คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
คุณค่าด้านเนื้อหา
แนวคิด เรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก รักและตามใจทุกอย่าง แม้นกระทั่วตัวตายก็ยอม
ฉาก ตอนศึกกะหมังกุหนิงจะปรากฎฉากรบที่ชัดเจน มีการตั้งค่าย การใช้อาวุธ และการต่อสู้ของตัวละครสำคัญ
ปมขัดแย้ง ตอนศึกกะหมังกุหนิง มีหลายข้อแย้ง แต่ละปมปัญหาเป็นเรื่องที่อาจเกิดได้ในชีวิตจริง และสมเหตุสมผล เช่น
ปมแรก คือ ท้าวกุเรปันให้อิเหนาอภิเษกกับบุษบา แต่อิเหนาหลงรักจินตะหราไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา
ปมที่สอง คือ ท้าวดาหาขัดเคืองอิเหนา ยกบุษบาให้จรกา ทำให้ท้าวกุเรปันและพระญาติทั้งหลายไม่พอพระทัย
ปมที่สาม ท้าวกะหมังกุหนิงมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำ แต่ท้าวดาหายกให้จรกาไปแล้ว จึงเกิดศึกชิงนางขึ้น
ปมที่สี่ อิเหนาจำเป็นต้องไปช่วยดาหา จินตะหราคิดว่าอิเหนาจะไปอภิเษกกับบุษบา จินตะหราขัดแย้งในใจตนเอง หวั่นใจกับสถานภาพของตนเอง
ปมที่สามเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงคิดจะทำสงครามกับกรุงดาหาเพื่อชิงนางบุษบามาให้วิหยาสะกำโอรสองพระองค์ ท้าวกะหมังกุหนิงหารือกับระตูปาหยังและท้าวปะหมันผู้เป็นอนุชา ทั้งสองทัดทานว่าดาหาเป็นเมืองใหญ่ของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาผู้มีฝีมือเลื่องลือในการสงคราม ส่วนกะหมังกุหนิงเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ คงจะสู้ศึกไม่ได้ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ฟังคำทัดทานเพราะรักลูกมากจนไม่อาจทนเห็นลูกทุกข์ทรมารได้ แม้จะรู้ว่าอาจสู้ศึกไม่ได้ แต่ก็ตัดสินใจทำสงครามด้วยเหตุผลที่บอกแก่อนุชาทั้งสองว่า
แม้วิหยาสะกำมอดม้วย พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
ไหนไหนจะตายวายชีวา ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
ผิดก็ทำสงครามดูตามที เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน
พี่ดังพฤกษาพนาวัน จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา
ตัวละคร อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง มีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญปรากฏอยู่มาก ตัวละครมีบุคลิกลักษณะนิสัยที่โดดเด่นและแตกต่างกัน เช่น
ท้าวกุเรปัน
ถือยศศักดิ์ไม่ไว้หน้าใคร ไม่เกรงใจใคร เช่น ในราชสาส์นถึงระตูหมันหยา กล่าวตำหนิระตูหมันหยาอย่างไม่ไว้หน้าว่า เป็นใจให้จินตะหราแย่งคู่หมั้นบุษบา สอนลูกให้ยั่วยวนอิเหนา เป็นต้นเหตุให้บุษบาร้างคู่ตุนาหงัน
ในลักษณ์อักษรสารา ว่าระตูหมันหยาเป็นผู้ใหญ่
มีราชธิดายาใจ แกล้งให้แต่งตัวไว้ยั่วชาย
จนลูกเราร้างคู่ตุนาหงัน ไปหลงรักผูกพันมั่นหมาย
จะให้ชิงผัวเขาเอาเด็ดดาย ช่างไม่อายไพร่ฟ้าประชาชน
บัดนี้ศึกประชิดติดดาหา กิจจาลือแจ้งทุกแห่งหน
เสียงงานการวิวาห์จราจล ต่างคนต่างข้องหมองใจ
การสงครามครั้งนี้มีไปช่วย ยังเห็นชอบด้วยหรือไฉน
จะตัดวงศ์ตัดญาติให้ขาดไป ก็ตามแต่น้ำใจจะเห็นดี
ในพระราชสาส์นของท้าวกุเรปันถึงอิเหนาได้ยกความผิดให้จินตะหรา จึงมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ แต่ไม่มีเมตตา ถือยศศักดิ์ และที่ต้องช่วยดาหานั้น เพราะถ้าดาหาแพ้หมายถึงกษัตริย์วงศ์เทวาพ่ายแพ้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอายอย่างยิ่ง
