ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #23 : สาธารณรัฐอิตาลี

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.69K
      0
      26 ม.ค. 50



     
    สาธารณรัฐอิตาลี
    Republic of Italy


    ข้อมูลทั่วไป
    ชื่อประเทศตามภาษาพื้นเมือง Repubblica Italiana

    อิตาลีอยู่ในตอนใต้ของทวีปยุโรป และตอนเหนือของแอฟริกา โดยมีลักษณะเป็นคาบสมุทรยื่นออกไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พื้นที่ร้อยละ 75 เป็นภูเขาและที่ราบสูง
    ทิศเหนือติดประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ทิศใต้ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลไอโอเนียน ทิศตะวันตกติดประเทศฝรั่งเศสและทะเลไทเรเนียน ทิศตะวันออกติดทะเลอาเดรียติก และอยู่ตรงข้ามกับสโลเวเนีย โครเอเชีย บอสเนีย มอนเตเนโกร และแอลเบเนีย (ออร์เดอร์ออฟมอลต้า ซานมาริโน แอลเบเนีย และไซปรัสอยู่ในความดูแลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม เนื่องจากไทยไม่มีตัวแทนทางการทูตในประเทศดังกล่าว)

    อิตาลีมีเนื้อที่ 116,303 ตารางไมล์ หรือ 301,225 ตารางกิโลเมตร นอกจากพื้นที่ที่เป็นคาบสมุทรแล้ว อิตาลียังประกอบด้วยเกาะซาร์ดิเนียและซิซิลีด้วย พื้นที่ร้อยละ 57 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 21 เป็นป่าและภูเขา

    ภูมิอากาศ แบบเมดิเตอร์เรเนียน

    ประชากร 58.6 ล้านคน ความหนาแน่นของประชากร 193 คน ต่อ 1 ตารางกม. อัตราการเพิ่ม 0.0% มีประชากรในวัยทำงาน (workforce) 24.3 ล้านคน (โดยอยู่ในภาคบริการ 63 % ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ 32 % ภาคเกษตร 5% และว่างงาน 7.9%) เชื้อชาติ ส่วนใหญ่คืออิตาเลียน และมีชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติอื่นๆคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส สโลเวเนีย และแอลเบเนีย

    ผู้หญิงอิตาลีมีบุตรจำนวนน้อยที่สุดในสหภาพยุโรป (1.33 คน โดยเฉลี่ย)

    เมืองหลวง โรม (Rome) ประชากร 2.7 ล้านคน

    เมืองสำคัญ โรม มิลาน เนเปิลส์ ตูริน เจนัว

    ภาษาราชการ อิตาเลียน และมีภาษาเยอรมันเป็นภาษารอง โดยเฉพาะบริเวณแคว้น Trentino-Alto Adige ที่ติดกับออสเตรีย และภาษาฝรั่งเศสในแคว้น Valle d’Aosta นอกจากนี้ สามารถใช้ภาษาสเปนกับชาวอิตาเลียนได้ อนึ่ง ในอิตาลีมีภาษาท้องถิ่น อาทิ TUSCAN dialect

    ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (98%) แต่ให้เสรีภาพทุกศาสนาอิตาลีรับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการตั้งแต่มีนาคม ค.ศ. 2000

    สกุลเงิน ยูโร (Euro)

    วันหยุดราชการ วันขึ้นปีใหม่, วัน Epiphany (6 ม.ค.), วัน Easter Sunday and Monday วัน Liberation Day (25 เม.ย), วันแรงงาน (1 พ.ค.), วัน Assumption (15 ส.ค.), วัน All Saints Day (1 พ.ย.),วัน Immaculate Conception (8 ธ.ค.), วัน Christmas (25-26 ธ.ค.)

    ประธานาธิบดี Mr. Giorgio Napolitano (นายจอร์จิโอ้ นาโปลิตาโน่)

    นายกรัฐมนตรี Mr. Romano Prodi (นายโรมาโน โพรดี)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Mr. Massimo D'Alema (นายมาสซิโม่ ดาเลม่า)
    ประธานสภาผู้แทนราษฎร Mr. Fausto Bertinotti

    อิตาลีเพิ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 9 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งประชากรอิตาลีในประเทศไทยสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของอิตาลีได้เป็นครั้งแรกในปีนี้โดยทางไปรษณีย์

    ไทยและอิตาลีมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ โดยผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการจะสามารถเดินทางไปราชการที่ประเทศอิตาลีได้ภายในระยะเวลา 90 วัน

    การขอวีซ่าไปอิตาลี จะสามารถทำได้โดยโทร 1900 222 344 (Italian Visa Call Center) เพื่อนัดเวลายื่นเอกสารทำวีซ่า โดยจะต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม มิฉะนั้นอาจถูกปฏิเสธและต้องโทรนัดใหม่
    เอกสารประกอบการทำวีซ่าอิตาลี มีดังนี้
    1. จดหมายรับรองการทำงานจากบริษัทหรือนายจ้าง
    2. สำเนายอดบัญชีในธนาคาร 4 เดือนล่าสุด
    3. หลักฐานรับรองความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่ประเทศอิตาลี
    4. สำเนาการจองตั๋วเครื่องบิน ระบุวันที่เดินทางไปกลับ
    5. เอกสารรับรองการจองที่พักหรือจดหมายเชิญ
    6. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เดินทางไปกับบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง จะต้องมีหนังสือยินยอมจากบิดาหรือมารดาที่ไม่ได้ไปด้วย ซึ่งเขตหรืออำเภอเป็นผู้ออกเอกสาร
    7. ใบอนุญาตทำงาน และวีซ่ากลับเข้าไทย (กรณีคนต่างด้าว)
    8. สำเนาการประกันสุขภาพ(ภาษาอังกฤษหรืออิตาเลียน)วงเงินขั้นต่ำ 30,000 ยูโร

    World Economic Forum จัดให้อิตาลีอยู่ลำดับที่ 82 ในการจัดลำดับความง่ายในการทำธุรกิจ (Rankings on the Ease of Doing Business หรือ Global Competitiveness Index) ในปี 2550 (ไทยอยู่ลำดับที่ 18)

