ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ล้ำโลกโลกาภิวัฒน์

    ลำดับตอนที่ #199 : เหตุใดเกาหลีจึงตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาด‘กราฟีน’โลก

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 139
      2
      13 เม.ย. 58



    เกาหลีใต้ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกที่ก้าวขึ้นจากประเทศโลกที่สาม กลายเป็นผู้นำทางด้านการผลิตอุปกรณ์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับต้นๆ ของโลกภายในเวลาเพียง 4 ทศวรรษ และกำลังวางวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าไฮเทค โดยใช้วัสดุชนิดใหม่ที่เรียกว่า “กราฟีน” ซึ่งอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังตื่นตัวในการนำวัสดุชนิดนี้มาใช้ในการผลิตสินค้าหลากหลายชนิด และถ้าเกาหลีใต้ทำได้อย่างที่คิด ก็จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของอุตสาหกรรม รวมทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของประเทศอีกหลายขั้น
        
                กราฟีน (Graphene) คือสารประกอบของคาร์บอนที่มีการเรียงตัวของอะตอมเป็นรูป 6 เหลี่ยม คล้ายรังผึ้งระนาบเดี่ยว มีความหนาเพียง 1 อะตอม ที่สามารถดัดแปลงเปลี่ยนรูปของกราฟีนให้เป็นทรงต่างๆ เช่น ทรงกลมแบบลูกบอล หรือม้วนเป็นแท่งทรงกลม (คาร์บอน นาโนทิวบ์) ไม่ก็นำมาเรียงเป็นชั้นๆ ก็จะได้สารที่เรียกว่า กราไฟท์ (Graphite)
        
                ด้วยความที่กราฟีน เป็นวัสดุที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้มีคุณสมบัติที่เหมือนกับวัตถุชนิดต่างๆ ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักด้วยเช่นกัน ทั้งการนำพาพลังงานชนิดต่างๆ ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีความแข็งแกร่งชนิดที่เรียกว่าเพชร (สารที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในโลก) ยังต้องชิดซ้าย แม้เพชรและกราฟีนจะมีโครงสร้างพื้นฐานหลักเป็นคาร์บอนเช่นเดียวกัน


        
                เจ้ากราฟีน เป็นที่รู้จักกันในโลกใบนี้เมื่อปี 2547 นี้เอง แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็มีความตื่นตัวและตื่นเต้นที่ได้สัมผัสกับกราฟีน ที่มีคุณสมบัติราวกับแก้วสารพัดนึก จะจับมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆก็ได้ผลที่ดีตอบกลับมาเสมอ
        
                ปัจจุบันมีการแนะนำวิธีการใช้กราฟีนทำแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทำทรานซิสเตอร์ (หน่วยพื้นฐานของชิพประมวลผลทุกชนิด) ชิพคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ทำวัสดุนำส่งเวชภัณฑ์ไปยังเป้าหมายต่างๆ ในร่างกาย แผงโซลาร์เซลล์ แม้กระทั่งการใช้กราฟีนในอุตสาหกรรมการกลั่นเอทานอล
        
                รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าว่าจะใช้กราฟีนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการขายผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกราฟีนให้ได้ 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 573,000 ล้านบาท) และสร้างงานจากการผลิตสินค้าที่ใช้กราฟีนอีก 50,000 ตำแหน่ง

                เริ่มต้นจากการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้กราฟีนในการผลิต 6 ชนิดมาเป็นผลิตภัณฑ์หลักในการทำตลาด ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุผสม ผลิตภัณฑ์แสดงผล และพลังงาน ก่อนที่จะเริ่มต้นทำรูปแบบธุรกิจให้แก่บริษัทเอกชนที่ได้รับคัดเลือก และให้การสนับสนุนภาคเอกชนกลุ่มนี้ในการทำตลาดผลิตภัณฑ์กราฟีน รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการผลิตของภาคเอกชนให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกเพื่อการขยายตลาดผลิตภัณฑ์กราฟีนจากเกาหลีใต้ต่อไปในอนาคต
        
                เวลานี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้กราฟีนของเกาหลีใต้มีความก้าวหน้าไปในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์กราฟีนคุณภาพสูงที่สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุสื่อกระแสไฟฟ้าที่สามารถควบคุมคุณภาพการเป็นสื่อตัวนำไฟฟ้าได้ ที่เป็นผลงานของทีมนักวิจัยนำโดยศาสตราจารย์คิม ซยอง ลุน แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (เคไอเอสที) และศาสตราจารย์ยอน เจ รวอน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล
        
                ทีมวิจัยสามารถทำลายกำแพงการสร้างกราฟีนในรูปแบบโพลีเมอร์ (สายโมเลกุล) จากเดิมที่ต้องใช้กระบวนการที่กินเวลานาน และมีคุณภาพในการนำไฟฟ้าได้ดีเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำเท่านั้น ให้เป็นกราฟีนที่มีประสิทธิภาพในการนำไฟฟ้าได้ดีในทุกอุณหภูมิ และผลิตขึ้นได้ง่าย แม้ในระดับอุตสาหกรรม
        
                อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเองก็มีนักวิจัยที่พัฒนากระบวนการนำกราฟีนมาใช้งาน และประสบความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์จากกราฟีนมาแล้ว เช่นผลงานของหน่วยปฏิบัติการนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่สังเคราะห์กราฟีนเป็นผลสำเร็จ ก่อนที่จะต่อ
    ยอดไปใช้ทำหมึกนำไฟฟ้า เพื่อสร้างเซ็นเซอร์ ทั้งยังเป็นทีมวิจัยแรกของโลกที่ผลิตกราฟีนผสมในหมึกนำไฟฟ้าใช้สร้างอุปกรณ์ราคาถูก ด้วยการพิมพ์อิงค์เจ็ต
        
                ถ้ารัฐบาลไทยต้องการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็ควรมีการวางแผนในระยะยาว ตลอดกระบวนการ ทั้งการส่งเสริมงานวิจัย การพัฒนาต่อยอด และการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกเช่นเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีใต้หยิบยกเอา “กราฟีน” ขึ้นมาเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศต่อไป

    ที่มา 
    http://www.komchadluek.net/detail/20150411/204527.html




    free counters
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×