ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศาสนาคริสต์ ,, (- Catholic -)

    ลำดับตอนที่ #40 : • ประวัติอัครสาวก (2) •

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.26K
      0
      31 ธ.ค. 49


    นักบุญยอห์น ผู้ประพันธ์พระวรสาร ,, องค์อุปถัมภ์นักเทววิทยา นักประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้ถือความบริสุทธิ์

    นักบุญยอห์นเป็นชาวประมงในเมืองกาลิลี เขาและนักบุญยากอบพี่ชาย(องค์ใหญ่) ได้รับพระกระแสเรียกเป็นอัครสาวกของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเรียก 2 คนว่า ลูกชายของเศเบดี ซึ่งมีความหมายว่า "บุตรชายแห่งฟ้าคำราม"

    นักบุญยอห์นเป็นอัครสาวกหนุ่มที่สุด พระเยซูเจ้าทรงรักเขาเป็นพิเศษ ในเวลารับประทานอาหารค่ำ เขาได้รับอนุญาตให้ซบศีรษะของเขาบนหน้าอกของพระองค์ และเป็นอัครสาวกคนเดียวที่ยืนอยู่แทบเชิงไม้กางเขนกับพระแม่มารีย์ นักบุญเจโรม และมารีอามักดาเลนา

     

    ก่อนสิ้นพระชนม์ พระเยซูเจ้าได้ยกพระมารดาของพระองค์ อยู่ในการดูแล เอาใจใส่ เลี้ยงดูของนักบุญยอห์น พระองค์ได้หันพระพักตร์มาทางพระมารดาและตรัสว่า: "นี่คือแม่ของท่าน" ดังนั้น ตลอดชีวิตที่เหลือของพระนางบนแผ่นดินนี้ แม่พระได้อยู่กับนักบุญยอห์น เขาคนเดียวเท่านั้นได้รับพระพรพิเศษ ในการถวายเกียรติ และให้ความช่วยเหลือแก่มารดาพระเจ้า ผู้บริสุทธิ์ยิ่งนัก

    เช้าวันปาสกา หลังการสิ้นพระชนม์ มารีย์มักดาเลนาและหญิงอื่นๆได้ไปที่คูหาของพระเยซูเจ้า พร้อมด้วยเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม พระศพพระเยซูเจ้าได้หายไปจากคูหา เปโตรและยอห์นได้ไปตรวจสอบสถานการณ์ นักบุญยอห์นได้มาถึงคูหาเป็นคนแรก แต่รอให้เปโตรเข้าไปก่อน แล้วเขาจึงเข้าไป และเห็นผ้าลินินพับไว้เรียบร้อยบนที่วางพระศพ

    ในเวลาต่อมา สัปดาห์เดียวกัน อัครสาวก 7 องค์ จับปลาในทะเลสาปไทบีเรียส์ ไม่ได้ปลาแม้แต่ตัวเดียว ชายคนหนึ่งยืนอยู่บนหาดทรายได้แนะนำว่า เขาทั้งหลายควรหย่อนอวนลงอีกด้านหนึ่งของเรือ และเมื่อดึงอวนขึ้นมา เขาทั้งหลายได้เห็นปลาใหญ่ๆเต็มอวน ยอห์นรู้ว่าชายคนนั้นคือใคร และได้ตะโกนบอกเปโตรว่า: "นั่นคือองค์พระเยซูเจ้า"

    เมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมา อัครสาวกทั้งหมดได้รับการฟื้นฟูความกล้าหาญใหม่ หมดความหวาดกลัวโดยสิ้นเชิง หลังจากพระคริสตเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ เปโตรและยอห์นได้รักษาชายคนหนึ่งหายจากความพิการ โดยเอ่ยพระนามพระเยซูเจ้า

