ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    บทความคณิตศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #87 : เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal): รางวัลสูงสุดของคนคณิตศาสตร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 269
      0
      12 ส.ค. 52

    เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal): รางวัลสูงสุดของคนคณิตศาสตร์ 



    เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal) คือรางวัลทางคณิตศาสตร์ที่หลายคนถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดทางคณิตศาสตร์ ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์ Good Will Hunting ที่มี แมตต์ เดมอน และ เบน แอฟเฟลก แสดง อาจเคยได้ยินชื่อของรางวัลนี้มาบ้าง (หรือว่าคุณสาว ๆ จะมัวกรี๊ดความหล่อของดาราคู่นี้ จนไม่ได้ยินชื่อรางวัลนี้กันละครับ)

    บางคนเทียบเหรียญฟิลด์สให้เป็นรางวัลโนเบลของคณิตศาสตร์ แต่บางคนบอกว่ารางวัลนี้ได้ยากกว่ารางวัลโนเบลเสียอีก !?! เราจะมาติดตามกันว่าเหรียญฟิลด์สเป็นมาอย่างไร รายละเอียดต่าง ๆ และเหรียญฟิลด์สนั้น ได้ยากเย็นแสนเข็นจริงหรือ?

    กำเนิดของรางวัล ความฝันของคนคณิตศาสตร์

    ศาสตราจารย์ จอห์น ชาร์ลส์ ฟิลด์ส (John Charles Fields) นักคณิตศาสตร์ชาวแคนาดา ได้หมายมั่นปั้นมือจะให้มีรางวัลเป็นเกียรติกับนักคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นหน้าเป็นตากับวงการ ให้เทียบเคียงกับรางวัลโนเบล (ที่ทอดทิ้งสาขาคณิตศาสตร์ให้เศร้าสร้อย) ท่านเสนอให้มีรางวัลนี้ในที่ประชุมสภาคณิตศาสตร์สากล จัดขึ้น ณ แคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2467

    ท่านใช้พลังความเป็นประธาน บวกกับนักคณิตศาสตร์ทั้งหลายกำลังน้อยใจรางวัลโนเบล จึงพร้อมใจตกลงให้มีรางวัลนี้ แต่กว่าที่รางวัลจะคลอดมาได้ ฟิลด์สก็ล้มหมอนนอนเสื่อลงเพราะตรากตรำงาน แม้แต่ตอนป่วยไข้ ท่านก็ยังไม่ถอดใจ ได้สั่งเสียให้เพื่อนร่วมงานของท่านให้จัดทำรางวัลให้สำเร็จ พร้อมทั้งมอบเงินของท่านสมทบเป็นรางวัล ท่านเสียชีวิตเมื่อปีพ.ศ. 2475 และรางวัลเหรียญฟิลด์สได้ถูกตั้งขึ้นในปีถัดมา (คล้าย ๆ กับรางวัลโนเบล ที่ผู้ผลักดันเสียชีวิตก่อนรางวัลจะเกิดขึ้น)

    “เหรียญฟิลด์ส” เป็นชื่อเล่นของรางวัลนี้ ชื่อจริงของรางวัลนี้ยาวเหยียดเหมือนกับรางรถไฟ นามเต็มคือ “International medals for outstanding discoveries in mathematics” แม้คุณฟิลด์สจะทุบโต๊ะประกาศชัดเจนว่า “จงให้รางวัลนี้ เป็นรางวัลสากล ไม่เกี่ยวกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด และให้ชื่อของรางวัลไม่เกี่ยวข้องกับประเทศ สถาบัน หรือชื่อของคน” แต่ชื่อรางวัลนี้ยาว.................มาก คนทั่วไปจึงเรียกรางวัลนี้สั้น ๆ ว่า “เหรียญฟิลด์ส” เพื่อเป็นเกียรติกับความฝันและความพยายามของคุณฟิลด์ส

