ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #72 : เสี้ยวหนึ่งของการล่มสลายของยูโกสลาเวีย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 786
      0
      11 ต.ค. 52

    เสี้ยวหนึ่งของการล่มสลายของยูโกสลาเวีย




    ไปค้นข้อมูลต่อหลังจากดูภาพยนตร์เรื่อง NO Man's Land

    ...ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง มีคนเคยมาเล่าว่า "หนังเรื่องนี้ดีนะ" ให้ฟังนานพอสมควรมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีจังหวะเหมาะจะหามาดูสักที หนังได้รางวัล Academy Award ภาพยนตร์ต่างประเทศ ปี ค.ศ. 2001 และรางวัลอีกเพียบเป็นหางว่าว ล่าสุดก็เพิ่งจะมีคนเอามาให้ยืมดูถัดจาก Bowling for Columbine ที่ "ดูแล้วอึ้ง" ไปไม่นาน

    หนังเรื่องที่สามของผู้กำกับอายุ 32 ปี (ในขณะนั้น) ชาวบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา Danis Tanovic ผู้เคยใช้ชีวิตสองปีถ่ายทำภาพยนตร์ในกองทัพบอสเนียที่ซาราเจโว เมืองหลวงของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา

    ..........



    กลางดึกคืนหนึ่ง ในสงครามอะไรสักอย่าง... หน่วยรบกลุ่มหนึ่งเดินหลงทางในหมอกสายหนึ่ง สภาพของหน่วยรบไม่ต่างจากกองโจรเท่าใดนัก..ใครคนหนึ่งถึงกับใส่รองเท้า converse allstars และเสื้อยืด The Rolling Stones (ถ้าเปลี่ยนจาก AK47 เป็นกีตาร์ละก็ขึ้นเวทีคอนเสิร์ทได้เลย) คนนำทางบอกให้หยุดพักเอาแรงใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ก่อนที่พวกเขาจะตื่นเช้าขึ้นมาพบว่าตัวเองกำลังยืนอยู่หน้าสนามเพลาะแห่งหนึ่ง ใกล้ชนิดที่ยิ้มแยกเขี้ยวให้กันเมื่อไหร่ก็เห็นฟันเลยทีเดียว... ปัญหาก็คือไอ้ที่อยู่ในสนามเพลาะนั้นไม่ใช่พวกเดียวกันนะสิ !

    แล้วมันเป็นสงครามอะไร ?


    ..........



    ประเทศยูโกสลาเวีย เดิมอยู่ในอาณัติของของจักรวรรดิออสเตรีย- ฮังการี มีเพียงเซอร์เบียและมอนเตรเนโกรที่เป็นรัฐอิสระ จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1918 ฝ่ายเซอร์เบีย โครเอเทีย และสโลเวเนียรวมตัวกันเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย มีกษัตริย์อเล็กซานเดอร์จากเซอร์เบียเป็นกษัตริย์ กระทั่งในปี ค.ศ. 1934 กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ถูกปลงพระชนม์ มกุฎราชกุมาร Petar รัชทายาทอยู่ภายใต้การดูแลของคณะผู้สำเร็จราชการ

    ค.ศ. 1939 (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) คณะผู้สำเร็จราชการแทนมกุฎราชกุมาร Petar รัชทายาท ตกลงให้โครเอเชียมีสิทธิปกครองตนเอง โดยยูโกสลาเวียให้การดูแลในบางเรื่อง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายทหารล้มล้างคณะผู้สำเร็จราชการและแต่งตั้งให้มกุฎราชกุมาร Petar เป็นกษัตริย์ หลังจากนั้นกองทัพเยอรมันโจมตีกรุงเบลเกรด กษัตริย์ Petar ลี้ภัยออกนอกประเทศ

    ค.ศ. 1944 จอมพล โจซิฟ ติโต้ คอมมิวนิสต์ ยึดยูโกสลาเวียได้และแต่งตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย"

    ..........



    กองโจรหลงทางที่ตื่นเช้าขึ้นมาพบว่าเดินเลยแนวหน้าของตัวเองมาจนใกล้ขอบนรกกลับหลังหันแล้ววิ่งหนีหัวซุกหัวซุนกลับไปทางเดิม คนนำทางที่เฝ้าบอกว่า "ไม่เคยพลาด" มีรูเบ้อเร่อที่กลางหน้าผากล้มลงเป็นคนแรก ที่เหลือร่วงผลอยเป็นใบไม้ร่วง คนสุดท้ายถูกยิงที่ไหล่ก่อนจะถูกแรงระเบิดจากกระสุนปืนรถถังส่งให้ลงไปนอนกองอยู่กลางสนามเพลาะร้างในเขตที่ไม่มีใครยึดครอง...