ถึงไม่เลี้ยงบุษบาเห็นว่าชั่ว แต่เขาก็รู้อยู่ว่าตัวนั้นเป็นพี่
อันองค์ท้าวดาหาธิบดี นั้นมิใช่อาหรือว่าไร
มาตรแม้นเสียเมืองดาหา จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่
ท้าวดาหา
หยิ่งในศักดิ์สรี ใจร้อน เช่น ตัดสินใจรับศึกกะหมังกุหนิงโดยไม่สนใจว่าจะมีใครมาช่วยหรือไม่ ดังคำประพันธ์
คิดพลางทางสั่งเสนาใน เร่งให้เกณฑ์คนขึ้นหน้าที่
รักษามั่นไว้ในบุรี จะดูทีข้าศึกซึ่งยกมา
อนึ่งจะคอยท่าม้าใช้ ที่ให้ไปแจ้งเหตุพระเชษฐา
กับสองศรีราชอนุชา ยังจะมาช่วยหรือประการใด
แม้จะเคืองขัดตัดรอน ทั้งสามพระนครหาช่วยไม่
แต่ผู้เดียวจะเคี่ยวสงครามไป จะยากเย็นเป็นกระไรก็ตามที
เป็นคนรักษาสัจจะ รักษาเกียรติยศชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยกนางบุษบาให้จรกาไปแล้ว เมื่อกะหมังกุหนิงมาสู่ขออีกจึงปฏิเสธ ดังที่ว่า
อันอะหนะบุษบาบังอร ครั้งก่อนจรกาตุนาหงัน
ได้ปลดปลงลงใจให้มั่น นัดกันจะแต่งการวิวาห์
ซึ่งจะรับของสู่ระตูนี้ เห็นผิดประเพณีหนักหนา
ฝูงคนทั้งแผ่นดินจะนินทา สิ่งของที่เอามาจงคืนไป
อิเหนา
รอบคอบ มองการณ์ไกล ตอนที่สังคามาระตารบกับวิหยาสะกำ อิเหนาได้เตือน สังคามาระตาว่าไม่ชำนาญกระบี่ อย่าลงจากหลังม้า เพราะเพลงทวนนั้นชำนาญอยู่แล้วจะเอาชนะได้ง่ายกว่า
เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีใจหาญ
จึงตอบอนุชาชัยชาญ เจ้าจะต้านต่อฤทธิ์ก็ตามใจ
แต่อย่าลงจากพาชี เพลงกระบี่ยังหาชำนาญไม่
เพลงทวนสันทัดจัดเจนใจ เห็นจะมีชัยแก่ไพรี
มีอารมณ์ละเอียดอ่อน เมื่อจากสามนางมาเห็นสิ่งใดก็คิดถึงนางทั้งสาม คำประพันธ์ความตอนนี้มีความไพเราะมาก
ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา เหมือนจากนางสการะวาตี
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง เหมือนร้างท้องมาหยารัศมี
นกแก้วจับแก้วพาที เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา
ตระเวนไพรร่อนร้องตระเวนไพร เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา
เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง
คับแคจับแคสันโดษเดี่ยว เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง
ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง คะนึงนางพลางรีบโยธี
มีความรับผิดชอบ รักชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เมื่อเกิดศึกกะหมังกุหนิง แม้จะเคยดื้อดึงเอาแต่ใจตัวเอง แต่เมื่อทราบข่าวศึกจึงต้องรีบไปช่วย ดังที่กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่จะต้องไปช่วยป้องกันเมืองดาหา ลักษณะนิสัยข้อนี้เหมือนกับท้าวกุเรปัน อิเหนาบอกจินตะหราว่า
แม้เสียดาหาก็เสียวงศ์ อัปยศถึงองค์อสัญหยา
รู้กาลเทศะ รู้สำนึกผิด เมื่อยกทัพมาดาหา ไม่กล้าเข้าเฝ้าท้าวดาหาทันที ขอพักพลนอกเมืองและทำการรบแก้ตัวก่อน จึงให้ตำมะหงงไปเฝ้าท้าวดาหาและรายงานว่า
ให้ข้าทูลองค์พระทรงฤทธิ์ ด้วยโทษผิดติดพันอยู่หนักหนา
จะขอทำการสนองพระบาทา เสร็จแล้วจึงจะมาอัญชลี
จินตะหรา
คารมคมคาย พูดจาตัดพ้ออิเหนา มีการเปรีบบเทียบ เหน็บแนมด้วยความน้อยใจ เช่น
พระจะไปดาหาปราบข้าศึก หรือรำลึกถึงคู่ตะนาหงัน
ด้วยสงครามในจิตยังติดพัน จึงบิดผันพจนาไม่อาลัย
ไหนพระผ่านฟ้าสัญญาน้อง จะปกป้องครองความพิสมัย
ไม่พิราศแรมร้างห่างไกล จนบรรลัยมอดม้วยไปด้วยกัน
...............................................
แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืน
...............................................
โอ้ว่าน่าเสียตัวนัก เพราะเชื่อสิ้นหลงรักจึงช้ำจิต
จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร
ไม่ดื้อดึง ไม่งอนจนเกินงาม ยอมรับฟังเหตุผลของอิหนา
เมื่อนั้น จินตะหราวาตีโฉมเฉลา
ได้เห็นสารทราบความสำเนา ค่อยบรรเทาเบาทุกข์แคลงใจ
จึงเคลื่อนองค์ลงจากพระเพลาพลาง นวลนางบังคมแถลงไข
ซึ่งพระจะเสด็จไปชิงชัย ก็ตามใจไม่ขัดอัธยา
แม้สำเร็จราชการงานศึก แล้วรำลึกอย่าลืมหมันหยา
จงเร่งรีบยกทัพกลับมา น้องจะนับวันท่าภูวไนย
ท้าวกะหมังกุหนิง
รักลูกยิ่งชีวิต ยอมทำทุกอย่างเพื่อลูก แม้ต้วเองจะต้องตายก็ยอม เช่น
แม้มิปลงใจให้ธิดา เราจะยกโยธาไปชิงชัย
เป็นคนประมาท ไม่รู้จักวิเคราะห์ฝ่ายข้าศึก คือ คาดว่าอิเหนาอยู่หมันหยา กำลังมีความเคืองกันอยู่ คงไม่ยกทัพมาช่วยรบ
อันระเด่นมนตรีกุเรปัน ก็ขัดเคืองกันไปข้อใหญ่
ไปอยู่เมืองหมันหยากว่าปีไป ที่ไหนจะยกพลมา
วิหยาสะกำ
เป็นชายรูปงาม ดังที่อิเหนาชื่นชมไว้ว่า
ทนต์แดงดังแสงทับทิม เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
เกศาปลายงอนงามทรง เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา
เอาแต่ใจตนเอง จะเอาอะไรก็ต้องได้ ดังที่ท้าวกะหมังกุหนิงบอกปาหยังกับปะหมันว่า
เอ็นดูนัดดาโศกาลัย ว่ามิได้อรไทจะมรณา
รักศักดิ์ศรี อิเหนากล่าวจาบจ้างท้าวกะหมังกุหนิง วิหยาสะกำแค้น จึงตอบไปว่า
เมื่อนั้น วิหยาสะกำใจกล้า
ได้ฟังคั่งแค้นแทนบิดา จึงร้องตอบวาจาว่าไป
ดูก่อนอริราชไพรี อย่าพาทีลบหลู่ท่านผู้ใหญ่
โอหังบังอาจประมาทใคร จะนบนอบยอมไหว้อย่าพึงนึก
มิเราก็เจ้าจะตายลง อย่าหมายจิตคิดทะนงในการศึก
ยังมิทันพันตูมาขู่ศึก จะรับแพ้แลลึกไม่มีลาย
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
การใช้คำและโวหาร เรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง มีการใช้ภาษาที่สละสลวยให้อารมณ์อันลึกซึ้งกินใจ อีกทั้งมีโวหารเปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์ให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ที่สำคัญยังแฝงด้วยข้อคิดที่มีคุณค่ายิ่งอีกมากมาย ดังนี้
การใช้ภาษาสละสลวยงดงาม มีการเล่นคำ เล่นสัมผัสพยัญชนะเพื่อให้เกิดความไพเราะ เช่น ตอนอิเหนาชมดง
ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา เหมือนจากนางสการะวาตี
การใช้โวหารเปรียบเทียบ คือ โวหารอุปมาเป็นการสร้างอารมณ์ให้กับผู้อ่าน กวีเปรียบได้ชัดเจน เช่น
กรุงกษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย เราเป็นเมืองน้อยกระจิหริด
ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์ เห็นผิดระบอบบุราณมา
