ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ASEAN โลกใหม่ที่เด็กไทย(ต้อง)เตรียมรับมือ

    ลำดับตอนที่ #22 : #18

    • อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 55


     

    ‘หมอฟัน-พยาบาล’ เสี่ยงถูกแย่งงานหลังเปิดเสรีอาเซียน

    ที่มา: http://www.thaireform.in.th/reform-the-news/item/7535-2012-05-08-07-14-38.html
    • เขียนโดย ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์
    • วันอังคารที่ 08 พฤษภาคม 2012 
     

    ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เผย' ทันตแพทย์-พยาบาล' เสี่ยงถูกแย่งงานหลังเปิดอาเซียน ระบุ แรงงานวิชาชีพกลุ่มหัวกะทิ ยังไม่เห็นประโยชน์ หวั่นเปิดเสรีวิชาชีพสาขาอื่นเพิ่ม เสี่ยงหนักกว่าเดิม

                       วันที่ 8 พฤษภาคม ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลวิเคราะห์ “ศักยภาพการแข่งขันของการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพไทยภายใต้ AEC” ว่า จากการเก็บข้อมูล โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (focus group) เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ ความพร้อมของนักวิชาชีพ ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และการร่วมจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (Multual Recognition Arrangement: MRA) ซึ่งได้ทำข้อตกลงยอมรับร่วมไปแล้วใน 7 สาขา ประกอบด้วย สาขาวิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ บัญชี โดยการเก็บข้อมูลครั้งนี้ เลือกศึกษาเพียง 6 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ ทันตแพทย์ แพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก 

                       ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอาเซียนมากที่สุด ได้แก่ นักบัญชี ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจมากกว่า 80% รองลงมาได้แก่ แพทย์ สถาปิก มากกว่า 50% ทันตแพทย์ 50% วิศวกร 30% และ พยาบาล 20% ตามลำดับ 

                       สำหรับประโยชน์ของการเปิดเสรีอาเซียนนั้น ผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มแพทย์เห็นประโยชน์ของการเปิดอาเซียนมากสุด คือ มากกว่า 50% รองลงมาคือ นักบัญชี สถาปนิกอยู่ที่ 50% ขณะที่พยาบาล เห็นประโยชน์ของการเปิดเสรีอาเซียน น้อยกว่า 20% วิศวกร 10% และทันตแพทย์ 0% (ไม่เห็นประโยชน์เลย)

                       ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า กลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ภายหลังการเปิดอาเซียนคือ  กลุ่มทันตแพทย์ซึ่งคาดว่าจะมีทันตแพทย์จากประเทศในแถบยุโรป ที่ได้โอนสัญชาติเป็นสิงคโปร์ตามเงื่อนไขของประเทศดังกล่าว ขอใช้สิทธิ์เข้ามาประกอบวิชาชีพในประเทศไทย เนื่องจากมีความสนใจที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือไม่มีงานทำในประเทศของตน เนื่องจากจำนวนทันตแพทย์มีมากกว่าจำนวนคนเจ็บป่วย

    "แม้ว่าทันตแพทย์ไทยจะมีศักยภาพทัดเทียมกับมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและพม่า แต่ประเทศอาเซียนยังมีความแตกต่างในวิธีปฏิบัติ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรม ศาสนา และชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ผู้หญิงมุสลิมไม่สามารถทำฟันในท่านอนได้ ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นอุปสรรคในการประกอบวิชาชีพ ฉะนั้น ทันตแพทย์ไทยจึงต้องปรับตัว แต่ทั้งนี้เชื่อว่าระยะ 10 ปีแรก (2555-2565) การเคลื่อนย้ายทันตแพทย์อาเซียนจะเกิดขึ้นน้อยมาก"

    พยาบาลไทยเจ๋งสุด แต่อ่อนภาษา

                     ขณะเดียวกันกลุ่มพยาบาลหลังปี 2558 สภาพยาบาล คาดว่าจะมีพยาบาลจากอาเซียน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผลิตพยาบาลมากที่สุดในอาเซียน เข้ามาทำงานในประเทศไทยสัดส่วนมากกว่าที่พยาบาลคนไทยจะเดินทางออกไปทำงานในอาเซียน

