ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ล้ำโลกโลกาภิวัฒน์

    ลำดับตอนที่ #192 : ช้อนอัจฉริยะจากกูเกิล เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสันมาแล้ว

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 143
      2
      26 พ.ย. 57

            ใครจะมองอย่างไร ยักษ์ใหญ่ไอทีโลกอย่างกูเกิล (Google) ก็คงไม่สน เพราะยังคงเดินหน้าพัฒนาสิ่งประดิษฐ์แปลกๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดส่ง “ช้อน” พร้อมเซนเซอร์อัจฉริยะ สำหรับช่วยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้สามารถรับประทานอาหารได้โดยไม่หกออกมาแล้ว
           
           โดยช้อนอัจฉริยะดังกล่าวใช้เทคโนโลยีในการจับสัมผัสของข้อมือของผู้ป่วย และปรับให้อยู่ในสภาพสมดุล ซึ่งในการทดลองกับผู้ป่วย ช้อนดังกล่าวช่วยลดการสั่นลงได้เฉลี่ย 76 เปอร์เซ็นต์
           
           หากปราศจากช้อนดังกล่าว ผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันอาจจำเป็นต้องใช้ผู้ช่วยป้อนอาหารให้ เพราะไม่สามารถตักอาหารเองได้ เนื่องจากมือจะสั่นจนไม่สามารถบังคับช้อนได้นั่นเอง ผลก็คืออาหารอาจหกเลอะเทอะ และตัวผู้ป่วยซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุอาจเกิดความอับอายได้
           
           “ช้อนนี้ไม่ได้ช่วยรักษาโรค พวกเขายังคงป่วย และมีอาการสั่นอยู่ แต่มันช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกับชีวิตของผู้ป่วย นั่นก็คือการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ด้วยตัวเอง” ดร. Jill Ostrem นักประสาทวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจาก UC San Francisco Medical Center เผย
           
           สำหรับความสนใจของกูเกิลต่อผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนี้อาจมาจากมารดาของผู้ก่อตั้งอย่างเซอร์เกย์ บรินที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยบรินเผยว่า เขาได้มีส่วนร่วมอย่างมากในการช่วยเหลือผู้ป่วย และได้บริจาคเงินกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยในการวิจัย 
     
            สำหรับผลงานการพัฒนาดังกล่าวเป็นฝีมือของบริษัทสตาร์ทอัปที่กูเกิลได้ซื้อกิจการมาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชื่อ “Lift Labs” โดยทีมของ Lift Labs ได้เข้ามาอยู่ในส่วนที่เรียกว่า Google X Life Sciences ซึ่งเป็นส่วนงานที่มีการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะมากมาย เช่น คอนแทกต์เลนส์ที่ สามารถวัดระดับกลูโคสได้จากน้ำตาสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (เปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา) หรือแม้กระทั่งการวิจัยอนุภาคนาโนในเม็ดเลือดเพื่อใช้ในการค้นหาโรคต่างๆ
           
           Anupam Pathak ผู้ก่อตั้ง Lift Labs เผยว่า การได้ร่วมงานกับกูเกิลเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขามาก แต่เขาก็ยังคงโฟกัสไปที่การพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยผู้ป่วยให้สามารถรับประทานอาหารได้เองเป็นหลัก
           
           “มันเป็นความรู้สึกเหลือเชื่อที่สิ่งประดิษฐ์ของคุณ สามารถสร้างอิมแพกต์ให้เกิดขึ้นได้ ในฐานะวิศวกร และรักในการสร้างสิ่งต่างๆ นั่นคือสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้วในชีวิต”
           
           Pathak เผยด้วยว่า ในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มเซนเซอร์ลงในช้อนเพื่อให้นักวิจัย และทีมแพทย์ได้เข้าใจถึงอาการ รวมถึงสามารถหาแนวทางรักษาอาการสั่นได้ดียิ่งขึ้นด้วย
           
           พร้อมกันนี้ ยังได้มีการยกตัวอย่างของคุณยายท่านหนึ่งนาม Shirin Vala วัย 65 ปี อาศัยอยู่ในโอ๊คแลนด์ ซึ่งมีอาการสั่นที่มือมาประมาณ 10 ปี คุณยายได้เป็นผู้หนึ่งที่ทดลองใช้ช้อน และให้ฟีดแบ็กกับทีมผู้พัฒนาไป จนกระทั่งเมื่อมันผลิตออกวางจำหน่ายในราคา 295 เหรียญสหรัฐ คุณยายก็เป็นลูกค้าด้วย ซึ่งเธอเล่าว่า หลังจากมีช้อนแบบใหม่นี้ ทำให้การรับประทานอาหารเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น อาหารหกน้อยลงมาก และไม่ทำให้เธอรู้สึกขายหน้า หรืออับอายเวลาต้องไปรับประทานอาหารนอกบ้านอีกเลย 

    ที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000136240

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×