    การเมืองการปกครอง
    บริเวณที่เป็นอิตาลีในปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล และถูกรวมอยู่ในอาณาจักรโรมันตะวันตกในระหว่างศตวรรษที่ 1-5 จากนั้นกลายเป็นสมรภูมิหลายครั้งในความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างสันตปาปาที่กรุงโรมกับจักรพรรดิของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (the Holy Roman Empire) ดินแดนภาคกลางและภาคเหนือของอิตาลีเริ่มรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางการค้าในศตวรรษที่ 11 และเสื่อมลงหลังศตวรรษที่ 16 แต่ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 อิตาลีเข้าสู่ยุค Renaissance และได้เป็นแหล่งกำเนิดศิลปวิทยาการตลอดจนวรรณกรรมชิ้นเอกจำนวนมากที่เป็นพื้นฐานของอารยธรรมตะวันตกยุคต่อมา อาทิ ผลงานของ Machiavelli, Boccaccio, Petrash, Tasso, Raphael, Botticelli, Michaelangelo และ Leonardo da Vinci ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เกิดขบวนการชาตินิยมที่นำไปสู่การรวมอิตาลีได้ทั้งหมด ในปี ค.ศ.1870 และจากนั้นมาจนปี ค.ศ. 1922 อิตาลีอยู่ภายใต้ระบบกษัตริย์ที่มีรัฐสภาและการเลือกตั้งแบบจำกัด
    ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี แต่กลับมาเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงเกือบสิ้นสุดสงครามในปี ค.ศ. 1915 จึงได้รับดินแดนบางส่วนของออสเตรียมาอยู่ใต้อิตาลี ในปี ค.ศ. 1922 Benito Mussolini ขึ้นมามีอำนาจกว่า 2 ทศวรรษต่อมา อิตาลีตกอยู่ใต้ระบอบ Fascism ซึ่งเรียกกันว่า “Corporate State” โดยยังมีกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐเพียงในนาม
    ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีเข้าข้างฝ่ายอักษะ แต่หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรยึดเกาะซิซิลีได้ในปี ค.ศ. 1943 มุสโสลินีถูกกษัตริย์ปลดจากตำแหน่ง นายพล Pietro Badaglio ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และอิตาลีหันไปประกาศสงครามกับเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบกษัตริย์ถูกล้มเลิก และอิตาลีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1946 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1948 ซึ่งยังใช้มาจนปัจจุบัน

    ระบบการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญอิตาลีกำหนดให้อิตาลีมีรูปแบบการปกครอง ฅามระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีฝ่ายตุลาการแยกเป็นอิสระ
    ประธานาธิบดี ได้รับเลือกตั้งจาก รัฐสภาและผู้แทนภูมิภาค (Regional Representatives) ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 7 ปี
    ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นาย Giorgio Napolitano (จอร์จิโอ้ นาโปลิตาโน่) เป็นตำแหน่งประมุขของประเทศ มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คัดค้านการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และยุบสภา
    นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Romano Prodi เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปนโยบายการเงินการคลัง เข้ารับหน้าที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2549

    นายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาล (Council of Ministers) โดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บางทีเรียกว่า President of the Council of Ministers จึงอาจเกิดความสับสนได้

    ระบบการเลือกตั้งของอิตาลีในปัจจุบัน เป็นการลงคะแนนเสียงผสมระหว่างแบบเสียงข้างมาก (first-past-the post) ร้อยละ 75 และแบบสัดส่วนอีกร้อยละ 25 การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีเมื่อ 13 พฤษภาคม 2001 การเลือกตั้งจะมีขึ้นทุก 5 ปี หรือเร็วกว่านั้นหากประธานาธิบดีไม่อาจสรรหานายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถในการจัดตั้งคณะรัฐบาลให้ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา และการเลือกตั้งของทั้ง 2 สภาจะมีขึ้นในเวลาเดียวกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี

    รัฐสภา รัฐสภาอิตาลีประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประธานรัฐสภาได้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) การบัญญัติกฎหมายใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกทั้ง 2 สภาคือ 5 ปี และการเลือกตั้งจะทำพร้อมกันทั้ง 2 สภา โดยจะมีขึ้น ทุก 5 ปี หรือเร็วกว่านั้นหากประธานาธิบดีไม่อาจสรรหานายกรัฐมนตรีที่สามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลให้ทั้ง 2 สภาให้ความเห็นชอบได้ การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่13พฤษภาคม 2001 สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies/Camera dei Deputati)
    ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 630 คน โดย 475 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 155 คนมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจากแคว้นต่างๆ (regional proportion representation) ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งจะต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันคือนาย Marcello Pera วุฒิสภา (Senate/Senato della Repubblica) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 326 คน โดย 315 คนมาจากการเลือกตั้งทั่วไป (popular vote) จากแคว้น (regions) ต่างๆ ทั่วประเทศ และมีวุฒิสมาชิกตลอดชีพอีกจำนวนหนึ่ง (ปัจจุบันมี 11 คน) ซึ่งจะแต่งตั้งจากบุคคลชั้นนำของสังคม ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันคือนาย Pier Ferdinando Casini โดยได้รับการคัดเลือกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2001

    การปกครองส่วนท้องถิ่น อิตาลีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 แคว้น
    หรือภูมิภาค (regions) (และแบ่งเป็น 94 จังหวัด) ได้แก่ Abruzzo, Basilicata, Calabria,Campania, Emilia-Romagna,Fuiuli-Venezia Giulia, Lazio,Liguria, Lombardia, Marche,Molise, Piemonte, Puglia,Sardegna (Sardinia), Sicilia (Sicily)Toscana, Trentino-Alto Adige, Umbria, Valle d’Aosta, Veneto,โดยมี 5 แคว้นคือ Fuiuli-Venezia Giulia,Sardinia, Sicily, Trentino-Alto Adige, และ Valle d’Aosta ได้รับสถานะพิเศษตามรัฐธรรมนูญให้ปกครองตนเอง

