ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #183 : รู้หรือไม่ "กระดาษที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มีที่มาอย่างไร"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.21K
      0
      15 ส.ค. 52

     




               
              คำว่ากระดาษในภาษอังกฤษ (Paper) มาจากภาษากรีกโบราณ โดยเป็นแผ่นที่ใช้เขียนบันทึกความรู้ต่างๆ ลงไป คือ ปาปิรัส (Papyrus) ซึ่งทำมาจากต้นไม้ชื่อเดียวกัน แต่สำหรับกระดาษแบบที่เราท่านใช้กันทุกวันนี้ สันนิษฐานว่าชาติแรกที่ผลิตกระดาษออกมาใช้คือ จีน ซึ่งพบหลักฐานเก่าแก่ในการใช้กระดาษย้อนไปถึงศตวรรษที่ 2

    การคิดค้นกระดาษได้เป็นผลสำเร็จถือเป็น 1 ใน 4 สุดยอดความสำเร็จของชาวจีนยุคโบราณเลยก็ว่าได้ (อีก 3 สิ่งคือ เข็มทิศ ดินปืน และระบบการพิมพ์) โดยเป็นการคิดค้นได้ในสมัยราชวงศ์ชิง โดยพระเจ้าไคลุนมีพระประสงค์จะหาอะไรมาทดแทนการจารึกข้อความลงบนผ้าไหมซึ่งมีราคาแพง

    จากนั้นกระแสการผลิตกระดาษออกมาใช้ก็แพร่หลายไปทั่วแผ่นดินจีน ฮิตไปถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ก่อนที่จะลามไปยังยุโรปในศตวรรษที่ 12 โดยเริ่มมีการส่งออกกระดาษในรูปแบบการค้าครั้งแรกในต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งทำให้เกิดการพลิกโฉมทางวัฒนธรรมของโลกโดยสิ้นเชิง นอกจากผู้คนจะเริ่มมีการติดต่อกันทางจดหมาย แล้วยังมีการผลิตหนังสือพิมพ์และหนังสือพ็อกเกตบุ๊กออกมาจำหน่ายกันอีกด้วย

    ในปี 2387 นักประดิษฐ์ 2 คน คือ ชาร์ลส์ เฟเนอร์ตี ชาวแคเนเดียน และ เฟา. จี. เคลเลร์ ชาวเยอรมัน ได้ร่วมกันคิดค้นเครื่องผลิตกระดาษขึ้นเป็นผลสำเร็จ ซึ่งถือเป็นยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษอย่างแท้จริง พร้อมๆ กับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่เริ่มต้นขึ้นในไม่ช้า

    ในการผลิตกระดาษสำคัญที่เยื่อกระดาษ โดยนำไม้มาตัดเป็นท่อนๆ ลอกเปลือกไม้ออก ทำความสะอาด แล้วสับเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งสามารถใช้กรรมวิธี 3 ทางเลือก คือ เยื่อบด (Mechanical Pulp) ผลิตโดยใช้พลังงานกล โดยนำชิ้นไม้ไปบดด้วยหินบดหรือจานบด วิธีนี้เยื่อที่ได้จะไม่ค่อยสมบูรณ์ สั้น และขาดเป็นท่อน ทำให้กระดาษที่ได้มาไม่แข็งแรง มีสารลิกนิน (คาร์โบไฮเดรตที่เป็นส่วนประกอบยึดเยื่อไม้ให้แข็งแรง) คงเหลืออยู่ โดยจะทำให้กระดาษเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อได้รับแสง

    กระดาษกรรมวิธีนี้มีความทึบสูง ดูดความชื้นได้ดี ราคาถูก แต่ไม่แข็งแรงและดูเก่าเร็ว มักจะใช้ทำหนังสือพิมพ์

    เยื่อเคมี (Chemical Pulp) ใช้สารเคมีและความร้อนในการแยกเยื่อและขจัดลิกนิน ทำให้เยื่อกระดาษที่ได้มีความสมบูรณ์กว่า แต่จะมีผลผลิตต่ำกว่า ขณะที่ราคาสูงกว่า

    เยื่อกึ่งเคมี (Semi-chemical Pulp) เป็นเยื่อที่ผลิตโดยนำไม้ชิ้นมาต้มในสารเคมี เพื่อให้เยื่อแยกออกจากกันง่ายขึ้น และเพื่อละลายลิกนิน แล้วนำมาบดด้วยเครื่อง นับเป็นวิธีที่จะได้เยื่อที่มีคุณภาพดีกว่าทั้งสองกระบวนการที่ว่ามา แถมยังได้ผลผลิตมาก โดยมักใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

    ทุกวันนี้กระดาษสร้างปัญหาเป็นขยะล้นโลกอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ แต่การบริโภคของมนุษย์ก็เกินกว่าที่จะขจัดได้ทัน การนำกระดาษมารีไซเคิลกลายเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการลดจำนวนขยะ รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

    การรีไซเคิลกระดาษ เริ่มต้นด้วยกระบวนการใช้น้ำและสารเคมีกำจัดหมึกที่ปนเปื้อนออกไป ทำให้กระดาษเหล่านั้นกลับกลายเป็นเนื้อเยื่ออีกครั้ง จากนั้นจึงทำความสะอาดเนื้อเยื่อ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเส้นใยที่สามารถนำไปผลิตเป็นกระดาษเช่นเดิม

    กระบวนการรีไซเคิลกระดาษค่อนข้างซับซ้อน โดยต้องกำจัดสีที่ปนเปื้อนออกให้หมด เพราะการเจือปนแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กระดาษที่ผลิตใหม่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไฟเบอร์ในเนื้อเยื่อกระดาษจะลดน้อยลงทุกขั้นตอนของกระบวนการรีไซเคิล กระดาษที่ผลิตขึ้นใหม่จึงมีคุณภาพด้อยลง ซึ่งเพียง 3% ของกระดาษหนังสือพิมพ์เท่านั้นที่สามารถนำไปผลิตเป็นสิ่งพิมพ์ได้ใหม่ กระดาษรีไซเคิลส่วนใหญ่จึงเหมาะสำหรับทำเป็นกล่องบรรจุสินค้า ทำเป็นฝ้าเพดานหรือฉนวนกันความร้อนมากกว่า

    แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เป็นขยะรกโลก...นะ

    ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
    ภาพประกอบจาก http://www.rmutphysics.com/charud/oldnews/84/chemistry/sv_paper.htm


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×