ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~ประวัติบุคคลสำคัญ~

    ลำดับตอนที่ #33 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

    • อัปเดตล่าสุด 13 ต.ค. 50


    สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


    • ข้อมูลส่วนพระองค์
      วันพระราชสมภพ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗
      (อ้างข้อมูลตามจดหมายเหตุโหร)
      วันสวรรคต๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕
      พระอิสริยยศพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี
      พระราชบิดานายไหฮอง (鄭昭)
      พระราชมารดานางนกเอี้ยง
      (ภายหลังเฉลิมพระนามเ้ป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์)
      การครองราชย์
      ทรงราชย์พ.ศ. ๒๓๑๐ - พ.ศ. ๒๓๒๕
      พิธีบรมราชาภิเษก๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐
      ระยะเวลาครองราชย์๑๕ ปี
      รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
      (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา)
      รัชกาลถัดมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
      (ราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์)


                พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2277 - 2325 ครองราชย์ พ.ศ. 2311 - 2325) เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสยามประเทศ ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพให้ชาวสยาม และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี

      พระราชประวัติ
                มีหนังสือพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า ไหฮอง ได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพัฒ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านของเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ครั้นเวลาล่วงมาถึง ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๗ ขุนพัฒมีบุตรชายคนหนึ่ง เกิดแต่ นางนกเอี้ยง ทารกคนนี้คลอดได้ ๓ วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดรอบตัวทารก เป็นทักขิณาวัฏ ขุนพัฒผู้เป็นบิดาเกรงว่าเรื่องนี้อาจลางร้ายแก่สกุล จึงยกบุตรคนนี้ให้แก่เจ้าพระยาจักรี แล้วเจ้าพระยาจักรีได้เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีได้เด็กน้อยคนนี้มา ลาภผลก็เกิดมากมูลพูนเพิ่มมั่งคั่งขึ้นแต่ก่อน เจ้าพระยาจักรีจึงกำหนดเอาเหตุนี้ขนานนามว่าให้ว่า สิน ส่วนจดหมายเหตุโหรได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ เวลาประมาณ ๕ โมงเช้า ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗

                ครั้นเมื่อเด็กชายสิน อายุได้ ๙ ขวบ เจ้าพระยาจักรีนำเข้าฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ต่อมาได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กอยูในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี และในระหว่างนี้ นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ในภาษาต่างประเทศ มี ภาษาจีน ภาษาญวน และ ภาษาแขก จนสามารถพูดคล่องได้ทั้ง ๓ ภาษา ต่อมาได้รับราชการภายใต้หลวงนายศักดิ์นายเวร (ภายหลังเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์)

                ต่อมาเมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี บริบูรณ์ เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ พระภิกษุสินได้ดำรงอยู่ในสมณเพศถึง ๓ พรรษา ที่วัดโกษาวาส แล้วจึงลาสิกขาบทออกมารับราชการใหม่ ในตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น หลวงยกกระบัตร ไปรับราชการอยู่ที่เมืองตาก เมื่อเจ้าเมืองตากถึงแก่อนิจกรรม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงยกกระบัตรเป็น พระยาตาก

                ต่อมาเมื่อมีข้าศึกพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตากก็ได้ถูกเรียกตัวให้ลงมาช่วยงานราชการในกรุงศรีอยุธยา พระยาตากทำการสู้รบกับข้าศึกด้วยความเข้มแข็งสามารถยิ่ง มีบำเหน็จความชอบในสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แต่ยังมิได้ขึ้นไปปกครองเมืองกำแพงเพชร เพราะติดราชการสงครามกับพม่าอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๙ เสียก่อน

                พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระยาตาก ก็รวบรวมคนไปตั้งเป็นชุมนุมพระเจ้าตากที่เมืองจันทบูร (จันทบุรี) และมากอบกู้เอกราช และสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ กรุงธนบุรี

      พระราชนิพนธ์
                เรื่องที่พระองค์ได้นิพนธ์ไว้นั้นก็คือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ วันที่ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับนี้คือ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๓๒ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เป็นปีที่ ๓ แห่งรัชกาลของพระองค์

                บทละครเรื่องรามเกียรติ์นั้น มี ๔ ตอน แบ่งออกเป็น ๔ เล่ม สมุดไทย เนื้อเรื่อง และโวหารที่ใช้นั้น หนักไปทางธรรม และ อิทธิปาฏิหาริย์ อันให้เห็นพระนิสัยของพระองค์ ที่ทรงฝักใฝ่ในธรรม