    ในแต่ละแคว้นจะมีองค์กรการปกครองหลักอยู่ 3 องค์กร คือ
    - คณะมนตรีแคว้น (Regional Council) ทำหน้าที่ตรากฎหมายและระเบียบข้อบังคับในเขตอำนาจ
    - คณะมนตรีกรรมการ (The Junta) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร
    - ประธานคณะกรรมการ (The President of the Junta) ทำหน้าที่คล้ายนายกรัฐมนตรีในเขตอำนาจ แต่ทั้งนี้ ก็จะมีผู้แทนของรัฐบาลคนหนึ่งอยู่ประจำ ณ นครหลวงของแคว้นนั้นๆ คอยควบคุมดูแลการบริหารของรัฐบาลท้องถิ่นและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง

    บทบาทของอิตาลีในเวทีระหว่างประเทศ
    บทบาทของอิตาลีทางด้านการเมืองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่อิตาลีเป็นประธานสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 1996 โดยมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาตะวันออกกลาง การส่งกองกำลังเข้าไปรักษาสถานการณ์ในยูโกสลาเวียและแอลเบเนีย การคัดค้านการเสนอขอให้เยอรมนีและญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ การผลักดันให้อิตาลีเข้าสู่สหภาพเศรษฐกิจการเงิน (Economic and Monetary Union - EMU) กลุ่มแรกในปี ค.ศ.1999 นอกจากนี้ อิตาลีได้สนใจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายให้มากขึ้น
    ในเรื่องการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ อิตาลีไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มจำนวนสมาชิกถาวรอีก 2 ประเทศ (ญี่ปุ่นและเยอรมนี) เพราะจะทำให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีอภิสิทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก คณะมนตรีความมั่นคงฯ จึงควรปฏิรูปโดยการเพิ่มจำนวนสมาชิกไม่ถาวรฯ และให้ประเทศเล็กได้เข้าเป็นสมาชิก โดยให้เพิ่มจำนวน 8-10 ที่นั่ง และใช้ระบบหมุนเวียนตามสัดส่วนของภูมิภาค (ถ้าเพิ่ม 10 ที่นั่ง 5 ที่นั่งควรเป็นของทวีปแอฟริกาและเอเชีย 2 ที่นั่งเป็นของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา 2 ที่นั่งเป็นของยุโรปตะวันตกและ 1 ที่นั่งเป็นของยุโรปตะวันออก) โดยมีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ สมัชชาฯ จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือกสมาชิกไม่ถาวร โดยผู้รับเลือกจะต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสมัชชาฯ และห้ามเลือกตั้งซ้ำและลงสมัครติดต่อกัน
    - อิตาลีมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูบูรณะ Kosovo และคาบสมุทรบอลข่าน โดยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาว Kosovo ในรูปของโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งสร้างที่พักและสถานพยาบาล ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้ลี้ภัย หรือ Operation Rainbow ซึ่งได้รับเงินบริจาคจากชาวอิตาเลียน นอกจากนี้ยังบริจาคให้การปฏิบัติงานของ UNHCR ให้ความช่วยเหลือสำหรับการฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผ่านองค์กรกองทุนระหว่างประเทศสำหรับการพัฒนาการเกษตร (IFAD) และ UNOPS และให้กับโครงการอาหารโลก (WFP) สำหรับผู้ได้รับผลกระทบวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรบอลข่าน นอกจากนั้น รัฐบาลอิตาลียังหาทางให้นักธุรกิจอิตาลีมีช่องทางเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานและกระบวนการประมูลในโครงการฟื้นฟูบูรณะคาบสมุทรบอลข่านตั้งแต่ต้น รวมทั้งกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้าไปมีบทบาทในการสร้างตลาดการค้าที่ทันสมัยในคาบสมุทรบอลข่าน และรัฐบาลยังเพิ่มบทบาทในการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคเพื่อการร่วมมือกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเร่งกระชับความสัมพันธ์
    ทวิภาคีกับประเทศในภูมิภาคยุโรปใต้

    รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน
    นายกรัฐมนตรี Mr. Romano Prodi (นายโรมาโน โพรดี)รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรมว.กต. Mr. Massimo D'Alema (นายมาสซิโม่ ดาลีม่า) รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 และรมว.วัฒนธรรม Mr. Francesco Rutelli (นายฟรานเชสโก้ รูเตลลี่)
    Undersecretaries to the Prime Minister's Office (ระดับปลัด): Mr. Enrico Letta, Mr. Enrico Micheli, Mr. Fabio Gobbo, Mr. Ricardo Franco Levi.

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Mr. Massimo D'Alema
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย Mr. Giullano Amato
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม Mr. Arturo Parisi
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Mr. Tommaso Padoa-Schioppa
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม Mr. Clemente Mastella

    เศรษฐกิจการค้า
    โครงสร้างทางเศรษฐกิจทั่วไป
    อิตาลีมีพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เหมาะแก่การเกษตรกรรม และมีทรัพยากรธรรมชาติไม่มาก แม้จะมีก๊าซธรรมชาติอยู่บ้าง จึงเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหาร (net food importer) และพลังงาน ปัจจุบันอิตาลีเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นสำคัญมาเป็นแบบมีอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐาน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรสูงไล่เลี่ยกับอังกฤษและฝรั่งเศส อิตาลีมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อุตสาหกรรมที่สำคัญมี รถยนต์ เครื่องจักรกล การก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องเรือน อุตสาหกรรมทอผ้า เสื้อผ้าและแฟชั่น และการท่องเที่ยว อิตาลีเป็นสมาชิกกลุ่ม G8 และเข้าร่วมสหภาพการเงินของสหภาพยุโรป (EMU) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998 แม้ระบบเศรษฐกิจของอิตาลีเป็นระบบทุนนิยม ภาคเอกชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรี แต่รัฐบาลยังคงเข้ามามีบทบาทควบคุมกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ ด้านสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งได้ก่อประโยชน์ให้แก่ภาครัฐบาลในการสร้างฐานอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะลด บทบาทของพรรคการเมืองโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม อิตาลียังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การขาดดุลงบประมาณในระดับสูง การว่างงาน การขาดแคลนทรัพยากรพลังงานในประเทศ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างอิตาลีตอนเหนือ (Lombardy, Emilia, Tuscany) ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการค้า และมีกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs อยู่หนาแน่น กับอิตาลีตอนกลางและตอนล่าง รวมทั้งเกาะ Sicily และ Sardinia ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม บริเวณที่พัฒนาน้อยกว่านี้มีพื้นที่รวมกันเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่ถึงร้อยละ 35 และมีอัตราการว่างงานสูงถึงกว่าร้อยละ 20