    นักบุญยอห์นมีชีวิตอยู่เกือบ 1 ศตวรรษ เขาเป็นอัครสาวกองค์เดียวที่ไม่ได้สิ้นใจเป็นมรณะสักขี แต่เขาได้ดำรงชีวิตด้วยความทุกข์ยากลำบาก เขาได้เทศนาพระคัมภีร์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเมืองเอฟีสัส ตอนปลายชีวิตของเขา เมื่อเขาไม่อาจเทศน์ได้อีกต่อไป ลูกศิษย์ได้หามเขาไปยังกลุ่มคริสตชน

    บทเทศน์ของเขาเป็นคำพูดธรรมดาง่ายๆ: "ลูกรัก จงรักกันและกัน" เมื่อคนถามว่า: "ทำไมท่านชอบเทศน์ประโยคเดียวซ้ำไปซ้ำมา?" เขาตอบว่า: "เพราะนี่เป็นพระบัญญัติของพระเยซูเจ้า และถ้าท่านปฏิบัติได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว"

    นักบุญเยโรมสอนว่า: "คำพูดเหล่านี้ควรแกะสลักเป็นอักษรทองและเขียนบนดวงใจของคริสตชนทุกคน"

    ทำไมพระคริสตเจ้าทรงรักนักบุญยอห์นเป็นพิเศษ? เพราะเขารักพระเยซูเจ้า เขาเป็นคนสุภาพถ่อมตน และมีลักษณะสีหน้าท่าทางแห่งสันติสุข คุณสมบัติเหล่านี้ของเขาคล้ายองค์พระเจ้า และ เหนือสิ่งอื่นใด เขาถือพรหมจรรย์และรักษาความบริสุทธิ์อย่างผุดผ่อง สิ่งนี้แหละที่ทำให้เขาเป็นที่รักยิ่งของพระองค์

    นักบุญยอห์นได้เขียนพระวรสารเล่มที่ 4 และบทจดหมาย 3 เล่ม และหนังสือคำทำนายเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นก่อนโลกสิ้นพิภพ เขาได้หมดลมหายใจ ที่เมืองเอฟีสัส ประมาณปี ค.ศ.100

    .
    .

    นักบุญฟีลิป

    นักบุญฟิลิปเกิดที่เบทไซดา กาลิลี เขาเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของนักบุญยอห์นเดอะบัปติสต์ เมื่อท่านชี้ไปที่พระเยซูคริสตเจ้าและพูดว่า: "นี่คือลูกแกะพระเจ้า" เขาเข้าใจทันทีว่า พระเยซูเจ้าเป็นบุคคลที่สำคัญกว่าอาจารย์ของเขา
    หลังจากเปโตรและแอนดรูเป็นอัครสาวกของพระคริสตเจ้า พระองค์ได้พบฟิลิปและตรัสว่า: "ตามเรามา" เขาก็ได้นบนอบคำเรียกร้องของพระองค์ และติดตามพระองค์ด้วยความศรัทธา

    ในเวลาต่อมา ฟิลิปได้พานาธานาแอลมาเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ (ยอห์น 1:43-45) ฟิลิปต้องการแบ่งปันความสุขกับเพื่อน และได้บอกนาธานาแอลว่า: "เราได้พบแล้วคนที่โมเสสและประกาศกได้ทำนายในพระคัมภีร์"


    ฟิลิปได้อธิบายว่า: "คนนั้น คือ พระเยซูแห่งนาซาเรธ" ในโอกาสที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกและส่งอัครสาวก 12 องค์ออกไปเทศนา ฟิลิปก็อยู่ในคณะอัครสาวกด้วย

    ชื่อเขาจะอยู่ถัดจากเปโตร แอนดรูว์ ยากอบ และยอห์น (มัทธิว 10:2-4; มาระโก 3:14-19; ลูกา 6:13-16) พระวรสารเล่มที่ 4 บันทึกเหตุการณ์ 3 อันเกี่ยวข้องกับฟิลิปในเวลาที่พระเยซูเจ้าแพร่ธรรม

    ก่อนการเลี้ยงมหาชนอย่างมหัศจรรย์ พระคริสต์ได้หันมาถามฟิลิปว่า: "เมื่อไรเราจะซื้อขนมปัง เพื่อคนเหล่านี้จะได้มีอาหารกิน?" เขาได้ตอบพระองค์ว่า: "เงินค่าแรงงาน 200 วัน ก็ยังไม่พอเลี้ยงคนทั้งหมด" (ยอห์น 6:5-7)