    ด้านหน้าของเหรียญฟิลด์สเป็นรูปของอาร์คิมีดิส (Archimedes) ผู้เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรสมัยโบราณผู้ยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งข้อความเป็นภาษากรีกที่ต้องขอถ่ายทอดแบบเกรงจะผิดคือ (แก้ตัวว่า ดูจากหลายแหล่งแล้ว แปลไม่ค่อยเหมือนกัน) “ทะยานพ้นขอบเขตแห่งตน และเข้าใจซึ้งในจักรวาลทั้งมวล” อีกด้านมีคำจารึกที่แปลว่า “นักคณิตศาสตร์จากทั่วโลกชุมนุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อให้เกียรติกับผลงานอันดีเลิศ”รางวัลนี้ไม่เหมือนกับรางวัลโนเบลเสียทีเดียว ออกจะยากกว่ารางวัลโนเบลเสียด้วยซ้ำ ในแง่ที่ว่าเหรียญฟิลด์สจะให้ทุกสี่ปี (และบังเอิญตรงกับปีฟุตบอลโลกเสียด้วย ยกเว้นเพียงครั้งแรกในปี 2479) โดยจำกัดผู้รับรางวัลไม่เกินสี่คน ในขณะที่รางวัลโนเบลจัดทุกปีและแต่ละสาขาอาจจะได้หลายคน



    อีกอย่าง ถ้านักคณิตศาสตร์คนไหนอายุเกินสี่สิบปีแล้ว หมดสิทธิทันทีที่จะได้รับรางวัล ตามเจตนาของคุณฟิลด์ส ที่นอกจากจะให้เป็นรางวัลแก่ผลงานที่ผ่านมา ยังเป็นขวัญ กำลังใจต่อการทำงานในอนาคต



    เงินรางวัลที่ให้เป็นจำนวนประมาณสี่แสนบาทต่อคน เทียบไม่ได้กับรางวัลโนเบลประมาณสี่สิบล้านบาทต่อสาขา ดังนั้นถ้าจะเทียบเคียงเหรียญฟิลด์สกับรางวัลโนเบลก็ต้องอย่าพูดถึงเรื่องเงิน!



    พิธีมอบเหรียญฟิลด์ครั้งแรก มีขึ้นในปี 2479 แต่ต้องเว้นช่วงถึงปีพ.ศ. 2493 และจัดทุกสี่ปีตั้งแต่นั้น สำหรับรายชื่อผู้ได้รับรางวัลและผลงานสามารถหาอ่านได้ใน
    http://www.liv.ac.uk/~mp0u8024/maths/fields.htm



    ผู้ได้รับรางวัลนี้ปีล่าสุด ปี 2002 ได้แก่ 2 ท่านข้างล้างนี้

    Laurent Lafforgue

    Institut des Hautes ษtudes Scientifiques, France
    . Vladimir Voevodsky

    Institute for Advanced Study




    มีเรื่องเล่าว่าผู้ได้รับรางวัลคนแรกคือคุณลารส์ แวเลอเรียน อัลฟอรส์ (Lars Valerian Ahlfors) ชาวฟินแลนด์ (ถ้าแปลชื่อท่านเป็นไทยเพี้ยนไป ต้องขออภัยอีกแล้วครับ) เคยใช้ประโยชน์จากเหรียญฟิลด์สที่มีทองคำผสมอยู่ เอาไปแลกเป็นเงิน!?! เรื่องมีว่าในสงครามโลกที่สอง ท่านถูกปล่อยออกจากฟินแลนด์โดยอนุญาตให้มีเงินติดตัวเพียงน้อยนิด โชคดีที่ท่านลักลอบเอาเหรียญฟิลด์สมาได้ และแลกเป็นเงินเดินทางไปหาภรรยาของท่านที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่เรื่องนี้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะท่านรอดภัยสงคราม พบภรรยา และเพื่อนชาวสวิสของท่านได้ไถ่เหรียญคืนมาให้ท่านในท้ายที่สุด



    บางครั้งรางวัลที่ทรงเกียรติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากความขัดแย้ง ข้อกังขา และการถกเถียง อย่างหมดจดไปได้ เช่น ทำไม จอห์น แนช, พอล แอร์ดิส หรือ แอนดรูว์ ไวล์ส ถึงพลาดรางวัลนี้ แต่กลับมีนักฟิสิกส์ที่กระโดดข้ามสาขามาคว้ารางวัลได้!





    ผู้เขียน :ดร. กิตติกร นาคประสิทธิ์
    เนื้อหาย่อ :เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal)คือรางวัลทางคณิตศาสตร์ที่หลายคนถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดทางคณิตศาสตร์ บางคนเทียบเหรียญฟิลด์สให้เป็นรางวัลโนเบลของคณิตศาสตร์ แต่บางคนบอกว่ารางวัลนี้ได้ยากกว่ารางวัลโนเบลเสียอีก !?!

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×