    ธุรกิจการค้าปลีก/ค้าส่งในอิตาลี
    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง บทบัญญัติที่สำคัญๆ เกี่ยวกับ SMEs ในกฎหมายที่ 114 ว่าด้วยการปฏิรูปวินัยในภาคธุรกิจการค้า (Reform of the Disciplines on Commercial Sector) มีดังนี้
    1. มาตรา (6) ข้อ (2) บัญญัติว่า รัฐบาลแคว้น (regional authority) จะพิจารณากำหนดเขตพื้นที่การพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจการค้าต่างๆ อย่างสมดุล
    2. มาตรา (6) บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐบาลแคว้นเป้นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสถานประกอบการขนาดใหญ่ รัฐบาลแคว้นจะจัดทำมาตรฐานผังเมือง (urban planning) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่
    3. มาตรา (7) บัญญัติว่า ในการขอจัดตั้งกิจการของผู้ประกอบการรายย่อย เพียงส่งแบบฟอร์มแจ้งต่อเทศบาล (city council) เท่านั้น มาตรา (8) และ (9) บัญญัติว่า การเปิดกิจการของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ต้องได้รับอนุญาตจากเทศบาลและแคว้น
    4. มาตรา (8) เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการเปิดสถานประกอบการขนาดกลาง ซึ่งระบุว่า เทศบาลและรัฐบาลแคว้นจะรับฟังข้อคิดเห็นจากสมาคมการค้า และองค์กรพิทักษ์ผู้บริโภคในการอนุญาตให้จัดตั้งสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่

    ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งในอิตาลี
    - กฎหมายที่ 114 ให้ประโยชน์แก่ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (พื้นที่ 150-200 ตารางเมตร) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินธุรกิจของครอบครัว อาทิ การเปิดกิจการร้านค้าปลีกใหม่ทำได้โดยง่ายโดยไม่ต้องขออนุญาต (แต่เดิมต้องขอใบอนุญาตจากเทศบาล) เพียงแต่จัดส่งแบบฟอร์มแจ้งเทศบาล
    - ร้านค้าปลีกขนาดกลาง (พื้นที่ 250-2,500 ตารางเมตร) เช่น supermarket, convenient store, outlet เป็นต้น และร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดใหญ่ (พื้นที่ 2,500 ตารางเมตรขึ้นไป) จะต้องได้รับการอนุญาตจัดตั้งโดยคำนึงถึงการแบ่งเขตพื้นที่ (zoning) และการตรวจสอบความจำเป็นทางเศรษฐกิจ (economic needs test) ต่างๆ เช่น จำนวนประชากร การกระจายการจัดตั้งร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดใหญ่ ผลกระทบต่อสภาพจราจร การจ้างงาน และการสร้างงานใหม่ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลแคว้นจะพิจารณาร่วมกับเทศบาลเมือง และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตให้จัดตั้งร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดการชะลอความเติบโตในภาคการค้าปลีก/ค้าส่งขนาดใหญ่ของอิตาลีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
    - ปัจจุบัน รัฐบาลอิตาลีมีนโยบายสนับสนุนให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กปิดกิจการหรือรวมตัวกัน เช่น ให้เงินชดเชยแก่เจ้าของร้านที่เลิกกิจการก่อนเกษียณอายุ สนับสนุนให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันปิดกิจการและและรวมตัวเพื่อเปิดกิจการร้านค้าปลีกขนาดกลางในเขตอื่น สนับสนุนร้านค้าปลีกรายย่อยให้จำหน่ายสินค้าเฉพาะประเภทเพื่อลดการแข่งขันระหว่างการค้าปลีกอื่นๆ ในย่านเดียวกัน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาล(โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า) ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้ไว้ประมาณ 1 แสนล้านลีร์

    ข้อกำหนดสำหรับกิจการของต่างชาติ
    - ธุรกิจการค้าปลีก/ค้าส่ง ของอิตาลีมีการแข่งขันกันอย่างเสรี ในสภาพตลาดที่พัฒนาแล้วและไม่มีข้อกีดกันต่อผู้ประกอบการต่างชาติในกิจการค้าปลีก/ค้าส่ง ที่แตกต่างจากมาตรการที่กำหนดไว้สำหรับผู้ประกอบการอิตาลี
    - ปัจจุบัน มีร้านค้าปลีก/ค้าส่ง ขนาดใหญ่ของต่างชาติเปิดกิจการในอิตาลี อาทิ Carrefour (ฝรั่งเศส) Auchan (ฝรั่งเศส) Metro (เยอรมัน) Lidl (เยอรมัน) Rewe (เยอรมัน) Tenglemann (เยอรมัน) IKE (สวีเดน)
    สถิติเศรษฐกิจที่สำคัญ
    - อิตาลีเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 23 ของไทย และเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 จากกลุ่ม EU โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด ล่าสุด (ม.ค.-ต.ค.48) ปริมาณการค้าไทย-อิตาลี มีมูลค่า 1930 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปี 2547 โดยไทยส่งออก 1004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.27 ไทยนำเข้าจากอิตาลี 925.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5