    No Man's Land !

    ทหารฝ่ายที่ระดมยิงทั้งปืนเล็กและปืนใหญ่ ส่งทหารเฒ่านายหนึ่งและพลทหารหน้าใหม่รายหนึ่งค่อย ๆ คลานลัดเลาะไปตามพงหญ้าไปดูผลงานอันเกิดจากมหกรรม "ยิงข้างเดียว" ที่เกิดขึ้น


    ..........



    สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียประกอบไปด้วย 6 สาธารณรัฐได้แก่ โครเอเชีย ,สโลวีเนีย, เซอร์เบีย, มอนเตเนโกร, บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา, มาซีโดเนีย และอีก 2 จังหวัด คือ วอยวอดินาและโคโซโว

    บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาตั้งอยู่ทางตอนกลางของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ขนาบทางตะวันตก-ใต้-เหนือด้วยโครเอเทีย และด้านตะวันออกอยู่ติดกับเซอร์เบีย-มอนเตรเนโกร

    ปัญหาที่เกิดกับสหพันธ์สาธารณรัฐแห่งนี้คือปัญหาด้านศาสนา-เชื้อชาติ-และประวัติศาสตร์ สโลวีเนียและโครเอเชีย (อยู่ทางตะวันตกและทางเหนือ) เคยอยู่ในอาณัติของอาณาจักรโรมันและตกทอดมาจนถึงจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จึงมีลักษณะทางวัฒนธรรมไปทางยุโรป (คริศต์ศาสนาโรมันคาธอลิกส์) ส่วนรัฐทางตอนใต้ คือ เซอร์เบีย มอนเตนิโกร บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และมาเซโดเนีย เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรไบแซนไทน์และจักรวรรดิออตโตมาน พื้นฐานทางวัฒนธรรมจึงเป็นแบบมุสลิมหรือ คริสต์ศาสนานิกายออร์โธดอกซ์

    ..........



    ทหารเต็มรูปแบบจากฝั่งตะวันออกของสนามรบ ค่อย ๆ คืบคลานลัดเลาะไปทางตะวันตกอย่างช้า ๆ ก่อนจะทิ้งตัวลงยืนในสนามเพลาะที่ไม่มีใครยึดครอง ระหว่างแนวหน้าของทั้งสองด้าน ฝ่ายตรงข้ามที่เหลืออยู่คนเดียวหนีไปซ่อนในมุมมืดของสนามเพลาะแห่งนั้น ด้านหนึ่งถูกขีดเส้นไว้ด้วยกับระเบิด อีกด้านเปิดออกสู่ทุ่งหญ้าที่ไม่ว่าใครก็ตาม หากยื่นหัวออกไปก็มีสิทธิ์ถูก "ยิงก่อนถาม" ได้เสมอ

    กับดักอันไม่น่าอภิรมย์แห่งนี้ถูกบรรจุไว้ด้วยผู้คนที่กราดเกรี้ยวในสงครามที่ทั้งสองฝั่งล้วนพูดภาษาเดียวกัน ...พูดภาษาเดียวกัน !

    ใครเป็นใคร ?


    ..........



    ค.ศ. 1980 จอมพลติโต ผู้ที่รัฐธรรมนูญประกาศให้เป็นผู้นำตลอดชีพถึงแก่อสัญกรรม รอยร้าวระหว่างวัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์เริ่มแสดงออกมา ค.ศ. 1989 สโลโบดาน มิโลเซวิส ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

    ค.ศ. 1991 โครเอเชียและสโลวีเนียที่ก่อนหน้านี้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้งก็ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชพร้อมกับการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ จากนั้น ในปี ค.ศ. 1992 บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา จัดการสำรวจประชามติและประกาศแยกตัวเป็นเอกราช

    สงครามเริ่มต้นในช่วงนั้น...

