกันเล็กน้อย (คล้ายรูปชาม) เมื่อบอลกระทบมือใช้นิ้วต่างๆรวมจับลูกอย่าให้ลูกกระทบอุ้งมือพร้อมทั้งดึงลูกเข้าหาลำตัว

    1. ขณะรับส่งลูกสายตาจ้องมาลูกบอลเสมอ ไม่ควรมองดูตัวผู้เล่น

    2. ตำเเหน่งการทรงตัวจะต้องมั่นคง พร้อมที่จะส่งบอลในทุกทิศทาง

    3. อย่ายืนรอรับบอลเฉยๆ ควรวิ่งเข้าหาบอล ถ้าบอลมาสูงก็กระโดดรับ ถ้ามาต่ำก็ก้มรับ เมื่อได้บอลเเล้วรีบดึงบอลเข้าหาลำตัว

    การฝึกรับส่งบอลอาจทำการฝึกในหลายๆรูปเเบบ เพื่อเพิ่มทักษะการรับเเละการส่ง ได้เเก่

    1. การรับบอลในอากาศด้านหน้า

    2. การรับลูกที่ส่งมาไม่ตรงตัวทางเเขนด้านที่ถนัด

    3. การรับลูกที่ส่งมไม่ตรงตัวทางเเขนด้านที่ไม่ถนัด

    4. การรับลูกที่กลิ้งมาตามพื้น

     

     

    การส่งลูก : เป้าหมายในการส่งคือระดับอกของผู้รับ ความเร็วต้องมีการกะระยะทางระหว่างผู้ส่งเเละผู้รับเพื่อที่จะได้ส่งลูกออกไปตามเเรงที่เหมาะสม การส่งลูกถ้าผู้ส่งถนัดขวาก็ต้องให้เท้าซ้ายอยู่หน้าเท้าขวาในขณะส่ง โน้มตัวไปข้างหน้า ถ่ายน้ำหนักตัวไปข้างหน้าเพื่อเสริมเเรงทำให้ลูกวิ่งได้เร็วเเละเเรงขึ้น การส่งลูกบอลอาจทำได้ในหลายๆรูปเเบบ เพื่อหลอกล่อคู่ต่อสู้ เเละการส่งอาจทำได้ทั้งการยืนส่งลูก หรือการกระโดดส่งลูก ดังนี้

    การยืนส่งลูกมือเดียว ซึ่งได้เเก่ ส่งลูกมือเดียวเหนือหัวไหล่ การส่งไปด้านหน้าด้วยมือที่ถนัดเเละไม่ถนัดเหนือหัวไหล่ ส่งลูกมือเดียวระดับล่าง ส่งบอลระดับกลางด้านข้าง การพลิกมือส่ง (ลูกบอลต้องอยู่ในระดับข้อมือ เเละบอลอยู่ชิดลำตัว) การส่งลูกมือเดียวอ้อมหลัง ส่งลูกมือเดียวอ้อมไหล่ ส่งลูกเเบบผลัก ส่งลูกเเบบตวัด ฯลฯ

    การยืนส่งลูกสองมือ ซึ่งได้เเก่ ส่งลูกระดับอก ส่งลูกเหนือศีรษะ ส่งลูกสองมือด้านหน้า ฯลฯ

    การกระโดดส่งลูกมือเดียว ซึ่งได้เเก่ กระโดดส่งลูกมือเดียวตรงหน้า กระโดดส่งด้านข้างมือเดียว กระโดดส่งลูกด้วยสองมือ กระโดดส่งลูกกลับด้านหลัง กระโดดสองเท้าส่งลูกสองมือ

    ข้อเเนะนำในการรับ ส่งลูกบอล

    1. ไม่ควรเเสดงว่าจะส่งลูกไปทางไหน

    2. การส่งลูกอย่าส่งเเรงหรือเร็วเกินไป เป้าหมายการส่งลูกโดยที่ผู้รับเคลื่อนที่ประมาณข้างหน้าของผู้รับระยะ 1 ช่วงเเขน ไม่ส่งย้อยหลัง สูงหรือต่ำเกินไป