                     "พยาบาลในประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่สุดในอาเซียน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่มีข้อเสียเปรียบด้านภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ในเมืองไทยความต้องการพยาบาลจากต่างประเทศยังมีน้อย เนื่องจากจำนวนพยาบาลที่ผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ" 

                      ส่วนวิชาชีพอื่นๆ นั้น  พบว่า   แพทย์ไม่มีความสนใจที่จะไปทำงานในอาเซียน เนื่องจากความเป็นอยู่ อัตราค่าจ้างไม่เป็นที่ดึงดูดใจ พร้อมมองว่า การไปทำงานในยุโรป สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองมากกว่า  อีกทั้งมีคาดว่า ภายหลังการเปิดเสรี จะมีจำนวนผู้มาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยจำนวนมาก

                      ขณะที่วิศวกรไทย อยู่ในระดับที่มีศักยภาพสูง ทัดเทียมกับสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ แต่มีข้อเสียเปรียบด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนนักบัญชี ถือเป็นโอกาสดีของผู้ที่สนใจจะไปทำงานในอาเซียน แต่ต้องปรับตัวรับการแข่งขันที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับสถาปนิกที่มองว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะทำงานในอาเซียนได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศบูรไน กัมพูชา พม่า ลาวและเวียดนาม 

                      ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงสิ่งที่น่าคิดในการเปิดเสรีแรงงานในอาเซียนคือ ประเทศไทยยังไม่ได้เตรียมการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แรงงานยังไม่ทราบถึงผลกระทบ การเตรียมตัว การเปิดเสรีแรงงานจึงมีผลต่อภาคการผลิตและบริการของไทย ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled Labour) อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเปิดเสรีธุรกิจบริการ การจัดตั้งธุรกิจซึ่งต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ถึง 70%

                      สำหรับข้อเสนอแนะการเปิดเสรีในสาขาวิชาชีพอื่นเพิ่มเติมนั้น ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า ผลการศึกษา 6 สาขาวิชาชีพสะท้อนว่า กลุ่มแรงงานที่มีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ (Professionals) ซึ่งจัดเป็นพวกหัวกะทิของประเทศ ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นประโยชน์ และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องอาเซียนมากพอ การเปิดเสรีกลุ่มสาขาวิชาชีพต่อไป จึงมีแนวโน้มและความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ฉะนั้น จึงควรสร้างความรู้ความเข้าใจ ประโยชน์ ผลกระทบ และโอกาสของ AEC ที่มีต่อสาขาวิชาชีพนั้นๆ ก่อนที่จะตกลงเปิดเสรีแรงงาน ขณะเดียวกันต้องคัดเลือกกลุ่มที่มีความพร้อมในการแข่งขัน มีแนวทางพัฒนาศักยภาพ ยุทธศาสตร์ระดับประเทศในแต่ละสาขาวิชา เพื่อสร้างการแข่งขันในอาเซียน 

                      ส่วนการปรับตัวของแรงงานไทย ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวเสนอแนะว่า แม้แรงงานฝีมือของไทย จะมีศักยภาพอยู่ในระดับสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่บ้านเราควรยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยให้เทียบเคียงกับหลักสูตรของต่างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ พัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับภาคการผลิตและภาคบริการ ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้การดูแลแรงงานไทย โดยมีหน่วยงานรัฐที่สามารถช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแก่แรงงานไทยที่ไปทำงานในอาเซียน หากจำเป็นควรตั้งสำนักงานแรงงานไทยในประเทศอาเซียนขึ้น  

                      เมื่อถามถึง  ธุรกิจสปา ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการด้านสุขภาพของไทยจะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า สปาห้องแถว หรือสปาที่มีขนาดเล็ก 3-4 เตียง ไม่มีทางหนีไฟ ถังดับเพลิง หรืออื่นใดที่เป็นไปตามมาตรฐานสปาของอาเซียน อาจต้องเจ๊งและปิดกิจการลง ฉะนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีการปรับตัว  

     กลับไปหน้าหลักของเรื่อง 
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×