    มุสลิมบอสเนียต้องการแยกตัวเป็นเอกราช แต่ชาวเซิร์บในบอสเนียเฮอร์เซโกวีนาไม่เห็นด้วยและต่อต้านภายใต้การนำของนายราโดวาน คาราดิค (Radovan Karadzic) โดยประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิค (Slobodan Milosevic) แห่งเซอร์เบียให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ ชาวเซิร์บต้องการฟื้นฟูอาณาจักรเซอร์เบียขึ้นมาโดยการรวมดินแดนบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาที่มีชาวเซิร์บอาศัยอยู่ให้เข้าไปอยู่ใต้การปกครองของเซอร์เบีย

    อีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อหาทางออกสู่ทะเลอาเดรียติก (ทะเลที่คั่นระหว่างคาบสมุทรบอลข่านกับอิตาลี - ขณะนั้น เซอร์เบียอยู่ในฐานะ "เซอร์เบีย-มอนเตรเนโกร หากมอนเตรเนโกรแยกตัวออกไปในอนาคต เซอร์เบียจะไม่มีทางออกทะเล) สงครามระหว่างเผ่าพันธ์ บอสเนีย-เซิร์บ จึงเกิดขึ้น โดยราโดวาน คาราดิค และชาวเซิร์บในบอสเนียผู้ทีได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลใช้ความได้เปรียบในการปราบปรามมุสลิมในบอสเนีย.. โดยรัฐบาลกลางไม่ได้วางตัวเป็นกลาง

    ..........



    เกิดอะไรขึ้นเมื่อทหารสองฝ่ายที่ไม่เคยทะเลาะกันเป็นการส่วนตัวมาก่อนต้องติดอยู่ในดินแดนที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ...

    โผล่ขึ้นไปสุ่มสี่สุ่มห้าก็ถูกระดมยิงจากทหารฝ่ายที่ต่างก็คิดว่าเป็นทหารฝ่ายตรงข้าม เหตุการณ์ไม่คาดฝันในสนามเพลาะร้างก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ..ทหารกองโจรชาวบอสเนียนั่งรออะไรสักอย่างเกิดขึ้นอย่างแทบจะหมดหวัง แต่ทหารเต็มยศชาวเซิร์บทั้งสองคนก็ไม่ได้สร้างความได้เปรียบในการเป็น "ชนกลุ่มใหญ่" ในหลุมตื้น ๆ ที่ไม่เป็นของชาติใดนี้ได้ สถานการณ์เหมือนจะจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างชาวเซิร์บกับบอสเนีย เรื่องมะรุมมะตุ้มเกิดเมื่อทหารเซิร์บสองคนนี้ไปลากเอาคนที่ "เข้าใจว่า" เป็นศพทหารบอสเนียมานอนในสนามเพลาะแล้วสอดกับระเบิดไว้ข้างใต้

    จากนั้นไม่นาน ความเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ของทหารบ้านชาวบอสเนียที่สวมเสื้อโรลลิ่งสก็ถูกทำให้สมดุลย์ด้วยกระสุนของเขา... ทหารเซอร์เบียคนหนึ่งเป็นไข้โป้งตาย และการเผชิญหน้ากันระหว่างปัจเจกชนสองคนของสองชาติที่มีความเท่าเทียมกัน (ความแตกต่างมีเพียงปืน AK47 กระบอกเดียว) ก็เกิดขึ้น


    ..........



    ...หนังสร้างออกมาได้อย่างประชดประชันและเย้ยหยันสงคราม (ไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งไหน) ตัวละครสองคนมาเผชิญหน้ากันในสนามเพลาะที่พร้อมจะถูกฝ่ายไหนก็ได้ถล่มให้เละเนื่องจากอยู่คั่นกลางระหว่างแนวหน้าของทั้งสองฝั่ง No man's land แบบนี้มีให้เห็นทั่วทุกสงครามที่มีการแย่งชิงดินแดนกัน

    ด้วยการถกเถียงแบบเด็กสองคนทะเลาะกัน ต่างคนต่างพยายามยัดเยียดให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้เริ่มสงคราม ก่อนที่จะลงเอยด้วยการเอาก้อนดินก้อนหินขว้างกันแบบเด็ก ๆ ...แล้วหนึ่งในนั้นก็นึกขึ้นมาได้ว่าตัวเองกำลังถือปืนอยู่นี่หว่า และแน่นอนว่าอำนาจย่อมอยู๋ในมือผู้ถืออาวุธ (ที่เหนือกว่า) เช่นเดียวกับที่มีคนพูดอยู่เสมอว่าผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์นั่นเอง ผู้เขียน/ผู้กำกับนำไปย้ำอีกครั้งในอีกไม่กี่ฉากต่อมา ..คราวนี้คนถือปืนเป็นคนละคนกัน

    ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดูเหมือนจะดีขึ้นเมื่อร่างคนที่คิดว่าเป็นศพสามารถปาฏิหาริย์ด้วยการให้ข้อคิดกับทหารอาชีพเซอร์เบียและทหารกองโจรบอสเนียที่นั่งเขม่นกันในหลุมที่พร้อมจะเป็นที่ฝังพวกเขาทั้งหมด ความสัมพันธ์ของพวกเขาดูเหมือนจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งทั้งสองขึ้นไปยืนโบกมือที่ริมสนามเพลาะแล้วแนวหน้าทั้งสองฝ่ายต่างพร้อมใจกันเรียกใช้บริการของ United Nations Protection Force in Yugoslavia: UNPROFR

    ใครคือ UNPROFR ?