ปาหยังกับปะหมันประเมินกำลังฝ่ายตนว่าเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ เท่านั้น คงสู้วงศ์เทวาไม่ได้ จึงไม่ควรสู้เป็นการเตือนสติให้หยุดคิด แต่ก็ไม่ได้ผล ปัญหาใหญ่จึงตามมา
หรือจากคำคร่ำควรญของจินตะหรา ที่เปรียบความรักเหมือนสายน้ำไหลที่ไหลไปแล้วจะไม่มีวันย้อนกลับ ที่มาของสำนวน "ความรักเหมือนสายน้ำไม่มีวันไหลย้อนกลับ" คำคร่ำครวญของจินตะหราเป็นเพราะเกิดความไม่มั่นใจในฐานะของตนเอง เกิดความรู้กขึ้นมาว่าตนอาจต้องสูญเสียคนรัก เพราะข่าวการแย่งบุษบาแสดงว่าบุษบาต้องสวยมาก อีกทั้งยังเป็นคู่หมั้นของอิเหนามาก่อน ยิ่งทำให้รู้สึกหวาดหวั่น ดังคำประพันธ์ทีอ่านแล้วจะเกิดอารมณ์สะเทือนใจ สงสาร และเห็นใจว่า
แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
สตรีใดในพิภพจบแดน ไม่มีใครได้แค้นเหมือนนอกข้า
ด้วยใฝ่รักให้เกิดพักตรา จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
อีกตอนหนึ่งมีใช้อุปมาโวหารได้กินใจเช่นกัน เพราะแสดงความรักอันท่วมท้นของพ่อที่มีต่อลูก
"พี่ดังพฤกษาพนาวัน จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา"
ความรักของพ่อทนไม่ได้ที่เห็นลูกมีทุกข์ หากแลกได้จะยอมรับทุกข์แทนลูก แต่เมื่อทำไม่ได้พ่อก็ต้องพยายามจนถึงที่สุด แม้รู้ว่าจะไปตายก็ยอม บทเปรียบเทียบนี้เปรียบกับธรรมชาติ คือ ต้นไม้บางประเภทที่เมื่อออกผลแล้วต้นจะตายไป ต้นไม้ตายเพราะลูกก็เปรียบได้กับท้าวกะหมังกุหนิงต้องตายเพราะมีสาเหตุมาจากวิหยาสะกำซึ่งเป็นพระราชโอรสนั่นเอง อุปมานี้ฝากข้อคิดไว้ให้ลูก ๆ ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักเรามากมายเพียงใด
อีกตอนหนึ่งเป็นข้อความในพระราชสาส์นที่ท้าวกุเรปันมีไปถึงอิเหนา ท้าวกุเรปันเป็นคนรักลูกก็จริง แต่ก็หยิ่งในเกียรติถือยศถือศักดิ์ ถ้าลูกผิดก็จะไม่มีวันโอนอ่อน คำประพันธ์ตอนนี้จึงให้อารมณ์ของความเด็ดขาด เข้มแข็ง ไม่มีการอ้อนวอนขอร้องใด เปิดโอกาสให้อิเหนาคิดเอาเอง หากไม่มาก็ถือตัดพ่อตัดลูกชนิดไม่ต้องมาเผาผีกัน
แม้มิยกพลไกรไปช่วย เราก็ม้วยก็อย่ามาดูผี
อย่าดูทั้งเปลวอัคคี แต่วันนี้ขาดกันจนบรรลัย
ใช้คำบรรยายชัดเจนได้ภาพพจน์ ผู้อ่านนึกภาพตามผู้เขียนบรรยายตามไปยิ่งจะทำให้ได้อรรถรสในการอ่านมากขึ้น เช่น ตอนอิเหนาต่อสู้กับท้าวกะหมังกุหนิงด้วยใช้กริชเป็นอาวุธ จะเห็นลีลาท่าทางและจังหวะที่สอดคล้องกัน เห็นทีท่าอันฉับไวและสง่างาม
เมื่อนั้น ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี
ได้ฟังคำชื่นชมยินดี ครั้งนี้อิเหนาจะวายชนม์
อันเพลงกริชชวามลายู กูรู้สันทัดไม่ขัดสน
คิดแล้วชักกริชชวามลายู ร่ายทำทำกลมารยา
กรขวานั้นกุมกริชกราย พระหัตถ์ซ้ายนั้นถือเช็ดหน้า