    นักท่องเที่ยวอิตาลีอยู่ในกลุ่มตลาดหลักของไทย โดยอยู่ในลำดับที่ 16 มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 1.3 และมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 6.7 โดยในปี 2547 นักท่องเที่ยวอิตาลีเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยเฉลี่ยครั้งละสองสัปดาห์ โดยใช้จ่ายวันละประมาณ 96 เหรียญสหรัฐ ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศปีละ 160 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี
    ความสัมพันธ์ทางด้านการทูต
    ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิตาลีมาเป็นเวลา 138 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2411 (ค.ศ. 1868) โดยไทยและอิตาลีได้ลงนามสนธิสัญญาฉบับแรกคือ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1868 ต่อมาอิตาลีได้แต่งตั้งกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429)
    ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-อิตาลีโดยทั่วไปดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายไม่มีปัญหาขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน นอกจากนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับพระราชวงศ์ บุคคลสำคัญ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ

    ความสัมพันธ์ทางการค้า
    อิตาลีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 22 ของไทย และเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 5 ในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยมีมูลค่าการค้ารวม 2.388 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 ซึ่งไทยส่งออกเป็นจำนวน 1.255 พันล้าน และนำเข้า 1.133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)


    สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ปลาหมึกสดแช่เย็น/แช่แข็ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ผ้าผืน เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ การทดสอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น

    สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ และยางพารา เป็นต้น

    สินค้านำเข้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันดิบ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องมือเครื่องมือใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เครื่องบินและอุปกรณ์การบิน เป็นต้น

    ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า อิตาลีเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ทำให้เกิดปัญหาการค้าทวิภาคีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าระหว่างไทยและอิตาลีด้วย แต่อิตาลีเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดด้านกฎระเบียบการนำเข้ามากกว่าสมาชิกอื่นในสหภาพยุโรป เช่น ห้ามการใช้สาร EDTA ในอาหารทะเลกระป๋อง การระงับการนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทย เพราะตรวจพบเชื้อ Biotoxin เป็นต้น ผู้ส่งออกไทยจึงต้องระวังในสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษ อิตาลีเคยตรวจพบเชื้อ Vibrium Parahemoliticum ในปลาหมึก กุ้ง และปูสดแช่แข็งนำเข้าจากไทยและได้ใช้มาตรการกักกันสินค้าที่มีปัญหา เพื่อนำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ก่อน (automatic detention) หากไม่พบเชื้อโรคจะอนุญาตให้นำเข้าได้ การยกเลิกมาตรการดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ

    ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน การลงทุนจากอิตาลีในไทยที่ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (อาทิ กิจการผลิตเครื่องจักร หรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรมต่อเรือ การผลิตชิ้นส่วน ยานพาหนะ และการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ) การลงทุนในหมวดเคมีภัณฑ์กระดาษและพลาสติก และการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมเบา (อาทิ การผลิตเครื่องประดับ การผลิตรองเท้า การผลิตเครื่องกีฬา การผลิตของเด็กเล่น เป็นต้น)
    ปัจจุบันโครงการความร่วมมือไทย-อิตาลีที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตเหล็กกล้าระหว่างบริษัทสหวิริยากับบริษัท Duferco กลุ่มบริษัท Premier (รถบรรทุก Iveco) บริษัท HMC Polymer บริษัท Euro-Thai Medical Equipment และบริษัท Savio Thailand
    บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิตาลี (ENI) แสดงความสนใจซื้อหุ้นโรงกลั่นน้ำมันที่ระยองของสตาร์หรือบางจาก และโครงการรวบรวมน้ำมันเครื่องใช้แล้วมาใช้ใหม่ และยังชักชวนให้ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้ในการวางท่อก๊าซจากพม่าไปบังคลาเทศและอินเดีย
    บริษัท Rubber Flex Sdn. Bhd. ของอิตาลีซึ่งมีฐานการผลิตในมาเลเซีย กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยมีมูลค่าโครงการ 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งโรงงานผลิต extruded latex treads ในไทย (อาจจะเป็นที่ระยอง)บริษัท Pirelli Cables and System แสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนในด้านโทรคมนาคม พลังงาน และยางรถยนต์บริษัท Impregilo ซึ่งมีสาขาในไทย แสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนในด้านการก่อสร้าง สำหรับการลงทุนของไทยในอิตาลีนั้น กระทรวงพาณิชย์มีโครงการจัดทำศูนย์ขายส่งเฟอร์นิเจอร์ไทยที่เมืองฟลอเรนซ์ และมีบริษัท Bianchini ซึ่งเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้รายใหญ่ของเมืองฟลอเรนซ์สนใจนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราจากไทย และบริษัท La Tancia Firenze สนใจร่วมทุนกับบริษัท Siam Flowers เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตไวน์และวัสดุห่อขวดไวน์ (วัสดุคล้ายต้นกกอบแห้ง)

    ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)
    รัฐบาลอิตาลีมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ให้มีบทบาทนำในกระบวนการเศรษฐกิจทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศ โดยอิตาลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia – Europe and Medium Enterprises Conference (AESMEC’98) ณ เมือง Naples ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม ค.ศ.1998 โดยมีผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงการต่างประเทศ สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมไปร่วมการประชุม
    สืบเนื่องจากการประชุมดังกล่าวและจากข้อเสนอของอิตาลีในการประชุม SOM ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998 ในกรอบ ASEM Trade Facilitation Action Plan (TFAP) กระทรวงการต่างประเทศของอิตาลีได้จัดการประชุม Industrial Districts and International Transfer of Technology as Means to Promote Trade in Goods and Services ที่เมือง Bari ในระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม ค.ศ. 1999 ซึ่งไทยส่งผู้แทนไปร่วมการประชุมสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมิลาน แจ้งว่าโดยทั่วไป SMEs ของอิตาลีจะมีเงินทุนน้อย ไม่สามารถเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้ และเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งให้อุตสาหกรรมใหญ่ของตน ในแง่หนึ่งจึงเป็นคู่แข่งของไทย แต่อาจแสวงหาประโยชน์ในการเพิ่มความร่วมมือกับฝ่ายอิตาลีได้ อาทิ การร่วมทุนกระทรวงการต่างประเทศมีโครงการจะนำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนด้าน SMEs โดยมีฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อหาลู่ทางพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กระหว่างไทยกับยุโรป ซึ่งจะจัดการสัมมนาทางธุรกิจและการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching)โดยหนึ่งในเมืองที่จะดำเนินโครงการนี้ คือที่มิลาน เนื่องจากภาคตะวันออกของอิตาลีเป็นประเทศที่มีแนวนโยบายส่งเสริม SME ที่เป็นตัวอย่างที่ดีและน่าศึกษาของการพัฒนา SME ในแบบกลุ่ม (clusters) จนเป็นที่รู้จักกันในนามของ Third Italy โดยมีกำหนดจะจัดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1999 แต่เลื่อนออกไป