    3. ไม่ควรส่งกระดอนหรือลูกพลิกเเพลงบ่อย ในขณะที่ไม่มีความชำนาญ

    4. อย่าส่งลูกขณะที่ผู้รับยังหันหลังอยู่ เเละไม่ควรส่งลูกข้ามคน (อาจถูกตัดเเย่งเอาลูกบอลไปได้)

     

     

    การเลี้ยงลูก : ขณะยืนหรือเคลื่อนที่พยายามบังคับลูกบอลให้กระทบพื้น ผู้เล่นจะก้าวกี่ก้าวก็ได้ในขณะที่เลี้ยงลูกบอล สามารถทำได้โดยการปัดลูกบอลไปบนพื้นสนาม ให้ผู้ฝึกกางนิ้วมือที่จะใช้เลี้ยงลูกออกทุกนิ้วเวลาผลักลูกบอลลงสู่พื้นนั้นใช้เฉพาะนิ้วทั้งห้าเท่านั้น ห้ามใช้ฝ่ามือผลักลูกเด็ดขาด ตำแหน่งของร่างกายขณะเลี้ยงลูกบอล ให้ก้มตัวไปข้างหน้าย่อเข่า แขนข้างหนึ่งกางออกเพื่อการทรงตัว เท้าอยู่ในลักษณะมีเท้านำและเท้าตาม ลำตัวเอียงโน้มไปข้างหน้า หรือด้านข้างเพื่อช่วยในการหลบหลีกและทำการป้องกันจากคู่ต่อสู้ เมื่อต้องการหยุดกดลูกให้ต่ำลงหรือจับลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือก็ได้

    การเลี้ยงลูกบอลมีหลากหลายลักษณะขึ้นอยู่กับโอกาสและความชำนาญของผู้ฝึก ในที่นี้จะขอกล่าวแต่ถึงรูปแบบการเลี้ยงที่มีการใช้บ่อย ได้แก่

    การเลี้ยงลูกต่ำ จุดมุ่งหมายเพื่อหลบหลีกคู่ต่อสู้

    การเลี้ยงลูกสูง - จุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้การเลี้ยงลูกบอลไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

     

     

    การหมุนตัว : การหมุนตัวเป็นทักษะที่ต้องการการฝึกฝนอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆได้ดังนี้

    1. การหมุนตัวอยู่กับที่ : หมุนตัวโดยใช้เท้าใดเท้าหนึ่งเป็นหลัก หมุนไปตามทิศที่ต้องการ โดยที่เท้าที่ใช้เป็นหลักจะต้องยึดมั่นอยู่กับที่ เขย่งส้นเท้าขั้นให้ปลายเท้าติดอยู่กับพื้น ขณะที่หมุนตัวต้องก้มลำตัวและงอเข่าให้มากที่สุด ใช้สายตากะระยะคู่ต่อสู้ ในการครองลูก ให้ถือลูกให้มั่นด้วยมือทั้งสองข้าง ลูกบอลแนบชิดกับหน้าท้อง กางข้อศอกเพื่อป้องกันคู่ต่อสู้แย่งลูกบอล

    2. การหลอกหมุนตัวกลับ : เป็นพื้นฐานนำไปสู่การยิงประตู จุดมุ่งหมายหลักคือ การหลอกล่อ หนีฝ่ายป้องกัน สามารถทำได้โดยวิ่งตัดผ่านพื้นที่เหนือเส้นเขตประตูเพื่อรับลูกบอลโดยไม่ให้ฝ่ายป้องกันรู้ตัว ในการหยุดเท้าต้องขนานกัน ช่วงเท้าทั้งสองห่างกว่าปกติเล็กน้อยย่อเข่าให้สะโพกต่ำ เวลาเหมุนตัวกลับต้องทำให้เร็วน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าหลักในการหมุน (อาจทำได้ทั้ง ซ้าย ขวา)

     

     

    การยิงประตู : การเข้าทำประตูฝ่ายตรงข้ามมีวิธีการและทักษะแตกต่างกัน ทั้งนี้การเลือกนำไปใช้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และการตัดสินใจของผู้เล่น จึงแยกออกได้ดังนี้คือ