เข้าปะทะประกริชด้วยฤทธา ผัดผันไปมาไม่ครั่นคร้าม
เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีชาญสมาน
พระกรกรายลายกริชติดตาม ไม่เข็ดขามคร้ามถอยคอยรับ
หลบหลีกไวว่องป้องกัน ผัดผันหันออกกลอกกลับ
ปะทะแทงแสร้างทำสำทับ ย่างกระหยับรุกไล่มิได้ยั้ง
เห็นระตูถอยเท้าก้าวผิด พระกรายกริชแทงอกตลอดหลัง
ล้มลงดาวดิ้นสิ้นกำลัง มอดม้วยชีวังปลดปลง
คุณค่าด้านความรู้
เรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง กวีแทรกความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ไว้มากมายโดยเฉพาะเรื่องการรบในสมัยก่อน เราจะได้รู้จักประเภทของอาวุธ วิธีการใช้อาวุธ กลวิธีการรบ การตั้งค่าย การสอดแนมข้าศึก เป็นต้น
การใช้อาวุธ
"บ้างเป่าชุดจุดยิงปืนใหญ่ ฉัตรชัยมณฑกนกสับ"
........................................
"บัดนั้น นายทหารกุเรปันไม่หวั่นไหว
ให้ระดมปืนตับรั้งไว้ แล้วไล่โยธีประจัญ
ต่างมีฝีมืออื้ออึง วางวิ่งเข้าถึงอาวุธสั้น
ดาบสองมือโถมทะลวงฟัน เหล่ากริชติดพันประจัญรบ
ทหารหอกกลอกลับสัประยุทธิ์ ป้องปัดอาวุธไม่หลีกหลบ
พวกพลพาชีตีกระทบ รำทวนสวนประจบโถมแทง
บ้างสกัดซัดพุ่งหอกคู่ เกาทัณฑ์ธนูน้าวแผลง
ตะลุมบอนฟอนฟันกันกลางแปลง ต่อแย้งยุทธยิงชิงชัย
ตายระดับทับกันดังฟอนฟาง เลือดนองท้องช้างเหลวไหล
กองหลังประดังหมุนขึ้นไป ตัวนายไล่ไพร่เข้าบุกบัน"
การตั้งค่าย
"เห็นละหานธารน้ำไหลหลั่ง ร่มไทรใบบังสุริย์ศรี
จึงดำรัสตรัสสั่งเสนี ให้ตั้งที่นาคนามตามตำรา"
ทัพกะหมังกุหนิงเดินทัพมาถึงก่อนจึงเลือกทำเลบริเวณริมน้ำ ตั้งค่ายแบบ "นาคนาม" ส่วนอิเหนาเลือกได้บริเวณเนินทราย จึงต้องตั้งค่ายแบบ "ครุฑนาม"
"ครั้นถึงเนินทรายชายทุ่ง แว่นแคว้านแดนกรุงดาหา
จึงให้หยุดกองทัพตั้งพลับพลา ที่ต้องนามครุฑาเกรียงไกร"
คุณค่าด้านสังคม
ประเพณีและความเชื่อ แม้บทละครเรื่องอิเหนาจะมีที่มาจากชวา แต่รัชกาลที่ 2 ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมืองของไทย เราจึงสามารถหาความรู้เรื่องเหล่านี้จากวรรณคดีเรื่องอิเหนาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปรากฏอยู่หลายตอน เช่น ตอนท้าวดาหาเสด็จออกรับทูตเมืองกะหมังกุหนิง
"เมื่อนั้น พระองค์ทรงพิภพดาหา
ครั้นสุริย์ฉายบ่ายสามนาฬิกา ก็โสรจสรงคงคาอ่าองค์
ทรงเครื่องประดับสรรเสร็จ แล้วเสด็จย่างเยื้องยูรหงส์
ออกยังพระโรงคัลบรรจง นั่งลงบนบัลลังก์รูจี
ยาสาบังคมบรมนาถ เบิกทูตถือราชสารศรี
จึงดำรัสตรัสสั่งไปทันที ให้เสนีนำแขกเมืองมา
นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องโชคชะตา การเชื่อเรื่องคำทำนาย ดังที่ท้าวกะหมังกุหนิงให้โหรมาทำนายก่อนจะยกทัพไปเมืองดาหา โหรก็ทำนายว่า