    กลไกของความร่วมมือ ไทยและอิตาลีได้ลงนามความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือไทย-อิตาลี (the Basic Agreement on Cooperation between the Kingdom of Thailand and the Republic of Italy) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ในระดับของรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ โดยไทยและอิตาลีจะสลับกันเป็นเจ้าภาพการประชุมทุก 2 ปี ซึ่งได้มีการประชุม JC มาแล้ว 4 ครั้ง (ค.ศ. 1984, ค.ศ. 1986, ค.ศ.1989, ค.ศ.1998) โดยการประชุม JC ครั้งที่ 5 กำหนดมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในภาคเอกชนมีกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ความตกลงว่าด้วย การจัดตั้งคณะมนตรีธุรกิจไทย-อิตาลีระหว่างสภาอุตสาหกรรมไทยกับ CONFINDUSTRIA ของอิตาลีลงนามเมื่อ 14 มีนาคม ค.ศ.1994 และข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอ (Federtessile) ของอิตาลี ลงนามเมื่อ 27 มีนาคม ค.ศ.1999

    ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม 1st Working Group on Thai-Italian SMEs Cooperation ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ย. 48 และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจรวมทั้งหมด 7 ฉบับ (ดูเรื่องความตกลงด้านล่าง) ทั้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเอกชนของทั้งสองประเทศ

    การท่องเที่ยว
    นักท่องเที่ยวอิตาลีจัดอยู่ในกลุ่มตลาดหลักของไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 16 และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.32 มีอัตราการเติบโตโดยรวมในรอบ 13 ปีที่ร้อยละ 6.68 นักท่องเที่ยวอิตาลีมีระยะพำนักและมีค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางประมาณ 980 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกิดรายได้เข้าประเทศปีละ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสถิติในปี 2546(ค.ศ. 2003) มีนักท่องเที่ยวอิตาลีเดินทางมาไทยจำนวน 93,079 คน และปี 2547 (ค.ศ. 2004) มีจำนวน 119,639 คน ปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่ม 25 ประเทศแรกที่ชาวอิตาลีเลือกเดินทางไปท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวจากอิตาลีมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบัน สายการบินไทยได้เปิดเส้นทางการบินใหม่ กรุงเทพฯ-มิลาน สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน จากเดิมซึ่งทำการบินจากโรมเข้าสู่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
    ไทยมีศักยภาพที่จะรองรับนักท่องเที่ยวอิตาลีทั้งในกลุ่มตลาดแบบเดิมและกลุ่ม niche market อาทิ กลุ่ม MICE (Meetings, Incentives, Conferences, Exhibitions) เช่นชมรมดำน้ำ โครงการตรวจสุขภาพ (physical check-up) และท่องเที่ยวในไทย ซึ่งเป็นแผนดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดของไทยในปัจจุบัน

    ความตกลง
    ความตกลงที่เสร็จสิ้นแล้ว
    - ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (มีผล 15 ธันวาคม ค.ศ. 1955)
    - สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี (ลงนามเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984)
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงทหารไทย-อิตาลี ฝ่ายอิตาลีเสนอมาเมื่อปี ค.ศ. 1990 และรื้อฟื้นในปี ค.ศ. 1994
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงิน ลงนามเมื่อ 22 เมษายน ค.ศ.1988
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-อิตาลี ลงนามเมื่อมีนาคม ค.ศ. 1992 ระหว่าง BOI กับ Italian Trade Commission กระทรวงการค้าอิตาลี
    - ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีธุรกิจไทย-อิตาลี ลงนามเมื่อ 14 มีนาคม ค.ศ. 1994 ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA)
    - ข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย กับสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลีเมื่อ 27 มีนาคม ค.ศ. 1999
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ลงนามเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004
    - บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ลงนามเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004

    ความร่วมมือด้านวิชาการ
    ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-อิตาลี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985-1994 มีหน่วยงานต่างๆได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน และมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คมนาคม สาธารณูปโภค อาชีวศึกษา และการแพทย์

    ความร่วมมือในรูปของทุนฝึกอบรม/ดูงาน
    รัฐบาลอิตาลีได้จัดสรรทุนด้านพลังงาน การเกษตร เศรษฐศาสตร์ อาชีวศึกษา การโรงแรมและท่องเที่ยว ให้แก่ไทยค่อนข้างสม่ำเสมอจนถึงปี ค.ศ. 1993 และหยุดไประยะหนึ่งในช่วง ปี ค.ศ. 1994-1997 และเริ่มให้ทุนการศึกษาใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา
    - สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย มีทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยประมาณปีละ 5 ทุน ในระดับปริญญาตรีและ post graduate โดยให้ในสาขาวิชาต่างๆ ตามแต่จะได้รับมาจากสถาบันอุดมศึกษาของอิตาลี
    - มูลนิธิโครงการหลวงได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลี ในโครงการartichokes

    ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม
    ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมานาน โดยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยได้ว่าจ้างสถาปนิก จิตรกร และศิลปินชาวอิตาเลียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบอาคาร สถานที่สำคัญๆ ของไทย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก กระทรวงกลาโหม สถานีรถไฟหัวลำโพง วังบางขุนพรหม พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระที่นั่งสวนอัมพร ห้องสมุดเนลสัน เฮยส์ สำหรับชาวอิตาเลียนที่มีบทบาทในวงการศิลปะของไทยมากที่สุดคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (นาย Corrado Feroci) ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความร่วมมือในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ระหว่างสอท. อิตาลีประจำประเทศไทยและบริษัทต่างๆ ของอิตาลีในไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของไทย อาทิ การประชุมอิตาเลียน-ไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง “เส้นทางศิลปะวิทยาการอิตาเลียน-ไทย จากศตวรรษที่ 19 สู่ปัจจุบัน” โดยสอท. อิตาลีฯ จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมที่เพิ่งผ่านมา มีอาทิ การจัดแสดงดนตรีของวง Rome String Quartet เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ โดยมีสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนคริทร์ เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน โดยจัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1999 และในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1999 สอท. อิตาลี ร่วมกับสายการบิน Alitalia หอการค้าไทย-อิตาลี และบริษัทอิตาลีต่างๆ จัดงาน “Italian Memorial Day” ขึ้นที่ถนนปั้น สีลม เพื่อระลึกถึงศิลปินชาวอิตาเลียนที่ได้สร้างสรรค์ผลงานในไทย โดยมีการแสดงดนตรีอิตาเลียน อาหารอิตาเลียน และการแสดงละครของนักศึกษาไทยในงาน ทั้งนี้สอท. อิตาลีมีโครงการจะจัดงานในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
    สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมในโครงการบูรณะ วังพญาไท (Phya Thai Palace Restoration Project) ของมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า (Phra Mongkut Klao Hospital Foundation) โดยได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญเชิงอนุรักษ์จากอิตาลีมาชมโครงการ และเสนอให้ความร่วมมือสนับสนุนการบูรณะ และต่อมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ได้ประสานเรื่องนี้ กับทางรัฐบาลอิตาลี ซึ่งได้ขอให้ทางโครงการฯ ประสานรายละเอียดกับฝ่ายอิตาลีโดยตรงต่อไป อนึ่ง จากการหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับนาย Valentino Martelli รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี ในระหว่างการประชุม UNGA สมัยที่ 54 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1999 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมให้กระชับยิ่งขึ้น ปัจจุบันอิตาลีได้รับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ลงนามความตกลงกับประธานสหภาพสมาคมพุทธในอิตาลี เพื่อให้พุทธศาสนามีสถานะเป็นทางการในอิตาลี ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถแสดงความจำนงให้แบ่งภาษีในอัตราร้อยละ 0.8 ของภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐบาล เพื่อบริจาคให้องค์กรทางพุทธศาสนาได้ ปัจจุบันมี พุทธศาสนิกชนในอิตาลีประมาณ 40,000 คน

    ความร่วมมือระหว่างรัฐสภา
    รัฐสภาไทยได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อิตาลี โดยมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 77 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 26 คน รวมสมาชิกสมทบอีก 16 คน โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธาน และนายสุพร สุภสร เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2001 ปัจจุบัน นาย Pier Ferdinando CASINI ดำรงตำแหน่ง President of the Chamber

    การแลกเปลี่ยนการเยือน
    ไทยและอิตาลีได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
    ฝ่ายไทย
    ระดับพระราชวงศ์
    ปี ค.ศ.1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
    25 เม.ย – 24 พ.ค. ค.ศ. 1907 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ เยือนอิตาลี
    28 ก.ย. - 1 ต.ค. ค.ศ. 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของประธานาธิบดี Giovanni Gronchi และ นรม. Amintore Fanfani
    8-14 ก.ย. ค.ศ. 1985 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอิตาลี
    3-16 เม.ย. ค.ศ. 1988 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับเชิญเป็นกรรมการตัดสินหนังสือเด็กที่เมืองโบโลญญา และเป็นพระราชอาคันตุกะของรัฐบาลอิตาลี
    25 เม.ย. – 7 พ.ค. ค.ศ. 1996 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
    25-29 ก.ค. ค.ศ. 1996 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
    18-20 ก.พ. ค.ศ. 1996 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิตาลี
    23 ก.พ. – 1 มี.ค. ค.ศ. 1997 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี
    6-12 ต.ค. ค.ศ. 1997 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
    10-14 ต.ค. ค.ศ. 1997 และ 4-6 ส.ค. ค.ศ. 1999 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
    12-16 มี.ค. ค.ศ. 2001 หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
    8-11 เม.ย. ค.ศ. 2002 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจังหวัดคาตาเนีย แคว้นซิซิลี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานจังหวัดคาตาเนีย
    27-30 ต.ค. ค.ศ. 2002 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
    25 ก.ย.-5 ต.ค. ค.ศ. 2003 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี
    24-29 ก.ย. ค.ศ. 2004 หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล เสด็จฯ เยือนมิลานเพื่อร่วมงานวิถีแห่งเอเชีย
     11-14 ต.ค. ค.ศ. 2004 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิตาลีเพื่อกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอาหารโลก ครั้งที่ 3 และรับการถวายตำแหน่ง Special Ambassador of the United Nations World Food Programme for School Feeding
    ระดับบุคคลสำคัญ
    - 20 - 21 ม.ค. ค.ศ. 1986 ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิตาลี ครั้งที่ 2 ณ กรุงโรม
    - 19 - 21 ก.ย. ค.ศ. 1994 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
    - 4-5 ก.พ. ค.ศ. 1998 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนอิตาลีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุม JC ไทย-อิตาลี ครั้งที่ 4 ณ กรุงโรม
    - 19 พ.ย. ค.ศ. 1998 ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลี เพื่อหาเสียงผ.อ. WTO
    - 14-16 พ.ย. ค.ศ. 1998 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เยือนอิตาลี
    - 4-8 พ.ค. ค.ศ. 1998 นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูงานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
    - ในปี ค.ศ. 1999 มีการเยือนของ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (24 ก.พ. – 1 มี.ค.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (12-14 พ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ( 22 มิ.ย.) และนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (10-14 พ.ย.)
    - ในปี ค.ศ. 2000 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยือนอิตาลีระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค. และ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลีระหว่างวันที่ 6-9 เม.ย
    - 21-24 ต.ค. ค.ศ. 2003 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรเยือนอิตาลี
    - 20-22 ก.ย. ค.ศ. 2004 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเยือนอิตาลี
    - 21-23 ก.ย. ค.ศ. 2004 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
    - 27-29 พ.ค. ค.ศ. 2005 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีเยือนอิตาลี

    ฝ่ายอิตาลี
    - 7 - 8 พ.ค. ค.ศ. 1986 นาย Giulio Andreotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
    - 19 - 21 ม.ค. ค.ศ. 1987 นาย Bruno Corti รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
    - 12 - 17 ต.ค. ค.ศ. 1987 นาย Giulio Andreotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเข้าร่วมประชุมสหภาพรัฐสภาที่กรุงเทพฯ
    - 18 ก.พ. ค.ศ. 1990 นาย Gianni De Michelis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
    - ส.ค. ค.ศ. 1995 นาย Emmanuele Scammacca De Murgo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
    - 1 - 3 มี.ค. ค.ศ. 1996 นาย Lamberto Dini นายกรัฐมนตรีอิตาลี เข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ
    - 23-26 มี.ค. ค.ศ. 1998 นาง Patrizia Toia รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจ
    - 11-12 ธ.ค. ค.ศ. 1998 นาย Oscar Luigi Scalfaro ประธานาธิบดีอิตาลี(ขณะนั้น) เยือนไทย (ส่วนตัว)
    - 1-2 เม.ย. ค.ศ. 1999 นาย Marco Pezzoni ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภาอิตาลี เยือนไทย
    - 27 ธ.ค. ค.ศ. 2002 - 2 ม.ค. ค.ศ. 2003 นาย Pier Ferdinando Casini ประธานสภาผู้แทนราษฎรอิตาลีเยือนไทย
    - 16-18 ก.พ. ค.ศ. 2003 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
    - 28 ก.พ.-4 มี.ค. ค.ศ. 2003 นาย Silvatore Cicu รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอิตาลีเยือนไทย
    - 14-15 ธ.ค. ค.ศ. 2003 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
    - 18-19 ม.ค. ค.ศ. 2004 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
    - 31 ส.ค.-1 ก.ย. ค.ศ. 2004 นาย Roberto Antonione รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
    - 2-3 ธ.ค. ค.ศ. 2004 นาย Paolo Scarpa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรอิตาลีเยือนไทย
    - 8-10 ม.ค. ค.ศ. 2005 นาง Margherita Boniver รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย
    - 21-22 ม.ค. ค.ศ. 2005 นาย Gianfranco Fini รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีเยือนไทย และได้เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย
    - 9-11 พ.ย. ค.ศ. 2005 นาย Adolfo Urso รมช.กิจการผลผลิตอิตาลีและคณะนักธุรกิจระดับสูงของอิตาลีเยือนไทยในกรอบ Thai-Italian Working Group for SMEs Cooperation ซึ่งเป็นผลจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจในระหว่างที่นาย ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในระหว่างการเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2547 ในโอกาสนี้ มีการลงนามบันทึกความเข้าใจทั้งหมด 7 ฉบับ

    หน่วยราชการของไทยในอิตาลี
    1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม(สอท.โรม)
    Royal Thai Embassy Tel (3906) 8622-051
    Via Nomentana 132, Fax (3906) 8622-0555
    00162 ROME E-mail : thai.em.rome@pn.itnet.it
    2. สำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร
    Office of Defence Attache Via Aldo della Rocca 49, int 10
    Tel (3906) 5086809 Trepini, Fax (3906) 508689
    00128 ROME
    3. สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)
    3.1 สคต.ณ กรุงโรม

    Office of Trade Promotion Viale Erninio Spella, 41Tel (3906) 5030804, 503080500142 ROME Fax (3906) 5035225
    E-mail : thcomrm@mbox.vol.it
    4. สำนักงานการเกษตร
    Office of Agricultural Affairs
    Via Zara 9, Tel (3906) 4402234
    00198 ROME Fax (3906) 4402029
    E-mail : thagri.rome@flashnet.it
    3.2 สคต. มิลาน
    Office of Trade Promotion

    Via A. Allbricci, 8 Tel (392) 89011467
    20122 MILAN Fax (392) 89011478
    E-mail : thailand@comm2000.it

    4. สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
    Tourism Authority of Thailand

    Via Barberini, 68 4th floor Tel (3906) 487479, 4818927
    00187 ROME Fax (3906) 4873500
    E-mail : tat.rome@iol.it

    ไทยมีสถานกงสุล 5 แห่งในอิตาลี คือ ในตูริน เจนัว มิลาน นาโปลี และคาตาเนีย
    สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ดูแลประเทศไซปรัส และดูแลสถานกงสุลที่กรุงนิโคเซีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไซปรัสด้วย

    กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่ตูริน ชื่อนาย Benazzo Achille
    Via Genovesi 2 Torino
    Tel. 011 5097214
    Fax. 011 5806180
    Email: achille@benazzo.net

    กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่เมืองเจนัว ชื่อนาย Franco Novi
    Via D. Fiasella 4/14 - 16121 Genova
    Tel. 010 5492500
    Email: thailandia@burkenovi.com

    กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่เมืองมิลาน ชื่อนาย Alberto Virgilio
    Viale Berengario 15 - 20149 Milan
    Tel. 02 460299
    Fax. 02 4812617
    Email: royalthaicongenmilan@libero.it

    กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่เมืองเนเปิลส์ ชื่อนาย Igor Suprina Petrovic
    Viale Virgilio N.5 - Napoli
    Tel. 081 - 7690959
    Fax. 081 - 5536107

    กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่เมืองคาตาเนีย ชื่อนาย Nania Giovanni
    Via Ethea, 196 - Catania
    Tel. 338 - 1299863
    Fax. 095 - 7153273
    thaiconsicily@interfree.it

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×