    เมื่อคนต่างศาสนาในกรุงเยรูซาเล็มได้มาหาฟิลิปเพื่อขอพบพระเยซูเจ้า เขาได้รายงานแอนดรูว์ แล้วทั้ง 2 คนได้นำข่าวไปบอกพระองค์ (ยอห์น 12, 21-22)

    หลังจากพระคริสต์ได้ตรัสกับอัครสาวกถึงพระบิดาเจ้า ฟิลิปได้พูดกับพระองค์ว่า: "ขอให้เราได้เห็นพระบิดา แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับพวกเรา" พระองค์ได้ตอบเขาว่า: "ใครที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดา" (ยอห์น 14:8-9)

    เหตุการณ์ 3 อันนี้ได้บ่งบอกนิสัยใจคอของฟิลิปว่า เขาเป็นคนซื่อๆ ค่อนข้างขี้อาย ช่างคิด ช่างรำพึง และแสวงหาความจริง

    ฟิลิปแต่งงานมีลูกสาวหลายคน ลูกสาว 3 คนดำรงชีวิตอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นคนศักดิ์สิทธิ์ เขาได้ไปเทศนาคำสั่งสอนของพระเยซูคริสตเจ้าที่ประเทศกรีก และถูกตรึงกางเขน เอาศีรษะลง เท้าชี้ฟ้า ในสมัยจักรพรรดิโดมิเชียน

    ฟิลิปเป็นคนสุภาพถ่อมตนและยินดีให้อภัยทุกคนที่ทำผิดต่อเขา เขาได้สวดภาวนาอย่างสม่ำเสมอ และวอนขอพระเป็นเจ้าสำหรับคนที่เบียดเบียนผู้ติดตามพระเยซูเจ้า แม้ขณะเพชฌฆาตกำลังประหารชีวิตเขา เขาได้ขอพระเป็นเจ้าโปรดยกโทษเขาทั้งหลาย

    .
    .

    นักบุญบาร์โทโลมิว

    บาร์โทโลมิว แห่งเมืองคานา “บุตรของชาวไร่” เป็นคนเดียวกันกับนาธานาแอล ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนักบุญฟิลิป และเป็นนักบุญฟิลิปเองที่นำท่านมาพบกับพระเยซูเจ้า ท่านจึงเป็นคนหนึ่งในบรรดาสานุศิษย์รุ่นแรกของพระองค์

    พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นนาธานาเอล จึงได้กล่าวกับเขาว่า “นี่คือชาวอิสราเอลแท้ เป็นคนไม่มีมารยา” ( ยน 1, 45-51 ) และเป็นเพราะคำพูดของพระเยซูเจ้านี้เอง ที่ทำให้นาธานาแอลได้แสดงออกซึ่งความเชื่อที่ร้อนรน จนถึงกับทำให้ท่านได้เอ่ยอุทานออกมาว่า “พระอาจารย์ ท่านเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นกษัตริย์แห่งชาติอิสราแอล” ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นท่านได้บอกกับฟิลิปว่า “จากนาซาแร็ท จะมีอะไรดีรึ”

    เราไม่รู้อะไรที่แน่นอนเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของนักบุญองค์นี้ เพราะต่างถิ่นต่างก็บอกว่านักบุญ บาร์โทโลมิวได้มาประกาศพระวรสารที่ถิ่นตัวเอง และเชื่อกันว่าท่านได้เป็นมรณสักขี โดยถูกแล่เนื้อเป็นๆ ตามวิธีทรมานลงโทษของชาวเปอร์เซียในสมัยนั้น ท่านได้รับการเคารพที่เกาะตีเบรีนา ในกรุงโรม

    .
    .