บัดนั้น พระโหราราชครูผู้ใหญ่
รับรสพจนารถภูวไนย คลี่ตำรับขับไล่ไปมา
เทียบดูดวงชะตาพระทรงยศ กับโอรสถึงฆาตชันษา
ทั้งชั้นโชคโยคยามยาตรา พระเคราะห์ขัดฤกษ์พาสารพัน
จึงทูลว่าถ้ายกวันพรุ่งนี้ จะเสียชัยไพรีเป็นแม่นมั่น
งดอยู่อย่าเสด็จสักเจ็ดวัน ถ้าพ้นนั้นก็เห็นไม่เป็นไร
แม้ตอนที่อิเหนาจะยกทัพไปช่วยเมืองดาหาก็ต้องดูฤกษ์ยาม มีการทำพิธีตัดไม้ข่มนามหรือพิธีฟันไม้ข่มนาม โดยนำเอาต้นไม้ที่มีชื่อร่วมตัวอักษรกับชื่อฝ่ายข้าศึก มาฟันให้ขาดประหนึ่งว่าได้ฟันข้าศึก และยังมีพิธีเบิกโขลนทวาร ซึ่งทำพิธีตามตำราพราหมณ์ โดยทำเป็นประตูสะด้วยใบไม้ สองข้างประตูมีพราหมณ์นั่งประพรมน้ำมนต์ให้ทหารที่เดินลอดประตู ทั้ง 2 พิธีนี้ทำเพื่อความเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกำลังใจให้ทหาร ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้
"พอได้ศุภกฤกษ์ก็ลั่นฆ้อง ประโคมคึกกึกก้องท้องสนาม
ประโรหิตตัดไม้ข่มนาม ทำตามตำราพิชัยยุทธ์
...........................................
ชีพ่อก็เบิกโขลนทวาร โอมอ่านอาคมคาถา
เสด็จทรงช้างที่นั่งหลังคา คลาเคลื่อนโยธาทุกหมวดกอง
คุณค่าด้านแนวคิดและคติชีวิต
สะท้อนภาพชีวิตของบรรพบุรุษ
- การแบ่งชนชั้นวรรณะ เช่น การไม่ยอมไปเกลือกกลั้วกับวงศ์ตระกูลอื่นนอกจากวงศ์เทวาด้วยกัน ทำให้เกิดการแต่งงานระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน
- ไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตนเอง ต้องปฏิบัตตามความพอใจของผู้ใหญ่
- สภาพความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข มีการละเล่นต่าง ๆ มากมาย
- มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น การแก้บน การใช้เครื่องรางของขลัง การดูฤกษ์ยาม
- ด้านกุศโลบายการเมือง มีการรวบรวมเมืองที่อ่อนแอกว่าเข้ามาเป็นเมืองบริวาร
ความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์
- ธรรมชาติในเรื่องความรักของคนวัยหนุ่มสาว มักขาดความยั้งคิด เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงความทุกข์ใจของพ่อแม่
- ธรรมชาติของอารมณ์โกรธ มักทำให้วู่วามตัดสินใจผิดพลาดอันจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
อิเหนา เป็นวรรณคดีที่เป็นมรดกของชาติที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานตามเนื้อเรื่อง ความไพเราะของรสวรรณคดี และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนที่ได้ถ่ายทอดสภาพของสังคมไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อแบบไทย ๆ สอดแทรกไว้ได้อย่างมีศิลป์ ทั้งยังแฝงด้วยข้อคิด คติธรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตอีกด้วย
ความคิดเห็น