      ปลายรัชสมัย
                ในตอนปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เกิดกบฎขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา พวกกบฎได้ปล้นจนพระยาอินทรอภัย ผู้รักษากรุงเก่าจนต้องหลบหนีมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสืบสวนเอาตัวคนผิดมาลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฎ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรีในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๔ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินออกผนวช และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ได้ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

      เหตุการณ์ภายหลังจากนั้นไม่แน่ชัดโดยมีความเชื่อหลายกระแส อาทิ

                 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และ เจ้าพระยาพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งไปราชการทัพเมืองกัมพูชา และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็นเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาถึงในวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ ก็ได้สืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฎมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้อง กล่าวโทษว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นต้นเหตุ เนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติ เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระองค์ประสูติ และสวรรคต ในเดือนเดียวกัน และบางฉบับก็บอกว่าในวันเดียวกัน ซึ่งยังไม่มีใครทราบเป็นที่แน่ชัด

                ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และ เจ้าพระยาพระยาสุรสีห์ ได้ฉวยโอกาสดังกล่าวเข้ายึดครองแผ่นดินและตั้งตนเป็นกษัตริย์เสียเอง เนื่องจากพระเจ้าตากนั้นเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงหาเหตุว่าพระเจ้าตากเสียสติและดำเนินการสำเร็จโทษ

                นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป อาทิ พระเจ้าตากทรงจงใจสละราชบัลลังก์เพื่อจะได้มิต้องชำระเงินกู้จากประเทศจีน ฯลฯ

      พระปรมาภิไธย

      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้

      • พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔
      • พระราชพงศาวดาร กรุงศรีสัตนาคนหุต เรียกว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ
      • พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) เรียกว่า พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า
      • พระนามที่เรียกกันตามหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
      • เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราช ทรงใช้พระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์
      • ตอนปลายรัชกาล พระรัตนมุนี ได้ถวายพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร
      • สามัญที่สุดคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
      • หมายกำหนดราชการออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

    เหตุการณ์สำคัญ

    • พ.ศ. ๒๒๗๗ ทรงพระราชสมภพในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บิดาชื่อ ไหออง มารดาชื่อ นกเอี้ยง มีกำเนิดเป็นสามัญชน เชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เจ้าพระยาจักรีขอไปเลี้ยงเมื่อมีพระชนมายุได้ ๔ วัน
    • พ.ศ. ๒๒๙๘ ผนวชเมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๐ ณ สำนักอาจารย์ ทองดี วัดโกษาวาส เมื่อทรงลาสิกขาแล้ว ได้รับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กรายงานในกรมมหาดไทย
    • พ.ศ. ๒๓๐๑ พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งนายสินได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะและมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ช่วยราชการอยู่กับพระยาตาก ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากแทน
    • พ.ศ. ๒๓๐๘ พระยาตาก ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้ามาช่วยราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก (สิน) มีฝีมือการรบป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม
    • พ.ศ. ๒๓๐๙ เข้ามาช่วยป้องกันพระนคร เห็นความอ่อนแอของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ จึงได้ฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปซ่องสุมผู้คน และตระเตรียมกำลังทัพที่ เมืองจันทบุรี โดยตั้งตนเป็นเจ้าเพื่อให้มหาชนเลื่อมใส คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าตาก
    • พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชคืนมาได้ในปีเดียวกันนี้เอง ทรงพิจารณาเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเสียหายมาก ยากแก่การบูรณะ จึงทรงสถาปนาเมืองธนบุรีให้เป็น กรุงธนบุรี ราชธานีใหม่
    • พ.ศ. ๒๓๑๔ ยกไปตีกัมพูชาครั้งที่ ๒ และ สามารถปราบกัมพูชาไว้ในอำนาจ
    • พ.ศ. ๒๓๑๕ พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัยครั้งที่ ๑ แต่ไม่สำเร็จ
    • พ.ศ. ๒๓๑๘ พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่ไม่สำเร็จ ถูกจับเป็นเชลยหลายหมื่นคน
    • ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและสร้างวัดเพิ่มเติมอีกมาก ทรงรับภาระบำรุงพระพุทธศาสนารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหัวเมือง มาคัดเลือกจัดเป็นรูปแบบพระไตรปิฎกฉบับหลวง

    • พ.ศ. ๒๓๒๓ เกิดจลาจลในกัมพูชา เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ และเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ยกทัพไปตีกัมพูชา แต่ยังไม่ทันสำเร็จ ก็เกิดจราจล ที่กรุงธนบุรี
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×