    1. ยืนยิงประตู

    - การยืนยิงประตูอยู่กับที่มือเดียวเหนือไหล่

    - การยืนยิงประตูอยู่กับที่มือเดียวระดับไหล่

    - การยืนยิงประตูอยู่กับที่แบบเหวี่ยง

    - การยืนยิงประตูอยู่กับที่มือเดียวระดับต่ำ

    - การยืนยิงประตูด้วยสองมือ

    - การยืนยิงประตูแบบกลับหลัง

    2. การกระโดดยิงประตู

    - การกระโดดยิงประตูแนวดิ่งด้วยเท้าคู่

    - การกระโดดยิงประตูแนวดิ่งด้วยเท้าเดียว

    - การวิ่งกระโดดยิงประตู

    - การพุ่งตัวตรงหน้ายิงประตู

    - การล้มตัวยิงประตูทางด้านหน้า

    - การพลิกตัวยิงประตู

    - การหมุนตัวประตูแบบขว้างจักร

    ข้อแนะนำในการยิงประตู

    1. ผู้ยิงประตูที่ดี ต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอและควรมีทักษะในการยิงประตูมากกว่า 1 ท่าขึ้นไป

    2. ต้องมีการหลอกล่อ และคอยหาโอกาส

    3. ต้องยิงประได้ทั้งมือซ้ายและมือขวา

    4. ไม่ควรยิงในทิศทางเดียวกันเสมออาจทำให้ถูกจับทิศทาง

    5. ระดับของการยิงประตูให้พิจารณาดังนี้

    5.1) รูปร่าง ส่วนสูง ของผู้รักษาประตู

    ก. คนเตี้ยให้ยิงระดับสูง

    ข. คนสูงให้ยิงระดับต่ำ

    ค. หากรูปร่างเก้งก้างลำตัวยาวให้ยิงประตูระดับกลางของประตู

    5.2) ตำแหน่งการยิงของผู้รักษาประตู

    ก. ให้ยิงประตูไปยังด้านที่เปิด (มุมไกล) ด้านกว้าง

    ข. ศึกษาจุดอ่อนของผู้รักษาประตูว่าถนัดและไม่ถนัด

    5.3) ทักษะบางอย่างของผู้รักษาประตู

    ก. ถ้าผู้รักษาประตูชอบพุ่งตัวรับ ให้ยิงลูกต่ำ

    ข. ถ้าผู้รักษาประตูใช้เท้าได้ดี แต่ใช้มือไม่ดี การยิงให้ยิงลูกกระดอนพื้น

     

    การฝึกในแบบทีม

    ในการเล่นประเภททีมจะต้องทำการแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ผู้เล่นฝ่ายรุก (ฝ่ายที่ได้ครอบครองลูก) และผู้เล่นฝ่ายรับ

    ผุ้เล่นฝ่ายรุกประกอบด้วย

    1. ตำแหน่งหลัง (Backs) ในการเล่นแฮนด์บอลถือว่าผู้เล่นกองหลังเป็นหัวใจและมันสมองของทีม ผู้เล่นในตำแหน่งนี้จะต้องมีรูปร่างแข็งแรง มีประสบการณ์และความชำนาญที่ดี สามารถสั่งการและบัญชาการเกมได้

    2. ตำแหน่งปีก (Wingers) จะต้องมีความเร็วคล่องตัวมีสมรรถภาพทางกายดี สามารถยิงประตูได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการยิงประตูทางมุมแคบจากทางด้านข้าง

    3. ตำแหน่งหน้า (Forward or line players) ต้องมีการสร้างสรรค์เกมรุกด้านหน้า ต้องมีรูปร่างแข็งแรงบึกบึนและมีความคล่องตัวสูง

    การป้องกันในการเล่นแฮนด์บอลมีจุดมุ่งหมายคือป้องกันการทำประ๕จากฝ่ายที่ได้ครอบครองลูก ทักษะป้องกันพื้นฐานที่สำคัญมี 3 ประการ คือ

    1. การป้องกันแบบตัวต่อตัว

    2. การป้องกันแบบทีม

    3. การป้องกันตามสถานการณ์ต่างๆ

     

     

      

         

    ที่มา + จำไม่ได้ค่ะ ขอโทษนะคะ

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×