|
| |
ดูละครกาษา นาคา กันจนจะลาจออยู่แล้ว เลยฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าแอ๊ะ..ทำไมนาคกับครุฑถึงไม่ค่อยจะถูกกันนะ อ่านวรรณคดีมากี่เรื่องๆ ก็เห็นทะเลาะ ตบตีกันตลอดเลย วันนี้ก็เลยหาตำนานเกี่ยวกับ นาคและครุฑมาฝากน้องๆกันค่ะ เผื่อก่อนละครจบจะได้ดูกันสนุกสนานขึ้นนะจ๊ะ ครุฑ เป็นพญานกที่มีรูปครึ่งมนุษย์ ครึ่งนกอินทรี เป็นเทพพาหนะของพระวิษณุ เป็นโอรสของพระกัศยปมุนี และนางวินตา พระกัศยปมุนีเป็นฤษีที่มีอำนาจมากตนหนึ่ง นอกจากนางวินตาแล้ว ก็ยังมีนางกัทรู ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตาเป็นภริยาอีกคน โดยนางกัทรูได้ขอพรจากสามีให้มีลูกจำนวนมาก และต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอลูกเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา
ต่อมานางได้คลอดลูกออกมาเป็นไข่สองฟอง คือ อรุณ และครุฑ ซึ่งต่อมาอรุณได้ไปเป็นสารถีของสุริยเทพ ส่วนครุฑเมื่อแรกเกิดว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกระพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกทีใด ขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ
ครั้งหนึ่งนางกัทรูและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทร โดยว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาว แต่นางกัทรูทายว่าสีดำ ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรูใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสและถูกขังอยู่ในแดนบาดาลถึงห้าร้อยปี ทำให้ครุฑและนาคต่างก็ไม่ถูกกันนับแต่นั้น
ครั้นต่อมาครุฑได้ทราบความจริงถึงอุบายของนางกัทรู แต่เพื่อช่วยแม่ให้เป็นอิสระ ครุฑจึงได้ทำความตกลงกับพวกพญานาคที่ต้องการเป็นอมตะว่าจะไปนำน้ำอมฤตที่อยู่กับพระจันทร์มาให้ ครั้นแล้วก็บินไปสวรรค์ คว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา และเกิดต่อสู้กันขึ้น แต่ทวยเทพทั้งหมดแพ้ครุฑ ยกเว้นพระวิษณุเท่านั้นที่ไม่แพ้ แต่ก็แย่ไปเหมือนกัน ดังนั้นต่างจึงทำความตกลงหย่าศึก โดยพระวิษณุหรือพระนารายณ์สัญญาว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะ และให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์
ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าขอเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า นี่เองจึงเป็นที่มาว่าเหตุใดครุฑจึงเป็นพาหนะของพระวิษณุ ส่วนหม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ได้ตามมาขอคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง เมื่อครุฑเอาน้ำอมฤตไปให้นาคก็วางไว้บนหญ้าคา (และว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา ๒-๓หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคล ใช้ประพรมน้ำมนต์ ส่วนงูเมื่อเห็นน้ำอมฤตบนหญ้าคาก็ไปเลียกิน ด้วยความไม่ระวัง จึงถูกคมหญ้าคาบาดกลางเป็นทางยาว งูจึงมีลิ้นแตกเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้)
ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดีปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน และยิ่งเพิ่มความเป็นศัตรูกับครุฑยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี มีเรื่องเล่าต่อมาว่า จากการที่พระอินทร์ได้ให้พรครุฑ จับนาคเป็นอาหารได้นั้น ทำให้พญานาควาสุกรีเกรงว่านาคจะสูญพันธุ์ จึงตกลงจะส่งนาคไปให้ครุฑกินที่ชายหาด วันหนึ่งถึงคราวของนาคหนุ่มชื่อสังขจูทะ จะต้องไปเป็นเหยื่อ แม่ก็ตามมาด้วยความรักและอาลัย ขอรัองอย่างไรก็ไม่ยอมกลับ วิทยาธรตนหนึ่งชื่อว่า ชีมูตวาหน เป็นผู้มีใจบุญสุนทานตัดแล้วซึ่งโลกีย์วิสัย ได้มาพบ ก็สอบถามได้ความแล้ว จึงเสนอตัวเองปลอมเป็นนาคให้ครุฑกินแทน
ปรากฏว่าขณะที่ครุฑกำลังกินนาคปลอม แทนที่จะแสดงความเจ็บปวด ชีมูตวาหนกลับแสดงความปลื้มใจจนครุฑผิดสังเกตว่าต้องผิดตัวแน่ แต่สอบถามก็ไม่ยอมรับ ขณะนั้นเองนาคสังขจูทะก็ได้มาแสดงตัว ว่าตนคือเหยื่อของครุฑ เมื่อทราบความจริง ครุฑก็เกิดความสำนึกบาป และซาบซึ้งในความเสียสละของชีมูตวาหน จึงวิ่งเข้าไปในกองไฟหมายจะฆ่าตัวตายเพื่อชำระบาป แต่ชีมูตวาหนได้ร้องห้าม และว่าหากจะหยุดทำบาปก็ให้เลิกกินนาคเป็นอาหารต่อไป ครุฑก็เชื่อและได้เหาะไปนำน้ำอมฤตมาประพรมกระดูกนาคที่ตนเคยจิกกินมาแต่กาลก่อน จนนาคทั้งหมดได้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่
ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา โอรสชื่อ สัมปาติหรือสัมพาที และชฎายุ ตามวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ ๑๕๐ โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ เกิดมืดมนและทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพเป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น กาศยปิ และเวนไตย อันเป็นชื่อสืบมาจากกัศยปและวินตา บิดามารดา สุบรรณ หมายถึง ผู้มีปีกอันงาม ครุตมาน เจ้าแห่งนก สิตามัน มีหน้าสีขาว รักตปักษ์ มีปีกแดง เศวตโรหิต มีสีขาวและแดง สุวรรณกาย มีกายสีทอง คคเนศวร เจ้าแห่งอากาศ ขเคศวร ผู้เป็นใหญ่แห่งนก นาคนาศนะ ศัตรูแห่งนาค สุเรนทรชิต ผู้ชนะพระอินทร์ เป็นต้น
ส่วน พญานาค ก็มีตำนาน เล่าขานกันสืบต่อมาว่า
ตำนานความเชื่อเรืองพญานาคมีความเก่าแก่มาก ดูท่าว่าจะเก่ากว่าพุทธศาสนาอีกด้วย สืบค้นได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ด้วยเหตุจากภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าเขาจึงทำให้มีงูอยู่ชุกชุม และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพคือมีพิษร้ายแรง งูจึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองู เป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่งในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้าน บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความเชื่อเรื่องพญานาคแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วทวีปเอเชีย โดยเรียกชื่อต่างๆ กัน
ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะอยู่ที่อินเดีย ด้วยมีนิยายหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือเป็นปรปักษ์ของพญาครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ และเมื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำโขงควรยกมือไหว้เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐานคือพญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี7สี และที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียณสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศรีษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม
พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฎเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อนๆ กัน ชั้นสูงๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร
สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้นๆ |
|
อ้างอิงhttp://www.eduzones.com/knowledge-2-3-43493.html
ความคิดเห็น