    ..........



    หนังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสหประชาชาติผ่านบทความพิเศษในรายการข่าวทางโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่าประธานาธิบดีฟรังซัว มิตเตอร์รองด์ ของฝรั่งเศสเป็นผู้เจรจาขอให้ส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับประชาชนบอสเนีย (นิติภูมิ เนาวรัตน์ เขียนในเว็บไซต์ส่วนตัวว่าอาหารกระป๋องที่ส่งเข้าไปในบอสเนียนั้นส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหมู.. ไม่รู้ว่าส่งเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มใด-ระหว่างมุสลิมบอสเนีย กับคริสต์เซอร์เบีย)

    ผู้สร้างทำภาพของ UNPROFR ได้เหมือนกับ UN ถูกตบหน้าฉาดใหญ่ด้วยการที่หน่วยงานหมวกสีฟ้าอันประกอบด้วยทหารหลายหน่วยมีหัวหน้าที่เหมือนกับนักการเมืองประเทศสารขัณฑ์ผู้ที่ทำงานเพียงหวังได้หน้าและไม่คิดถึงมนุษยธรรม จนนายทหารชั้นประทวนในกองกำลังคนหนึ่งถึงกับต้องเอ่ยปากว่า "การนิ่งเฉยก็คือการไม่เป็นกลางอย่างหนึ่ง"

    หนังแทบจะชี้ให้เห็นความเฉื่อยชาและไร้ระบบของข่ายงานการบังคับบัญชาและความเหยาะแหยะไร้ประสิทธิภาพของ UN (ในนาม UNPROFR) รวมไปถึงการทำงานแบบไม่ก่อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดของสื่อมวลชนที่มีสภาพไม่ต่างจากฝูงนกแร้งกลางทะเลทราย (ผมคงไม่หวังอะไรมากแล้วกับฐานันดร 4 ไม่ว่าจะชาติไหน คงออกมาคล้ายกันหมด)

    ผู้สร้างให้บทสรุปของหนังในแบบที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ทันทีที่ตัวละครหลุดออกมาจากหลุมเพลาะ สงครามก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ความเป็นตัวตนและจิตวิญญาณที่ถูกยกระดับขึ้นของตัวละครเมื่อลงไปในสนามเพลาะกลับเสื่อมถอยลงและหันเข้าหาสงครามอีกครั้ง ...แม้ตลกร้ายในเรื่องทำให้คนดูถึงกับคาดหวังว่าสองคนนี้อาจเคยจีบสาวคนเดียวกันมาก่อนด้วยซ้ำ
    !

    ..........



    ค.ศ. 1995 ...สี่ปีหลังสงครามแบ่งแยกดินแดน สโลโบดาน มิโลเซวิคและประธานาธิบดีโครเอเชีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาลงนามในข้อตกลงสันติภาพหลังจากนาโตโจมตีทางอากาศต่อกองทัพเซอร์เบียอย่างหนัก

    ค.ศ. 2000 Milosevic แพ้การเลือกตั้ง เขาเสียชีวิตเมื่อ 11 มีนาคม ค.ศ. 2006 ในเรือนจำของศาลอาญาโลก กรุงเฮก เนเธอร์แลนต์ ในคดีอาชญากรรมและฆ่าล้างเผ่าพันธึในโคโซโว บอสเนีย และโครเอเทีย

    ประเทศยูโกสลาเวียก็ถูกแยกเป็น 7 ประเทศ
    1 เซอร์เบีย
    2 สโลวีเนีย ค.ศ. 1991
    3 โครเอเชีย ค.ศ. 1991
    4 มาซิโดเนีย ค.ศ. 1991
    5 บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ค.ศ. 1991
    6 มอนเตเนโกร ค.ศ. 1996
    7 โคโซโว สามทุ่มคืนนี้ในเวลาประเทศไทย (17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008) โคโซโวกำลังประกาศเอกราชของตัวเอง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×