คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #120 : รู้หรือไม่ "ทำไมเวลารับปริญญาต้องสวมชุดครุย"
ครุย คือ เสื้อที่ใช้สวมคลุมเพื่อใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ หรือแสดงหน้าที่ในพิธีการ หรือแสดงวิทยฐานะ
เสื้อครุยที่ไทยใช้อยู่ยังหาหลักฐานแน่ชัดไม่ได้ว่าได้แบบอย่างมาจากชาติใด บางท่านก็ว่าน่าจะมาจากประเทศจีน โดยพระเจ้าแผ่นดินจีนถวายฉลองพระองค์ปักด้วยดิ้นหรือไหมทองเงินเป็นรูปต่าง ๆ มากับเครื่องราชบรรณาการ บางท่านก็ว่ามาจากประเทศอินเดีย เพราะได้เห็นพวกพราหมณ์สวมเพื่อเข้าพิธี
การใช้ครุยในประเทศไทยพอจะอนุมานได้ว่าเริ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ เมื่อพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส ในโอกาสนั้นท่านราชทูตแต่งตัวอย่างเต็มยศตามธรรมเนียมไทย คือ สวมเสื้อเยียรบับ มีกลีบทองและดอกไม้ทอง และสวมเสื้อครุย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีประกาศพระราชกำหนดเสื้อครุยเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) กำหนดเสื้อครุยข้าราชการไว้ ๓ ชั้น เรียกว่า เสื้อครุยเสนามาตย์ แบ่งเป็นชั้นตรี โท เอก
นอกจากเสื้อครุยเสนามาตย์แล้ว ยังมีเสื้อครุยอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า ครุยวิทยฐานะ ใช้สวมเป็นที่เชิดชูเกียรติของผู้ที่สำเร็จวิชาการจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยชั้นสูง อาจกล่าวได้ว่าเสื้อครุยวิทยฐานะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยประมาณ เมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ในสมัยที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ (ภายหลังทรงกรมเป็นกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม โดยให้ผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตมีสิทธิสวมเสื้อครุย ซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า เสื้อเนติบัณฑิต
ครั้น พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เพื่อ “...นิสิตที่เล่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และได้รับปริญญานั้น ควรมีโอกาสใช้เสื้อครุยมหาวิทยาลัยเป็นที่เชิดชูเกียรติให้เข้ารูปเยี่ยงนิสิตในสถานอุดมศึกษาทั้งหลายในนานาประเทศ” นับจากนั้นมา บัณฑิตจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จึงสวมครุยเมื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาในพิธีประสาทปริญญาบัตร
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
ความคิดเห็น