    นักบุญโธมัส

    โธมัส ในภาษาอารามัยหมายความว่า “คู่แฝด” และด้วยเหตุนี้เองที่นักบุญ ยอห์น อัครธรรมทูต เรียกท่านเป็นภาษากรีกว่า “ดิดิม” ( ยน 11:16 ; 20:24 )

    ผู้นิพนธ์พระวรสาร 3 ท่านแรกคือ นักบุญมัทธิว, นักบุญมาระโก, และนักบุญลูกา พอใจที่จะนับนักบุญโธมัสให้อยู่ในจำนวนอัครธรรมทูตสิบสององค์ ( มธ 10: 3 ; กจ 1:13 ) ตรงข้ามกับนักบุญยอห์นซึ่งพระวรสารของท่านจะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปคือ การที่มนุษย์จะยอมรับรู้หรือว่าจะไม่ยอมรับข่าวสารของพระคริสตเจ้า ดังนั้นดูเหมือนว่านักบุญยอห์นจะให้ความสำคัญมากในพระวรสารของท่าน ที่จะแสดงให้เห็นถึงปฎิกิริยาที่บรรดาอัครธรรมทูตได้แสดงออกในชีวิตประจำวัน โดยนัยนี้นักบุญยอห์นจึงถือว่านักบุญโธมัสเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเป็นคนเชื่อยากของบรรดาอัครธรรมทูต คือนักบุญโธมัสสามารถเล็งเห็นความยากลำบาก และภัยอันตรายที่จะเดินทางมุ่งหน้าไปสู่กรุงเยรูซาเลม โดยที่ท่านไม่เข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งของการเดินทางนี้ ( ยน 11:16 ) และอาจจะเป็นเพราะความจริงใจของท่านที่ท่านเองไม่รู้สึกจะมีความกระตือรือร้นในทรรศนะต่างๆ ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นในสุนทรพจน์ระหว่างการรับประทานอาหารค่ำครั้งสุดท้าย ( ยน 14:1-6 )

    ดังนั้นหลังจากที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จกลับคืนชีพแล้ว ท่านก็อยากจะทดลองดูว่า พระองค์ทรงเป็น พระคริสตเจ้าจริงๆ หรือไม่ โดยอาศัยการสัมผัสพระองค์ ทั้งๆ ที่เวลานั้นต้องอาศัยความเชื่อในการรู้จักพระเยซูคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับคืนชีพแล้ว ( ยน 20:24-29 ) แต่ว่าไม่กี่วันให้หลังขณะที่ท่านได้อยู่พร้อมๆ กับบรรดาอัครธรรมทูตองค์อื่นๆ ท่านเหล่านี้ได้รู้จักพระ คริสตเจ้าผู้ได้กลับคืนชีพแล้ว ส่วนท่านเองเพิ่งจะสามารถรู้จักพระองค์ แต่ท่านก็ได้ยืนยันความเชื่อที่น่าทึ่งมาก

    “องค์พระเจ้าของข้าพเจ้า และพระเผู้ป็นเจ้าของข้าพเจ้า” ( ยน 20:28 )

    ในชีวิตของนักบุญโธมัสเปรียบเสมือนการเดินทางที่ยาวนานที่ผ่านจากความจริงใจตามประสามนุษย์ ไปสู่ความรู้ในพระจิตเจ้า

    เราไม่รู้ถึงสภาพแวดล้อมของงานธรรมทูตของท่าน หลังจากที่บรรดาอัครธรรมทูตได้ทรงรับพระจิตแล้ว น่าจะเป็นไปได้ที่ท่านได้เดินทางข้ามพรมแดนของอาณาจักรโรมัน มุ่งหน้าไปสู่เปอร์เซียและอินเดีย แต่ว่าธรรมประเพณีในสมัยกลาง มักจะยกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ส่วนใดส่วนหนึ่งให้กับอัครธรรมทูตองค์ใดองค์หนึ่ง อันเป็นการเสี่ยงต่อการที่จะบิดเบือนไปจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตามบรรดาอัครธรรมทูตมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการแพร่ธรรมไปทั่วทุกมุมโลก เพราะว่าได้รับคำสั่งจากพระเยซูเจ้า

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×